วันนี้วันพระ วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๓๗)

“ลมหายใจเป็นเครื่องหมายของสติ นิมิตและวิปัสสนูปกิเลสเป็นเครื่องหมายของจิตสงบ“

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

ลมหายใจเป็นเครื่องหมายของสติ นิมิตและวิปัสสนูปกิเลสเป็นเครื่องหมายจิตสงบ

ลมหายใจเป็นเครื่องหมายของสติ ถ้ายังเห็นลมหายใจก็แสดงว่า ยังไม่หลงลืมสติ เมื่อใดที่ปฏิบัติไปแล้วลมหายใจไม่ปรากฏ จิตเลื่อนไหลออกจากลมหายใจก็แสดงว่าเผลอเลอลืมสติ ก็ตั้งใจใหม่ จนเห็นลมหายใจตลอดสาย เห็นลมหายใจเข้าตลอดสาย เห็นลมหายใจออกตลอดสาย

“ลมหายใจจึงเป็นเครื่องหมายของสติ ส่วนนิมิตและวิปัสสนูปกิเลสเป็นเครื่องหมายของจิตสงบ”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

เมื่อนิมิตและวิปัสสนูปกิเลสปรากฏ ก็เป็นเครื่องหมายว่า  จิตเริ่มก้าวลงสู่ความสงบแล้วอาการต่างๆ ที่เรียกว่า นิมิตและวิปัสสนูปกิเลส จึงเกิดขึ้น

“สงบ” ในที่นี้หมายความว่า สงบจากนิวรณ์ บางทีก็เรียกว่าจิตสงัดก็คือสงัดจากนิวรณ์ที่คอยขวางกั้นจิตจากความสงบสงัดครั้งแรก สงัดจากกามคุณที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ท่านเรียกว่า มีเหยื่อล่อ คือ มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีการสัมผัส คอยหลอกล่อให้ออกไปติด จะว่าไป รูป เสียง กลิ่น รส และการสัมผัส จะเปรียบก็เหมือนนกต่อที่ร้องหลอกล่อให้นกตัวอื่นออกจากรังมาติดกับดัก พอนกต่อเงียบเสียงพรานนกก็จะทำให้ร้องบ้าง ร้องเลียนเสียงนกบ้าง กระตุกเชือกที่ขาให้บินบ้าง แสดงมายาให้นกตัวอื่นรู้ว่าที่นี่มีเหยื่อดี พอนกอื่นได้ยินก็ออกจากรัง จากที่ซุกซ่อนมากินเหยื่อ

“เพราะอวิชชาหลงไม่รู้จริง

เพราะอำนาจแห่งตัณหา จึ

งติดกับดักพรานนกตายลงนักต่อนัก”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

สงัดต่อมา เป็นสงัดจากอกุศลในใจ เมื่อภาวนาไปจนจิตสงัดจากการรับอารมณ์ที่เป็นกามคุณทางตา ทางหู เป็นต้น ก็ไม่มีเหยื่อล่อ แต่ใจก็นึกคิดอารมณ์ทางใจขึ้นมาเองจนได้เป็นการดึงเอากิเลสละเอียดในใจขึ้นมาคิด เรียกตามหลักก็ว่า ธรรมารมณ์  ก็ต้องระงับอารมณ์ทางใจนั้นลงเสีย จึงเป็นการสงัดจากอารมณ์ที่เป็นอกุศลทางใจ

อารมณ์ที่มีเหยื่อล่อนั้นมาจากข้างนอก เรียกว่า “มีอามิส” ส่วนอารมณ์ที่ไม่มีเหยื่อล่อนั้นนอนแน่นิ่งฝังอยู่ในใจเราเอง เรียกว่า “ไม่มีอามิส

คำว่าสงบ สงัด จึงไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความรู้สึก ก็มีความรู้สึก มีการรับรู้ เพียงแต่ว่า ความรู้สึกในส่วนที่ถูกนิวรณ์รบกวนไม่มีแล้ว จิตจึงมีความสงบ สงัดตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่อนิวรณ์ที่จะรุกล้ำเข้ามารบกวน จึงสงบสงัดตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอยู่อย่างนั้น

เมื่อจิตสงัดจากนิวรณ์อย่างนี้แล้ว บางขณะ จิตจะปรุงสังขารอาการอย่างอื่นขึ้นมาแทน เรียกว่านิมิตและวิปัสสนูปกิเลส เพราะธรรมชาติของจิตจะไม่ว่างจากอารมณ์ จิตจะต้องหาอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งมาเสวย พูดไปจิตก็เหมือนเด็กซุกซนที่อยู่นิ่งไม่เป็น หากไม่มีสติมาคอยตัดทอนให้ขาดตอนลง ก็จะปรุงแต่งไปไกล  เหมือนเด็กไม่มีพ่อแม่คอยเตือนสติเรียกกลับ ก็จะหลงเพลินเล่นไปไกล จนอาจเกิดอันตรายก่อทุกข์ขึ้นได้

จิตในส่วนสติปัญญาที่ทำหน้าที่พิจารณาใคร่ครวญ ไตร่ตรอง  ก็ต้องมาคอยตักเตือนตัดตอนอยู่เสมอ  จิตในส่วนนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องภาวนาให้เกิดให้มีขึ้น ภาวนาก็คือต้องครุ่นคิดพิจารณา ไตร่ตรอง วิจัย ใคร่ครวญอยู่เนืองๆ

“พอเกิดนิมิตและวิปัสสนูปกิเลสขึ้นแล้ว

ก็วิจัยใคร่ครวญภาวนาไว้เนืองๆ ว่า

อันนี้ไม่จริง ไม่แท้

จิตก็จะรู้ขึ้นมา

คือมีสติระลึกรู้ขึ้นมาว่า

ไม่จริง ไม่แท้”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

ครั้นมีสติระลึกรู้ขึ้นมาได้สักครู่ พอเผลอสติหลงลืมไป จิตก็จะไปสังขารสิ่งอื่นทำให้นิมิตและวิปัสสนูปกิเลสปรากฏขึ้นมาอีก ก็กำหนดจิตภาวนาลงไปว่า  “รู้ๆๆ”  หรือ “รู้หนอๆๆ” จิตจะมีสติระลึกรู้ขึ้นมา ก็พิจารณา ไตร่ตรอง วิจัย ใคร่ครวญวิเคราะห์ออกมาว่าอันนี้ไม่จริง ไม่แท้ ไม่แน่นอน ตกอยู่ในอำนาจแห่งไตรลักษณ์ จิตก็จะมีสติระลึกรู้ขึ้นมา

นี่ก็เป็นวิธีภาวนา อบรมให้ผู้รู้ตื่นขึ้นมา  จะรู้ด้วยปัญญาตัวเองว่า ไม่ว่าจะเป็นนิมิต หรือวิปัสสนูปกิเลส เมื่อจิตสงบแล้วจะเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาด ไม่ใช่สิ่งอัศจรรย์อะไร เกิดขึ้นเพราะมีเหตุคือความสงบ เมื่อเหตุดับคือจิตถอน จิตย้อนกลับหรือ จิตคลายจากความสงบ นิมิตและวิปัสสนูปกิเลสก็ดับไป จึงไม่เที่ยง เกิดจากเหตุปัจจัย มีเหตุปัจจัยเป็นแดนเกิด ไม่ควรให้ตัณหาและทิฏฐิเข้าไปอิงอาศัย และไม่ใช่จุดมุ่งหมายของสมาธิ ให้ถือว่า เป็นทางผ่านไปสู่ความสงบ เหมือนเราเดินทางผ่านป่าไปในระหว่างทาง ก็จะเห็นธรรมชาติที่สวยงาม เห็นดอกไม้ใบหญ้าหลากสีสันแปลกตา ทั้งนกหนูปูปีกสัตว์สวยงาม เห็นแล้วก็อย่าหลงเพลินเดินเที่ยวหลงป่าไป ให้ดูให้เห็นแต่ไม่หลงเพลินไป เดินผ่านป่าก็ต้องเห็นต้นไม้ เห็นผลหมากรากไม้เป็นธรรมดา แต่ไม่หลงเพลินหยุดเก็บดอกไม้ผลไม้โดยไม่เดินทางต่อไป

“ปฏิบัติสมาธิก็ต้องผ่านนิมิตและวิปัสสนูปกิเลสเป็นธรรมดา”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

            เมื่อนิมิตหรือวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้น ก็ให้รู้ว่าสิ่งนี้เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า เราปฏิบัติก้าวหน้ามาจนจิตดีขึ้นแล้ว จึงเกิดนิมิตเกิดวิปัสสนูปกิเลส ก็ให้ตั้งใจมั่นต่อไปอีก เพิ่มความเพียรเข้าไปเพื่อที่จะก้าวข้ามนิมิตและวิปัสสนูปกิเลส ให้มีสติระลึกรู้ว่า เราปฏิบัติจนนิมิตและวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นก็ดีแล้ว แต่เราจะไม่ติดอยู่ในสิ่งนี้  จะไม่ตื่นเต้น จะไม่ตกใจ จะไม่กลัว พยายามชลอนิมิตและวิปัสสนูปกิเลสให้ผ่านพ้นไป ทำได้อย่างนี้ก็ชื่อว่า ก้าวข้ามนิมิตและวิปัสสนูปกิเลสไปได้

ปฏิบัติสมาธิจะรู้ว่าก้าวหน้า หรือไม่ก้าวหน้าก็ดูว่าเกิดนิมิตหรือวิปัสสนูปกิเลสหรือไม่ ถ้าเกิดก็ให้รู้ด้วยตัวเองว่า การปฏิบัติมีความก้าวหน้า เพราะถ้าจิตไม่ดี ไม่สงบก็จะไม่เกิด  ถ้าจิตสงบมากแล้วจึงเกิดสิ่งเหล่านี้ เพียงแต่ยังอยู่ในขั้นที่ยังมีนิมิต ยังมีวิปัสสนูปกิเลสอยู่ ยังไม่ข้ามพ้นจุดนี้ไปได้ ซึ่งเป็นจุดที่พระพุทธเจ้าทรงเตือนว่า “ไม่ให้ติด” เพื่อจะได้พัฒนาจิตเคลื่อนสูงขึ้นไปตามลำดับ

หากเป็นสมถะก็ค่อยๆ ชะลอจิตข้ามพ้นนิมิตไป มุ่งหน้าสู่การรวมจิตให้เป็นเอกภาพก้าวสู่ความว่างภายใน

หากเป็นวิปัสสนา ก็ค่อยๆ ชะลอจิตข้ามพ้นวิปัสสนูปกิเลสไป มุ่งหน้าสู่การอบรมจิตให้ปัญญาแก่กล้าขึ้นมา ด้วยอาศัยความเพียรอย่างแรงกล้าที่เรียกว่า “ตบะ”  เป็นความเพียรแบบใช้ความมีสติระลึกรู้เข้ามาเร่งแผดเผาอภิชฌาและโทมนัสให้มอดไหม้ไปจากใจ

เผลอสติไปเมื่อใด

ก็ให้มีสติระลึกรู้กลับมาเมื่อนั้น

พระอาจารย์ญาณวชิระ

            อภิชฌา คือความรัก ความชอบ ความพอใจ ความยินดี รวมเรียกว่าความสุขก็คือสุขเวทนา โทมนัส คือ ความชัง ความเกลียด ความไม่พอใจ ความยินร้าย รวมเรียกว่าความทุกข์ก็คือทุกขเวทนา

ไม่ให้จิตเป็นที่ตั้งแห่งอภิชฌาโทมนัสรักชัง

พระอาจารย์ญาณวชิระ

            ใช้ความเพียรอย่างแรงกล้าแบบตบะแผดเผาอภิชฌาและโทมนัส ความรักความชังนี้ให้เหือดแห้งละลายไปไม่กลับหลัง มุ่งหน้าไปสู่ความหลุดพ้นจนอภิชฌาและโทมนัส หรือรักชังตั้งอยู่ในจิตไม่ได้

            “เมื่ออภิชฌาและโทมนัส

รักชังตั้งอยู่ในจิตไม่ได้

ก็เรียกว่า ละสักกายทิฐิ

อันเป็นที่ตั้งแห่งรักบางเบาลง

จนเหือดแห้งไปในที่สุด”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

            สักกายทิฐิ คือ ความถือตัวถือตน ความสำคัญตน ความเห็นตนว่าสำคัญ ความอวดดื้อถือดีในตน ความสำคัญมั่นหมายในตน ความอยากให้คนเห็นตนว่าสำคัญ เป็นคำรวมของความรู้สึกว่า “ตัวเราของเรา” เมื่อยังมีความรู้สึกว่า “ตัวเราของเราอยู่” ก็จะมีสักกายทิฐิอันแรงกล้าว่า ใครจะมาดีกว่าเราของเราไม่ได้ ใครจะมาสำคัญกว่าเรา ของเราไม่ได้ ใครจะมาลดทอนความสำคัญของเราลงไม่ได้  ใครจะมามีความคิดเห็นต่างจากความคิดเห็นของเราไม่ได้

ในที่สุดอะไรๆ ก็จะมีแต่ตัวเราของเรา รูปร่างหน้าตาชื่อเสียงก็ของเรา ความคิดความเห็นก็ของเรา ความเชื่อก็ของเรา ใครจะมากระทบรูปร่างหน้าตาชื่อเสียงของเราไม่ได้ ใครจะมามีความเชื่อต่างจากความเชื่อของเราไม่ได้ เป็นความยึดในสักกายทิฐิ ที่เหนียวแน่น

“จะถือตัวถือตนแบบไหนก็ตาม

สรุปแล้วก็คือ

ความยึดมั่นในอุปทานขันธ์ ๕  นั่นเอง”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

เป็นความยึดมั่นในรูปนาม ยึดมั่นในรูปที่ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนว่าเที่ยง ว่ามีตัวมีตน ยึดมั่นในเวทนาที่ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ว่าเที่ยง ว่ามีตัวมีตน ยึดมั่นในสัญญาที่ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ว่าเที่ยง ว่ามีตัวมีตน ยึดมั่นในสังขารที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง ว่ามีตัวมีตัว  ยึดมั่นในวิญญาณที่ไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ว่าเที่ยง ว่ามีตัวมีตน

“เมื่อมารู้ว่าอะไรๆ ก็เป็นแต่เพียงรูปนาม

เพ่งความสนใจลงไปที่ลมหายใจเข้าออก

ก็เห็นแต่อาการเข้าอาการออก

และความคิดที่สลับหมุนเวียนกันเกิดดับ”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

เพ่งความสนใจลงไปที่ท้อง ก็เห็นแต่อาการพองอาการยุบ เป็นรูปเท่านั้น ที่พองที่ยุบ ครั้นเพ่งความสนใจลงไปที่จิต ก็เห็นแต่ความคิดเท่านั้นที่หมุนเวียนกันเกิดดับ เพ่งความสนใจลงไปที่ร่างกาย ก็เห็นแต่อาการเคลื่อนไหวของอวัยวะส่วนต่างๆ เป็นรูปเท่านั้นที่เคลื่อนไหวสลับผลัดเปลี่ยนเป็นท่ายืน ท่านั่ง ท่าเดิน ท่านอน

“เพ่งความสนใจลงไปที่จิต

ก็เห็นแต่ตัณหา

คือความอยากเท่านั้น

ที่ผลัดกันเกิดดับ

คอยผลักดันให้อวัยวะส่วนต่างๆ

เกิดการเคลื่อนไหว”

พระอาจารย์ญาณวชิระ
กราบขอบพระคุณ ภาพจาก จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
กราบขอบพระคุณ ภาพจาก จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

เมื่อมาเห็นแต่รูปนามเท่านั้น ที่เกิดดับอยู่อย่างนี้ ไม่มีอะไรที่จะยึดถือว่าเป็นตัวเราของเราที่ถาวร นิพพิทาก็ปรากฏขึ้นในใจ เกิดความเบื่อหน่ายในรูปนาม อภิชฌาและโทมนัส ความยินดีความยินร้ายก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะไม่รู้จะยินดียินร้ายกับสิ่งที่เป็นเพียงอาการไปทำไม และเพราะได้มารู้ความจริงที่ธรรมดาเข้าเสียแล้ว  จิตก็คลายจากการยึดในรูปร่างหน้าตา  ชื่อเสียง ความเชื่อและความคิดเห็น ความเป็นตัวเป็นตนความสำคัญมั่นหมายในตัว ก็เป็นเพียงให้กาย วาจา ใจทำกิจตามหน้าที่ ไม่มีรักชังเข้าไปอิงอาศัย

           “ฐานอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความรักชัง

ก็มาจากความถือตัวถือตนนี้”

พระอาจารย์ญาณวชิระ

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๓๗) “ลมหายใจเป็นเครื่องหมายของสติ นิมิตและวิปัสสนูปกิเลสเป็นเครื่องหมายของจิตสงบ“เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here