วันนี้วันพระ วันจันทร์ที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๔ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๒๓)

“โฉมหน้าของตัณหา”

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

โฉมหน้าของตัณหา

เมื่อจิตนิ่งอยู่กับอารมณ์เดียว ก็ลองกลับมาดูที่กายใจอีกทีหนึ่ง แล้วกลับไปดูลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ลองขยายความรู้สึกไปดูกาย สังเกตอาการทางกาย คอตรงไหม เอียงซ้ายเอียงขวาไหม  ถ้างุ้มไปข้างหน้าก็ตั้งขึ้นมา ถ้าโน้มไปข้างหลังก็ดึงกลับขึ้นมา

ก็ดูกายดูใจไปเรื่อยๆ ดูตามที่กายที่ใจเป็น อย่าไปดัดแปลง อย่าไปปรับแต่งให้กายใจเป็นไปตามความอยาก กายเจ็บก็รู้ว่ากายเจ็บ อย่าไปดัดแปลงแทรกแซงการทำหน้าที่ของกาย อย่าไปร้องขอว่าอย่าเจ็บอย่าปวด ให้รู้ลงไปตรงๆ ตามอาการเจ็บอาการปวดของกาย ถ้าไปร้องขอไม่ให้กายเจ็บ คือเราไปแทรกแซงการทำหน้าที่ที่เป็นไปตามธรรมชาติของกาย เพราะอยากให้เป็นตามความอยากของเรา

ใจสงบก็รู้ ใจไม่สงบก็รู้

สบายใจก็รู้ ไม่สบายใจก็รู้

รู้ลงไปตรงๆ

ตามที่กายใจเป็นขณะนั้น

อย่าไปดัดแปลงให้มันผิดไปจากความเป็นจริง

อย่าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของใจ

ให้กำหนดรู้ไปตามอาการ

พอปัจจัยพร้อมเดี๋ยวก็สงบเอง

พอสงบไปสักครู่ พอปัจจัยพร้อมเดี๋ยวก็ออกจากความสงบ ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมไม่เป็นอย่างนี้ หรือไม่ต้องคาดหวังว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้น มันน่าจะเป็นอย่างนี้ มันควรจะเกิดอย่างนั้นมันควรจะเกิดอย่างนี้ ก็คิดปรุงแต่งวุ่นวายอยู่ในหัว มีคำถามผิดขึ้นมาเรื่อย

รวมความ คือ อย่าไปดัดแปลงให้มันผิดไปจากอาการตามความเป็นจริงของกายและใจในขณะนั้นให้เห็นลงไปตรงๆ ตามสภาวะที่ปรากฏ

ให้ดูกายดูใจไปเรื่อย

จิตเป็นสมาธิจึงเป็นจิตที่ตั้งมั่น เมื่อตั้งมั่นได้แล้วก็มีที่มั่นในการรับรู้อารมณ์ ไม่ว่าจะกระทบอารมณ์อะไรก็ตั้งมั่นเป็นกลางรู้ตามที่กายใจเป็น ไม่เฉออกไปจากความเป็นกลางไปทางพอใจ ไม่พอใจ แม้รับอารมณ์ใดๆ ก็ไม่ถูกชักพาให้กระเพื่อมไหวออกจากที่ตั้งมั่นไปทางสุขหรือทุกข์ อารมณ์อะไรจะผ่านเข้ามาก็รู้เฉยๆ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย

เมื่อจิตมีที่ตั้งมั่นดีแล้ว ก็พัฒนาให้จิตได้รับความสงบจากปัญญา วิธีที่จะทำให้เกิดความสงบจากปัญญา ก็คือ ให้ลองปล่อยจิตได้รับการกระทบอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นธรรมารมณ์ คือ ความคิดที่ผุดขึ้นมาภายในใจ หรือ อารมณ์จากภายนอกที่ประสาทสัมผัสรับเข้ามา แล้วสังเกตการกระเพื่อมไหวซึ่งเป็นผลสืบเนื่องที่เกิดจากการกระทบอารมณ์

เมื่อหูกระทบอารมณ์ เสียงกระทบแก้วหู วิ่งเข้าสู่ใจ เฝ้าสังเกตใจว่ามันกระเพื่อมไหม กระเพื่อมไปทางพอใจหรือไปทางขัดเคืองใจ เกิดความรู้สึกขวางหูขวางตา รำคาญใจไหม ได้ยินคำด่า คำนินทา คำดูถูก  ดูเข้ามาที่ใจ

ใจกระเพื่อมไปทางขัดเคืองใจ

ไม่พอใจ

หรือพอได้ยินคำเยินยอ

กระทบแก้วหูแล้ววิ่งเข้าสู่ใจ

ดูเข้ามาที่ใจ

ใจกระเพื่อมไปทางฟูขึ้น

ชอบใจ สุขใจ ตื่นเต้นไหม

 ก็เฝ้าสังเกตอาการทางใจ

อย่างนี้เรื่อยไป

จะกี่วัน กี่เดือน กี่ปีก็ต้องทำ

ต้องฝึกหัด

แล้วปัญญาคือวิชชาก็จะค่อยๆ เติบโตขึ้นมา

ขับไล่อวิชชาออกไป

พอเริ่มรู้ทันความคิด อวิชชา คือความไม่รู้ ก็เท่ากับจางหายไปตามลำดับ และความรู้คือวิชชา ปัญญา พุทโธ หรือผู้รู้ ก็เติบโตขึ้นมาแทนที่ เหมือนพอจุดคบไฟ แสงไฟก็เริ่มขับไล่ความมืดให้ถอยห่างออกไป แสงสว่างมีมากเท่าไหร่ ความมืดก็ถอยห่างออกไปเท่านั้น

การปล่อยให้จิตได้กระทบอารมณ์

จึงเป็นการฝึกให้วิชชาได้รับการพัฒนา

ไม่ปล่อยให้จิตจมนิ่งแช่

อยู่กับความสงบอย่างเดียว

พอสงบแล้วก็ปล่อยให้จิตออกมากระทบอารมณ์แล้วก็ดูความเปลี่ยนแปลง แล้วก็กลับเข้าไปอยู่กับความสงบอีก แล้วก็ปล่อยให้จิตออกมากระทบอารมณ์ ฝึกทำอย่างนี้สลับกันไปมา เพราะถ้านิ่งอยู่เฉยๆ ในความสงบจะติดสบาย พอติดสบายจิตก็ไม่อยากออกไปทำงานอย่างอื่น ไปอยากออไปพบปะผู้คน ไม่อยากทำงานทำการอะไร

ในทางปฏิบัติครูบาอาจารย์ท่านก็สอนว่า จิตไม่อยากออกไปทำงานวิปัสสนา อยากแช่นิ่งกับความสงบ อยากแช่นิ่งกับความว่าง อยากอยู่กับความไม่มีอะไร

จิตกระทบอะไร

จะเป็นชอบใจ ไม่ชอบ

ก็ภาวนาให้รู้อารมณ์นั้น

            การฝึกจิตให้มีสมาธิตั้งมั่นเป็นสมถะ ก็เป็นการทำจิตให้มีฐานที่มั่น พอตั้งฐานที่มั่นได้แล้ว ก็ปล่อยให้จิตได้ออกไปรับอารมณ์ ออกไปทำงานวิปัสสนา ก็เหมือนทหารพอตั้งฐานที่มั่นได้แล้ว ก็ออกไปเดินลาดตระเวนหาข่าว ไม่ใช่นั่งคลุกอยู่ในฐานอย่างเดียว อยู่ในฐานอย่างเดียวไม่รู้ว่ารอบฐานที่มั่นมีอะไรบ้าง

พุทโธอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงการเป็นผู้รู้อย่างนี้ ไม่ได้อยู่ที่ท่องพุทโธๆ ไปเรื่อย ความหมายที่แท้จริงของพุทโธอยู่ที่รู้กายรู้ใจลงไปตรงๆ ตามความเป็นจริง ท่องพุทโธก็ดี แต่ถ้าให้ดีจนครบสมบูรณ์มากขึ้นไปอีก ท่องพุทโธแล้ว ก็ต้องให้ผู้รู้เกิดขึ้นมาด้วย

ในที่สุด จากสงบเพราะที่มีอารมณ์เดียวอยู่กับลมหายใจอยู่กับความว่าง ก็จะพัฒนามาเป็นสงบเพราะปัญญา สงบเพราะลมหายใจจะเรียกว่า สมถะก็ได้ สงบเพราะปัญญาจะเรียกว่าวิปัสสนาก็ได้ หรือจะเรียกว่าภาวนาก็ได้ เป็นการทำให้ความสงบและปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่าไปสงสัย อย่าไปแยกแยะ อย่าไปใส่ใจว่าจะเป็นอะไร จะเป็นอะไรก็เป็น ขอให้ทำตามนี้ไปเรื่อย ก็จะเป็นเองรู้เอง และหมดความสงสัยไปเอง จะไม่มีคำถาม ไม่มีความสงสัยผุดขึ้นมาในหัวว่า อันนี้เป็นสมถะ อันนี้เป็นวิปัสสนา

ใครจะว่าสมถะดีก็ดี ใครจะว่าวิปัสสนาดี ก็ดี ใครจะว่าปฏิบัติสมถะก่อนวิปัสสนาดี ก็ดี ดีไปหมดทุกอย่าง เพราะหมดความสงสัยแล้ว ก็เป็นแต่เพียงผู้รู้คอยเฝ้าสังเกตดูกิริยาของจิตเท่านั้น

บางทีก็ว่าฝึกแนววิปัสสนาเพื่อดูสติก่อน จึงค่อยฝึกแนวสมถะ บางทีก็ว่าฝึกแนวสมถะให้จิตเป็นสมาธิก่อน จึงค่อยฝึกแนววิปัสสนา ก็เป็นเรื่องต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างเห็น เป็นการใส่อารมณ์ความคิดเห็นเข้าไป จึงมีความคิดเห็นแตกต่างกันไป บางทีก็เลยเถิดถึงกับทะเลาะกันจนกลายไปความแตกแยก

ที่จริงก็ฝึกไปพร้อมๆ กันทั้งสองอย่างนั่นแหละ เช่น กำหนดลมหายใจจนจิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับลมหายใจ ลมหายใจเป็นจิต จิตเป็นลมหายใจ คลุกเคล้ากันเข้า จิตจดจ่อแนบแน่นอยู่อย่างนี้ก็เป็นสมถะ

เมื่อจิตพิจารณา

เห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจ

รู้ว่า ลมหายใจมีเกิด มีดับ

ลมหายใจไม่เที่ยง

ก็เป็นวิปัสสนา

เพราะใช้ปัญญาพิจารณาลมหายใจ

เห็นอย่างสมถะเหมือนพลแม่นปืน เพ่งจับจ้องเล็งไปที่เป้าหมายเป็นการมองแบบตรงๆ ไม่ให้คลาดไปจากสายตา ส่วนเห็นแบบวิปัสสนา เหมือนการมองแบบเวรยามรักษาการณ์ มองแบบกว้างๆ ให้เห็นถ้วนทั่ว มองแบบเฝ้าระวัง มีความตื่นตัวรู้รอบอยู่ตลอด เป็นการมองแบบตรวจตรา ที่จริงก็คนๆ เดียวกัน  บางคราวก็เพ่งจับจ้อง บางคราวก็มองแบบตรวจตาโดยรวม

สงบเพราะเป็นสมถะจิตมีอารมณ์เดียวอยู่กับลมหายใจ พอออกจากลมหายใจ ก็ไม่สงบ จะถูกรบกวนจากการรับรู้อารมณ์ทางตา  หู จมูก ลิ้น  กาย ใจ อยู่ตลอด เป็นความสงบเพียงชั่วคราว ขณะมีอารมณ์เดียวอยู่กับลมหายใจ แต่สงบเพราะปัญญา จะสงบถาวร เพราะกระทบอารมณ์ดีก็รู้ กระทบอารมณ์ร้ายก็รู้ อารมณ์ไม่มีขึ้น ไม่มีลง ไม่มีสูง ไม่มีต่ำ เป็นอารมณ์กลางๆ ไม่ว่าจะรับอารมณ์ชนิดใดเข้ามา จิตที่กระทบกับอารมณ์อยู่บ่อยๆ ด้วยความตั้งมั่น ก็จะเกิดการเรียนรู้ อารมณ์แต่ละชนิดที่กระทบ ก็รู้อยู่อย่างนั้น

บางครั้ง อาจกระทบอารมณ์แรงๆ เช่นอยู่เฉยๆ ก็ถูกด่าแรงๆ ถูกตวาดแรงๆ ก็ให้จิตใด้กระทบบ้าง ไม่งั้นจะไม่รู้อารมณ์แรงๆ แบบนี้  ก็จะไม่ทัน เมื่อไม่ทันเพราะจิตไม่เคยรู้มาก่อน ก็จะคิดปรุงแต่งไปแรง แบบคนมีอารมณ์รุนแรง ผลสะเทือนที่เกิดจากการกระทบกับอารมณ์แรงๆ แบบนี้ หากรู้ไม่ทัน อารมณ์นั้นก็จะตั้งอยู่นาน จิตจะดึงกลับขึ้นมาคิดปรุงแต่งแรง วนซ้ำๆ กระทบอารมณ์ที่ชอบแรงๆ ก็เช่นกัน ก็ต้องรู้ไว้ก่อน

ได้คนที่ชอบ ได้คำพูดที่ชอบ ได้สิ่งของที่ชอบ พอชอบก็คิดปรุงแต่งไปมาก ก็ให้จิตได้กระทบบ้าง

กระทบกับอารมณ์แรงๆ

ทั้งชอบและไม่ชอบ

แล้วก็ดูกลับเข้ามาที่ใจ

ดูใจว่ากระเพื่อมแรงมากน้อยแค่ไหน

ถึงระดับที่หัวใจเต้น

หรือแค่ปรุงแต่งไปด้วยความพอใจ

หรือขัดเคืองใจ

เมื่อดูให้ลึกลงไปขบคิดด้วยปัญญา ก็จะพบว่า แม้อารมณ์ที่ชอบใจคิดปรุงแต่งเป็นสุข แท้จริงแล้วก็เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะอยากให้เป็นสุขอยู่อย่างนั้นจึงเป็นทุกข์ กลัวว่าสุขจะหายไป เป็นทุกข์ว่าสุขจะอยู่อย่างนี้ต่อไปได้อย่างไร เป็นทุกข์ว่าใครจะมาช่วยทำให้สุขดำรงอยู่ต่อไป เป็นทุกข์กลัวว่าจะมีใครมาทำให้สุขเปลี่ยนไปหรือไม่ ก็ดิ้นรนแสวงหาวิธีที่จะให้สุขดำรงอยู่โดยประการต่างๆ แต่ก็ไม่ได้ดั่งใจ แล้วสุขก็เปลี่ยนไปจนได้ ก็ทุรนทุราย พร่ำเพ้อรำพึงรำพัน ตีอกชกตัวเสียดายอยากไขว่คว้าคืนกลับมา ก็ขัดเคืองเคียดแค้นชิงชังคนที่เป็นต้นเหตุทำให้สุขแปรไป

แม้เมื่อรับอารมณ์แล้ว ปรุงแต่งไปทางทุกข์ ไม่พอใจก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะคอยคิดว่าทำอย่างไรความทุกข์จึงจะหายไป เป็นทุกข์เพราะไม่อยากเป็นทุกข์อย่างนี้ เป็นทุกข์เพราะคิดว่าจะมีใครมาช่วยให้ทุกข์นี้หายไป เป็นทุกข์เพราะจะมีใครมาช่วยให้เป็นสุขได้อย่างไร ก็พยายามแสวงหาที่พึ่งโดยประการต่างๆ

ที่จะให้เป็นสุขอยู่ตลอดไปตามใจอยากนั้น ก็ไม่ได้ เพราะสุขก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวสุขก็จะเปลี่ยน เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่เปลี่ยน เพราะปัจจัยยังไม่พร้อม เมื่อปัจจัยพร้อม มีอารมณ์อื่นเข้ามาตัด ก็เปลี่ยนไปเป็นทุกข์อีกแล้ว

เมื่อเห็นได้อย่างนี้

โฉมหน้าตัณหาก็ถูกเปิดเผยออกมา

เราก็มองเห็นชัด

ตามที่พระพุทธเจ้าชี้ให้เราดูว่า

ยายัง ตัณหา โปโนพภวิกา นันทิราคะสะหะคะตา ตัตระ ตัตราภินันทินีฯ เสยยะถีทังฯ กามะตัณหา ภะวะตัณหา วิภะวะตัณหาฯ ตัณหานี้ใด ก่อให้เกิดพบอีก มีความกำหนัดยินดีเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆย้อมไว้  คือ ความอยากในกาม ความอยากมีอยากเป็น และความไม่อยากมีไม่อยากเป็น”

พระองค์ชี้ให้เราดูตรงๆ แล้วว่า ตัวตัณหานี่แหละเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ อยากสิ่งใดก็ยึดสิ่งนั้น ยึดสิ่งใด ภพชาติ ก็เกิดที่สิ่งนั้น ภพชาติเกิดที่สิ่งใด ความทุกข์ ความโศกเศร้า ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความร่ำไรรำพันก็เกิดขึ้นที่สิ่งนั้น

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ชี้ให้ดูลงไปตรงๆ อย่างนี้แล้ว เวลาภาวนาเราก็ดูลงไปตรงๆ ตามที่พระพุทธเจ้าชี้อย่างนี้แหละ อย่าไปดูที่อื่น ดูทุกข์ที่มากระทบใจ สาวลงไปดูตัณหาที่เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ ดูแล้วก็ให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของทุกข์ทั้งมวล ภาวนาให้ความรู้อย่างนี้เจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๒๓) “โฉมหน้าของตัณหา” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here