แท้จริงแล้วทุกๆ วันคือวันแม่และวันพ่อ เพราะแม่และพ่ออยู่ในตัวเรา ทุกอณูของเราก็คือท่าน ไม่ว่าท่านยังอยู่ หรือจากไป ท่านก็คือเรา และเราก็คือท่าน ความกตัญญูต่อท่านจึงเป็นเรื่องสำคัญมากในชีวิตกว่าสิ่งอื่นใด ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงหนังสือ “หลักการทำบุญและการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดยพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตีพิมพ์เป็นครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งเนื้อหาในเล่มเป็นจดหมายฉบับยาวสี่ฉบับที่ท่านเขียนถึงโยมพ่อใหญ่และโยมแม่ใหญ่ (คุณปู่กับคุณย่า) ของท่านเพื่อส่งทอดธรรมะที่ท่านปฏิบัติในระหว่างการบวชเรียนเพื่อน้อมระลึกถึงพระคุณของท่านโดยตลอด
มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จึงกลับมา
ตอนที่ ๒๙ ความกตัญญูต่อแม่พ่อเป็นมงคลอันสูงสุด
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในครั้งนั้น เคยเล่าให้ฟังว่า แม้ว่าท่านจะบวชมานานเพียงใดก็ตาม โยมแม่ใหญ่(คุณย่า)ของท่านก็ยังเก็บเสื้อผ้าของท่านเมื่อครั้งเยาว์วัยก่อนบวชไว้ข้างหมอนตลอดเวลา เห็นได้ว่า ความรักของท่านต่อหลานไม่ว่าจะนานเพียงใดก็เหมือนเดิม
การกตัญญูต่อผู้มีพระคุณคือ ปู่ย่า ตายาย แม่พ่อ จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เป็นทั้งพื้นฐานและเป็นรากแก้วอันสำคัญที่จะไปต่อในเรื่องกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด และการกตัญญูต่อพระพุทธศาสนาอันเป็นที่สุดของชีวิต ดังในเรื่อง “คุณค่าของการกตัญญูกตเวที” หน้า ๘๑ …ท่านเขียนว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงสิ่งที่จะทำให้เกิดมงคลแก่ชีวิตคนเราไว้ ๓๘ ประการ หนึ่งใน ๓๘ ประการนั้น คือ “ความเป็นผู้กตัญญู” รู้จักเลี้ยงดูมารดาบิดา พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า มาตาปิตุ อุปัฏฐานัง เอตัมมัง คะละมุตตะมัง การเลี้ยงดูมารดาบิดาเป็นมงคลอันสูงสุด
“ถ้าขาดความกตัญญูเสียอย่างแล้ว อย่าได้หวังว่าชีวิตจะมีมงคล ส่วนคำว่า กตเวที คือ การแสดงออกว่า ตนเป็นคนกตัญญู หรือการตอบแทนคุณความดีของผู้มีพระคุณ เมื่อผู้ใดทำการอุปการคุณแก่เราแล้ว ก็พยายามหาทางทดแทนบุญคุณ เมื่อมีโอกาส เช่น ลูกๆ ได้รับอุปการะเลี้ยงดูจากพ่อแม่จนเติบโต มีสติปัญญาประกอบสัมมาอาชีพ มีรายได้เป็นหลักเป็นฐานแล้ว ก็เลี้ยงดูพ่อแม่เพื่อสนองพระคุณท่านตอบแทน”
นอกจากการเลี้ยงดูกายแล้วการเลี้ยงดูจิตใจแม่พ่อก็เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง การบวชจึงเป็นอีกทางหนึ่งที่สำคัญในการกตัญญูต่อแม่ เป็นการตอบแทนพระคุณท่านอีกทางหนึ่งที่ทำให้ท่านเบาใจ ทำให้ท่านได้มีโอกาสทำบุญทำทาน มีโอกาสเข้าวัด สวดมนต์ฟังเทศน์ รักษาศีล หรือถ้าทำอยู่แล้วก็จะได้ทำให้มากขึ้นเป็นพิเศษ
“เนื่องจากการบวช ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า เป็นการช่วยสืบอายุพระพุทธศาสนา เพราะช่วงเวลาของการบวชเรียน จะต้องใช้ชีวิตอย่างสมถะ สงบเสงี่ยมเรียบง่าย ไม่กล่าวร้าย ไม่ว่าร้าย ไม่ทำร้ายใครๆ อย่างที่เรียกว่า บรรพชิต คือ เป็นผู้ที่ละเว้นในสิ่งที่ไม่ควร ไม่เหมาะสม การดำเนินชีวิตเช่นนี้ ชื่อว่า เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวออกไป เพื่อประโยชน์แก่คนในรุ่นหลัง เปรียบเสมือนการนำชีวิตของเราเข้าไปเพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนานั่นเอง และพ่อแม่ก็ได้ชื่อว่า ได้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาด้วย เพราะชีวิตที่ลูกไปบวช ก็เป็นชีวิตที่เกิดจากพ่อแม่ เลือดเนื้อที่เจริญเติบโตอยู่ในร่างกาย เป็นตัวตนของลูก ก็เป็นเลือดเนื้อจากอกของพ่อแม่นั่นเอง
“พระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ผู้ใดสำนึกในบุญคุณพ่อแม่แล้ว มีความปรารถนาจะตอบแทนคุณท่านอันมากล้น ต้องได้บวชในพระพุทธศาสนาจึงได้ชื่อว่า ตอบแทนบุญคุณท่านอย่างแท้จริง
“ดังโบราณจารย์แสดงอุปมาไว้ว่า ถึงแม้มีบุคคลผู้ทรงฤทธิ์ เหาะไปเก็บดอกไม้จากป่าอันกว้างใหญ่ไพศาล มาสักการะองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งพันองค์ กระทำอย่างนี้ทุกวันมิได้ขาดตลอดกาล อานิสงส์นั้นจะนำมาเปรียบกับการได้บวชในพระพุทธศาสนาไม่ได้เลย แม้จะถวายจตุปัจจัยทั้ง ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรค แด่พระพุทธเจ้าถึงโกฏิองค์ อานิสงส์นั้นจะนำมาเปรียบกับการได้บวชในพระพุทธศาสนาไม่ได้เลย หรือถึงแม้จะมีมหาเศรษฐีจัดสร้างพระพุทธรูปให้เต็มห้วงจักรวาลนี้ แล้วกระทำการสักการะด้วยแก้วทั้ง ๗ ประการ กองประมาณสูงเท่าภูเขาหลายร้อยหลายพันโยชน์ อานิสงส์นั้น จะนำมาเปรียบกับการได้บวชในพระพุทธศาสนาไม่ได้เลย
“และหากจะมีเทพบุตรองค์หนึ่งผู้มีฤทธานุภาพมาก เสกเอาพื้นปฐพีอันหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์มาขยี้ทำให้เป็นผงใช้แทนหมึก แล้วเอามหาสมุทรลึกแปดหมื่นสี่พันโยชน์ เป็นปากกาสำหรับเขียน เอาท้องฟ้าอันราบเรียบกว้างใหญ่ไพศาล หาที่สุดมิได้เป็นสมุด จดจารึกบันทึกผลบุญของบุคคลผู้ได้บรรพชา อุปสมบทในพระพุทธศาสนา เขียนด้วยปากกาคือภูเขา จนสิ้นหมึกคือพื้นพสุธา สิ้นกระแสชลคือมหาสมุทร ขีดเขียนไปจนหมดหนังสือ คือท้องฟ้า จะพรรณนาคุณแห่งการบวชให้หมดนั้นไม่มี”
การกตัญูญูกตเวทิตาจึงเป็นสิ่งสูงค่าเหนือยิ่งกว่าสิ่งใดในชีวิตที่ไม่อาจนำไปเปรียบเทียบกับอะไรได้ และพรรณนาเท่าใดก็ไม่มีวันหมดจริงๆ
รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒
ตอนที่ ๒๙ ความกตัญญูต่อแม่พ่อเป็นมงคลอันสูงสุด
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์