บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ

(บทที่ ๓)

“ความเป็นผู้ฉลาดในการดำเนินจิตให้สมาธิตั้งอยู่นาน”

เขียนโดย ญาณวชิระ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

"สมาธิ" ภาพวาดด้วยสีถ่าน โดย หมอนไม้
“สมาธิ” ภาพวาดด้วยสีถ่าน โดย หมอนไม้

บทที่ ๓

ความเป็นผู้ฉลาดในการดำเนินจิตให้สมาธิตั้งอยู่นาน

เมื่อเข้าสมาธิได้แล้วต้องฉลาดที่จะดำเนินจิตเพื่อให้สมาธิตั้งอยู่ได้นาน เพราะเมื่อเข้าสมาธิได้แล้วจิตจะไม่มีที่ยึด เนื่องจากกำลังสมาธิทำให้ลมหายใจหดหายไป ก็เหลือแต่สภาวะจิตที่ต้องพบกับปรากฏการณ์แปลกใหม่ของสภาวะที่หมุนเวียนกันเกิดขึ้น

วิธีการดำเนินจิตขณะก้าวเข้าสู่ความว่าง โดยให้ยึดความว่างเป็นอารมณ์แล้วเฝ้าสังเกตทุกสภาวะที่ปรากฏขึ้นในความว่างนั้น แสงปรากฏก็ให้รู้แสง แสงเปลี่ยนตัวเองเป็นเฉดสีต่างๆ ก็ให้รู้การเปลี่ยนเป็นเฉดสีต่างๆ ปรากฏเหมือนล่องลอย ก็รู้ ปรากฏเหมือนดำดิ่งลง ก็รู้ ปรากฏเหมือนหมุนคว้าง ก็รู้ ปรากฏเหมือนตัวขยายพองออก ก็รู้ ปรากฏเหมือนตัวหดเล็กลง ก็รู้ ตัวหนัก ก็รู้ ตัวเบา ก็รู้ แสงเกิดขึ้นก็กำหนดรู้แสงนั้นเป็นอารมณ์ไว้ก่อน

ที่จริง อาการเหล่านี้เป็นสาวะธรรมอย่างหนึ่ง จะเรียกว่าธรรมารมณ์ ก็ได้ เป็นสิ่งที่จิตคิดนึกปรุ่งแต่งขึ้นมานั่นแหละ แต่เป็นความนึกคิดปรุงแต่งในขณะจิตดำเนินไปสู่ความสงบ

เมื่อเกิดความลังเลสงสัย ไม่มั่นใจ หวาดกลัว กริ่งเกรงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นอะไร ตัวเรายังมีอยู่ไหม หรือตัวเราไม่มี ก็กลับไปดูลมหายใจ จะเรียกว่าพลิกขณะจิตหรือเปลี่ยนความคิดไปให้ความสนใจอยู่กับลมหายใจก็ได้ แล้วลมหายใจก็จะเด่นชัดขึ้นมา

เห็นลมหายใจละเอียด ถอยออกไปเป็นเห็นลมหายใจหยาบ จากนั้นกายก็จะปรากฏชัดขึ้น และเกิดความรู้สึกทางกาย รู้เย็น ร้อน ปวด เมื่อย เหน็บชา จากนั้นก็ดำเนินจิตกลับมากำหนดเพ่งจับจ้องจดจ่อความสนใจไปที่ลมหายใจอีกครั้ง จิตก็จะย้อนกลับเข้าไปสู่ความว่างตามเส้นทางเดิม โดยเกาะยึดลมหายใจเข้าไป ลมหายใจหดหายไป ก็จะเหลือเพียงความว่าง แล้วจิตก็จะดำเนินไปสู่สภาวะตามธรรมดาของจิตเช่นเดิม สภาวะใดปรากฏ ก็กำหนดรู้สภาวะนั้น

"สมาธิ" ภาพวาดด้วยสีถ่าน โดย หมอนไม้
“สมาธิ” ภาพวาดด้วยสีถ่าน โดย หมอนไม้

บางขณะจิตจะนิ่งอยู่กับความว่าง สั้นบ้าง ยาวบ้าง บางขณะจิตหนึ่งจะผุดคำถามขึ้นมา อีกขณะจิตหนึ่งตอบ เป็นการผุดคำถามตอบขึ้นมาภายใน บางขณะเพ่งพินิจพิจารณาไตร่ตรองธรรม บางขณะดึงอารมณ์อดีตขึ้นมานึกคิดปรุงแต่ง บางขณะรับรู้อารมณ์ภายนอกที่วิ่งเข้ามากระทบ เช่นเสียงที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ เพียงขณะที่รับรู้ จิตก็จะปล่อยวางแล้วตัดเข้าสู่ความว่างภายใน

"สมาธิ" ภาพวาดสีฝุ่นและสีถ่าน โดย หมอนไม้
“สมาธิ” ภาพวาดสีฝุ่นและสีถ่าน โดย หมอนไม้

สภาวะในขณะนั้น เหมือนจิตสร้างครอบแก้วขึ้นมาครอบตัวเองไว้ แล้วดำเนินจิตไปตามกระบวนการภายในของจิต

สติจะสร้างระบบตัวเองขึ้นมาให้คอยวางการรับรู้อารมณ์ภายนอก แล้วตัดเข้าสู่ความว่างภายใน

ไม่ว่าหูจะได้ยินเสียงอะไร กายจะสัมผัสอะไร จิตก็จะเพียงแค่รับรู้แล้วสติก็จะตัดเข้าสู่ความว่างภายใน ชื่อว่า “ฉลาดในการดำเนินจิตเพื่อให้สมาธิดำรงอยู่ได้นาน

โปรดติดตามตอนต่อไป

"สมาธิ" ภาพวาดสีฝุ่นและสีถ่าน โดย หมอนไม้
“สมาธิ” ภาพวาดสีฝุ่นและสีถ่าน โดย หมอนไม้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๓) “ความเป็นผู้ฉลาดในการดำเนินจิตให้สมาธิตั้งอยู่นาน” เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here