อาจาริยบูชา ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓ ครบรอบ ๖ ปี วันสลายสรีรสังขาร เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พระเถระผู้สร้างคุณูปการทางด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม

ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์

(เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

๙ มีนาคม ๒๕๕๗

คำปรารภ

เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้

ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว

ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ

ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ

การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ

อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”

ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธีบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูลย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม (ตอนที่ ๑๑) “พระไทยไปจีน ได้พบประธานเหมา กลับเขาเมืองไทย ได้ไปอยู่สันติบาล” : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

พระพิมลธรรม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) ขอขอบคุณ ภาพจากหนังสือ คัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสเถระ รจนา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง
พระพิมลธรรม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) ขอขอบคุณ ภาพจากหนังสือ คัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสเถระ รจนา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง

(ความเดิมจากตอนที่แล้ว)

นับแต่เกิดคดีความใน พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่อพระพิมลธรรมพ้นจากตำแหน่งแล้ว พระธรรมรัตนากร (สวัสดิ์ กิตติสารเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ และเป็นสภานายกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยสืบมา โดยได้รับสถาปนาเป็นที่ พระธรรมปัญญาบดี ใน พ.ศ. ๒๕๑๙ แล้วต่อมา ถึงมรณภาพ เมื่อมีอายุ ๙๒ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๒๓

 เมื่อพระธรรมปัญญาบดีถึงมรณภาพ ใน พ.ศ. ๒๕๒๓ แล้ว พระพิมลธรรมก็คืนสู่ตำแหน่งอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ และเป็นสภานายกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อีกวาระหนึ่ง รวมเวลาที่อยู่ปราศจากตำแหน่งทั้งสองนั้น ๒๐ ปี

ต่อมา ในปี ๒๕๒๘ พระพิมลได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ แล้วในที่สุด ถึงมรณภาพเมื่อมีอายุ ๘๖ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๓๒  

(ตอนที่ ๑๑) “พระไทยไปจีน ได้พบประธานเหมา กลับเขาเมืองไทย ได้ไปอยู่สันติบาล”

ถึงแม้ผู้เล่าเองไม่ได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ข้างต้นนั้นมากมาย และไม่ได้ใส่ ใจนัก แต่คิดว่า เมื่อมีเรื่องเกี่ยวข้องแล้ว ก็ควรมีความรู้ไว้บ้างเพื่อประกอบความเข้าใจ พอให้มองเห็นเค้ารูปว่าเรื่องราวเป็นไปเป็นมาอย่างไร ท่านผู้ใดสนใจจริงจัง ก็หาความรู้ ให้แจ้งจริงชัดเจน โดยไปสืบสอบให้ถึงแหล่ง ตั้งแต่ตัวท่านเจ้าของนาม ข้อเขียนคําเล่าของท่าน องค์กรพุทธในเมืองจีน มาจนถึงเอกสารที่กองบังคับการตํารวจสันติบาล

การที่พระมหามนัส จิตฺตทโม สั่งการเลขาธิการ และผู้กํากับแผนกบาลีอุดมศึกษา และพระมหานคร เขมปาลี ผู้กํากับแผนกบาลีมัธยมศึกษา มหาจุฬาฯ ถูกตํารวจสันติบาล ในสมัยปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มานิมนต์ไปเข้ากระบวนการสอบสวนตามข้อหาว่ามีการกระทําอันเป็นคอมมิวนิสต์ โดยคุมขังไว้ที่กองบังคับการตํารวจสันติบาลนั้น ก็มีเรื่องราวสืบเนื่องเชื่อมโยงกับการเดินทางไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือมีความสัมพันธ์ในทางที่ดีกับประเทศนั้น ทํานองเดียวกับอาจารย์กรุณา กุศลาศัย ตลอดไป ถึงนายสังข์ พัธโนทัย ผู้เป็นที่ปรึกษาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

อาจารย์กรุณา กุศลาศัย ขอขอบคุณ ภาพจาก  wikipedia
อาจารย์กรุณา กุศลาศัย ขอขอบคุณ ภาพจาก wikipedia

เรื่องมีว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้มีพระภิกษุจากประเทศไทย ๔ รูป ไป ศึกษาที่สถาบันบาลีนวนาลันทามหาวิหาร มหาวิทยาลัยพิหาร รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ในจํานวนนั้น สองรูป คือ พระมหามนัส จิตฺตทโม และพระมหานคร เขมปาลี ไปจากวัดมหาธาตุโดยโยงกับมหาจุฬาฯ อีกสองรูป คือ พระมหาสังเวียร และพระมหาโอภาส ไป โดยทุนของสภาพระธรรมกถึก วัดพระเชตุพน

ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๙๙ ของไทย ประเทศศรีลังกา และพม่า นับเป็น พ.ศ. ๒๕๐๐ ประเทศอินเดียก็ถือตามนั้น ดังที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเนห์รูได้ให้มีการจัดงานฉลอง เรียกว่าพุทธชยันตี โดยมีการจัดเตรียมการต่างๆ เป็นอันมาก รวมทั้งการให้โอกาสแก่ประเทศพุทธศาสนา ที่จะสร้างวัดของตนๆ ขึ้นที่พุทธคยา ถิ่นที่ตั้งพุทธสังเวชนียสถาน แห่งการตรัสรู้ ดังที่รัฐบาลไทยก็ได้สร้างวัดไทยพุทธคยาขึ้นมาในโอกาสนั้น

วัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
วัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ในโอกาสแห่งพุทธชยันตีในปีที่ไทยนับว่า พ.ศ. ๒๔๙๙ นั้นเอง ทางเมืองจีน ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ จะโดยนโยบาย หรือกุศโลบาย เกี่ยวโยงกับประเทศอินเดีย เกี่ยวกับประเทศไทย หรืออย่างไรก็ตาม คณะสงฆ์ของจีน หรือพุทธสมาคมจีน หรือองค์กรจีนในนาม ชาวพุทธอันหนึ่ง ก็ได้นิมนต์พระไทย ๔ รูปนั้น ให้เดินทางไปร่วมพุทธชยันตีที่เมืองจีน

พระภิกษุไทยทั้ง ๔ ท่าน ซึ่งได้เรียนกันสูงแล้ว ย่อมทราบว่า ประเทศไทยมีนโยบายป้องกันคอมมิวนิสต์ตลอดมานานแล้ว ดังที่รัฐบาลจอมพล ป. ถึงกับได้ออก พ.ร.บ. ป้องกันการกระทําอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๙๕ แต่กระนั้นก็ตาม เมื่อกาลผ่านมา รัฐบาลจอมพล ป. ได้มีท่าทีจะเปลี่ยนนโยบาย กลายเป็นว่าต้องการจะเปิดความสัมพันธ์กับจีนแดง ซึ่งก็พอดีใกล้พ.ศ. ๒๕๐๐ นอกจากนั้น การที่ท่านจะเดินทางนั้น ไม่ใช่ไปจากเมืองไทย แต่ไปจากอินเดีย ซึ่งเวลานั้นมีสัมพันธไมตรีอันดีกับเมืองจีน

เหมา เจ๋อตง ขอขอบคุณ ภาพจาก wikipedia
เหมา เจ๋อตง ขอขอบคุณ ภาพจาก wikipedia

คณะพระไทย ๔ ท่านนั้น คงพิจารณากันมาก จึงมีเรื่องบอกว่า ท่านมีหนังสือมา คงทํานองอาปุจฉาอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ คือพระพิมลธรรม แล้วพระพิมลธรรมก็นําเรื่อง ปรึกษากับรัฐบาลจอมพล ป. เมื่อทางเปิดหรือคิดว่าโปร่งโล่งแล้ว คณะพระไทย ๔ ท่าน ก็ ได้เดินทางไปเมืองจีน ในแง่หนึ่งก็เหมือนว่าไปตามนโยบายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั่นเอง

จอมพลป.พิบูลสงคราม ขอขอบคุณ ภาพจาก wikipedia
จอมพลป.พิบูลสงคราม ขอขอบคุณ ภาพจาก wikipedia

พระไทย ๔ ท่านนั้น อยู่ในเมืองจีนแผ่นดินใหญ่ ๒ เดือน ได้มีโอกาสเข้าพบกับ เหมา เจ๋อตง และ โจว เอินไหล ตลอดจนผู้นําพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกหลายคน และได้รับ การสัมภาษณ์ออกกระจายเสียงวิทยุปักกิ่งภาคภาษาไทยกันทุกท่าน

เมื่อกลับจากเมืองจีนแล้ว พระไทยทั้ง ๔ ก็เรียนที่มหาวิทยาลัยนาลันทาต่อมาจน สําเร็จปริญญา พระมหานครสําเร็จปริญญาโท ของสถาบันบาลีนวนาลันทามหาวิหาร ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ พระมหามนัสก็ได้ปริญญาโทเช่นเดียวกัน หลังจากนั้น ทั้งสองท่านก็เดินทาง กลับเมืองไทย ได้เข้าสอน และเป็นผู้บริหารที่มหาจุฬาฯ บรรจบกับเรื่องที่กล่าวมา

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอขอบคุณ ภาพจาก wikipedia
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอขอบคุณ ภาพจาก wikipedia

พอถึงปี ๒๕๐๓ เข้าสู่สมัยปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นโยบายปราบคอมมิวนิสต์กลับฟื้นขึ้นมา และมีการกวาดล้างใหญ่ พระมหามนัส และพระมหานคร ก็ต้องคํากล่าวหา ทํานองเดียวกับบรรดาญาติโยมที่ได้ไปหรือได้สัมพันธ์กับเมืองจีนคอมมิวนิสต์ ในตอนท้ายของยุคจอมพล ป. และในที่สุด

หลังจากสู้คดีนานหลายปี ท่านทั้งหลายที่ได้ออกชื่อมา ก็พ้นคดีทั่วกัน โดยได้รับการถอนฟ้อง หรือศาลสั่งยกฟ้อง จบเรื่องไป กลายเป็นว่า ตามที่ศาลพิพากษา ไม่มีใครเป็นคอมมิวนิสต์สักคน

ส่วนกรณีขององค์สภานายก คือพระพิมลธรรม อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุเป็นเรื่องใหญ่ มีความซับซ้อนคงไม่น้อย ผู้เล่านี้ไม่ได้รู้รายละเอียดอะไรมาก

ในกรณีของพระมหามนัส และพระมหานคร ที่เล่าแล้วข้างบนนี้ก็มีเรื่องเกี่ยวข้องกับพระพิมลธรรม อาจจะมองเป็นแนวทางของการสังเกตก็คงได้ และเห็นง่ายด้วย

ตามที่ว่านั้น พระมหามนัส และพระมหานคร ไปจากวัดมหาธาตุ เมื่อจะไปจีนแดง ก็ได้ส่งจดหมายมาอย่างที่ว่า คงทํานองอาปุจฉาหรือปรึกษา และตามเรื่องก็ว่า พระพิมลธรรมได้ปรึกษาจอมพล ป. แล้ว พระมหามนัส และพระมหานคร จึงเดินทางไป สาธารณรัฐประชาชนจีน อันนี้ก็อาจถูกถือเอาได้ว่า พระพิมลธรรมได้ส่งเสริม อย่างน้อย ยอมรับการไปจีนแดงของสองท่านนั้น โดยจอมพล ป. ได้เห็นชอบด้วย

นอกจากนี้ก็มีเรื่องที่ว่าพระพิมลธรรมเองก็ได้เดินทางไปต่างประเทศ เช่นว่า ได้ ร่วมขบวนการ MRA (Moral Re-Armament) และมีการโยงเรื่องไปเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ที่จริง MRA นี้โดยพื้นฐาน หรือพื้นเดิม เป็นขบวนการทางศาสนาคริสต์และต่อต้านคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้เรื่องอื่นๆ ยังมีอีกเยอะ

ผู้เล่าไม่ได้ติดตามเรื่องราว ไม่ได้สืบค้น ข้อมูลอะไรมาก แค่ได้ฟังผ่านมาผ่านไป ท่านผู้ใดสนใจจริงจัง ก็พึงไปค้นเอา ผู้เล่าว่าไป แค่ตามที่พอจะได้ความรู้่มาบ้าง ไม่ถึงขั้นที่จะมีความคิดเห็น ได้แค่บางที่ก็ตั้งข้อสังเกตไว้

ถ้าจะไม่ต้องยุ่งกับเรื่องราวที่สับสนซับซ้อน ก็ดูที่คําพิพากษาของศาลทหาร ดังได้เล่าแล้วว่า ศาลทหารกรุงเทพได้พิพากษายกฟ้องคดีพระพิมลธรรม ใน พ.ศ. ๒๕๐๙

เรื่องอย่างนี้ จะวิเคราะห์วิจัยก็ว่ากันไป มองว่าหาความรู้กันไว้ แต่ถ้าจะเอาเป็น เอาตายให้ได้ตัวการ บางทีก็มีจุดนิดเดียวที่นโยบายการเมือง ที่เป็นตัวพลิกผันบันดาล ดังที่ว่า การเมืองพาสภาพบ้านเมืองให้เป็นไป

แล้วอะไรบันดาลนโยบายการเมือง เป็นธรรมดาว่า การเมืองและบ้านเมืองอยู่ในกระแสสังคม และกว้างออกไปก็อยู่ในกระแสโลก อันนี้เป็นปัจจัยที่มีกําลังมากจากภายนอก นอกจากต้องรู้เท่าทันกระแสเหล่านี้แล้ว ข้อสําคัญก็อยู่ที่คนนี่แหละว่าจะให้ตัณหาหรือปัญญา มาเป็นตัวนําใจ ดูไปๆ ให้เห็นโลก เข้าใจมนุษย์แล้ว จะปฏิบัติด้วยสติปัญญาได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ได้สนใจอะไรนักหนา อ่านเอาความรู้หรือแม้แต่รายละเอียด จากคําพิพากษาของศาลทหาร ที่ว่าเมื่อกี้ก็คงจะพอ

พระพิมลธรรม ได้กลับคืนสู่ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ดังเดิม หลังต่อสู้กับความอยุติธรรม เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น ๒๑ ปี) ขอขอบคุณ ภาพจากอินเทอร์เน็ต
พระพิมลธรรม ได้กลับคืนสู่ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ดังเดิม หลังต่อสู้กับความอยุติธรรม เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น ๒๑ ปี) ขอขอบคุณ ภาพจาก อินเทอร์เน็ต
 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) , สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) และ  สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)  ภาพใมนอดีต ตอนจาริกธรรมไปสหรัฐอเมริกา
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) , สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ภาพใมนอดีต ตอนจาริกธรรมไปสหรัฐอเมริกา

เล่าแถมไว้

ก่อนจะผ่านตอนนี้ไป มีเรื่องเล่าแถมนิดหน่อยว่า การปราบคอมมิวนิสต์ของรัฐบาล ที่พะพานผ่านมหาจุฬาฯ ไปในครั้งนั้น นอกจากทําให้สูญเสียความราบรื่นมั่นคงของกิจการในระดับสูง และก่อความเสียหายต่อเกียรติคุณในเชิงความเข้าใจผิดแล้ว ยัง ทิ้งความยุ่งเหยิงปลีกย่อยไว้ข้างหลัง อย่างน้อยที่ควรเล่าไว้คือเรื่องเอกสาร ซึ่งโยงไปถึงประวัติของมหาจุฬาฯ ด้วย

ดังได้เล่าแต่แรกว่า ตั้งแต่ราววันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๐๓ ตํารวจสันติบาลได้มา ป้วนเปี้ยนที่มหาจุฬาฯ สังเกตการณ์ตรวจเครื่องพิมพ์ดีด ดูโน่นดูนี่ แล้วต่อมาก็ค้นหาหลักฐาน จนในที่สุดก็บอกว่า พบเอกสารคอมมิวนิสต์มากมาย ก่อนที่จะนิมนต์สั่งการ เลขาธิการ และ ผกก.บาลีมัธยมศึกษา ไปคุมไว้ที่สันติบาล

ได้บอกด้วยแล้วว่า เวลานั้น พระนิสิตนักเรียนยังอยู่ที่ตึกเรียนเก่าขนาดย่อม ๒ ชั้น แถบเหนือลานอโศก ต่อมา หลังจากนั้นไม่นาน ก็ย้ายขึ้นไปเรียนบนตึกมหาจุฬาฯ หลังใหญ่ที่เสร็จใหม่ ๓ ชั้น

เวลาผานไปถึงปี ๒๕๐๗ เมื่อผู้เล่าเข้าทํางานแล้ว วันหนึ่ง ในสํานักงานเลขาธิการ ได้เปิดดูตู้เหล็กใส่เอกสาร ซึ่งเป็นแบบลิ้นชักขนาดใหญ่ใส่แฟ้มเรียงกันได้ชั้นละมากหลายแฟ้ม ก็ได้เห็นเอกสารมากมาย มิได้อยู่ในแฟ้ม (ดูเหมือนว่าแฟ้มก็ไม่มี) แต่แยกเป็นแผ่นๆ ทั้งมิได้ซ้อนกันอยู่เป็นปึกเป็นกอง แต่กระจัดกระจาย ไม่เป็นระเบียบ ยุ่งยับ สับหัวสับหาง เกยขึ้นเกยลง ไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้ทํางานทําการ

เบื้องแรก นึกตําหนิว่า ทําไมจึงปล่อยปละละเลยในเรื่องเอกสารกันอย่างนี้ แต่แล้ว หยิบเอกสารแผ่นนั้นแผ่นนี้ขึ้นมาดู ปรากฏว่าเป็นประกาศ เป็นคําสั่ง และหนังสือ เข้า-ออกของมหาจุฬาฯ ในระยะ พ.ศ. ๒๕๐๓ และใกล้เคียง

นึกขึ้นได้ถึงเหตุการณ์ข้างต้นนั้น ตู้เอกสารนี้คงจะถูกขนย้ายจากอาคารเก่ามา และยังไม่ได้จัดการอะไรต่อ

นี่คงเป็นสภาพของเอกสารที่ถูกตํารวจสันติบาลมารื้อค้น แล้วก็ปล่อยเลยตามเลย ไม่เก็บให้เรียบร้อย เลยทําให้คิดต่อไปอีกว่า เป็นไปได้ไหม เอกสารบางส่วนอาจถูกยกขนไปค้นที่กองบังคับการของตํารวจสันติบาลนั้น แล้วบางทีก็อาจจะไม่ได้นํากลับมา ถ้าเป็นอย่างนั้น เรื่องราวที่เป็นหลักฐานเชิงประวัติของมหาจุฬาฯ ก็อาจจะขาดหายไป นี่ ก็เป็นปมที่ทิ้งค้างไว้กับความไม่อาจจะรู้

ตอนนั้น สิ่งที่ทําได้ก็คือ เอาเอกสารที่กระจุยกระจายเหล่านั้นมาจัดเรียงลําดับ เข้าพวกเข้าหมู่และเข้าแฟ้มไว้เท่าที่ได้ เท่าที่มี เป็นอันตัดตอนไปทีหนึ่งก่อน

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

กราบขอบพระคุณที่มา : สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ www.watsrakesa.com  และ หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗

ดาวน์โหลดธรรมนิพนธ์ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม” : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺตโต) ได้ที่ เว็บไซต์ วัดญาณเวศกวัน https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/604

https://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/_.Pr.4_580301.pdf

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here