วันนี้วันอาสาฬหบูชา วันอังคารที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ วันแห่งการตื่นรู้ของท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ หลังจากได้ฟังพระพุทธองค์แสดง ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ว่าด้วยทางสายกลางที่นำไปสู่การพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง เป็นปฐมเทศนา เทศนากัณฑ์แรก ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ผู้คอยอุปัฏฐากเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกริยาอย่างเอกอุเป็นเวลาถึง ๖ ปี จนสิ้นทุกข์ในสังสารวัฏอย่างแท้จริง …

ทำให้ผู้เขียนรำลึกถึงคำกล่าวของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ว่า ทุกขสัจนั้นไม่ได้อยู่ที่ไหน มันอยู่ในใจนี้ ชาตินี้หากเราพบทุกขสัจก็นับว่าเป็นพรอันประเสริฐแล้ว เพราะเห็นทุกข์นี้เองก็จะทำให้เห็นธรรม

และการฝึกเช่นใดเล่าที่จะก้าวล่วงทุกข์ให้ได้…

  • มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร )
  • ตอนที่ ๗ เณรน้อยในป่าใหญ่ ฝึกกรรมฐานกับพระป่า “ความอดทนเป็นสิ่งวิเศษสุด”
  • โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
พระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร

          ช่วงที่สามเณรเทอด  วงศ์ชะอุ่มอยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร ในป่าสี่ปี  ซึ่งเดิมเป็นวัดร้างใกล้ปากแม่น้ำมูล จ. อุบลราชธานี  สำหรับเด็กวัยสิบสามปีที่มุ่งมั่นจะเป็นพระ ต้องมาอยู่ฉันมื้อเดียวในป่าใหญ่ เป็นอย่างไร   

          พระราชกิจจาภรณ์ เล่าย้อนไปในหนหลังให้ฟังว่า  จริงๆ แล้วตอนนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้  ถึงแม้กระท่อนกระแท่นตามประสาเด็ก แต่ก็น่าจะเป็นช่วงที่ค่อยๆ ก่อตัวในการฝึกตนขึ้นมา ทำให้เข้าใจว่า การหักห้ามใจเป็นอย่างไร การตัดข้อกังวลเป็นอย่างไร 

          “เพราะทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน ย่อมเจอกับทุกข์ ย่อมเจอกับสิ่งที่ให้เกิดความยุ่งยากใจ  ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสญาติโยม  หรือเป็นพระ  ไม่ว่าจะเป็นพระเด็ก หรือ พระผู้ใหญ่ ต่างมีเรื่องที่ต้องทำให้ขุ่นข้องหมองใจด้วยกันทั้งหมด    อยู่ที่ว่าทุกครั้งที่ความขุ่นข้องหมองใจเกิดขึ้น เราสามารถหักห้ามมันลงได้  คือ เราก็ไม่ต้องแบกรับความทุกข์สาหัสสากรรจ์นั่นเอง”

          บางคนอาจตั้งคำถามว่า เป็นพระแล้วจะมีเหตุการณ์อะไรให้ต้องทุกข์ขนาดนั้น  ท่านเล่าให้ฟังต่อมาว่า ความจริงคือมันต้องมี ความทุกข์นี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง โลกธรรมมันก็มีอยู่เป็นธรรมดา

          “แต่การได้ฝึกตนตั้งแต่เด็กๆ ทำให้อาตมามีวิธีการตั้งรับของตนเอง  ซึ่งทุกคนก็มีทักษะส่วนตัว  บอกกันไม่ได้  หมายความว่า ต่อให้เล่าไปก็เป็นเพียงคำบอกเล่า แต่วิธีการนั้นต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง

          “อาตมารู้สึกขอบคุณชะตาที่ทำให้ต้องไปอยู่ป่าถึงสี่ปี  เป็นการฝึกความอดทน อันดับแรกเลย  ความอดทนเป็นสิ่งที่วิเศษ   แม้มันจะมีรสขม  แต่ผลจากการที่ต้องเผชิญกับความอดทนเป็นสิ่งที่ดีมากในเวลาต่อมาจนถึงทุกวันนี้

          “เพราะผู้ที่จะผ่านความอดทน ต้องผ่านความขมขื่น  ความบากบั่น  แล้วจะได้รสที่ชุ่มเย็น 

เมื่อนึกย้อนไปตอนที่พระอาจารย์มหามังกร ท่านขึ้นเทศน์  อาตมาเป็นเด็กสงสัยตลอดว่า ทำไมเทศน์นานจัง  ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเทศน์เลย  ท่านเอาอะไรมาพูดได้มากมายขนาดนั้น  เราฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง หลับบ้าง  ทรมานบ้าง พลิกแล้วพลิกอีกบ้าง  สองทุ่มก็แล้ว สามทุ่มก็แล้ว 

          “มานึกถึงตอนนี้  ทำไมทนได้มากขนาดนั้น  ก็เข้าใจว่า เพราะการปฏิบัติของท่านอาจารย์มหามังกรเข้มข้นมาก ทำให้ท่านอดทนได้นาน  บางวันเทศน์ถึงห้าทุ่มเที่ยงคืน  มีญาติโยมมาปฏิบัติธรรมกับท่านตั้งแต่หกโมงเย็นแล้วก็สวดมนต์ทำวัตรไปจนยาวเกือบเที่ยงคืนในบางวัน  พอได้หลับไปสักพักก็ต้องตื่นแล้ว ตีสาม ตื่นมาทำวัตรสวดมนต์ แล้วท่านอาจารย์ก็เทศน์อีก จากนั้นก็พานั่งสมาธิต่อ มานึกดู ว่าทำไมทนได้ 

          “พอมาถึงวันนี้ ก็ต้องขอบคุณความอดทนเป็นสิ่งประเสริฐ เพราะไม่ว่าเรื่องอะไรก็ทนได้ ทนหิว ทนหนาว  ทนร้อน  ไม่ต้องไปบ่นกับคนอื่นเขา   ทำให้เราเข้าใจอะไรได้ง่าย  และยอมรับอะไรได้ง่าย  ซึ่งทำให้เราทุกข์น้อยลง แต่ ไม่ได้หมายความว่า ไม่ทุกข์ แต่มันทุกข์น้อยลง  ดูเหมือนกับว่า ไม่ใส่ใจอะไร แต่ใส่ใจ ดูเหมือนกับไม่รู้อะไร แต่ก็รู้ ดูเหมือนไม่เข้าใจอะไรเลย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เข้าใจอะไรเลย  “

          ท่านเล่าเป็นปริศนาธรรม แต่จริงๆ นั้นก็คือ

          “หมายความว่า รู้ทุกอย่าง ใส่ใจทุกอย่าง เข้าใจทุกอย่าง  แต่ไม่เอามาแบกไว้ให้เป็นทุกข์ในใจ ประมาณนั้น อาตมาก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างนี้ พอถึงตีห้ากว่าๆ ประมาณตีห้าสิบห้านาทีถึงตีห้ายี่สิบนาที ก็เดินออกมาเพื่อบิณฑบาตในหมู่บ้าน”

 ลองนึกภาพดูว่า เณรตัวเล็กๆ ผอมๆ อุ้มบาตรก็หนักอยู่แล้ว  ออกจากหมู่บ้านก็ต้องอุ้มบาตรอาจารย์อีกเป็นสองลูก  สามเณรเทอดเดินตามหลังท่านอาจารย์เช่นนี้อยู่สี่ปีในป่าใหญ่   เป็นการอุปัฏฐากอาจารย์ที่งดงามมากที่สุดที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้มากว่าสองพันหกร้อยปี   

สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม
สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม

การสืบเนื่องพระพุทธศาสนาจึงยืนยาวมาได้เพราะมีหน่อเนื้อสมณะเป็นเณรน้อยคอยอุปัฏฐากอาจารย์อยู่เช่นนี้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย  นับแต่ เจ้าชายราหุลทรงบรรพชาเป็นสามเณรรูปแรกในบวรพระพุทธศาสนา  และบวชเป็นพระภิกษุโดยมีพระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ ด้วยวิธี ติสรณคมนูปสัมปทา หรือ ไตรสรณคมนอุปสัมปทา (หมายถึง การอุปสมบทเป็นภิกษุโดยการรับไตรสรณคมน์แบบหนึ่งในพระพุทธศาสนา  ซึ่งในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้าประทานอุปสมบทเอง เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่อมา ทรงอนุญาตให้พระสาวกบวชกุลบุตรให้เป็นภิกษุได้โดยวิธีให้กุลบุตรนั้นรับไตรสรณคมน์  ซึ่งการบวชแบบนี้สำเร็จได้โดยบุคคล คือ พระสาวกรูปใดรูปหนึ่งก็สามารถบวชกุลบุตรได้  ต่อมาทรงอนุญาตวิธีการอุปสมบทโดยสงฆ์ คือ ให้ทำเป็นสังฆกรรมที่เรียกว่าแบบญัตติจตุตถกรรมวาจา จึงเลิกวิธีบวชพระแบบติสรณคมนูปสัมปทา แต่ทรงอนุญาตให้ใช้วิธีนี้บวชสามเณร ซึ่งถือปฏิบัติกันมาตราบเท่าทุกวันนี้ )

          สามเณรเทอดอุปัฏฐากท่านอาจารย์มหามังกรเช่นนี้ทุกวัน  และได้ฝึกกรรมฐานจากท่านอาจารย์มหามังกรด้วย 

ท่านเล่าต่อมาว่า  หลังจากบิณฑบาตแล้วกลับไปถึงวัด ก็ต้องกวาดศาลาซีกหนึ่งก่อน  กวาดลานวัดที่ใบไม้ร่วงให้สะอาด แล้วก็อาบน้ำ กว่าจะได้ฉันก็แปดโมงกว่าๆ ถึงเก้าโมงเช้า ฉันเสร็จก็ประมาณสิบโมงกว่าๆ พอฉันเสร็จ เก็บล้างบาตรเสร็จก็ง่วง

เณรตัวเล็กๆ ก็เหนื่อย เลยนอนเป็นงูเหลือม  ตอนบ่ายๆ ก็ออกหาฟืน แล้วกลับมากวาดวัด  ขึ้นไปกุฏิท่านอาจารย์ดูว่า มีจีวรที่ท่านใช้แล้วไหม เพราะมีอยู่สามผืนท่านก็สลับใช้ เมื่อเห็นว่าท่านใช้ผืนไหนแล้วก็นำไปซัก  กุฏิท่านก็เล็กนิดเดียวนั่นคือ หน้าที่ที่ต้องขึ้นไปดู ไปถูกุฏิท่านอาจารย์  พับที่นอน แล้วก็ซักจีวรให้ท่าน  ซักจีวรแล้วก็นำมาไว้ด้านข้างๆ ที่นอน โดยที่ท่านอาจารย์ไม่ต้องบอก  อาตมาต้องคอยสังเกตเอาเอง  

          “จากนั้น ก็ไปตักน้ำใส่ตุ่มให้เต็มสองตุ่มในถาน (ห้องส้วม) ตุ่มหนึ่งสำหรับอาบน้ำ อีกตุ่มหนึ่งสำหรับราดถาด (ส้วม) สองตุ่มนี้ต้องตักให้เต็มตลอด แล้วต้องเดินไปตักจากบ่อ  (ปัจจุบันบ่อน้ำนี้แห้งเหือดแล้ว ) ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากวัดร้างพอสมควร”

          ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดเล่าถึงพระอาจารย์มหามังกร ซึ่งเป็นอาจารย์รูปที่สองของท่านว่า ท่านเป็นพระนักปฏิบัติ  และเป็นพระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น

          “ท่านเป็นลูกศิษย์พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) แล้วท่านก็เป็นพระธุดงค์ด้วย แต่ท่านอายุสั้นไปหน่อย  ก่อนท่านมรณภาพท่านไปธุดงค์มาก็ติดเชื้อมาลาเรีย  ๗  วันก็มรณภาพ”

          เพราะความตายนั้นไม่เคยต่อรองได้  จากความพลัดพรากนี่เองเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้เจ้าคุณเทอดครองความเป็นพระมาได้จนถึงทุกวันนี้

(โปรดติดตามตอนที่ ๘ “ก้าวข้ามความกลัว” สัปดาห์หน้า

คอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here