ข้อมูลสำหรับผู้ประชาสัมพันธ์ การแถลงข่าว การจัดพิมพ์

“ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ

วันจันทร์ที่ ๑๕ เดือน สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๑๕.๐๐ น.

ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล

๑. ที่มาและความสำคัญของหนังสือทศชาติ ฉบับ ญาณวชิระ

เนื่องจากปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ นี้ เป็นปีมหามงคลยิ่งของปวงชนชาวไทย ตามที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า เป็นปีที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕

คนไทยถือกันว่า ผู้ที่จะมาเกิดเป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ ก็ล้วนแต่เสด็จมาเพื่อบำเพ็ญพระบารมีธรรมให้สั่งสมเพิ่มพูนยิ่ง ๆ ขึ้นไป การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานับประการของสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ต่างก็เป็นไปเพื่อพสกนิการชาวไทยของพระองค์ท่านนั่นเอง ซึ่งนับได้ว่านั่นเป็นวิถีแห่งพระโพธิสัตว์ 

การจัดพิมพ์หนังสือทศชาติ ซึ่งเป็นเรื่องการบำเพ็ญพระบารมีของพระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐ พระชาติ ก่อนจะตรัสรู้ในพระชาติที่ ๑๑ จึงเหมาะสมกับโอกาสมหามงคลของปวงชนชาวไทยเช่นนี้  ซึ่งวาระโอกาสที่เป็นมหามงคลยิ่งนี้ มีไม่บ่อยนัก

เมื่อก่อน การเขียนหนังสือยังไม่แพร่หลาย จึงมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องทศชาติ เอาไว้ตามวัดวาอารามต่าง ๆ เพื่อสั่งสอนประชาชนให้เห็นถึงการบำเพ็ญ  พระบารมีของพระพุทธเจ้า

ดังนั้น พระเถระวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ทั้ง  ๕ รูป ประกอบด้วย หลวงพ่อธงชัย  สุขญาโณ หรือ อดีตพระพรหมสิทธิ, พระมหาสังคม ญาณวฑฺฒโน หรือ อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์, พระมหาเทอด ญาณวชิโร หรือ อดีตพระราชกิจจาภรณ์, พระมหาบุญทวี ปญฺญาวํโส หรือ อดีตพระศรีคุณาภรณ์ และพระมหาสมจิตร   จิตฺตธมฺโม หรือ พระครูสิริวิหารการ จึงได้ร่วมกันเรียบเรียงหนังสือทศชาติขึ้นมา เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสมหามงคลนี้

๒. ที่มาและรายละเอียดของหนังสือ ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิร

ที่มาของหนังสือ ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ  เรียบเรียงขึ้นมาจากพระไตรปิฎก และอรรถกถา แล้วนำมาปรับสำนวนภาษา ให้มีความ เรียบง่าย เหมาะสมกับยุคสมัยให้มากที่สุด ประกอบด้วยอรรถรสของวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาอยู่อย่างเต็มเปี่ยม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแก่นธรรม ที่ปรากฏอยู่ในทศชาติได้โดยสะดวก ง่ายต่อความเข้าใจ

นอกจากนั้นแล้ว ได้มีการจัดแบ่งชื่อบทในแต่ละพระชาติของแต่ละชาดกใหม่ เพื่อให้ผู้อ่านชวนติดตาม โดยยึดจากเนื้อหาของพุทธชาดกตอนนั้น ๆ เป็นหลัก

ในหนังสือเล่มนี้ จะมีแผนที่เมืองของชมพูทวีปในสมัยพุทธกาลปรากฏอยู่ด้วย บางเมืองในชาดกแต่ละชาดก จะมีชื่อคล้ายกับเมืองในสมัยพุทธกาล จึงจัดทำแผนที่ชมพูทวีป สมัยพุทธกาลขึ้นมา เป็นภาพประกอบหนังสือทศชาตินี้ด้วย

เวลาอ่าน ผู้อ่านสามารถจินตนาการตามเนื้อหาของชาดกได้ มีการเชื่อมโยงกับ   แผนที่โลกในสมัยปัจจุบัน เพื่อให้ผู้อ่านจินตนาการตามเรื่องได้ง่าย เป็นการเพิ่มแรงจูงใจ  ในการอ่าน ให้กับผู้อ่าน ผู้ที่เคยศึกษาพุทธประวัติมา พอได้อ่านทศชาติฉบับนี้ ก็จะเข้าใจได้  สามารถนึกภาพตามได้

ทศชาติฉบับนี้ มีการเก็บรายละเอียดเหตุการณ์ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสชาดกใน พระชาตินั้น ๆ เอาไว้ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเชื่อมต่อเหตุการณ์ในทศชาติชาดกกับใน พุทธประวัติได้

“ยกตัวอย่าง เรื่อง พระจันทกุมาร

เป็นเหตุการณ์ที่พระจันทกุมารถูกใส่ความ

จากการตัดสินอรรถคดีอย่างเที่ยงธรรมของท่าน

ท่านจึงถูกใส่ความ ถูกใส่ร้าย

จนนำมาสู่การถูกจับ บูชายัญ

ต้องเผชิญวิบากกรรม อย่างแสนสาหัส”

  เราเคยศึกษาพุทธประวัติ ก็จะรู้ว่า   พระเทวทัตส่งนายขมังธนู มาลอบปลงพระชนม์พระพุทธองค์ แต่ในพุทธประวัติที่เราเรียน กันมา เราจะไม่เห็นขั้นตอนว่า เขาคัดพลแม่นธนู กันอย่างไร ซึ่งในหนังสือทศชาติเล่มนี้    จะบรรยายการคัดพลแม่นธนูเอาไว้อย่างละเอียด โดยคัดมาจากพลแม่นธนูถึง ๕๐๐ คน แล้วคัดให้เหลือ ๓๑ คน ใน ๓๑ คน ก็จะคัดคนที่ยิงธนูแม่นที่สุด ขึ้นเป็นหัวหน้าทีม  เราจะเห็นการประชุมทีมวางแผนลอบปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า จะได้ทราบว่า มีการวางแผน  ฆ่าตัดตอน เพื่อปกผิดความผิดของพระเทวทัตด้วย เราจะเห็นการให้ผลของกรรมที่เกิดขึ้นกับพระเทวทัต ซึ่งทำกรรมต่าง ๆ เอาไว้กับพระพุทธเจ้า ทำกรรมต่าง ๆ เอาไว้กับพระศาสนา  ทำกรรมต่าง ๆ เอาไว้กับคณะสงฆ์

ในทศชาติฉบับนี้ จะเก็บเรื่องเหล่านี้เอาไว้ อย่างละเอียด

ท้ายเล่มของหนังสือเล่มนี้ ยังมีดรรชนีอธิบายคำศัพท์ทางศาสนาที่ยาก เอาไว้ด้วย   เวลาอ่านไป อาจเกิดข้อสงสัยว่า คำนี้ หมายถึงอะไร ก็สามารถเปิดดูคำอธิบายท้ายเล่มได้  ซึ่งก็จะเหมาะกับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับคำศัพท์ทางศาสนา

๓. ประชาชนจะได้หลักธรรมอะไรจากทศชาติชาดก

ทศชาติชาดก ประกอบด้วยพระชาติสำคัญ ๑๐ พระชาติ  นักปราชญ์ทางศาสนา ประพันธ์เป็นคาถาไว้ว่า เต ชะ สุ , เน มะ ภู , จะ นา วิ เว

            พระชาติที่ ๑ พระเตมีย์ชาดก บำเพ็ญเนกขัมมบารมี

            พระชาติที่ ๒ พระมหาชนกชาดก บำเพ็ญวิริยบารมี

            พระชาติที่ ๓ พระสุวรรณสามชาดก บำเพ็ญเมตตาบารมี

            พระชาติที่ ๔ พระเนมิราชชาดก บำเพ็ญอธิษฐานบารมี

            พระชาติที่ ๕ พระมโหสถชาดก บำเพ็ญปัญญาบารมี

            พระชาติที่ ๖ พระภูริทัตชาดก บำเพ็ญศีลบารมี

            พระชาติที่ ๗ พระจันทชาดก บำเพ็ญขันติบารมี

พระชาติที่ ๘ พระนารทชาดก บำเพ็ญอุเบกขาบารมี

            พระชาติที่ ๙ พระวิธูรชาดก บำเพ็ญสัจจบารมี

            พระชาติที่ ๑๐ พระเวสสันดรชาดก บำเพ็ญทานบารมี

            หลักธรรมหลากหลาย มีอยู่ในทศชาติทุกพระชาติ แต่จะขอยกตัวอย่างหลักธรรม ที่สำคัญ ซึ่งปรากฏอยู่ในพระวิธูรชาดก หรือพระวิธูรบัณฑิต มาเป็นตัวอย่างหลักธรรม   ที่จะนำไปประพฤติปฏิบัติ กล่าวคือ

๑ ) สาธุนรธรรม หลักธรรมของคนดี มี ๔ ประการ คือ 

            ๑. จงเดินไปตามทางที่ท่านเดินกันมาแล้ว (หมายถึง การตอบแทนพระคุณของท่านผู้ที่มีบุญคุณแก่ตน) 

๒. จงอย่าเผาฝ่ามืออันชุ่ม (หมายถึง ไม่คิดร้ายต่อผู้มีพระคุณ)

๓. อย่าทำร้ายมิตรไม่ว่าในกาลไหน ๆ (หมายถึง ไม่เป็นคนเนรคุณ)

๔. อย่าตกอยู่ในอำนาจของพวกอสตรี (หมายถึง ผู้หญิงที่ไม่ดี ผู้หญิงที่มิใช่กุลสตรี)

๒) ฆราวาสธรรม หลักธรรมสำหรับผู้ครองเรือน มี ๔ ประการ คือ

   ๑. ไม่บริโภคอาหารอร่อยแต่เพียงผู้เดียว ไม่พูดคุยคำที่ไร้สาระ ต้องเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยความประพฤติ ไม่ประมาท มีปัญญา พิจารณาเหตุผล มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เป็นคนกระด้าง หยาบคาย เป็นผู้สงบเสงี่ยม พูดจาไพเราะ สุภาพ อ่อนโยน น่าคบหาป็นเพื่อน

๒. ต้องสงเคราะห์ญาติพี่น้อง รู้จักทำบุญ ให้ทาน บำรุงสมณพราหมณ์ ตามสมควร 

  ๓. ต้องเป็นผู้มีคุณธรรม ทรงจำอรรถะ ทรงจำธรรม หมั่นไต่ถาม เข้าไปหาท่านผู้มีศีล ผู้เป็นพหูสูต โดยเคารพ

  ๔. ต้องมีความประพฤติอันปลอดภัย ต้องพูดคำสัตย์

            ประมวลได้ ๔ ประการ คือ สัจจะ ความจริงใจ, ทมะ ความข่มใจ, ขันติ ความอดทน และ จาคะ ความเสียสละ นั่นเอง 

๓) ราชะวะสะดีธรรม (ราชวสดีธรรม) หลักธรรมของข้าราชบริพารที่ดี หรือ หลักธรรมของข้าราชการที่ดี ซึ่งพระโพธิสัตว์วิธูรบัณฑิต กล่าวสอนไว้ มี ๔๓ ข้อ ยกตัวอย่าง

            เมื่อรับราชการ ต้องเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย

            ข้าราชการ อย่าเป็นคนกล้าเกินไป แต่อย่าขลาดจนเสียข้อราชการ

            ข้าราชการ ต้องเป็นคนหมั่นรู้ในราชกิจ

            ข้าราชการ ต้องเป็นคนฉลาดในราชกิจ

            ข้าราชการ อย่าเป็นคนตีตนเสมอเจ้านาย

            ข้าราชการ อย่าดื่มสุราเมามายจนเสียราชกิจ

            ข้าราชการ อย่าเป็นคนเห็นแก่กิน

            ข้าราชการ ต้องเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน

            ข้าราชการ ต้องเป็นคนรู้จักกาละเทศะ     เป็นต้น

๔. คณะผู้จัดพิมพ์ และ พสกนิกรจะมีส่วนร่วมเฉลิมพระเกียรติ ฯ อย่างไรได้บ้าง

            หนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ จัดพิมพ์  เพื่อเฉลิมพระเกียรติ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคล  เฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ นี้

บริษัท เมืองโบราณ จำกัด และ บริษัทในเครือ เป็นผู้จัดพิมพ์ จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม

  บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดทำหนังสืออิเล็คทรอนิกกส์  E-Book และหนังสือเสียง Audiobook  

ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล โดยได้รับการประสานงานอย่างดียิ่งจากสำนักนายกรัฐมนตรี

            พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า สามารถสแกนโหลดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และหนังสือเสียง ที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักนายกรัฐมนตรี ไปอ่าน ไปศึกษา แล้วนำเอาหลักธรรมที่มีอยู่ในหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ นั้น ไปประยุกต์บูรณาการใช้ในชีวิตของตน ใช้ในการบริหารงานขององค์กร ใช้ในการอยู่ร่วมกับสังคม เพื่อให้เป็นสังคมที่เกิดสันติสุข อันเป็นสังคมอุดมธรรมที่ปรารถนาของมวลมนุษยชาติ แล้วประมวลผลแห่งการประพฤติปฏิบัติหลักธรรมจากหนังสือทศชาตินั้น น้อมเทิดพระเกียรติ  ถวายพระพรชัยมงคล ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี  พันปีหลวง จงทรงมีพระสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ แข็งแรง ขอจงทรงเจริญพระชนมายุ   ยิ่งยืนนาน ก็จะสมมโนรถปรารถนาแห่งการได้ศึกษาหลักธรรมจากหนังสือ ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ นี้ ทุกประการ

เรื่องย่อ ทศชาติ

          ทศชาติชาดก เป็นเรื่องราวในพระชาติหนหลังขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะพระองค์กำลังบำเพ็ญพระบารมีเพื่อบรรลุพระโพธิญาณ 

พระมหากษัตริย์ไทยนับแต่โบราณกาลมา ทรงโปรดให้นำทศชาติชาดกมาเขียน    เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถจารึกไว้ตามพระอารามต่าง ๆ บอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญในพระชาติทั้ง ๑๐  พระชาติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้อาณาประชาราษฎร์ ได้ศึกษาเส้นทางชีวิตของพระมหาบุรุษ ที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการ แต่ละพระชาติทรงบำเพ็ญพระบารมีด้วยจิตใจที่แน่วแน่ มีปณิธานที่มั่นคง กว่าจะอุบัติมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้าย ประกอบด้วย

            ๑. เตมีย์ชาดก (บำเพ็ญเนกขัมมบารมี) พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นพระเตมีย์   ทรงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการเสด็จออกบรรพชา จึงทรงแกล้งทำเป็นคนใบ้    ด้วยทรงมุ่งหวังที่จะละทิ้งกามคุณทั้ง ๕ อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

            ๒. มหาชนกชาดก (บำเพ็ญวิริยบารมี) พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก   ขณะเสด็จลงสำเภาไปค้าขาย ได้เกิดพายุใหญ่เรือแตกจมลงในมหาสมุทร แม้จะมองไม่เห็นฝั่ง  แต่พระมหาชนก ก็มิได้ท้อถอย ทรงแหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทรถึง ๗ วัน นางมณีเมขลาเทพธิดาผู้รักษามหาสมุทร ได้พูดลองใจให้พระองค์เลิกล้มความพยายาม แต่พระมหาชนก   ไม่ทรงฟัง ยังเพียรพยายามแหวกว่ายด้วยความมุ่งมั่น นางมณีเมขลาเห็นเช่นนั้น จึงเกิด ความเลื่อมใสในความเพียรและให้การช่วยเหลือด้วยการอุ้มพระมหาชนกไปขึ้นฝั่งที่  เมืองมิถิลา จนได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน

            ๓. สุวรรณสามชาดก (บำเพ็ญเมตตาบารมี) พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็น   พระสุวรรณสาม เลี้ยงดูบิดามารดาผู้ตาบอดอยู่ในป่า วันหนึ่งพระสุวรรณสามถูก  พระเจ้าปิลยักษ์ ยิงด้วยลูกศร ได้รับบาดเจ็บแสนสาหัส แต่ไม่ได้ผูกโกรธ ด้วยอำนาจ  แห่งเมตตาธรรม ได้ทำให้พระสุวรรณสามกลับฟื้นคืนชีวิต และบิดามารดากลับมามองเห็น ได้ดังเดิม

            ๔. เนมิราชชาดก (บำเพ็ญอธิษฐานบารมี) พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเนมิราช เป็นผู้มั่นคงในการให้ทาน ทรงเบญจศีล เป็นนิจ สมาทานอุโบสถทุกวันปักษ์ ทรงแสดงธรรมให้ทราบทางสวรรค์ สอนอาณาประชาราษฎร์ให้กลัวนรก พระอินทร์ทรงพอพระทัย ถึงกับให้มาตลีเทพบุตรนำราชรถไปรับพระเจ้าเนมิราช เพื่อไปเที่ยวชม เมืองนรกและเมืองสวรรค์ ในกาลต่อมา เมื่อพระเกศาหงอกแล้ว ได้เสด็จออกบรรพชา

            ๕. มโหสถชาดก (บำเพ็ญปัญญาบารมี) พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นพระมโหสถบัณฑิต ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน รับราชการอยู่ประจำในราชสำนักของพระเจ้าวิเทหะ  แห่งกรุงมิถิลา ในท่ามกลางปัญหาและอุปสรรคนานัปการ พระมโหสถบัณฑิตได้ใช้ปัญญา ที่อบรมมาดีแล้ว สามารถแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงด้วยดีมาโดยลำดับ

            ๖. ภูริทัตชาดก (บำเพ็ญศีลบารมี) พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นพญานาค ชื่อว่า  ภูริทัต รักษาอุโบสถศีลอยู่ที่จอมปลวกใกล้ฝั่งแม่น้ำยมุนา แต่ถูกพราหมณ์หมองูผู้รู้มนต์ อาลัมพายน์ จับตัวไปเที่ยวแสดงละครหาเงินตามสถานที่ต่าง ๆ พระภูริทัตก็มิได้มีความแค้นเคืองคิดที่จะทำลายชีวิตพราหมณ์หมองูนั้น เพราะความที่ตนสมาทานรักษาอุโบสถศีลอย่างมั่นคง

            ๗. จันทกุมารชาดก (บำเพ็ญขันติบารมี) พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นพระจันทกุมาร ราชโอรสของพระเจ้าเอกราชแห่งเมืองปุปผวดี พระราชบิดาทรงเชื่อคำหลอกลวง  ของขัณฑหาลปุโรหิต จึงทรงรับสั่งให้จับพระจันทกุมารพร้อมด้วยคนและสัตว์เป็นจำนวนมาก นำไปบูชายัญ ท้าวสักกเทวราชจึงได้เสด็จลงมาช่วยชีวิตไว้ แม้จะถูกกระทำเช่นนี้   พระจันทกุมารก็มิได้ผูกอาฆาตพยาบาทแต่ประการใด

            ๘. นารทชาดก (บำเพ็ญอุเบกขาบารมี) พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นท้าวมหาพรหม     ชื่อว่า นารทะ ครั้งนั้น พระเจ้าอังคติราช มีความเห็นผิดว่า นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี ในเวลานั้น   ท้าวมหาพรหม ได้เสด็จลงมาแสดงโทษแห่งความเห็นผิดให้พระเจ้าอังคติราชสดับ ทำให้พระองค์ทรงคลายจากมิจฉาทิฏฐิ ละความเห็นผิด กลับมาปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข   ด้วยทศพิธราชธรรมดังเดิม 

            ๙. วิธูรชาดก (บำเพ็ญสัจจบารมี) พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นอำมาตย์ ชื่อว่า  วิธูระ เป็นผู้สอนอรรถและธรรมแด่พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะแห่งกรุงอินทปัตถ์ เมื่อ ปุณณกยักษ์ มาท้าพนันเล่นสกากับพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ โดยมีวิธูรบัณฑิตเป็นเดิมพัน  เพื่อให้เป็นทาสของปุณณกยักษ์ พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะทรงพ่ายแพ้ แม้วิธูรบัณฑิตรู้ดี    หากตอบว่า ตนเองไม่ใช่ทาสของพระราชา ก็จะพ้นจากความลำบาก แต่ก็ยังตอบไป  ตามความเป็นจริง เพราะความยึดมั่นในการบำเพ็ญสัจจบารมี  

            ๑๐. เวสสันดรชาดก (บำเพ็ญทานบารมี) พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็น  พระเวสสันดร พระองค์ทรงตั้งปณิธานในการบริจาคทาน แม้จะมีใครขอสิ่งที่รักสิ่งที่หวงแหนที่สุดในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นดวงหทัย ดวงตา เนื้อและเลือด บุตรธิดา หรือภรรยา ก็ทรงบริจาคเป็นทานได้ เพราะมุ่งมั่นในพระโพธิญาณเป็นปณิธานสูงสุด  

            พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญพระบารมีแต่ละข้อ ละเอียดขึ้นไปตามลำดับ ตั้งแต่   ขั้นธรรมดา เรียกว่า “บารมี” ขั้นกลาง เรียกว่า “อุปบารมี” จนถึงขั้นสูงสุด เรียกว่า “ปรมัตถบารมี” รวมเป็นบารมี ๓๐ ประการ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นประธานการแถลงข่าว เรื่อง การจัดทำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับญาณวชิระ ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๕ สิงหาคม พุุทธศักราช ๒๕๖๕ : ขอบพระคุณ YouTube ช่อง ไทยคู่ฟ้า ทําเนียบรัฐบาล

บันทึกการเดินทาง… “ทศชาติ” ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ เฉลิมพ ระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ตอนที่ ๓ ) ปฐมเหตุแห่งการสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์ : ที่มาและความสำคัญของการจัดทำหนังสือในปีมหามงคล

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here