มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม
ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายในงานพระราชทานเพลิงศพ
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์
(เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)
อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ
ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
๙ มีนาคม ๒๕๕๗
มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม (๘) “ถ้าการเมืองเป็นเรื่องของเล่ห์กล ประชาธิปไตยก็เป็นได้แค่คำฉ้อฉล (๒)” : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
(คำปรารภ)
เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในช่วงปีพ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้
ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว
ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ
ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ
การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ
อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”
ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูลย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕
ถ้าการเมืองเป็นเรื่องของเล่ห์กล ประชาธิปไตยก็เป็นได้แค่คำฉ้อฉล (๒)
ถ้านักการเมืองดี เป็นคนที่พัฒนาแล้ว มาเป็นรัฐบาล ก็ใช้ความสามารถจัดสรรสร้างโอกาสอย่างเป็นธรรมแก่ประชาชน บอกช่องทาง และส่งเสริมแนะนำความรู้จักใช้โอกาส
พูดง่ายๆ ว่า ปิดช่องร้าย ขยายช่องดี หรือปิดช่องว่างช่องโหว่ ขยายโอกาส เช่น ให้ประชาชนมีโอกาสทำงานการดีๆ ที่เขาถนัด โดยปิดช่องไม่ให้คนร้ายมาลักขโมยแย่งชิงหรือมาคดโกงหลอกลวง เป็นต้น ทำสังคมให้ปลอดภัย ไม่มีการเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบกัน ให้คนสำแดงศักยภาพในการสร้างสรรค์ได้เต็มที่
ประชาชนก็พิสูจน์คุณภาพของความเป็นคนที่พัฒนาแล้ว ด้วยการรู้จักใช้โอกาสอย่างสร้างสรรค์ ในการพัฒนายิ่งขึ้นไป และในการทำกิจให้สัมฤทธิ์ประโยชน์ตนและประโยชน์ส่วนรวม โดยถือว่าโอกาสนี่แหละเป็นทุนพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ถ้าเก่งจริงก็บอกว่า ฉันต้องการแค่นี้ พอแล้ว ขอโอกาสให้ฉันทำ ฉันจะทำ และช่วยกันทำ
จะพัฒนาประชาชนให้มีคุณภาพได้จริง ก็ต้องเอาจริงกับงานพัฒนาคน คือ การศึกษา โดยให้ความสำคัญแก่คนที่นำพาคนให้พัฒนาไปในการศึกษา คือ ครู
ต้องให้ความสำคัญแก่ครู ทั้งด้านคุณภาพของครู และสถานภาพของครู และรู้จักการศึกษาที่เป็นการพัฒนาตัวคน ไม่ใช่มีแต่การศึกษาที่เป็นแค่รูปแบบดุจบันไดสำหรับไต่ขึ้นไปไขว่คว้าหาอำนาจและผลประโยชน์
ถ้าแก้ปัญหาการศึกษาที่ผิดไม่ได้ หรือปล่อยให้การศึกษามีแค่รูปแบบ การพัฒนาคนก็ไม่มี จึงไม่มีทางทำให้ประชาชนมีคุณภาพ แล้วจะได้นักการเมืองที่ดีมาจากที่ไหน จึงย่อมเอาประชาธิปไตยที่ดีไม่ได้ การเมืองก็วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร ดังได้ว่ามา
พูดกันว่า เด็กเป็นอนาคตของชาติ ถ้าถือว่าครูสร้างเด็ก ครูก็เป็นผู้สร้างอนาคตของชาติ เริ่มตั้งแต่ครูคนแรก คือพ่อแม่ที่บ้าน
นักการเมืองที่ดีแท้จริง ก็เป็นครู เพราะเป็นแบบอย่าง นักการเมืองดีสอนประชาธิปไตย ด้วยการทำเป็นตัวอย่าง สังคมจะต้องยกย่องเชิดชูนักการเมืองที่ดีแท้ดีจริงนั้น ตามหลักของพระที่ว่า “บูชาชนที่ควรบูชา” คือ ยกย่องคนดี เชิดชูผู้ที่มีธรรม
การยกย่องคนดี เชิดชูผู้มีธรรมนั้น มิใช้เป็นการทำเพื่อตัวเขา แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมเอง เพื่อให้คนรุ่นที่ตามมามองเห็นทางถูกแท้ที่ควรจะเดิน
ยิ่งกว่านั้น จะต้องชัดด้วยว่า จะมองในแง่การเมืองการปกครอง หรือการใดก็ตามของสังคมมนุษย์ การพัฒนาคน ในที่นี้ พูดในแง่ประชาธิปไตย มี ๒ ตอน
ตอนต้น พัฒนาคนเพื่อประชาธิปไตย คือ พัฒนาเพื่อให้ได้คนที่มีคุณภาพที่จะมาร่วมกันสร้างสังคมประชาธิปไตย และอยู่กันดีในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยนั้น
อันนี้ ในขั้นหนึ่ง จะถือเป็นการพัฒนามนุษย์ดุจเป็นทรัพยากร ก็ไม่ว่า นั่นก็คือ จะได้เอาคนนั้นมาเป็นทุนมนุษย์ ในการสร้างสรรค์หรือพัฒนาสังคมดีที่เป็นประชาธิปไตย แต่มนุษย์ไม่ใช่เป็นแค่ทุน เขาเสวยผลโดยมาอยู่ดีในสังคมนั้นด้วย
ตอนปลาย ประชาธิปไตยเพื่อให้โอกาสแก่การพัฒนาตัวของคน ตามปกติประชาธิปไตยเป็นการให้คนได้มีโอกาสในการพัฒนาตนอยู่แล้ว และเมื่อเขาเป็นคนที่พัฒนาถูกต้องดีแล้ว เขาก็จะเป็นคนที่ร่วมสร้างสรรค์และพัฒนาประชาธิปไตย
แต่ยิ่งกว่านั้น ในขั้นปลายต่อขึ้นไป การมีสังคมที่ดีเป็นประชาธิปไตย ก็เพื่อเอื้อให้มนุษย์มีโอกาสในการที่จะพัฒนาตนเอง พัฒนาชีวิตของเขาขึ้นไปได้จนมีชีวิตที่ดีที่สุด นี่คือ พัฒนาสังคมประชาธิปไตย เพื่อสร้างโอกาสให้แก่คนที่จะพัฒนาชีวิตของตนต่อขึ้นไปได้จนสูงสุด หรือว่า มีสังคมประชาธิปไตย เพื่อให้คนมีโอกาสสูงสุดที่จะพัฒนาชีวิตของตน โดยมีการศึกษาที่ยิ่งขึ้นไป
เมื่อนักการเมืองเข้ามาทำหน้าที่ปกครอง คุณภาพของประชาชนต้องเพิ่มขึ้น ถ้าปกครองไปๆ คุณภาพของประชาชนไม่พัฒนา กลับเสื่อมถอยด้อยลง ความรู้ความคิดไม่มี ทำดีไม่เป็น การผลิตไม่เอา ได้แค่รอเสพรอเขาให้ ก็คือประชาธิปไตยที่ล้มเหลว
สังคมที่ว่าพัฒนาสูงสุดในปัจจุบัน อย่างสังคมอเมริกัน ได้หลงทางทำท่าจะตกเหวไปเสีย ตอนแรก เขาทำได้ค่อนข้างดี ในการพัฒนาคนเพื่อประชาธิปไตย แต่แล้วมาตอนปลาย เขามองไม่เห็นจุดหมาย ทำได้แค่ว่าได้ประชาธิปไตยมาสร้างโอกาส แต่ไม่รู้ว่าโอกาสนั้นเพื่ออะไร ก็เลยปล่อยให้คนเอาโอกาสไปใช้กินเสพมัวเมา ถลุงตัว ถล่มสังคม ให้คนเสื่อมลงจากการพัฒนาความเป็นคน มีชีวิตที่เสื่อมเสียคุณภาพ แม้แต่การศึกษาก็เหลือแค่ชื่อแต่เนื้อตัวหาย กลายเป็นของซื้อขายในธุรกิจ เลยกลายเป็นประชาธิปไตยยอดด้วน
การพัฒนาคน กับประชาธิปไตย จะต้องจับจุดหมายให้ชัด มิฉะนั้น อารยธรรมมนุษย์ที่ไร้จุดหมาย ปราศจากปัญญา จะพามนุษย์ไปสู่หายนะ อย่างที่สภาพปัจจุบันได้ตั้งเค้าส่อแววให้เห็นได้แล้วในบัดนี้
นี่กลายเป็นว่า ได้พูดเรื่องการเมืองเสียยืดยาว บางท่านอาจเข้าใจผิดว่า ผู้เล่านี้สนใจการเมือง ที่จริง ผู้เล่าเรื่องแทบไม่สนใจการเมืองเลย สนใจบ้างเพียงแค่ที่เป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับความเป็นไปของบ้านเมือง ไม่มีเวลาที่จะใส่ใจเรื่องราวของการเมือง
อย่างไรก็ตาม ในขั้นสุดท้าย การเมืองในฐานะที่เป็นเรื่องของการปกครอง เป็นเรื่องของกิจการบ้านเมือง เป็นตัวการสำคัญที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สุข (หรือก่อให้เกิดโทษทุกข์) แก่ประชาชน
พอถึงขั้นนี้ เรื่องก็เกี่ยวโยงมาถึงความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เป็นเรื่องของธรรม และการที่จะพึงปฏิบัติกิจทั้งหลายให้ถูกต้องเป็นไปโดยธรรม
เรื่องจึงมาถึงพระ ผู้จะต้องประพฤติปฏิบัติและเผยแผ่สั่งสอนธรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน แล้วตรงนี้ก็มาถึงจุดบรรจบที่ว่า ในฐานะของพระสงฆ์ (โดยไม่ต้องไปยุ่งกับกิจกรรมบ้านเมือง ไม่ต้องไปเกี่ยวกับนักการเมือง) พึงสอนธรรมสำหรับการเมืองเฉพาะอย่างยิ่งธรรมของนักการเมือง
เฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเป็นเรื่องคุณภาพของคน เรื่องของการที่จะทำให้ประชาชนเป็นคนดี มีใจงาม เข้มแข็งด้วยสติปัญญา ขยันหมั่นเพียร ประพฤติถูกต้อง เจริญด้วยประโยชน์สุข เพื่อพหุชนหิตายะ เพื่อพหุชนสุขายะ ถึงจะจัดการให้เสร็จๆ ไปในทันทีทันใดไม่ได้ แต่เป็นเรื่องระยะยาวที่ยั่งยืน ซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง นี่ก็คือหัวใจของศาสนกิจคืองานพระศาสนาของพระนั่นเอง
การที่พัฒนาประชาชนนั้น ไม่ใช่ให้มีคุณภาพเพียงด้านการเมืองและเพื่อการเมือง แม้ว่าการเมืองจะเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องของบ้านเมืองที่ทุกคนต้องอาศัย ได้รับผลกระทบ มีส่วนรับผิดชอบ แต่ก็เป็นเพียงด้านหนึ่งระดับหนึ่งของการพัฒนา ควรจะทำให้การเมืองช่วยส่งเสริมการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่ยิ่งขึ้นไป
การพัฒนาประชาชนนั้น เป็นการทำให้ประชาชนเป็นคนมีคุณภาพที่จะสร้างเหตุและเสวยผลของชีวิตและสังคมที่ดีงามสมบูรณ์ ซึ่งการเมืองเป็นเพียงองค์ประกอบและเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งเท่านั้น
พระจึงไม่ได้ใส่ใจในเรื่องการเมือง แต่การเมืองรวมอยู่ในเรื่องของมนุษย์ ที่พระจะพึงสนใจที่จะช่วยให้พัฒนาไปด้วยดี ให้เขามีชีวิตและสังคมที่พึงมุ่งหมาย
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ขอบพระคุณที่มา
: สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ https://www.watsrakesa.com/
และ หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗
ดาวน์โหลด ธรรมนิพนธ์ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ” ได้ที่ เว็บไซต์ วัดญาณเวศกวัน https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/604
https://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/_.Pr.4_580301.pdf