ติดตามการกลับไปปลูกป่า ปลูกต้นไม้ ที่วัดบ้านเกิด
วัดวรกิจพัฒนาราม อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร กับ พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

ป่าคือชีวิต ต้นไม้คือลมหายใจ

โดย

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ

           เริ่มจากความคิดเล็กๆ อยากจะปลูกต้นไม้ที่วัดบ้านเกิด วัดวรกิจพัฒนาราม อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ในพื้นที่ ๑๐ ไร่ ให้มีร่มเงาเป็นป่าชุมชน วันหนึ่งกลับไปที่วัดบ้านเกิดอากาศร้อนมาก ก็เลยพูดคุยกับหลวงพ่อเจ้าอาวาส ท่านบอกว่าถ้าวัดมีต้นไม้อากาศจะไม่ร้อนมากขนาดนี้ ท่านเล่าให้ฟังว่าเคยปลูกหลายครั้ง แต่ก็ไม่รอด ต้นไม้ตายหมด เพราะน้ำไม่เพียงพอ

นับย้อนหลังไปเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว ผู้เขียนเคยซื้อพันธุ์ไม้ผลจำนวนหนึ่งมาให้ท่านปลูก แต่ไม่รอดตายหมด น้ำไม่เพียงพอ หลวงพ่อเจ้าอาวาสท่านบอกว่า ไปขอไม้ป่ามาปลูก ก็เหลือต้นพะยูง ๒ ต้นที่รอด พะยูง ๓ ปีต้นใหญ่พอสมควร นึกย้อนดู เสียดายเวลาพึ่งเข้าใจว่า ต้นทุนที่แพงที่สุด คือเวลา ถ้าตัดสินใจทำระบบน้ำดีๆ แล้วปลูกไม้ป่าในครั้งนั้น คงโตพอที่จะได้อาศัยร่มเงาแล้ว

ในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ก็เลยปรึกษาพูดคุยกับหลวงพ่อเจ้าอาวาส ทำโครงการ “คืนป่าให้แผ่นดิน คืนถิ่นสร้างชุมชน” ดำเนินการเจาะบ่อบาดาล ทำแท็งก์น้ำ วางระบบน้ำเข้าสวน พื้นที่ปลูกนำร่องจำนวน ๔ ไร่ โดยขอรับบริจาคจากญาติโยม ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วในส่วนของระบบน้ำ และได้ทำการปลูกไม้ผล จำนวน ๒ แถวๆ ละ ๑๘ ต้น ตามที่มีเจ้าภาพบริจาค สำหรับไม้ป่ารอหน่วยงานภาครัฐแจกในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

           ในส่วนของพื้นที่ที่เหลือจะใช้วิธีปลูกไปเรื่อยๆ โดยขอรับบริจาคพันธ์ไม้จากชาวบ้าน โดยอยากจะสร้างความรู้สึกร่วมว่าทุกคนคือเจ้าของ วันก่อนยายคนหนึ่งรู้ว่า วัดจัดโครงการปลูกต้นไม้ นำต้นมะพร้าวมาถวาย ๒ ต้น พร้อมกับปลูกเองกับลูกหลาน ด้วยความนอบน้อมต่อธรรมชาติ ในใจอยากเห็นภาพอย่างนี้มานานแล้ว

ป่าคือชีวิต ต้นไม้คือลมหายใจ โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
ป่าคือชีวิต ต้นไม้คือลมหายใจ โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

ภาพที่ชาวบ้านมาร่วมกัน นำหน่อกล้วย ไม้ผล ไม้ป่าคนละต้นสองต้นมาปลูกที่วัด นำปุ๋ยคอกมาใส่คนละนิดหน่อย ไม่ใช่เพียงต้นไม้เท่านั้นที่จะเติบโต ความดีเล็กๆ ในใจเราก็จะเกิดขึ้นด้วย โบราณบอกว่า คนปลูกต้นไม้ จะมีความอดทน รู้จักการรอคอย เป็นคนใจเย็น เพราะว่ากว่าต้นไม้ จะเติบโต ต้องรอคอย เอาใจใส่ เห็นต้นไม้ค่อยๆ ผลิใบทีละต้นสองต้น ใจก็มีความสุข สงบเย็น

นึกภาพดู ถ้าต้นไม้ค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากวันเป็นสัปดาห์ จากสัปดาห์เป็นเดือน จากเดือนเป็นปี หลายปี คงจะเป็นฝืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ นกกาได้อาศัย รุกขเทวดาได้มีวิมาน โลกจะได้มีปอดที่ฟอกอากาศ เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ชุมชน ชีวิตจะร่มเย็นเป็นสุข ทุกลมหายใจตลอด สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพแข็งแรง ชุมชนน่าอยู่ สิงสาราสัตว์ สรรพชีวิตได้พึ่งพาอาศัย อากาศและน้ำล้วนเป็นยา ไม่มีต้นไม้ไหนที่ไม่เป็นยา สิ่งแวดล้อมแย่ น้ำและอากาศเป็นพิษ หายใจเอาสารพิษเข้าไป ทำร้ายร่างกาย ทำลายชีวิต โลกร้อน ภัยธรรมชาติรุมเร้า ก่อเกิดภัยพิบัติรุนแรง ป่าคือชีวิต ต้นไม้คือลมหายใจ

ป่าคือชีวิต ต้นไม้คือลมหายใจ โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
ป่าคือชีวิต ต้นไม้คือลมหายใจ โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้พูดถึงคุณค่าของธรรมชาติในหนังสือ ปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ ข้อนำมาเล่าโดยคัดเอาข้อความบางตอน บางส่วนที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ในหัวข้อนั้นๆ โดยไม่ได้นำมาเสนอทั้งหมดของเนื้อหา

คุณค่าต่อชีวิต

คุณค่าของธรรมชาติที่ผู้คนตระหนักและเห็นได้ชัดก็คือ คุณค่าในการบำรุงเลี้ยงชีวิต  มิใช่แค่ปัจจัยสี่เท่านั้นที่เราทุกคนต้องการเพื่อความอยู่รอด  ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ อากาศ และน้ำ  หากขาดอากาศแค่ไม่กี่นาที หรือขาดน้ำแค่ไม่กี่วัน ร่างกายเราก็หยุดทำงาน  อาหารอาจซื้อได้จากร้านในบางครั้ง  แต่อากาศและน้ำ เราต้องพึ่งธรรมชาติเป็นหลัก

คุณค่าต่อจิตใจ

ธรรมชาตินั้นช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี  คนที่มองออกไปเห็นต้นไม้และพื้นที่สีเขียว ไม่เพียงหายป่วยเร็วกว่าเท่านั้น  หากยังเรียนหนังสือได้ดีกว่า รวมทั้งมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงน้อยกว่า  การตรวจวัดการทำงานของร่างกาย บ่งชี้ว่า เมื่อได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ หรือแม้แต่การเห็นภาพธรรมชาติเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ช่วยให้เราจิตใจสงบลงและทำงานได้ดีขึ้น

ต้นไม้คือมิตรที่มีบุญคุณ

           ทุกวันนี้ผู้คนมองต้นไม้เป็นเสมือนวัตถุที่ไม่มีความหมายต่อเรา นอกจากเป็น “สินค้า” หรือ “ทรัพยากร”  และหากไม่มีราคาค่างวดด้วยแล้ว ก็ไม่มีความหมายใด ๆ เลย  แต่พุทธศาสนามองว่าต้นไม้นั้นเป็นเสมือนมิตร ดังตรัสเป็นพุทธภาษิตว่า “บุคคลนั่งก็ตาม นอนก็ตามที่ร่มเงาต้นไม้ใด ไม่ควรหักรานกิ่งต้นไม้นั้น เพราะว่าผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม”

ในคัมภีร์ชาดกมีเรื่องราวเกี่ยวกับการทำร้ายต้นไม้ ว่าไม่ต่างกับการทำร้ายผู้ที่มีบุญคุณ และดังนั้นจึงต้องรับผลร้ายตามมา ชาดกเรื่องหนึ่งกล่าวถึงต้นไทรใหญ่ที่ถูกพ่อค้ากลุ่มหนึ่งโค่นล้มว่า “กิ่งด้านทิศตะวันออกให้น้ำอาบ กิ่งด้านทิศใต้ให้ข้าวและน้ำดื่ม  กิ่งด้านทิศตะวันตกให้เหล่านารี ส่วนกิ่งด้านทิศเหนือให้ทรัพย์ที่น่าปลื้มใจทุกอย่าง พ่อค้าวาณิชทั้งหลาย ต้นไทรมีความผิดอะไรหรือ”

พ่อค้ากลุ่มนี้มีความโลภจึงโค่นล้มต้นไทร ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ ในที่สุดก็มีนาคออกมาฆ่าพ่อค้าเหล่านั้นจนหมด นี้คือผลจากการทำร้ายต้นไม้ ซึ่งเป็นอุทาหรณ์สอนใจคนทุกวันนี้ได้เป็นอย่างดี ชาดกเรื่องนี้สอนว่าต้นไม้มีบุญคุณกับมนุษย์เรา เพราะฉะนั้นจึงควรที่เราจะเคารพปกป้องธรรมชาติเช่นเดียวกับที่ควรปกป้องผู้มีพระคุณ  

         ปกป้องป่าคือหน้าที่ของชาวพุทธ

           มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับวัดราชาธิวาส ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๒ ชาวบ้านเรียกว่าวัดสมอราย  เวลานั้นวัดสมอรายอยู่ชานเมือง ต้นไม้ขึ้นหนาแน่น กุฏิวิหารแทรกอยู่ตามป่า มีอยู่คราวหนึ่งพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จะเสด็จไปทอดกฐินที่วัดสมอราย พนักงานมาตรวจสถานที่ก็เห็นว่าทางเสด็จมีต้นไม้กีดขวางเกะกะ พนักงานอยากจะตัดกิ่งไม้ แต่ถูกเจ้าอาวาสวัดสมอรายห้ามไว้ พนักงานก็อ้างพระเจ้าอยู่หัว ท่านเจ้าอาวาสจึงพูดว่า “จะเสด็จมาหรือไม่เสด็จมาก็ตามเถอะ แต่ห้ามตัด”  ความทราบถึงพระองค์ จึงทรงมีพระบัญชาไม่ให้ตัดกิ่งไม้ 

           มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับหลวงพ่อชา สุภัทโท สมัยที่วัดหนองป่าพงสร้างใหม่ๆ  พระและแม่ชีเป็นมาลาเรียกันมาก เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาเห็นสภาพวัดก็บอกหลวงพ่อชาว่าป่ารกเกินไป ต้องตัดต้นไม้ออกจะได้ไม่มียุงมาก แต่หลวงพ่อชายืนกรานไม่ให้ตัด ท่านบอกว่า “คนตายซะ เอาป่าไว้ก็พอ พระหรือชีก็ตามตายแล้วก็ไปแล้ว เอาป่าไว้เสียดีกว่า”

ทำบุญด้วยการปลูกป่า

นอกจากเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมแล้ว การอนุรักษ์ธรรมชาติ และฟื้นฟูป่า ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้บำเพ็ญบุญดังกล่าวด้วย อาทิ ลดความเห็นแก่ตัว เพิ่มพูนเมตตาธรรมในจิตใจ รวมทั้งได้สัมผัสกับความสุขใจอันเกิดจากการเกื้อกูลผู้อื่น  หลายคนที่ได้ลงมือปลูกป่าด้วยตนเอง ได้พบว่า แม้กายจะเหนื่อย แต่ใจเป็นสุข อันเกิดจากความปีติและภาคภูมิใจที่ได้ทำสิ่งดี ๆ  รวมทั้งเห็นพลังที่เกิดขึ้นในใจตน 

           การทำบุญปลูกป่าเป็นสิ่งที่โลกกำลังต้องการอย่างยิ่ง นอกจากจะช่วยชะลอปัญหาโลกร้อน ลดความผันผวนแปรปรวนของดินฟ้าอากาศแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างสุขภาวะแก่ผู้คนทั้งกายและใจ เราไม่จำเป็นต้องรอปลูกต้นไม้ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมซึ่งอยู่ห่างไกล แต่ควรลงมือทำเสียแต่วันนี้ในพื้นที่ใกล้ตัว เช่น ปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินของตน ไม่ว่าในเมืองหรือต่างจังหวัด และหมั่นดูแลต่อเนื่องจนเติบใหญ่ ให้มนุษย์และสรรพสัตว์ได้พึ่งพาอาศัยใช้ประโยชน์

           นอกจากการทำบุญตามประเพณีในโอกาสสำคัญเช่น วันเกิด วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬาหบูชา หรือวันปีใหม่ ด้วยการการใส่บาตร ถวายสังฆทานแล้ว เราควรทำบุญด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อสร้างความร่มรื่นให้แก่สถานที่และความเบิกบานใจให้แก่ตนเองด้วย หากคนไทยนิยมทำบุญด้วยการปลูกต้นไม้จนกลายเป็นประเพณีทั้งประเทศ เมืองไทยจะเขียวขจีและผู้คนจะมีความสุขมากขึ้น ประเพณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ง่ายหากมีค่านิยมอีกประการหนึ่งเกิดขึ้นควบคู่กัน นั่นคือการมอบต้นไม้เป็นของขวัญ เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งน้ำใจและความปรารถนาดี ไม่ว่าในวาระสำคัญของชีวิตหรือของพระศาสนา 

นี้คือการทำบุญที่มีอานิสงส์มาก เป็นบุญที่ให้ทั้งประโยชน์ตน เป็นประโยชน์ต่อชนรุ่นหลังและช่วยสร้างโลกนี้ให้ดีงาม น่าอยู่ จึงเป็นบุญที่เราควรหมั่นทำเป็นนิจ

ญาติโยมท่านใดอยากจะให้คำแนะในการปลูกป่า การเลือกพันธ์ไม้ ไม้อะไรที่ควรจะปลูก วิธีการปลูก วิธีการดูแล ให้คำแนะนำได้ พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท โทร ๐๘๖-๗๖๗-๕๔๕๔ หรือผ่านไปจะร่วมปลูกต้นไม้ก็สามารถที่จะทำได้ ณ วัดวรกิจพัฒนาราม (บ้านโพนปลาโหล) อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน
พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here