“กิมพิลสูตร ” จากแนวความคิดของพระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙,ดร. สู่การเรียนพระธรรมจากพระพระไตรปิฎก เรื่องที่ ๒ “พระกิมพิลเถระ” ผู้รักความสามัคคี และความเป็นธรรม จาก กิมพิลสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์ กิมพิลวรรคที่ ๑
“พระกิมพิลเถระ”
ผู้รักความสามัคคี ความเป็นธรรม และปรารถนาให้พระสัทธรรม ดำรงอยู่ตลอดกาล
จาก กิมพิลสูตร
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันใกล้เมืองมิถิลา ครั้งนั้น ท่านพระกิมพิละได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในศาสดา เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในธรรม เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสงฆ์ เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสิกขา เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงกันและกัน ดูกรกิมพิละ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรม ไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ฯ
กิมพิละ : ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระสัทธรรมดำรง อยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว ฯ
พระผู้มีพระภาค : ดูกรกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในศาสดา เป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในธรรม เป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในสงฆ์ เป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรงในสิกขา เป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรง กันและกัน ดูกรกิมพิละ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ฯ
ประวัติ พระกิมพิละเถระ
พระกิมพิละเถระ กำเนิดในตระกูลศากยวงศ์ กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อเจริญเติบโตแล้ว อนุรุทธศากยกุมารได้มาชักชวนให้ออกบวชในพระพุทธศาสนา กิมพิลศากยกุมาร มีความพอใจตกลงจะออกบวชด้วย จึงพร้อมด้วยศากยกุมารอีก ๔ พระองค์ คือ ภัททิยะ, อนุรุทธะ, อานันทะ, ภคุ, และโกลิยกุมาร อีกหนึ่งองค์ คือ เทวทัต รวมทั้งอุบาลีผู้เป็นนายภูษามาลาด้วยก็เป็น ๗ พากันเสด็จออกจากพระนครพร้อมด้วยจาตุรงค์เสนา
เมื่อเสด็จถึงพรมแดนแห่งพระนครแล้วจึงให้พวกจาตุรงค์เสนากลับคืนพระนคร และเปลื้องเครื่องประดับสำหรับทรงมอบให้แก่อุบาลีภูษามาลา แล้วสั่งให้กลับพระนคร เพื่อจำหน่ายเครื่องประดับนั้นเลี้ยงชีพ แต่อุบาลีหามีความพอใจไม่ใคร่จะออกบวชด้วย จึงได้แขวนเครื่องประดับสำหรับทรงนั้นไว้ที่ต้นไม้ และทูลความประสงค์ของตนให้ศากยกุมารเหล่านั้นได้ทราบ
กิมพิละพร้อมด้วยศากยกุมารเหล่านั้นได้พาอุบาลีตามเสด็จไปด้วย ครั้นถึง อนุปิยอัมพวัน อนุปิยนิคม แคว้นมัลละซึ่งเป็นที่ ๆ พระบรมศาสดาประทับอยู่แล้วเข้าไปทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาก็ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุ โดยในวันผนวชนั้น เจ้าชายทั้ง ๖ ได้ตกลงกันให้นายอุบาลีผู้เป็นช่างภูษามาลาออกบวชก่อนตน เพื่อจะได้ทำความเคารพเป็นการลดทิฐิและมานะแห่งความเป็นเชื้อสายกษัตริย์ ของตนลง โดยทั้งหมดได้อุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทาโดยตรงจากพระพุทธเจ้า
เมื่อพระกิมพิละได้อุปสมบทแล้วเป็นผู้ไม่ประมาท ตั้งใจบำเพ็ญความเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลเป็นอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา
ต่อมาเมื่อท่านดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่อายุขัยแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน
พระกิมพิลเถระ หรือ พระกิมพิลศากยเถระ เป็นพระภิกษุสาวกเอตทัคคะของพระพุทธเจ้า นับเนื่องในพระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์สำคัญในพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล
พระกิมพิลเถระ ในพระไตรปิฎกบางเล่ม (๑) เรียกท่านเป็น พระกิมิลเถระ ก่อนที่ท่านจะมาบังเกิดในสมัยพระพุทธเจ้าของเรานี้ ท่านก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้นๆ
อดีตชาติของพระกิมพิลเถระ
ผู้กระทำมหาทานแด่พระกกุสันธพุทธเจ้า
ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า กกุสันธะ ท่านได้บังเกิดในสกุลสูง บรรลุนิติภาวะแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ท่านได้ร่วมกันทำการบูชาด้วยพวงดอกเข็ม โดยทำ เป็นมณฑป อุทิศพระธาตุของพระศาสดา
ตั้งแต่วันนั้น ท่านกระทำแต่กรรมอันดีงามจนตลอดชีวิต จุติจากภพนั้นไปเกิดในชั้นดาวดึงส์ เวียนว่ายอยู่ในภูมิเทวดาและมนุษย์เป็นเวลานาน ครั้งที่พระศาสดาของพวกเราทรงอุบัติ เขาก็มาถือปฏิสนธิเป็น เจ้ากิมพิละ แห่งศากยวงศ์ เป็นเพื่อนเล่นกับเจ้าศากยะอีกหลายพระองค์ เช่น เจ้าอนุรุทธ เจ้าภัททิยะ
ในอรรถกถากล่าวว่า “พอท่านเจริญวัยแล้วก็อยู่อย่างประมาทด้วยโภคสมบัติ” หมายความว่า ท่านทรงเป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง ไม่ทราบถึงความลำบากในการประกอบอาชีพ ไม่ทรงทราบแม้เรื่องข้าวที่ทรงเสวยอยู่มีที่มาอย่างไร มีเรื่องเล่าว่า
วันหนึ่ง ยุวกษัตริย์ ๓ องค์ คือ เจ้ากิมพิละ เจ้าอนุรุทธ และเจ้าภัททิยะ ทรงสนทนากันด้วยเรื่องว่า “ ข้าวที่เราบริโภค เกิดขึ้นที่ไหน ? ”
กิมพิลกุมาร รับสั่งว่า “เกิดขึ้นในฉาง”
ภัททิยกุมาร ตรัสค้านกิมพิลกุมารนั้นว่า “ท่านยังไม่ทราบที่เกิดแห่งข้าว ชื่อว่าข้าว ย่อมเกิดขึ้นที่หม้อข้าว”
เจ้าอนุรุทธตรัสแย้งว่า “ถึงท่านทั้งสองก็ยังไม่ทรงทราบ ธรรมดาข้าว ย่อมเกิดขึ้นในถาดทองคำ”
ได้ยินว่า บรรดากษัตริย์ ๓ องค์นั้น วันหนึ่ง กิมพิลกุมาร ทรงเห็นเขาขนข้าวเปลือกลงจากฉาง ก็เข้าพระทัยว่าข้าวเปลือกเหล่านี้เกิดขึ้นในฉางนั่นเอง
ฝ่ายพระภัททิยกุมาร ทรงเห็นเขาคดข้าวออกจากหม้อข้าวก็เข้าพระทัยว่า ข้าวเกิดขึ้นในหม้อข้าวนั่นเอง
ส่วนอนุรุทธกุมาร ยังไม่เคยทรงเห็นคนซ้อมข้าว คนหุงข้าว หรือคนคดข้าว ทรงเห็นแต่ข้าวที่เขาคดแล้วตั้งไว้ เฉพาะพระพักตร์เท่านั้น ท่านจึงทรงเข้าพระทัยว่า “ข้าวเกิดในถาด ในเวลาที่ต้องการบริโภค”
พระบรมศาสดาทรงอุบัติ
ส่วนพระโพธิสัตว์ของเราจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต มาถือปฏิสนธิในครรภ์ของอัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ทรงเจริญวัยโดยลำดับ ทรงครองเรือนอยู่ ๒๙ ปี แล้วทรงเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณโดยลำดับ ทรงเสวยวิมุตติสุขที่สัตตมหาสถาน ๗ สัปดาห์ ประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงกระทำการอนุเคราะห์โลก
ครั้นเมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงสดับข่าวว่าพระบรมศาสดามายังกรุงราชคฤห์ จึงทรงรับสั่งให้อำมาตย์กาฬุทายี ไปนิมนต์พระบรมศาสดาเสด็จกลับวัง เมื่ออำมาตย์กาฬุทายีไปถึงก็ปีติเลื่อมไสในวัตรปฏิบัติของพระพุทธเจ้า จึงขอบวชกับพระองค์ ก็ได้บวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชาแล้ว พระกาฬุทายีเถระทูลวิงวอนให้เสด็จไปโปรดพระพุทธบิดายัง ณ กรุงกบิลพัสดุ์
ในครั้งนั้นทรงทำพระธรรมเทศนาอันวิจิตรแก่พระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ เมื่อทรงอนุเคราะห์พระญาติแล้ว ทรงให้ราหุลกุมารบรรพชา ไม่นานนัก ก็เสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปจาริกในมัลลรัฐแล้วเสด็จกลับมายังอนุปิยอัมพวัน
ขัติยศากยกุมารออกบวชตามเสด็จ
สมัยนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราช ทรงประชุมศากยะสกุลทั้งหลายตรัสให้แต่ละตระกูลในศากยราชวงศ์ส่งขัตติยกุมารออกบวชตามเสด็จ ในครั้งนั้นเล่ากันว่า ขัตติยกุมารถึงพันองค์จึงออกผนวชโดยพระดำรัสครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อขัตติยกุมารโดยมากเหล่านั้นผนวชแล้ว เหล่าพระญาติเห็นศากยะ ๖ พระองค์นี้ คือ ภัททิยราชา อนุรุทธ อานันทะ ภคุ กิมพิละ และ เทวทัต ยังมิได้ผนวชจึงสนทนากันว่า “พวกเรายังให้ลูก ๆ ของตนบวชได้ ศากยะทั้ง ๖ นี้ มิใช่พระญาติหรือจึงมิได้ทรงผนวช”
เจ้ากิมพิละออกบวชพร้อมด้วยศากยะทั้งห้า
เดิมก่อนบวชนั้น เจ้ากิมพิละ ทรงอยู่อย่างประมาทด้วยโภคสมบัติ แม้ข้าวที่ทรงบริโภคเกิดมาได้อย่างไรก็ไม่ทรงทราบ
จนเมื่อครั้ง พระศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่อนุปิยนคร ทรงเห็นเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะทรงโปรดเจ้ากิมพิละ เนื่องจากทรงเห็นว่า เขาได้สะสมความแก่กล้าแห่งญาณไว้เพียงพอแล้ว เพื่อจะให้เขาเกิดความสลดใจ จึงทรงเนรมิต รูปหญิงผู้หนึ่งในวัยสาวรุ่นกำดัด งามน่าดู เกิดขึ้นต่อหน้าเจ้ากิมพิละ แล้วทรงแสดงให้ร่างหญิงวัยกำดัดนั้น เสื่อมโทรมลงไปตามลำดับด้วยเหตุแห่งชราและโรคร้ายครอบงำ เจ้ากิมพิลกุมาร เห็นดังนั้นก็เกิดความสังเวชอย่างเหลือเกินจึงได้มีพระประสงค์จะออกบวช
เมื่อทรงได้โอกาสตามที่เหล่าพระญาติปรารภข้างต้น จึงได้ทรงออกผนวชตามเสด็จพระพุทธองค์ พร้อมกับเจ้าชายแห่งศากยวงศ์อีก ๕ พระองค์ ครั้งนั้น จึงได้เดินทางออกจากกรุงกบิลพัสดุ์โดยกระบวนพยุหยาตรา ให้เป็นเสมือนเสด็จประพาสราชอุทยาน โดยในครั้งนั้น นายอุบาลีภูษามาลาก็ได้ตามเสด็จด้วยในฐานะมหาดเล็กคนสนิท ครั้นย่างเข้าพรมแดนอื่นแล้ว ก็สั่งให้กระบวนตามเสด็จกลับทั้งหมด ทรงพระดำเนินตามลำพัง ๖ พระองค์ต่อไป พร้อมด้วยนายอุบาลีภูษามาลา เมื่อเห็นว่าได้มาไกลพอสมควรแล้วทั้ง ๖ พระองค์จึงได้ส่งนายอุบาลีภูษามาลากลับและทรงเปลื้องเครื่องประดับออก เอาภูษาห่อแล้วมอบให้กับนายอุบาลีเพื่อใช้เป็นทรัพย์ในการเลี้ยงชีพต่อไป
ครั้งนั้น นายอุบาลีผู้เป็นภูษามาลา ก็ได้เดินทางกลับพร้อมห่อเครื่องประดับที่ได้รับมานั้น เมื่อเดินทางมาได้ระยะหนึ่งก็ฉุกใจคิดว่า ถ้าเรากลับไปแล้ว เจ้าศากยะในกรุงกบิลพัสดุ์ก็จะคิดว่าเราลวงเจ้าชายมาประหาร แล้วชิงเอาเครื่องประดับตกแต่งมา ก็ศากยกุมารทั้ง ๖ นี้ยังทรงผนวชได้ ไฉนเราจึงจะบวชบ้างไม่ได้เล่า เขาจึงแก้ห่อเครื่องประดับแล้วเอาเครื่องประดับนั้นแขวนไว้บนต้นไม้ แล้วพูดว่า ของนี้เราให้แล้ว ผู้ใดเห็น ผู้นั้นจงนำไปเถิด แล้วเดินตามไปเฝ้าศากยกุมารเหล่านั้น
ศากยกุมารเหล่านั้น ทอดพระเนตรเห็นอุบาลีผู้เป็นภูษามาลา เดินกลับมาจึงรับสั่งถามว่า กลับมาทำไม
นายอุบาลีผู้เป็นภูษามาลาจึงเล่าความให้ทราบ เหล่าขัติยกุมารก็เห็นด้วย จึงพาอุบาลีผู้เป็นภูษามาลาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลขอบวช โดยทรงขอให้พระพุทธองค์ บวชให้นายอุบาลีนี้ก่อน ด้วยเหตุเพื่อลดมานะความถือตัวของตนเองที่เป็นวงศ์กษัตริย์ เมื่อบวชหลังนายอุบาลีก็ต้องทำความเคารพผู้ที่บวชมาก่อน แม้ผู้นั้นจะเคยเป็นมหาดเล็กรับใช้ก็ตาม
พระผู้มีพระภาคจึงโปรดให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลาบวชก่อน ให้ศากยกุมารเหล่านั้นผนวชต่อภายหลัง ฯ
ศากยะทั้งหกบรรลุคุณพิเศษ
ครั้นบวชแล้วท่านพระภัททิยะได้เป็นพระอรหัตถ์เตวิชโช โดยระหว่างพรรษานั้นนั่นเอง ท่านพระอานนท์ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระเทวทัตได้บรรลุฤทธิ์อันเป็นของปุถุชน
ท่านภคุเถระได้ออกบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ บ้านพาลกโลณการกคาม ส่วนท่านพระอนุรุทธะ และท่านพระกิมพิละ ออกบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ ป่าไม้ไผ่ ชื่อ ปราจีนวังสทายวัน (อุปักกิเลสสูตร) บางแห่งว่าป่าโคสิงคสาลวัน (จูฬโคสิงคสาลสูตร) ร่วมกับท่านพระนันทิยะ ต่อมาไม่นานท่านก็ทำวิปัสสนากรรมฐาน จนบรรลุเป็นอรหัตแล้ว ได้สำเร็จวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ อภิญญา ๖
เมื่อครั้งเกิดเหตุเรื่องภิกษุชาวโกสัมพีเกิดความแตกแยกกัน พระพุทธองค์ทรงห้ามปรามก็ไม่เชื่อฟัง จึงเกิดเป็นเหตุให้พระบรมศาสดา ทรงอนุโมทนาเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างมีสามัคคีของพระเถระทั้งสาม คือพระอนุรุทธเถระ พระกิมพิลเถระ และพระนันทิยเถระ เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ภิกษุเหล่านั้น ดังนี้
โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตพระนครโกสัมพี ภิกษุสงฆ์ในวัดโฆสิตาราม เกิดความบาดหมาง เกิดความทะเลาะ ถึงการวิวาทกัน ย่อมแสดงกายกรรม วจีกรรม อันไม่สมควรต่อกันและกัน ทำปรามาสกันด้วยมือในโรงอาหาร ในละแวกบ้าน ชาวบ้านทั้งหลาย ก็พากันติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรทั้งหลาย จึงได้เกิดความบาดหมาง เกิดความทะเลาะ ถึงการวิวาท แสดงกายกรรมวจีกรรม อันไม่สมควรต่อกันและกันเล่า ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านติเตียนก็ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ถึงเรื่องดังกล่าวว่าจริงหรือไม่ เหล่าภิกษุ ทูลรับว่า เป็นจริงอย่างนั้น พระพุทธองค์จึงทรงติเตียนแล้วทรงห้ามถึง ๓ ครั้ง เหล่าภิกษุนั้นก็ยังคงดื้อดึงไม่เชื่อฟัง
พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า ภิกษุเหล่านี้หัวดื้อนักแล เราจะให้ภิกษุเหล่านี้เข้าใจกัน ทำไม่ได้ง่ายเลย ดังนี้ แล้วเสด็จปลีกพระองค์ เสด็จพระดำเนินไปจำพรรษา ณ โคนไม้รังใหญ่ ในป่ารักขิตวัน เขตตำบลบ้านปาริไลยกะนั้นเพียงพระองค์เดียว
ในระหว่างทาง ได้เสด็จพระพุทธดำเนินไปทางบ้านพาลกโลณการกคาม ที่ท่านพระภคุพักอยู่ พระผู้มีพระภาค แล้วทรงแสดงอานิสงส์ในการเที่ยวอยู่แต่ผู้เดียว ให้ท่านพระภคุเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง แล้วเสด็จพุทธดำเนินไปทางปราจีนวังสทายวัน ที่ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละ พักอยู่ ด้วยทรงทราบว่าท่านทั้ง ๓ นั้น อยู่บำเพ็ญธรรมร่วมกันอย่างมีสามัคคีดียิ่ง
พระพุทธองค์จึงทรงปรารถนาจะยกย่องการอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่เหล่าภิกษุที่ขัดแย้งกันนั้น ให้เห็นความสำคัญของการอยู่อย่างสามัคคีพร้อมเพรียงกันว่า แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังเสด็จสู่ที่พักของภิกษุผู้อยู่อย่างสามัคคีพร้อมเพรียงกันด้วยพระองค์เอง ทำปฏิสันถาร แสดงธรรมและทรงยกย่องเหล่าภิกษุทั้ง ๓ เมื่อทรงทำให้เห็นดังนั้น ก็ใครเล่าจะไม่พึงอยู่อย่างสามัคคีพร้อมเพรียงกัน
เมื่อพระพุทธองค์ได้พบพระเถระทั้งสามแล้ว จึงได้ทรงตรัสถามถึงการอยู่อย่างพร้อมเพรียงกัน ของพระเถระทั้งสามว่าอยู่กันอย่างไร ซึ่งพระอนุรุทธเถระก็เล่าถวายพระบรมศาสดา เช่นที่ปรากฏในพระสูตรนั้นดังนี้
“พระอนุธุทธะ: พระพุทธเจ้าข้า ในข้อนี้ บรรดาพวกข้าพระพุทธเจ้า รูปใดบิณฑบาตกลับจากบ้านก่อนรูปนั้นก็ปูอาสนะ ตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ ล้างสำรับกับข้าวแล้วตั้งไว้ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ รูปใดบิณฑบาตกลับจากบ้านทีหลัง ถ้ามีอาหารที่ฉันแล้วเหลืออยู่ ถ้าต้องการก็ฉัน ถ้าไม่ต้องการ ก็เททิ้งในที่ปราศจากของเขียวสด หรือล้างเสียในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์ รูปนั้นรื้ออาสนะเก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ล้างสำรับกับข้าวแล้วเก็บไว้ เก็บน้ำฉันน้ำใช้ กวาดโรงฉัน รูปใดเห็นหม้อน้ำฉัน หม้อน้ำใช้ หรือหม้อน้ำในวัจจกุฎีว่างเปล่า รูปนั้นก็ตักน้ำตั้งไว้ ถ้ารูปนั้นไม่สามารถ พวกข้าพระพุทธเจ้าก็กวักมือเรียกเพื่อนมา แล้วช่วยกันตักยกเข้าไปตั้งไว้ แต่พวกข้าพระพุทธเจ้ามิได้บ่นว่า เพราะข้อนั้นเป็นเหตุเลย
และพวกข้าพระพุทธเจ้านั่งประชุมกันด้วยธรรมมีกถาตลอดคืนยันรุ่งทุก ๆ ๕ วัน พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ไม่ประมาทมีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปอยู่ ด้วยวิธีอย่างนี้แล พระพุทธเจ้าข้า”
“พระกิมพิลเถระ” ผู้รักความสามัคคี และความเป็นธรรม จาก กิมพิลสูตร
ขอขอบพระคุณที่มา : พระพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์ กิมพิลวรรคที่ ๑ , จูฬโคสิงคสาลสูตร , กิมิลเถรปทาน dhrama-gateway.com , สารานุกรมวิกิพีเดีย wikipedia และ เว็บไซต์ ธรรมะไทย dhammathai.org