ขอขอบพระคุณภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง
แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา และพระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

กาารบวช เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากในชีวิตคนๆ หนึ่ง

เพราะเป็นหนทางอันประเสริฐที่พระพุทธองค์ฺทรงค้นพบว่า

หนทางนี้ มีธุลีน้อย สามารถดำเนินชีวิตขัดเกลาตนไปจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

ดังนั้น การบวชจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากคุณแม่คุณพ่อ พระอุปัชฌาย์อาจารย์ พระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์ ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณเหนือเศียรเกล้าต่อชีวิตพรหมจรรย์อย่างยิ่งยวดแล้ว บทบาทพระพี่เลี้ยงของสามเณรน้อยและพระใหม่ เป็นบทบาทที่ใครๆ อาจจะมองผ่านไป…

ดังที่อดีตท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) กล่าวไว้ว่า ตลอดชีวิตของพระภิกษุ การที่ได้สนองงานมากมายถวายหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) พระอุปัชฌาย์ งานหนึ่งที่ท่านเมตตาสอนและให้เป็นหน้าที่มาโดยตลอดก็คือ การเป็นพระพี่เลี้ยงมากว่า ๒๐ ปี นี้เป็นงานที่รู้สึกอบอุ่น อิ่มใจทุกครั้งที่ระลึกถึง เพราะเมื่อมีพระบวชใหม่ทุกครั้ง ไม่ว่าท่านจะบวชสั้น หรือบวชยาว พระพุทธศาสนาก็ได้มีศาสนทายาทเพิ่มขึ้นแล้ว การสืบทอดพระพุทธศาสนาก็จะยืนยาวออกไปไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมีการบวชเรียน

หนทางแห่งการพ้นทุกข์ก็เป็นไปได้…

  • รำลึกวันวาน มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) จึงกลับมา …
  • ตอนที่ ๒๖. “หลวงพี่อยู่ตรงนี้” บทบาทพระพี่เลี้ย

เข้าพรรษามาได้สัปดาห์หนึ่งแล้ว เมื่อรำลึกย้อนไปถึงปฏิปทาของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์  (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งที่ท่านเป็นสามเณรน้อย บวชแต่เยาว์วัยในอายุเพียงสิบสองสิบสามปีที่มุ่งมั่นจะเป็นพระ จนตลอดชีวิตของท่านปฏิปทาไม่เคยเปลี่ยน ท่านว่า แม้จะเกิดอีกกี่ชาติก็จะขอบวชเป็นพระ

การเป็นพระไม่เพียงเพื่อปฏิบัติขัดเกลาตนให้พ้นทุกข์เท่านั้น หากเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ด้วย และยังเป็นกำลังสำคัญในการสืบทอดพระพุทธศาสนาในทุกด้านต่อการที่จะช่วยเหลือคนทุกข์ให้ออกจากทุกข์ด้วยหนทางแห่งอริมรรค และวิถีเนกขัมมะคือการออกบวชต่อไปไม่สิ้นสุด

  ดังที่ท่านเขียนเล่าไว้ในคอลัมน์ “ต้นรากเดียวกัน” หน้าธรรมวิจัย นสพ. คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ตอน “สืบทอดอายุพระพุทธศาสนาทีละวัน” ตอนหนึ่งว่า

“การมีโอกาสเกิดเป็นลูกผู้ชาย ภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นความโชคดีของชีวิต เป็นความโชคดีที่ลูกผู้ชายอีกหลายพันล้านคนไม่มีโอกาสสัมผัสได้ ยิ่งถ้ามีโอกาสได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา ดำเนินชีวิตอย่างพุทธบุตร ผู้แสวงหาความสงบ แม้ชั่วระยะเวลาหนึ่งของชีวิต มากบ้าง น้อยบ้างตามโอกาส ยิ่งเป็นช่วงชีวิตที่งดงาม ควรค่าแก่การจดจำ ยากที่จะลืมได้

“บางคนเชื่อว่า การบวช ๗ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน เป็นสัญญาณ บอกให้รู้ว่า อายุพระศาสนาสั้นเข้า เป็นยุคที่พระศาสนาเสื่อม แต่ถ้ามองกลับกัน ตราบใดที่ยังมีการบวชสั้นๆ เช่นนี้ ติดต่อกันอย่างไม่ขาดสาย ตราบนั้น พระพุทธศาสนาก็ไม่มีวันเสื่อมสลาย สีแห่งผ้ากาสาวพัสตร์จะยังคงเหลืองอร่ามในโลกตลอดไป

“พระพุทธศาสนาในเมืองไทย มั่นคงมาถึงวันนี้ เนื่องมาจากการวางรากฐานให้มีการบวชตามประเพณีได้ ซึ่งเป็นช่วงบ่มเพาะศรัทธาให้งอกงาม ตั้งมั่นในพระศาสนา เพราะผู้ที่ผ่านการบวชเรียนในช่วงสั้นๆ เมื่อลาสิกขากลับไปดำเนินชีวิตอย่างชาวบ้าน เขาเหล่านั้น ก็ล้วนผ่านเส้นทางธรรมมาแล้ว ย่อมมีหลักให้กับชีวิต สามารถประคับประคองตนให้อยู่ในกรอบแห่งศีลธรรมที่ดีงามได้ หากเป็นลูก ก็เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นสามี ก็เป็นสามีที่ดีของภรรยา เป็นพลเมือง ก็เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ เป็นหลักในการเผยแผ่พระธรรม เป็นกำลังในการสืบทอดพระพุทธศาสนา และเป็นปราการที่แข็งแกร่งในการปกครอง คุ้มครองพระพุทธศาสนา

“เขาจะเป็นคนที่มีความอดทน เข้มแข็ง และกล้าแกร่งแม้ในยามต้องเผชิญช่วงเวลาแห่งความทุกข์ และความยากลำบากของชีวิต”

และเพราะคุณค่าแห่งการบวชเรียนมีความสำคัญยิ่งดังท่านได้เคยกล่าวไว้ ท่านยังได้เล่าถึงบทบาทของพระพี่เลี้ยงด้วยว่าเป็นปฏิปทาของหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ที่ให้พระเก่าดูแลพระใหม่ ทำหน้าที่เป็นพระพี่เลี้ยง คอยดูแลตั้งแต่การเตรียมบวชว่าต้องทำอะไรบ้าง ต้องคอยสังเกต คอยตอบคำถาม คอยดูแลตั้งแต่การห่มจีวร การขบฉัน การออกบิณฑบาต การเดิน การนั่ง ทุกอิริยาบถเลยก็ว่าได้ ตลอดจนการจดบันทึกประวัติแต่ละท่านที่มาบวชไว้ เวลาที่เขาลาสิกขาไปแล้วกลับมา มีอะไรก็ปรึกษาช่วยเหลือกันได้ นี้เป็นวิถีอันงดงามของสหธรรมมิกตั้งแต่ครั้งบวชเรียน แล้วพอบางท่านลาสิกขาไปก็ยังเป็นประดุจญาติจึงเรียกว่า ญาติธรรม สายธารแห่งพระพุทธศาสนาจึงได้รับการหล่อเลี้ยงจากดวงใจหนึ่งไปยังอีกดวงใจหนึ่งบนหนทางอันอบอุ่นและอ่อนโยนนี้เอง

ท่านอาจารย์เจ้าคุณในครั้งนั้น ยังกล่าวอีกว่า เพราะการบวชในพระพุทธศาสนา เป็นการเจริญรอยตามแบบอย่างองค์สมเด็จพระ สัมมาสัมพุทธเจ้า แม้พระองค์ทรงเป็นโอรสของกษัตริย์ แต่พระองค์กลับเสียสละทุกอย่างออกบวช เพื่อแสวงหาหนทางที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ ในที่สุดก็ได้ตรัสรู้ตามที่ทรงประสงค์

การบวชนี้ แม้ดูเป็นการบวชตามประเพณี หรือเป็นการบวชเณรก็ตามที แต่ใครจะสามารถตีค่าความปีติในใจของตัวผู้บวชออกมาเป็นเพียงสูตรตามตัวเลขทางคณิตศาสตร์ได้ เขาได้ทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นว่า มีคุณค่ามากกว่าคุณค่าอื่นใดให้กับคนที่เขาเทิดทูน (พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง ฯลฯ )

“ในแง่สืบต่ออายุพระศาสนา แม้บวชเพียงหนึ่งวัน พระศาสนาก็สืบต่อไปได้อีกหนึ่งวัน บวชสองวัน อายุพระศาสนาก็สืบไปได้สองวัน หรือจะบวชสองเดือน สองปี ก็เช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ตามมา ความดีงาม คือ ศรัทธาเริ่มก่อตัวขึ้นในจิตใจเขา เหมือนโพธิ์เริ่มแตกจากหน่อ พร้อมที่จะเติบโตเมื่อเหตุปัจจัยพรั่งพร้อม คือ ได้ดิน น้ำ อากาศ ปุ๋ยที่เหมาะสม ศรัทธาในใจของเขา ก็พร้อมที่จะงอกงามหลังจากได้ฝึกหัดขัดเกลาตน โดยมีพระพี่เลี้ยงและครูบาอาจารย์คอยดูแลเกื้อกูลในช่วงบ่มเพาะตนเอง กระทั่งสามารถกะเทาะกิเลสหยาบๆ ในใจตนไปจนถึงกิเลสอย่างละเอียดได้ในที่สุด”

และหน้าที่ของพระพี่เลี้ยงก็อยู่ตรงนั้น ดังที่ท่านกล่าวว่า ระหว่างที่สามเณร หรือพระเพิ่งบวชใหม่ก็จะบอกท่านว่า “หลวงพี่อยู่ตรงนี้ มาหาได้ มาถามได้ตลอดเวลานะไม่ต้องเกรงใจกัน”

ความงดงามในวิถีแห่งบรรพชิตแบบพี่ๆ น้องๆ เช่นนี้ ใช่หรือไม่ว่า เป็นดั่งมาลัยที่ถักทอห่อแก่นพระพุทธศาสนาไว้ได้มาจนถึงทุกวันนี้

รำลึกวันวาน มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอน “หลวงพี่อยู่ตรงนี้” บทบาทพระพี่เลี้ยง

หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here