“มงคลจักรวาล”

จักรวาลที่เป็นมงคลสำหรับสัตว์ทั้งหลาย

จากธรรมนิพนธ์ เรื่อง “พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์”

เขียน และเรียบเรียงโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ

: พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

มงคลจักรวาล : จักรวาลที่เป็นมงคลของสัตว์ทั้งหลาย

คาถาประพันธ์ของบูรพาจารย์

ตำนานและอานุภาพการป้องกัน

มงคลจักรวาล เป็นบทสวดสำหรับสวดทำสัจกิริยา โดยน้อมเอาอานุภาพของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดจนอานุภาพแห่งพระคุณทั้งหลายของพระพุทธองค์มาขจัดปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัย และอันตรายทั้งหลายทั้งปวงให้สูญหายมลายไปสิ้น ในบทสุดท้ายยังได้ตั้งความปราารถนาให้ผู้ฟังการเจริญมงคลจักรวาล ได้ถึงความเป็นผู้มีอายุยืน ตลอดจนขอให้เทวดาทั้งหลายตามรักษา

บทมงคลจักรวาลใหญ่ จะประพันธ์ที่ไหน เมื่อใด ยังสืบค้นที่มาไม่ได้ บางท่านเชื่อว่า ประพันธ์ที่เมืองไทย เพราะชื่อมงคลจักรวาลใหญ่นั้น บ่งบอกถึงความเป็นไทย โดยยึดเอาคำว่าใหญ่ ซึ่งเป็นคำไทย เป็นข้อสันนิฐาน แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนไปมากกว่านี้

เนื้อความของบทมงคลจักรวาล ประพันธ์ตามคติพระพุทธศาสนาที่ว่า จักรวาลมีจำนวนมากมายตั้งแสนโกฏจักรวาล แต่ในจักรวาลทั้งหลายเหล่านั้นไม่มีพระพุทธเจ้าไปเสด็จอุบัติขึ้น เมื่อไม่มีพระพุทธเจ้าแล้ว พระธรรมและพระสงฆ์ก็ไม่มี จักรวาลเหล่านั้นจึงชื่อว่า “ไม่เป็นมงคล”

อรรถกถามหาสมัยสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรคกล่าวว่า สนังกุมารพรหมและติสสกุมารพรหม สามารถทำให้จักรวาลพันหนึ่งสว่างไสวด้วยนิ้วมือเดียว และสามารถทำจักรวาลหมื่นหนึ่งให้สว่างไสวด้วยนิ้วมือ ๑๐ นิ้ว ข้อความดังกล่าวเป็นการยืนยันความมีอยู่ของจักรวาลทั้งหลายตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา

สำหรับจักรวาลที่เราอาศัยอยู่นี้ มีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น สั่งสอนธรรมแก่มวลสรรพสัตว์ มีพระสงฆ์ออกบวชตาม เที่ยวสั่งสอนหมู่สัตว์นำพระธรรมสืบต่อมา ได้อำนวยประโยชน์สุข และเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก ได้อนุเคราะห์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

อรรถกถามหาสมัยสูตร กล่าวถึงข้อที่พระพุทธองค์ใช้พระญาณตรวจดูจักรวาลอันไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อต้องการทราบว่า ในจักรวาลอื่นมีพระพุทธเจ้าองค์อื่น เช่นกับพระองค์อีกหรือไม่ เมื่อทรงตรวจดูก็ไม่ทรงเห็นพระพุทธเจ้าองค์อื่นในจักรวาลอื่น ข้อความในอรรถกถามหาสมัยสูตรนี้แสดงว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นเฉพาะจักรวาลนี้เท่านั้น

จักรวาลนี้เป็นที่รวมแห่งพระรัตนตรัยจึงชื่อว่าเป็น “มงคลจักรวาล”

ข้อความเกี่ยวกับจำนวนจักรวาลทั้งหลาย ปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก จุฬนีสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต และอรรถกถาจุฬนียสูตร

พระพุทธองค์ตรัสจุฬนียสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรเกี่ยวกับจักรวาลนี้ ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ ณ พระนครสาวัตถี ในพระเชตวันมหาวิหาร อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระองค์ได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาทรงเริ่มแสดงพระสูตรชื่อว่า อรุณวดี ครั้งนั้น พระอานนท์เถระยืนถวายงานพัดอยู่ ได้ทรงจำพระสูตรนั้นไว้ทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ให้ตกหล่นแม้แต่พยัญชนะเดียว

ในวันรุ่งขึ้น พระเถระกลับจากบิณฑบาตถวายการอุปัฏฐากพระพุทธองค์เสร็จแล้วได้กลับไปยังที่พักของตน พระเถระนั่งทบทวนอรุณวดีสูตร ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในวันวานว่า อัครสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่าสิขียืนอยู่บนพรหมโลก สามารถเปร่งรัศมีออกจากร่างกาย ส่องสว่างขจัดความมืดมนอันธการไปใน ๑,๐๐๐ จักรวาล แล้วแสดงธรรมให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายฟัง

ข้อความนี้พระบรมศาสดาตรัสไว้เมื่อวันวาน พระสาวกยังมีอานุภาพเช่นนี้ ก็เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ ได้บรรลุอย่างพระสัพพัญญุตญาณ จะสามารถเปล่งพระสุรเสียงไปได้ไกลเท่าไร เพื่อคลายความสงสัยที่เกิดขึ้นนั้น พระเถระจึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามข้อสงสัย

พระพุทธองค์ตรัสว่า อานนท์เธอพูดอะไรอย่างนี้ พระสาวกดำรงอยู่ในญาณที่จำกัด ส่วนพระตถาคตเจ้าบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศแล้วบรรลุพระสัพพัญญุุญาณ มีญาณไม่มีขอบเขตจำกัด เธอพูดเช่นนี้ เหมือนเอาปลายเล็บช้อนฝุ่นขึ้นมาเปรียบกับฝุ่นในพื้นปฐพี เพราะวิสัยก็ดี ธรรมก็ดี พลังก็ดีของสาวกทั้งหลาย ย่อมแตกต่างจากพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ครั้นตรัสดังนี้แล้วก็ทรงนิ่งโดยดุษฎียภาพ

พระเถระได้ทูลถามเป็นครั้งที่ ๒ พระบรมศาสดาตรัสว่า อานนท์ เธอพูดอะไรอย่างนี้ เหมือนเอาาโพรงของต้นตาลไปเทียบกับอากาศที่เวิ้งว้างหาที่สุดมิได้ เหมือนเอานกนางแอ่นไปเทียบกับพญาครุฑซึ่งบินได้วันละ ๑๕๐ โยชน์ เหมือนเอาน้ำในงวงช้างไปเทียบกับน้ำในแม่น้ำมหาคงคา เหมือนเอาน้ำในหลุมกว้างยาว ๘ ศอก ไปเทียบกับสระทั้ง ๗ เหมือนเอาคนที่มีรายได้เพียงข้าว ๑ ทะนานไปเทียบกับพระเจ้าจักรพรรดิ เหมือนเอาปีศาจคลุกฝุ่นไปเทียบกับท้าวสักกเทวราช และเหมือนเอาแสงหิ่งห้อยไปเทียบกับแสงพระอาทิตย์ ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ก็ทรงนิ่งโดยดุษฎีภาพ

พระเถระคิดว่า เราาทูลถามพระศาสดาแล้วพระองค์ไม่ตรัสตอบเลย เราจะขอโอกาสทูลถามอีกสักครั้ง จึงทูลถามเป็นครั้งที่ ๓ พระพุทธองค์ตรัสว่า เธอเคยฟังเรื่อง สหัสสีจูฬนิกาโลกธาตุ อันว่าด้วยโลกธาตุอย่างเล็กมีจำนวนพันจักรวาล แล้วมิใช่หรือ พระอานนท์เถระกราบทูลให้พระพุทธองค์ตรัสพระสูตรนี้ ซึ่งจะทำให้ภิกษุทั้งหลายได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทรงจำไว้

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงแสดงเรื่องจักรวาลว่า อานนท์ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ แผ่รัศมีส่องแสงทำให้สว่างไปทั่วทิศตลอดที่มีประมาณเท่าใด โลกมีเนื้อที่เท่านั้นจำนวน ๑,๐๐๐ ในจำนวน ๑,๐๐๐ โลกนั้นมีดวงจันทร์ ดววงอาทิตย์ ภูเขาสิเนรุ อย่างละ ๑,๐๐๐ มีชมพูทวีป อมรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป ปุพพวิเทหทวีป อย่างละ ๑,๐๐๐ มีสมุทร มีมหาราชอย่างละ ๔,๐๐๐ มีสวรรค์ ๖ ชั้น และพรหมโลกชั้นละ ๑,๐๐๐ นี้เรียกว่า สหัสสีจูฬนิกาโลกธาตุ โลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล

สหัสสีจูฬนิกาโลกธาตุเท่าใด โลกเท่านั้นคูณโดยส่วน ๑,๐๐๐ นี้เรียกว่า ทวิสหัสสีมัชฌิมาโลกธาตุ โลกธาตุกลางมีล้านจักรวาล ทวิสหัสสีมัชฌิมิกาโลกธาตุเท่าใด โลกเท่านั้นคูณโดยส่วน ๑,๐๐๐ นี้เรียกว่า ติสหัสสีมหาสหัสสีโลกธาตุ โลกธาตุใหญ่มีแสนโกฏจักรวาล แล้วพระองค์ก็สรุปว่า พระองค์สามารถเปล่งพระสุรเสียงให้ได้ยินไปทั่วทั้งแสนโกฏจักรวาลนั้น

อานุภาพการป้องกัน

ข้อความในจูฬนีสูตรได้แสดงว่า จักรวาลมีจำนวนมากมายตั้งแสนโกฏจักรวาล โลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล อย่างกลางมีล้านจักรวาล อย่างใหญ่มีแสนโกฏจักรวาล ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของนักคิดปัจจุบันว่า จักรวาลไม่มีที่สิ้นสุด

แต่พระพุทธศาสนาแสดงว่า

ถึงแม้จักรวาลจะมีมากมาย

ไม่มีที่สิ้นสุดเช่นนั้น

จักรวาลอื่นๆ เหล่านั้น

ก็ไม่มีคุณค่า

เพราะไม่มีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น

เมื่อไม่มีพระพุทธเจ้า

พระธรรมและพระสงฆ์ก็ไม่มี

จึงไม่มีการสั่งสอนเพื่อให้สรรพสัตว์พ้นทุกข์

เมื่อไม่มีการสั่งสอนให้สรรพสัตว์พ้นทุกข์

จักรวาลเหล่านั้นก็ชื่อว่า “ไม่เป็นมงคล”

สำหรับ จักรวาลที่เราอาศัยอยู่นี้ มีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นสั่งสอนธรรมแก่สรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ มีพระสงฆ์ออกบวชตามเที่ยวสั่งสอนหมู่สัตว์ให้ปฏิบัติธรรมสืบต่อมาตราบจนปัจจุบัน จักรวาลนี้ได้อำนวยประโยชน์สุขและเกื้อกูลแก่หมู่ชนเป็นอันมาก จึงชื่อว่าเป็น “มงคลจักรวาล”

การประพันธ์บทมงคลจักรวาลก็อาศัยคติดังกล่าว โดยน้อมเอาความจริงที่ว่า พระรัตนตรัยมีแต่ในจักรวาลนี้เท่านั้นเป็นสัจกิริยา อาศัยอานุภาพพระรัตนตรัยนั้น ให้เกิดมงคลในชีวิต สามารถกำจัดทุกข์โศกโรคภัยและอันตรายทั้งหลายทั้งปวงให้สูญหายมลายสิ้นไป

มงคลจักรวาล (ใหญ่)

สิริธิติมะติเตโชชะยะสิทธิมะหิทธิมะหาคุณาปะริมิตะปุญญาธิการัสสะ สัพพันตะรายะนิวาระณะสะมัตถัสสะ  ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ  ทะวัตติงสะมะหาปุริสะลักขะณานุภาเวนะ  อะสีตยานุพยัญชะนานุภาเวนะ  อัฏฐุตตะระสะตะมังคะลานุภาเวนะ  ฉัพพัณณะรังสิยานุภาเวนะ  เกตุมาลานุภาเวนะ  ทะสะปาระมิตานุภาเวนะ  ทะสะอุประปาระมิตานุภาเวนะ  ทะสะปะระมัตถะปาระมิตานุภาเวนะ  สีละสะมาธิปัญญานุภาเวนะ พุทธานุภาเวนะ  ธัมมานุภาเวนะ  สังฆานุภาเวนะ  เตชานุภาเวนะ  อิทธานุภาเวนะ  พะลานุภาเวนะ  เญยยะธัมมานุภาเวนะ  จะตุราสีติสะหัสสะธัมมักขันธานุภาเวนะ  นะวะโลกุตตะระธัมมานุภาเวนะ  อัฏฐังคิกะมัคคานุภาเวนะ  อัฏฐะสะมาปัตติยานุภาเวนะ  ฉะฬะภิญญานุภาเวนะ  จะตุสัจจะญาณานุภาเวนะ  ทะสะพะละญาณานุภาเวนะ  สัพพัญญุตะญาณานุภาเวนะ  เมตตากะรุณามุทิตาอุเปกขานุภาเวนะ  สัพพะปะริตตานุภาเวนะ  ระตะนัตตะยะสะระณานุภาเวนะ  ตุยหัง  สัพพะโรคะโสกุปัททะวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสา วินัสสันตุ  สัพพะอันตะรายาปิ  วินัสสันตุ  สัพพะสังกัปปา  ตุยหัง  สะมิชฌันตุ ทีฆายุตา  ตุยหัง  โหตุ  สะตะวัสสะชีเวนะ  สะมังคิโก  โหตุ  สัพพะทา ฯอากาสะปัพพะตะวะนะภูมิคังคา  มะหาสะมุททา  อารักขะกา  เทวะตา  สะทา  ตุมเห อะนุรักขันตุ ฯ

ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา

สัพพะพุทธานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต

ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา

สัพพะธัมมานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต

ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา

สัพพะสังฆานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุ เต ฯ

นักขัตตะยักขะภูตานัง ปาปัคคะหะนิวาระณา

ปะริตตัสสานุภาเวนะ หันต๎วา เตสัง อุปัททะเว

นักขัตตะยักขะภูตานัง ปาปัคคะหะนิวาระณา

ปะริตตัสสานุภาเวนะ หันต๎วา เตสัง อุปัททะเว

นักขัตตะยักขะภูตานัง ปาปัคคะหะนิวาระณา

ปะริตตัสสานุภาเวนะ หันต๎วา เตสัง อุปัททะเว ฯ

บทสวดมงคลจักรวาลใหญ่ แปล

ด้วยอานุภาพ แห่งพระมหาปุริสลักษณะ คือ ลักษณะของพระมหาบุรุษ ๓๒ ประการ  ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ผู้ทรงสิริ  ทรงประสบชัยชนะ เพราะเดชอันเกิดแต่ความรู้  ความเห็นชอบ  ทรงมีฤทธิ์มาก  มีคุณมาก  มีบุญญาธิการหาที่สุดมิได้  สามารถในการป้องกันอันตรายทั้งหลายทั้งปวง 

ด้วยอานุภาพแห่งอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ  ด้วยอานุภาพแห่งมงคลลักษณะ ๑๐๘ ประการ   ด้วยอานุภาพแห่งฉัพพรรณรังสี  ด้วยอานุภาพแห่งพระเกตุมาลา  ด้วยอานุภาพบารมี ๑๐  ด้วยอานุภาพแห่งอุปบารมี ๑๐ ด้วยอานุภาพแห่งปรมัตถบารมี ๑๐ ด้วยอานุภาพแห่งศีล สมาธิ และปัญญาด้วยพุทธานุภาพ  ด้วยธัมมานุภาพ  ด้วยสังฆานุภาพ  ด้วยเดชานุภาพ  ด้วยฤทธานุภาพ  ด้วยพลานุภาพ  ด้วยอานุภาพแห่งธรรมที่สัตว์จะพึงรู้ได้  ด้วยอานุภาพแห่งธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์  ด้วยอานุภาพแห่งโลกุตรธรรม ๙ ด้วยอานุภาพแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ด้วยอานุภาพแห่งสมาบัติ ๘  ด้วยอานุภาพแห่งอภิญญา ๖  ด้วยอานุภาพแห่งญาณในอริยสัจ ๔  ด้วยอานุภาพแห่งทศพลญาณ  ด้วยอานุภาพแห่งพระสัพพัญญุตญาณ  ด้วยอานุภาพแห่งเมตตา  กรุณา  มุทิตา และอุเบกขา  ด้วยอานุภาพแห่งพระปริตรทั้งปวง  ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยอันเป็นที่พึ่ง  ขอโรค  โศก อุปัทวันตราย  ความทุกข์ กาย  ความทุกข์ใจ  ความคับแค้นใจทั้งปวงของท่านจงมลายสูญหายไป   แม้อันตรายทั้งปวงก็จงพินาศไป  ขอความปรารถนาของท่านจงสำเร็จทุกประการ  จงมีอายุยืนนานตลอด ๑๐๐ ปี 

ขอเทวาอารักษ์ทั้งหลาย  ซึ่งสถิตอยู่ในอากาศ บนภูเขา ลำเนาป่า  ที่พื้นดิน  ที่แม่น้ำ  และที่มหาสมุทร  จงตามรักษาท่านทั้งหลายตลอดกาลทุกเมื่อ ฯ

หมายเหตุ : ๓. พระอนุพยัญชนะ คือ พระพุทธองค์มีลักษณะปลีกย่อย ๘๐ ประการ

๔. พระมงคลลักษณะ คือ มงคลลักษณะที่ปรากฏที่ฝ่าพระบาท ๑๐๘ ประการ

๕. ฉัพพรรณรังสี คือ พระรัศมี ๖ ประการ ที่พวยพุ่งออกจากพระวรกายของพระพุทธองค์ คือ (๑) นีละ สีเขียวนิล  (๒) ปีตะ สีเหลืองเหมือนหรลดาลทอง  (๓) โลหิตะ สีแดงเหมือนดวงอาทิตย์อ่อนแสง  (๔) โอวาตะ สีขาวเหมือนยวงเงิน (๕) มัญเชฐะ สีหงสบาท  สีเหมือนดอกหงอนไก่  (๖) ประภัสสร สีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก

“มงคลจักรวาล” จักรวาลที่เป็นมงคลสำหรับสัตว์ทั้งหลาย จากธรรมนิพนธ์ เรื่อง “พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์” เขียน และเรียบเรียงโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ : พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here