ปีนี้น้ำมามาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยต้องประสบกับอุทุกภัยอย่างใหญ่หลวง บางพื้นที่น้ำท่วมสูงถึง ๗ เมตร เลยทีเดียว แม้ผู้เฒ่าผู้แก่ในวัย ๙๐ ปีขึ้นไป บางท่านกล่าวว่า ไม่เคยเจอกับน้ำท่วมมาก่อน  ในจังหวัดอุบลราชธานี ก็ถูกน้ำท่วมในหลายพื้นที่เช่นเดียวกับ พระเจดีย์ที่บ้านปากน้ำ  บุ่งสะพัง จ.อุบลราชธานี ก็ถูกน้ำท่วมสูงจนมิดศีรษะในช่วงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา   

พระเจดีย์ที่ปากน้ำ  บ้านบุ่งสระพัง จ.อุบลราชธานี ในปีนี้ที่ถูกน้ำท่วม
พระเจดีย์ที่ปากน้ำ บ้านบุ่งสระพัง จ.อุบลราชธานี ในปีนี้ที่ถูกน้ำท่วม

รำลึกวันวาน…มโฯปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๑๓ วิถีพุทธ…ประดุจเทียนที่ส่องสว่างไปข้างหน้า

(ระยับแดด กระดานชนวน และน้ำท่วมใหญ่) 

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์   (หน้าธรรมวิจัย นสพ. คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๒  กันยายน ๒๕๖๐)

ท่านเจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ ย้อนรำลึกถึงช่วงเวลาเช่นนี้ให้ฟังว่า สมัยก่อนก็เคยท่วมอย่างนี้อยู่ครั้งหนึ่งตอนสมัยยังเป็นเด็กๆ อยู่  และมีประทับใจ หลวงพ่อวัดปากน้ำ  พระมงคลธรรมวัฒน์(บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) เป็นอย่างมาก และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ท่านมีมโนปณิธานที่จะเป็นพระในเวลาต่อมา

หลวงพ่อวัดปากน้ำ  พระมงคลธรรมวัฒน์(บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล)

ในปี พ.ศ.  ๒๕๒๑ ไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน ด้วยก่อนหน้านี้ปีสองปี หลวงพ่อพาชาวบ้านตัดถนน ขุดบ่อตามเงินผันของทางราชการ แล้วขอเก็บเงินส่วนหนึ่งจากชาวบ้านไว้ เพื่อรวบรวมเอามาเป็นกองกลางนำไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน เนื่องจากไฟฟ้าลากผ่านไปตามถนนใหญ่ หากต้องการให้มีไฟแยกเข้าหมู่บ้านต้องรอไปอีก ซึ่งก็ไม่รู้เมื่อไหร่ ความที่หลวงพ่ออยากให้ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้  จึงตกลงกับชาวบ้านว่า เงินที่ได้จากการตัดถนน ขุดบ่อ ตามโครงการเงินผัน จะเอามาใช้เพื่อนำไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน

           “ชาวบ้านก็มีไฟฟ้าใช้ตั้งแต่นั้นมา และในปีนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน  น้ำในแม่น้ำมูลหนุนขึ้นสูงท่วมไร่นาชาวบ้านเสียหายหมดสิ้น น้ำหนุนสูงขึ้นมาจนเกือบเข้าหมู่บ้าน ทั้งๆ ที่หมู่บ้านอยู่ในที่สูง ถนนหนทางสะพานถูกตัดขาด หลวงพ่อนำพระเณรนำชาวบ้านไปมุดซ่อมสะพานให้ข้ามไปมาได้ สภาพการเป็นอยู่ของชาวบ้านลำบากมาก ทางการนำข้าวของมาแจกในวัด แต่ก็ไม่ทั่วถึง หลวงพ่อนำพระเณรปลูกข้าว ปลูกหัวมันแกว ปลูกผักต่างๆ ในวัดตรงพื้นที่ที่ดินว่างเปล่า แล้วแบ่งให้ชาวบ้านไปอยู่ไปกิน ในวัดจึงมีทั้งมะม่วง มะพร้าวเต็มไปหมด ”

หลวงพ่อวัดปากน้ำ  พระมงคลธรรมวัฒน์(บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) ได้รับรางวัล

นั่นคือ สาเหตุที่ทำให้หลวงพ่อวัดปากน้ำ เป็นหลวงตาของชาวบ้าน เป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้านบุ่งสะพัง

           ท่านเล่าต่อมาว่า ครั้นน้ำลดย่างเข้าหน้าหนาวอากาศก็เกิดหนาวจัดผิดปกติ พอเข้าหน้าแล้ง ก็แล้งเป็นประวัติการณ์ มองไปทางไหนก็เห็นเปลวแดดเป็นตัวเต้นระยิบ ชาวบ้านต้องเข้าป่าหาหัวกลอย หัวมัน มาแช่น้ำนึ่งกินแทนข้าว

“โยมแม่ต้องย่างปลาที่โยมพ่อหามาได้รมไฟให้แห้ง แล้วหาบเดินเท้าไปแลกข้าวต่างหมู่บ้าน นั่นเป็นครั้งแรกที่อาตมาตามโยมแม่ไปต่างหมู่บ้าน และเห็นเปลวแดดเต้นระยิบตามถนนดินทราย เมื่อกลับมาก็ต้องเอาข้าวมาแบ่งพ่อใหญ่ แม่ใหญ่ ให้ลุง ป้า ตามมีตามได้”

ในขณะนั้น ความลำบากของชาวบ้านที่เกิดจากน้ำท่วมต่อด้วยความแห้งแล้งแผ่ปกคลุมไปทั่ว

พระเจดีย์ที่วัดปากน้ำ บ้านบุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ปีพ.ศ.๒๕๖๐

           “แรกที่อาตมาเข้าเรียน ยังไม่มีสมุดหรือหนังสือ เข้าใจว่าหนังสือจะมีเฉพาะครู ยังใช้กระดานชนวนฝึกเขียน ทุกวิชาอยู่ที่กระดานชนวน พอเลิกเรียนกว่าจะกลับถึงบ้าน เด็กๆ ก็ใช้กระดานขว้างเป็นจานบินตามประสาเด็ก บางทีกระดานชนวนก็แตกระหว่างทางบ้าง  ต่อมา ไม่นานทางการก็เปลี่ยนหลักสูตร มีสมุดดินสอมาแจก  และเริ่มเข้าสู่การเรียนแบบสมัยใหม่อย่างจริงจัง

           “พอวันหยุดเรียน ตกเย็นต้องเดินเท้าไปนอนที่ทุ่งนากับพ่อใหญ่แม่ใหญ่  กลางคืนมีหน้าที่สุมไฟไล่ยุงให้ควาย ก็สนุกไปตามเรื่อง ตื่นเช้ามาก็นั่งหัวเรือไปยามมองยามต้อนกับโยมพ่อใหญ่

“โยมพ่อมีชีวิตไม่ต่างจากโยมพ่อใหญ่และชาวบ้านคนอื่นๆ ผูกพันอยู่กับทุ่งนาและสายน้ำ มีเรือ มีควาย มีทุ่งนาเป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งชีวิต ปีไหนฝนดีน้ำเต็มคันนา ข้าวกล้าเขียวขจีเต็มทุ่ง โยมพ่อจะนั่งมองสุดปลายนาฮัมเพลงผิวปากด้วยความอิ่มใจ  ปีไหนน้ำท่วมหรือฝนแล้ง โยมพ่อจะนิ่งเงียบมีแววตาครุ่นคิด

           โยมพ่อสอนให้ดูลักษณะวัว ลักษณะควาย ว่า วัวควาย ลักษณะใดเป็นคุณ ลักษณะใดเป็นโทษ ควายเป็นคุณ แม้ปล่อยไปตามคันนาก็ไม่กินข้าวในนา และจะรู้เวลากลับเข้าคอกเข้าแหล่งเอง

           “โยมพ่อบอกว่า เวลาสอนควายไม่ให้กินข้าว ต้องดึงใบข้าวให้ควายดม ตบปากควายเบาๆ แล้วบอกว่า อันนี้กินไม่ได้ ทำสองสามครั้งให้ควายจำ ถ้าควายมีลักษณะเป็นคุณจะไม่กินต้นข้าว ก็ปล่อยให้แทะเล็มกินหญ้าตามคันนาได้

           ระหว่างโยมพ่อ กับโยมพ่อใหญ่มีอะไรที่เหมือนกันมาก  มีชีวิตจิตใจดี สม่ำเสมอราบเรียบ ไม่มีอารมณ์ขึ้นลง มองโลกในแง่ดี ขยัน กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เหมือนธรรมชาติให้โยมทั้งสองเกิดมาเพื่อเป็นพ่อลูกกัน แม้ออกเรือนอยู่บ้านคนละหลังได้อาหารอะไรมา โยมพ่อมักนึกถึงโยมพ่อใหญ่ โยมแม่ใหญ่ และโยมป้า ตกเย็นมักจะให้นำข้าวปลาอาหารไปส่งเสมอ

           พระราชกิจจาภรณ์ เล่าย้อนรำลึกความทรงจำให้ฟังถึงความสัมพันธ์ระหว่างชีวิต ต่อชีวิต ประดุจเทียนที่ส่องสว่างไปข้างหน้าอย่างไม่มีวันดับ  และแสงสว่างยิ่งทอประกายในใจบรรพบุรุษ เมื่อบุตรหลานได้เข้าสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์

“คนที่นี่มีสายน้ำเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มีทุ่งนาเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณ ลูกหลานบุ่งสระพังจะจดจำท่าน้ำในบุ่งสระพังได้ทุกท่า จดจำหนองน้ำได้ทุกหนอง ท่าที่เถียงนาพ่อใหญ่เรียกว่าท่าชาละวัน เพราะเคยมีจระเข้ใหญ่ขึ้นที่ท่านี้จึงเรียก ท่าชาละวัน แล้วก็มีท่าหัวบุ่ง ท่าฮ่องหนองหมา ท่าโนนพระเจ้า ท่าเกลือ ท่าโนนวัด ท่ากกแต้ ท่าน้ำคำ ท่ากกไผ่ ไล่เรียงจากหัวบุ่งสระพังไปจนถึงปากบุ่งสระพัง จึงเป็นท่ากระโสบ ท่าหอ(เจ้าปู่) และท่าบ้านหัวบุ่ง มีบ่อเกลือ หน้าแล้งชาวบ้านจะมาต้มเกลือเก็บสะสมไว้ปรุงอาหาร  และหมักปลาร้า ส่วนที่ปากบุ่งสระพัง มีหาดทราย ชาวบ้านก็จะมาช่วยกันขนทรายเข้าวัดหน้าสงกรานต์

           “แม้ทุกข์ยากเช่นนี้ ชาวบ้านก็อยู่กันได้ตามประสาชาวบ้าน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  แค่เรื่องปากท้องก็ยุ่งยากมากพอแล้ว จึงไม่มีใครมีกะจิตกะใจคิดเรื่องเรียนหนังสือ”

         กระดานชนวนที่ถูกโยนเล่นหลังเลิกเรียนจนแตกไปหลายแผ่นในวัยเยาว์  เมื่อท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดบวชเรียน  และได้เรียนหนังสือในเพศบรรพชิตจนเติบใหญ่  ท่านกลับใส่ใจในการเรียนเป็นอย่างยิ่งจนจบปริญญาโททางด้านปรัชญา จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในเวลาต่อมา

  จากคอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

หน้าธรรมวิจัย วันอังคารที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐

ตอนที่ ๑๓ วิถีพุทธ…ประดุจเทียนที่ส่องสว่างไปข้างหน้า

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here