วันนี้วันพระ วันอาทิตย์ที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๔ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๘-๘

เว้นวรรคไปสองเดือน กับ บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ สำหรับตอนที่ ๑๘ “รู้ทุกข์จริงแท้ที่กายใจ” ในตอนท้าย ท่านพระอาจารย์ ญาณวชิระ เขียนไว้เกี่ยวกับการฝึกสมาธิในท่านั่ง ให้อดทนจนถึงที่สุดก่อน แล้วถามใจตนเองว่าายังไหวไหม ตอนแรกใจอาจบอกว่าไม่ไหว แต่ก็ให้อดทนต่อไป จนกระทั่งไม่ไหวจริงๆ ค่อย ปรับอิริยาบถให้เกิดความพอดีมีความสมดุล

เมื่่อกายก็มีความสมดุล ใจก็มีความสมดุล จะเปลี่ยนท่านั่งก็เพียงแต่ให้รู้ จะขยับเขยื้อนแขนขา หรือร่างกายส่วนใดก็เพียงแต่ให้รู้ ดูกายดูใจไป ง่วงก็ดูใจ ให้รู้ว่าง่วง เหนื่อยก็ดูใจให้รู้ว่าเหนื่อย อ่อนล้าก็ดูกายใจให้รู้ว่าอ่อนล้า เจ็บปวดก็ดูกายดูใจให้รู้ว่าเจ็บปวด เมื่อยอยากเปลี่ยนท่านั่ง ก็ดูความอยาก ก็เห็นความอยากทุรนทุรายอยู่ในใจดูว่าความอยากเป็นอย่างไร  ดูความขัดเคืองหงุดหงิดเดือดดานเป็นอย่างไร

สุดท้าย เราก็กลับมาดูอริยสัจที่กายที่ใจของเรา เราก็จะเห็นอริยสัจอยู่ภายในตัวเรานี่เอง ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน เราก็จะเห็นกายมันเป็นทุกข์ ใจมันเป็นทุกข์ เมื่อเห็นใจมันทุกข์ ทุรนทุราย ก็คือเห็นอริยสัจที่ใจ เป็นการเห็นอริยสัจเข้ามาที่กายที่ใจของเราเอง  เห็นว่า ตอนนี้กายเป็นทุกข์ ตอนนี้ใจเป็นทุกข์ ก็เห็นสิ่งประเสริฐ

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๑๙)

“อริยสัจอยู่ที่กายใจของเรา”

เขียนโดย ญาณวชิระ

อริยสัจอยู่ที่กายใจของเรา

ทีนี้ เมื่อเห็นอริยสัจอยู่อย่างนี้แล้ว ก็ดูบ่อยๆ อย่าให้คลาดสายตา อย่าให้การเห็นแบบนี้คลาดไปจากสติ ให้ความสนใจจับจ้องความทุกข์ความเจ็บปวดไว้ แล้วก็ดูไปเรื่อย เวลาความทุกข์ความเจ็บปวดหายไป ก็ดูกลับเข้ามาที่ใจว่ารู้สึกอย่างไร พอใจไหม ชอบใจไหม ดีใจชอบใจก็ไม่เที่ยง เอาแน่เอานอนไม่ได้ เดี๋ยวก็เปลี่ยน ให้บอกตัวเองอย่างนั้นไว้เสมอ

ทุกข์กายทุกข์ใจมันก็ทุกข์ของมันไป กายมีปัจจัยปรุงแต่ง นั่งนาน ยืนนาน เดินนาน นอนนาน มันก็ทุกข์ของมันตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งขึ้นมาในขณะนั้นๆ ใจมีปัจจัยปรุงแต่งมันก็ทุกข์ของมันตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งขึ้น นั่งนานกายเจ็บปวด พอลุกไปเสีย ความเจ็บปวดก็คลายไป เราก็ดีใจว่าทุกข์หาย แต่แท้จริงทุกข์ไม่ได้หาย เพียงแต่ทุกข์คลายไป เพราะอิริยาบถมาคั่นไว้ อิริยาบถถูกปิดบังไว้  เรียกตามธรรมก็ว่า เหตุปัจจัยเปลี่ยนไปเท่านั้นเอง พอกลับมานั่งอีกก็เจ็บก็ปวดอีก

กายนั่งนานมันก็เจ็บปวด โดนหนามตำ มีดบาด น้ำร้อนลวกมันก็เจ็บปวดแสบปวดร้อน ใจได้ยินคำชม มันก็ชอบ ได้ยินคำด่ามันก็เกลียด ซึ่งเป็นธรรมดาเพราะเหตุปัจจัยมันพร้อม  ถ้าได้รับการฝึกหัดให้ใจรู้ หูได้ยินก็เป็นแต่เพียงผู้รู้

“ความทุกข์จึงเป็นสิ่งที่ต้องรู้

ตามสภาพของทุกข์

ทุกข์ตรงไหนก็รู้ตรงนั้น

ไม่ต้องผลักไส  ไม่ต้องหนี

ไม่ต้องบังคับ

ไม่ต้องดัดแปลงตบแต่งความคิด

คิดอะไรก็รู้ตามนั้น”

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

รู้อะไร?

รู้ว่า ความคิดมันเปลี่ยนแปลง มันไม่เที่ยง  ก็ดูความคิดมันเปลี่ยนไปเรื่อย ความทุกข์ก็ซ่อนอยู่ในความคิดนี่แหละ เราก็จะเห็นความทุกข์มันเปลี่ยน พอเห็นความทุกข์เปลี่ยนก็เห็นความจริงอันประเสริฐ เป็นการเห็นความจริงในอริยสัจเข้ามาที่กายใจของเรา

ถ้าเห็นว่า ความทุกข์มันคงอยู่อย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง ก็เห็นทุกข์ในความยึดถือว่า ความทุกข์เป็นสิ่งทนถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง ก็เห็นทุกข์ไม่ตรงทุกข์  ยังไม่ใช่เห็นทุกข์ที่เป็นอริยสัจ

“ความเห็นที่ถูกต้อง ตรงทุกข์ 

ก็ต้องเห็นว่า ความเจ็บปวดนี้

ปรุงแต่งขึ้นจากการนั่งนาน 

พอเปลี่ยนท่านั่งความเจ็บปวดก็จะหาย

จึงอย่าเกลียดกลัวความทุกข์ความเจ็บปวด

เพราะทุกข์เป็นความจริงอันประเสริฐ

เป็นอริยสัจ”

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทุกครั้งที่ทุกข์ปรากฏ ก็บอกกับตัวเองว่า ได้ประสบพบเห็นความจริงอันประเสริฐแล้ว

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๑๙) “อริยสัจอยู่ที่กายใจของเรา” เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here