ปุจฉา-วิสัชนากับพระมหาขวัญชัย กิตติเมธี
เรื่อง ทุกข์จริงหนอ และ ตั้งใจรับวิบากกรรมให้หมดในชาตินี้ จะปฏิบัติธรรมให้สิ้นทุกข์ แต่เมื่อเจอกับทุกข์และวิบากกรรมหนักจริงๆ รับไม่ไหวจะวางจิตอย่างไร จึงจะไปให้ถึงเป้าหมายปลายทางได้
ถาม : การตั้งจิตว่า ยินดีรับความทุกข์ทุกอย่างมาให้หมดวิบากกรรมในชาตินี้ และตั้งใจปฏิบัติธรรม จนกว่าจะสิ้นทุกข์ให้ได้ในชาตินี้ พอเจอกับความทุกข์ที่ถาโถม ก็ไม่ไหวแล้ว แต่จิตที่ตั้งไว้ว่าอยากจะพ้นทุกข์ให้ได้ในชาตินี้ตะทำได้อย่างไรคะพระอาจารย์ และในอดีตก็คิดว่า มาเถิดความทุกข์หนักแค่ไหนก็รับไหว เพราะตั้งจิตว่าจะเป็นพระโพธิสัตว์ แต่พอเจอทุกข์หนักมากจะขอลาพุทธภูมิ ขอจบในชาตินี้จะทำได้หรือไม่อย่างไรคะพระอาจารย์
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ตอบ : การตั้งจิตนั้นเรียกว่า “อธิษฐานบารมี”
การอธิษฐานนี้เป็นการเข้าใจถึงข้อปฏิบัติที่นำไปสู่การยกตนไปสู่สถานะที่ดีกว่า การอธิษฐานนั้นจึงเป็นแบบอย่างของการหลุดพ้นจากโลก สิ่งผูกพัน ความรู้สึกต่างๆ อันมีอยู่ในโลก เรียกว่า พรหมจรรย์ หากใครเคยได้อ่านเรื่องพระเนมิราช ผู้บำเพ็ญอธิษฐานบารมี จะพบคำถามหนึ่งที่ว่า “ทานกับพรหมจรรย์ อย่างไหนสำคัญกว่ากัน” พระเนมิราชสงสัยเกี่ยวกับคำถามนี้ จนมีท้าวสักกะมาตอบตอนหนึ่งว่า
“ชนเหล่าใดไม่มีเพื่อน อยู่คนเดียว
ไม่รื่นรมย์ยินดีกับความอยู่วิเวกลำพังผู้เดียว
ถึงจะมีโภคสมบัติมากมากยอย่างองค์อินทร์
ก็ยังชื่อว่าเป็นคนเข็ญใจ
เพราะมีความสุขได้แต่ต้องอาศัยผู้อื่น”
ภาพ “อิงอาศัยกัน ” ภาพวาดบนภาพถ่าย อ่างบัวในสวน โดยมนสิกุล
ความข้อนี้ระบุถึงการอธิษฐานนั้นคือการอยู่ลำพังผู้เดียว เป็นการปลีกวิเวกที่เรียกว่า ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นวิธีการเบื้องต้นในการหลุดออกจากวังวนของการเกี่ยวข้องกับด้วยโลก และทุกข์ในโลกนี้ โดยวิธีการนี้เป็นการออกบวช เพราะในสมัยนั้น ผู้ใช้ชีวิตในโลกมาอย่างยาวนานมาจนก้าวล่วงเข้าสู่วัยชรา ต้องการจะค้นหาวิธีการจากไปด้วยดี จึงค้นหาวิธีการสร้างความสงบตามลำพังไม่เกี่ยวข้องกับผู้คน เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นช่วงที่จะได้พิจารณาสังขารตนเองเป็นหลัก ไม่เกี่ยวข้องกับด้วยผู้อื่น
แต่การจะตั้งจิตเป็นพระโพธิสัตว์จะเกี่ยวข้องกับผู้อื่น เช่น ต้องดูแลคนอื่น หรือช่วยเหลือคนอื่น เกี่ยวข้องกับเรื่องทานบารมี ที่ต้องช่วย ต้องสงเคราะห์ ต้องนำพาผู้อื่นไปสู่ที่ๆ ดีกว่านี้ อันเป็นแนวทางที่ยิ่งใหญ่ในการนำผู้อื่นหลุดพ้นจากความทุกข์ และเป็นแนวทางของผู้ยังมีอำนาจ บารมี มีกำลัง มีวัตถุสิ่งของ เงินทองพอจะช่วย พอจะช่วยเหลือผู้อื่นได้
แต่กับคนที่ก้าวสู่วัยชราที่กำลังกายลดน้อยถอยลอง จึงเป็นเรื่องของจิตใจกับความทุกข์ที่มี การตั้งจิตอธิษฐานดับทุกข์นั้นเป็นจิตที่เกี่ยวข้องกับพรหมจรรย์ที่ต้องอาศัยการอยู่ลำพัง และศึกษาความทุกข์ในตนเอง
อย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสเรียกว่า วินาทีทองของชีวิต ในช่วงชราและเจ็บป่วยจะพบช่วงเวลานี้ในการบำเพ็ญเพียรอย่างยิ่งยวด และวิธีการตรวจสอบที่ดีว่าอธิษฐานบารมีเรายังไม่เข็มแข็งพอก็คือการยังห่วงสิ่งอื่น ผู้อื่น ความทุกข์ที่มีมาเรายังไม่อาจตัดสิ้นลงได้จึงทำให้การประพฤติพรหมจรรย์ ไม่อาจดำเนินไปได้เช่นกัน
สมัยพุทธกาลจึงได้กล่าวถึงผู้จะปลีกวิเวกนั้นต้องตัดที่ผูกในชีวิตออกก่อนคือ ครอบครัว ญาติมิตร การงาน แล้วจึงปลีกออกจากโลก เพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ในโลก เมื่อหลุดพ้นแล้วจะไม่กลับมาสู่โลกอีก แต่สามารถช่วยเหลือโลกได้ เหมือนเหล่านักบวชที่พ้นจากทุกข์แล้วได้ช่วยเหลือโลกตามที่จะเป็นไปได้ในช่วงเวลาที่เรายังพอมีอยู่