ปุจฉา : รักษาศีลแปด แล้วเล่นหุ้นได้ไหม ผิดศีลไหม แล้วทางพระพุทธศาสนาอธิบายเรื่องการเล่นหุ้นไว้อย่างไร

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี วิสัชนา : ศีล ๘ นั้นเรียกว่าเป็นศีลอุโบสถ โดยปกติจะถือเอาในช่วงวันพระ ขณะที่การองค์ประกบของศีล ๘ นั้นคือ

๑. ไม่ทำร้ายหรือประทุษร้ายชีวิตสัตว์หรือมนุษย์

๒. ไม่ลักขโมยทรัพย์สินผู้อื่น

๓. ไม่ประพฤติล่วงละเมิดทางเพศต่อเพศตรงข้าม

๔. ไม่กล่าวคำที่ไม่เป็นจริง หรือ คำโกหก

๕. ไม่ดื่มน้ำเมาหรือสารที่ทำให้เมาหรือเสพติด

๖. ไม่บริโภคอาหารในยามวิกาล ถือเอาเวลาหลังเที่ยงถึงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในอีกวัน

๗. ไม่ฟ้อนรำทำเพลง แสดงกิริยารื่นเริง รวมถึงละเว้นจากการแต่งสวยแต่งงามให้ร่างกาย

๘. ไม่นั่งหรือนอนบนที่นั่งหรือที่นอนที่ทำให้นุ่ม และสูงใหญ่

โดยข้อปฏิบัติเหล่านี้ไม่ได้ระบุถึงการจับเงินทอง หรือการประกอบสัมมาอาชีพ จึงสามารถทำได้ แต่ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการประกอบอาชีพนั้นเป็นวิถีชีวิตที่จะทำได้โดยเงื่อนไขของสัมมาอาชีวะที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาทรัพย์และรักษาทรัพย์ที่ได้มานั้นไว้ ในอุชชยสูตรเล่าถึงการประกอบอาชีพไว้ว่า

๑. อุฎฐานสัมปทา คือ กุลบุตรในโลกนี้เลี้ยงชีพด้วยการงานใด จะเป็นกสิกรรม (การเพาะปลูก) พาณิชยกรรม (การค้าขาย) โครักขกรรม (การเลี้ยงวัวควาย) เป็นช่างทำลูกธนู รับราชการ หรือศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น สามารถทำได้ สามารถจัดได้

๒.  อารักขสัมปทา คือ กุลบุตรในโลกนี้มีโภคทรัพย์ (ทรัพย์สินเงินทอง) ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์นั้นด้วยคิดว่า ‘ทำอย่างไร โภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา จึงจะไม่ถูกพระราชาริบ โจรไม่ลัก ไฟไม่ไหม้ น้ำไม่พัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักไม่ลักไป’

การประกอบอาชีพนี้

จึงจำเป็นต้องอาศัยศิลปะและความรู้

รวมถึงหาเงินได้แล้ว

ก็ต้องรู้จักรักษาไว้ด้วย

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี

ขณะเดียวกันก็ห้ามการประกอบอาชีพเหล่านี้คือ ๑. การค้าขายศัสตราวุธ ๒. การค้าขายสัตว์ ๓. การค้าขายเนื้อ ๔. การค้าขายของมึนเมา ๕. การค้าขายยาพิษ และการหมกมุ่นในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย

การเล่นหุ้นนั้น เป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง จึงเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพที่ต้องใช้ความรู้และความสามารถที่รวมเรียกว่า “ศิลปะ” ในการดำเนินการก็สามารถทำได้ สำหรับการลงทุนกับบริษัทมหาชนที่เป็นสัมมาอาชีวะ คือเลี้ยงชีวิตชอบ และมั่นคง งดเว้นการลงทุนเกี่ยวกับอาชีพทั้งห้า ที่พระพุทธเจ้าห้ามไว้ ซึ่งหุ้นนั้นต้องไม่เกี่ยวข้องกับการประทุษร้ายกัน หรือการเบียดเบียนกัน หรือสนับสนุนของมึนเมา และการค้าขายสิ่งที่ทำอันตราย เป็นต้น ซึ่งผู้รักษาศีลที่เคร่งครัดอาจจะงดเว้นไว้ก่อน สำหรับการลงทุนกับสินค้าเหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้นที่ต้องระวังคือ จะต้องไม่เป็นการซื้อมาขายไปเพื่อเก็งกำไรในระยะสั้นๆ แต่เป็นการลงทุนในระยะยาวกับหน่วยงานต่างๆ ในตลาดหุ้นที่มีธรรมาภิบาล ดังที่ได้อธิบายไว้ในข้างต้น

ปุจฉา : รักษาศีลแปด แล้วเล่นหุ้นได้ไหม ผิดศีลไหม แล้วทางพระพุทธศาสนาอธิบายเรื่องการเล่นหุ้นไว้อย่างไร วิสัชนาโดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here