เมื่อนึกย้อนไปตอนเด็กๆ ได้อ่านเรื่องราวของพระเวสสันดร เป็นเรื่องแรกในชีวิตของการศึกษาพระพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัวว่านี่คือหนึ่งในเรื่องสุดท้ายของทศชาติพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญเพียรมากว่า ๒๐ อสงไขย แสนมหากัป เพื่อที่จะค้นหาคำตอบของชีวิตในการที่จะออกจากทุกข์ในสังสารวัฏอย่างสิ้นเชิงในพระชาติสุดท้ายในเวลาต่อมา และตอนที่เจอหนังสือเล่มนี้อายุประมาณแปดเก้าขวบจากข้างบ้านซึ่งเป็นห้องแถวอยู่หน้าวัด  เป็นหนังสือการ์ตูน อ่านไปก็ร้องไห้ไป อ่านแล้วอ่านอีกไม่เคยเบื่อเลย

และเมื่อได้อ่าน ปณิธานของพระพุทธเจ้า จากหนังสือ “ทศชาติ” โดย ญาณวชิระ หรือ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นครั้งแรกโดย กองทุนพุทธานุภาพ ในปี พ.ศ.๒๕๔๙และพิมพ์ต่อเนื่องทุกปีมาจนถึงครั้งที่ ๘ ในปี พ.ศ.๒๕๕๗เล่มนี้ ซึ่งมีความหนาถึง ๗๔๘ หน้า ก็ยิ่งทำให้เข้าใจวิถีของพระโพธิสัตว์มากขึ้นดังคำโปรยบนปกว่า

“ขุนเขาย่อมมีวันทะลาย

สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง

แต่ปณิธานของมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”

รำลึกวันวาน… มโนปณิธาน พระราชกจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จึงกลับมา เพื่อเรียนรู้หัวใจพระโพธิสัตว์ที่เข้มแข็ง พร้อมเผชิญวิกฤติในชีวิตด้วยความเมตตา กรุณา และขันติธรรม

“ลมหายใจพระโพธิสัตว์”

จากหนังสือ “ทศชาติ”  

ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

ดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

“กองทุนพุทธานุภาพ” เขียนไว้ในคำนำตอนหนึ่งว่า “ทศชาติ เป็นเรื่องราวการบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ขณะยังเป็นพระโพธิสัตว์ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นมนุษย์สามัญชน จนเป็นถึงพระมหากษัตริย์ แต่ละชาติทรงบำเพ็ญบารมีแต่ละอย่าง ด้วยจิตใจที่เด็ดเดี่ยว มีพระปณิธานที่แน่วแน่  ชีวิตในอดีตของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏอยู่ในทศชาติ จึงเป็นชีวิตที่น่าศึกษายิ่ง ”

         และเมื่อเปิดอ่านคำนำของท่านพระอาจารย์ “ญาณวชิระ” หรือ ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ ในครั้งนั้น ซึ่งเป็นผู้เขียน ท่านเป็นพระอาจารย์ที่เคารพรักและเป็นที่ศรัทธาเหนือเศียรเกล้าของข้าพเจ้า ด้วยความเป็นพระสุปฏิปันโนของท่านที่เพียบพร้อมไปด้วยวัตรปฏิบัติอันงดงามตามหลักพระธรรมวินัย โดยมีครูบาอาจารย์ที่เป็นทั้งพระป่าและพระบ้าน เมื่อท่านพระอาจารย์เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาจากพระไตรปิฎกหลายฉบับจึงทำให้เห็นภาพชีวิตของพระโพธิสัตว์เป็นมนุษย์แท้ๆ มีลมหายใจ

ดังที่ท่านพระอาจารย์ญาณวชิระเขียนไว้ในคำนำผู้เขียนตอนหนึ่งว่า “ทศชาติ เป็นเรื่องราว ในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ขณะที่พระองค์กำลังบำเพ็ญบารมี เพื่อบรรลุพระโพธิญาณ และเป็นเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาที่ชาวโลก ไม่เฉพาะแต่คนไทย รู้จักมากที่สุดเรื่องหนึ่ง บรรพบุรุษไทยในอดีต ได้นำทศชาติมาเขียนเป็นจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถตามวัดต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวให้ลูกหลานได้ศึกษาเส้นทางชีวิตมหาบุรุษ ผู้ที่จะเกิดมาเป็นพระศาสดาเอกของโลก

           “หลายปีมาแล้ว ผู้เขียนชอบไปนั่งในพระอุโบสถ ดูภาพจิตกรรมฝาผนัง วันแล้ววันเล่าไม่รู้จักอิ่ม ความงดงามของภาพจิตรกรรม ดึงผู้เขียนให้จมลึกลงไป สู่เหตุการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต ตามภาพจิตรกรรม ทั้งงดงาม และเอิบอิ่ม

           “ค่ำคืนวันหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ได้ปรารภถึงเรื่องอยากให้มีหนังสือทศชาติที่อ่านง่าย และเหมาะสมกับสมัยปัจจุบัน พร้อมกับส่งหนังสือให้เล่มหนึ่ง    

           “วันเวลาล่วงเลยมาจนถึงต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ ผู้เขียนเริ่มเปิดพระไตรปิฎกและอรรถกถาออกอ่าน แล้วผู้เขียนก็จมหายไปกับเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ ในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า บางเรื่องราวดูเจ็บปวดหนักหน่วงในชีวิตมนุษย์ จนไม่น่าเชื่อว่า จะมีชีวิตเช่นนี้อยู่จริงบนโลก บางเรื่องดูงดงาม บางเรื่องราวดูเหงาเศร้า  แต่ทั้งหมดเต็มไปด้วยพลังแห่งความเพียรพยายามของมหาบุรุษเอกของโลก

“พระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์ โดยเลือดเนื้อและชีวิตอย่างมนุษย์ทั่วไป แต่สูงส่งยิ่งด้วยพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาธิคุณเหนือมนุษย์และเทวดาทุกผู้ทุกนาม
         “ผู้เขียนพยายามเก็บความจากพระไตรปิฎก และอรรถกถาให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ แล้วนำมาจัดเรียงหัวข้อใหม่ เพื่อให้น่าสนใจและชวนติดตามมากขึ้น โดยได้เชื่อมโยงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลไว้ด้วย”

สัปดาห์หน้าจะค่อยๆ เล่าเรื่องลมหายใจของพระโพธิสัตว์ อดีตชาติของพระพุทธเจ้า จากหนังสือ ตามรอย “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” โดยพระอาจารย์ญาณวชิระหรือ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในครั้งนั้นกันต่อ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตและลมหายใจในวันนี้ให้มีคุณค่า อย่างชนิดที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “แม้มีชีวิตอยู่เพียงราตรีเดียวก็น่าชม”

รำลึกวันวาน… มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒

“ลมหายใจพระโพธิสัตว์”จากหนังสือ “ทศชาติ”  ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here