“ เบื้องต้นของการปฏิบัติคือ “กายคตาสติ” คือ  มีสติเป็นไปในกาย  คือ ให้สติอยู่ภายในกาย เฝ้าสังเกตกายและจิต เหมือนนักดาราศาสตร์อดทนเฝ้าสังเกตกลุ่มดวงดาว เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มดวงดาวในจักรวาล

“การเฝ้าดูกายและจิตจะทำให้เกิดการสังเวชสลดใจ เพราะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของกายและจิตอยู่เสมอ เห็นความคิดสลับกันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เห็นธาตุในกายแตกดับอยู่ตลอดเวลา

เพราะเห็นความไม่สะอาด เห็นความเปื่อยเน่าไปของกาย จิตจะถูกดึงดูดลงสู่ภาวะความสงบ จะปลอดโปร่งจากกามคุณที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย ปลอดโปร่งจากอารมณ์ขุ่นมัวทางใจ ปลอดโปร่งจากการยึดถือในตัวตนของตน ในสิ่งของของตน จากความเห็นและความเชื่อของตน สติสัมปชัญญะจะบริบูรณ์ และจะเกิดความรู้จากภายใน มีความเบิกบาน สว่างไสวอยู่ภายใน 

"ภูเขาความคิด" ภาพประกอบโดย หมอนไม้
“ภูเขาความคิด” ภาพประกอบโดย หมอนไม้

จากบันทึกเรื่อง “สัมมาสมาธิ ” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะน้ัน ทำให้ผู้เขียนกลับมาฝึกฝนตนเองต่อ และขอนำประสบการณ์มาแบ่งปัน…

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (ตอนที่ ๓๔)

เห็น “ภูเขาความคิด” พบสภาวะจิตเปลี่ยนแปลง

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

         เมื่อวันก่อนผู้เขียนไปร่วมกิจกรรมกลุ่มภาวนาเปิดบ้าน “ห้องแห่งใจ” ของเพื่อนสมัยเรียนศิลปะในมหาวิทยาลัยด้วยกัน ผ่านไปสามสิบปี เพื่อนที่เคยเป็นครีเอทีฟโฆษณา เกษียณตัวเองออกมาก่อนผู้เขียนสิบกว่าปี แล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่กับการทำความรู้จักตัวเองอีกครั้ง หลังจากที่ลูกสาวของเขาพาเข้าวัด เพราะโรงเรียนจัดไปปฏิบัติธรรม นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้วันนี้ เขาแบ่งปันพื้นที่บ้านให้เป็นสถานปฏิบัติธรรมเล็กๆ ที่ชื่อว่า “ห้องแห่งใจ” แล้วชวนเพื่อนเก่าเพื่อนใหม่มาภาวนาด้วยกันในวิถีของฆราวาสที่สนใจใฝ่ธรรมในการเรียนรู้ตัวเอง มีทั้งดนตรีภาวนา และสนทนาประสาใจ คือสนทนากันในมุมใหม่ มุมที่ไม่ได้มานั่งวิพากษ์วิจารณ์ใครอีกแล้ว แต่ต่างมาเล่าสู่กันฟังในมุมของตนเองที่ผ่านมรสุมชีวิตทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว แล้วลุกขึ้นมาใหม่ได้อย่างไร แต่ละคนพบวิกฤติเพื่อที่จะเปลี่ยนผ่านตัวเองอย่างไร  

สำหรับผู้เขียน หลังจากเกษียณตัวเองจากงานสื่อเมื่อสองปีก่อนไม่นานนักคุณแม่ก็เจ็บป่วยกะทันหันและจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ทำให้ผู้เขียนใจสลายนับแต่นั้น เคว้งคว้างราวแพแตกอย่างไม่เคยพบมาก่อนในชีวิต  

หนังสือ "หลักการทำบุญและการปฏิบัติธรรม" ในชีวิตประจำวัน โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดยสำนักพิมพ์อนันตะ
หนังสือ “หลักการทำบุญและการปฏิบัติธรรม” ในชีวิตประจำวัน
โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดยสำนักพิมพ์อนันตะ

ในครั้งนั้น ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมตตาให้ธรรมะที่ท่านประสบกับตนเองผ่านมโนปณิธานที่ท่านเมตตาให้สัมภาษณ์มาช่วงหนึ่ง

และเรื่องความสูญเสียและความพลัดพรากโยมพ่อใหญ่ กับโยมแม่ใหญ่ (คุณปู่กับคุณย่า) ผ่านงานเขียนของท่านซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อนันตะ ซึ่งตีพิมพ์เป็นครั้งที่ ๙ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙  

เป็นจดหมายขนาดยาว ๔ ฉบับเขียนถึงพ่อใหญ่กับแม่ใหญ่(คุณปู่กับคุณย่า)ของท่าน เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติในช่วงสุดท้ายของชีวิตของท่าน จนกระทั่งทั้งสองท่านจากไป ท่านเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า เพราะความพลัดพรากจากผู้ที่รักจึงเป็นทุกข์มากมหาศาลจริงๆ จะไปหาท่านที่ไหนอีกแล้วก็ไม่มี 

ผู้เขียนอ่านไปก็ร้องไห้ไป หันกลับมามองตนเอง ตอนที่แม่จากไปก็ตกอยู่ในภาวะที่เคว้งคว้างที่สุด ไม่เป็นเป็นมาก่อน เป็นปีที่แทบไม่ได้สนทนากับใครเลย เฝ้าคร่ำครวญอยู่กับความอาลัย ทำให้ชีวิตไม่สามารถอยู่กับปัจจุบันได้สักที

เพราะยังมิได้เรียนรู้ตนเองอย่างถ่องแท้ จึงได้เริ่มต้นสวดมนต์และให้เวลาตนเองกับการอยู่เงียบๆ  เฝ้าดูลมหายใจจนเห็นความคิดบ้าง แต่จิตที่ยังไม่มีกำลังของสมาธิก็ยังไหลไปตามความคิดเสมอๆ จึงยังคงทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะความคิดหมุนวนตกร่องเดิมๆ  เพราะความคิดที่ไม่อยากให้แม่จากไป และอีกหลายๆ เรื่องที่ไม่ได้ดั่งใจ

แต่ด้วยการสอนสมาธิของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น จึงทำให้ผู้เขียนค่อยๆ เห็นตนเองมากขึ้น เห็นว่าความคิดมันทำร้ายเรามากมายมหาศาลอย่างไร  จึงขอถ่ายทอดธรรมะที่ท่านเขียนอธิบายเรื่องสัมมาสมาธิ ด้วยการเฝ้าดูลมหายใจจนเห็น “ภูเขาความคิด” พังทลายลงมาแบ่งปัน

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

สัมมาสมาธิ

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ภูเขาความคิด”

“ เบื้องต้นของการปฏิบัติคือ “กายคตาสติ” คือ  มีสติเป็นไปในกาย  คือ ให้สติอยู่ภายในกาย เฝ้าสังเกตกายและจิต เหมือนนักดาราศาสตร์อดทนเฝ้าสังเกตกลุ่มดวงดาว เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มดวงดาวในจักรวาล

“การเฝ้าดูกายและจิตจะทำให้เกิดการสังเวชสลดใจ เพราะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของกายและจิตอยู่เสมอ เห็นความคิดสลับกันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เห็นธาตุในกายแตกดับอยู่ตลอดเวลา เพราะเห็นความไม่สะอาด เห็นความเปื่อยเน่าไปของกาย จิตจะถูกดึงดูดลงสู่ภาวะความสงบ จะปลอดโปร่งจากกามคุณที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย ปลอดโปร่งจากอารมณ์ขุ่นมัวทางใจ ปลอดโปร่งจากการยึดถือในตัวตนของตน ในสิ่งของของตน จากความเห็นและความเชื่อของตน สติสัมปชัญญะจะบริบูรณ์ และจะเกิดความรู้จากภายใน มีความเบิกบาน สว่างไสวอยู่ภายใน 

“เมื่อเพ่งมองกลับเข้าไปในจิต จะเห็นกระแสความคิดที่เกิดขึ้นจากความยึดถือ ซึ่งมีส่วนผสมมาจากโลภะ โทสะ โมหะก่อตัวขึ้นแล้วดับไป กลายเป็นกระแสวิญญาณสืบเนื่องติดต่อกันไปไม่ขาดสาย ล้วนมีรากมาจากตัณหา

เมื่อสืบย้อนกลับไปก็จะรู้ว่า นับตั้งแต่เราเกิดมา เหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่เกิดจากโลภะ โทสะ โมหะอย่างธรรมดา จะเลือนหายไปตามวันเวลา เราจดจำไม่ได้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดจากโลภะ โทสะ โมหะที่รุนแรง ก็จะถูกเก็บไว้ในจิต ตกตะกอนขุ่นคลัก กลายเป็นอนุสัยนอนเนื่องให้จิตดึงกลับมาเป็นเชื้อให้เกิดกระแสวิญญาณ หล่อเลี้ยงชีวิตสืบเนื่องกันไปอีก

“เหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่เกิดจากโลภะ โทสะ โมหะ ที่รุนแรง จะถูกดึงกลับมาวนคิดย้ำๆ ซ้ำๆ อยู่บ่อยๆ โดยไม่รู้ตัว โดยขาดสติ เพราะระลึกไม่ได้ หรือโดยไม่มีสัมปชัญญะ เพราะไม่รู้ตัว คือ อวิชชา แต่ขณะใดที่เกิดระลึกได้และรู้ตัวขึ้นมา ภูเขาความคิดที่ก่อตัวขึ้นจากโลภะ โทสะ โมหะ อันมีตัณหาเป็นตัวการก็จะทลายลงมาในทันทีที่ระลึกได้และรู้ตัว อวิชชาจึงถูกทำลายลงในขณะนั้น”

“ แต่ทำอย่างไร จึงจะระลึกได้และเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ในทุกครั้งที่คิดอยากได้ (โลภะ) ในทุกครั้งที่ถูกราคะกลุ้มรุม (ราคะ) ในทุกครั้งที่เกิดความหงุดหงิดเดือดดาล (โทสะ) ในทุกครั้งที่เกิดความขัดเคือง ไม่พอใจ (ปฏิฆะ) และในทุกครั้งที่จิตไม่ตั้งมั่น รู้สึกเหม่อหม่น เลื่อนลอย หมองเศร้า เดียวดาย หว้าเหว่ ใจลอย ไร้จุดหมาย (โมหะ)

“ทางเดียวที่เป็นไปได้ ต้องฝึกสติ ให้มีสติ ให้ความคิดอยู่ในความระลึกรู้ ให้จิตอยู่ที่จิต ให้ใจอยู่ที่ใจ ต้องฝึกความรู้สึกตัวให้มีความรู้สึกตัว ต้องฝึก ต้องหัด ต้องสอนจิตให้เกิดความรู้ขึ้นมา จนจิตรู้ว่า จิตเองมีสติและสัมปชัญญะ โดยเริ่มต้นจากการเฝ้าสังเกตทุกความเคลื่อนไหวในกาย  เฝ้าสังเกตความเป็นไป ความเปลี่ยนแปลงของกายและจิต เฝ้าสังเกตการนั่ง การลุกขึ้นยืน การเดิน การนอน การเหลียวซ้ายแลขวา การกิน การดื่ม เป็นต้น”

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์(ตอนที่ ๓๔)

“เห็นภูเขาความคิด พบสภาวะจิตเปลี่ยนแปลง”

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

จากคอลัมน์ มโนปณิธาน (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๒ )

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here