บทความพิเศษ ตอนที่ ๑๓

“ศาลจะอำนวยความยุติธรรมให้กับคณะสงฆ์ได้อย่างไร หากไม่เข้าใจบริบทการทำงานขององค์กรสงฆ์ ?

“โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

อาตมาได้เห็นมีการเผยแพร่ “นโยบายประธานศาลฏีกา” เป็นเรื่องที่คณะสงฆ์ควรอนุโมทนาโดยพร้อมเพียงกันเป็นอย่างยิ่ง เพราะหวังว่านโยบายนี้น่าจะเป็นแสงสว่างให้กับคณะสงฆ์ที่ต้องเผชิญกับชะตากรรมอยู่ตอนนี้ ในข้อที่ ๑.๒ มีอยู่ว่า

          “กำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมต่อผู้ต้องหา จำเลย เหยื่ออาชญากรรม ผู้เสียหาย ตลดจนกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม ทุกขั้นตอนของกระบวนการทางศาล”

          ในส่วนเนื้อหาของบทความนี้จะได้กล่าวอยู่ใน ๒ ประเด็น คือ การดำเนินคดีกับกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม และบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมกับการดำเนินคดีพระสงฆ์ ควรมีองค์ความรู้เกี่ยวกับจารีต และวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรสงฆ์ ดังนี้

        ประเด็นที่หนึ่ง “การดำเนินคดีกับกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม” ซึ่งเรื่องศาสนาก็เป็นเรื่องเปาะบาง จึงสอนกันในสังคมไทยมาตลอดว่า เรื่องศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และพระพุทธศาสนาในสังคมไทยถือว่าเป็นสถาบันหนึ่งที่สำคัญต่อประเทศชาติบ้านเมืองมาตั้งแต่โบราณกาลจวบจนปัจจุบัน

          และพระสงฆ์ที่ถูกดำเนินคดีอยู่ตอนนี้เป็นอดีตมหาเถรสมาคม ที่เป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ ตามพระราชบัญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ก็ต้องยิ่งเพิ่มความระมัดระวังสูงขึ้นไปอีก นั่นหมายความว่า “ยิ่งเป็นจุดเปราะบางสูง”

          เหตุที่ต้องถูกดําเนินคดีนั้นตามกระแสของสังคมที่เล่าลือกันว่าเป็นคดีการเมืองบ้าง เป็นการกลั่นแกล้งคณะสงฆ์บ้าง เพราะเป็นผู้มีอิทธิพลในคณะสงฆ์ ซึ่งข่าวลือในเรื่องนี้อาตมาไม่ขอก้าวล่วง แต่ควรใช้สติปัญญา พิจารณาใคร่ครวญสิ่งนั้นด้วยเหตุผลและความเป็นจริงว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่

        ตัวอย่างเช่น พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโข) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ และกรรมการมหาเถรสมาคม ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ, ประธานดำเนินงานสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ ในขณะนั้น รับผิดชอบดูงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามมติมหาเถรสมาคมทั้งในและต่างประเทศ เป็นที่ศรัทธา เคารพ และรู้จักของชาวพุทธทั่วโลก

          และท่านยังเป็นตัวแทนคณะสงฆ์ไทยโดยได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคม ในฐานะคณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาทเดินทางไปเจริญศาสนสัมพันธ์กับนักบวชฝ่ายมหายานในสาธารณรัฐประชาชนจีน และเดินทางไปเจริญศาสนสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือในการยกระดับพระพุทธศาสนาในพื้นที่ล้านช้าง-ลุ่มน้ำโขง จำนวน ๖ ประเทศ ได้แก่ จีน ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า

          ทั้งยังเดินทางไปเจริญศาสนสัมพันธ์ในยุโรป เช่น เดินทางเข้าพบคณะผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds)  เพื่อทำความร่วมมือกันกำหนดให้มีตำแหน่งศาสตราจารย์อาคันตุกะ “อุปเสโณ” และจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระดับนานาชาติระหว่างคณะสงฆ์ไทย ในการเรียนการสอน การบริหารวิชาการ และการวิจัย ด้านพระพุทธศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ในมหาวิทยาลัยลีสด์ (University of Leeds) 

เจ้าชายโกสเตอร์ (His royal Highness The Duke of Gloucester) แห่งราชวงศ์อังกฤษ
เจ้าชายโกสเตอร์ (His royal Highness The Duke of Gloucester) แห่งราชวงศ์อังกฤษ
เจ้าชายโกสเตอร์ (His royal Highness The Duke of Gloucester) แห่งราชวงศ์อังกฤษ
เจ้าชายโกสเตอร์ (His royal Highness The Duke of Gloucester) แห่งราชวงศ์อังกฤษ

          หรือเดินทางไปเจริญศาสนสัมพันธ์กับบาทหลวงเดนนิส มิลลิเนอร์ บาทหลวงแห่ง Church of England ณ วิหารเซ็นพอล์ โบสถ์ประจำพระราชวังของพระเจ้าแฮนรี่ที่ ๘ แห่งสหราชอาณาจักร และยังเป็นเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ บาทหลวงท่านนี้ยังเป็นที่ปรึกษาด้านศาสนาของสมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร และยังได้เดินทางเข้าพบสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส แห่งคริสจักร เพื่อสร้างศาสนสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับคริสต์ศาสนา 

เดินทางเข้าพบสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส แห่งคริสจักร เพื่อสร้างศาสนสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับคริสต์ศาสนา
เดินทางเข้าพบสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส แห่งคริสจักร
เพื่อสร้างศาสนสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับคริสต์ศาสนา

         

และขณะถูกออกหมายจับ ก็เป็นช่วงเวลาที่มหาเถรสมาคมมอบหมายให้เป็นผู้แทนคณะสงฆ์ไทยนำพระคัมภีร์โบราณที่แปลเสร็จแล้วไปมอบคืนสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส แห่งคริสต์ศาสนา ณ วาติกัน กรุงโรม

          อนึ่ง เป็นครั้งแรกที่ราชวงศ์อังกฤษเสด็จวัดไทยในต่างประเทศ เจ้าชายโกสเตอร์ (His royal Highness The Duke of Gloucester) แห่งราชวงศ์อังกฤษ เสด็จมายังวัดสันติวงศาราม เปิดอาคารปฏิบัติธรรม เพื่อเปิดศูนย์การเรียนรู้พระพุทธศาสนาในสหราชอาณาจักร และมีคุณเจนนี่ ลอยน์ตั้น (ผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ ๒) พร้อมทั้งประชาชนชาวไทยและอังกฤษนับพันคนรอรับเสร็จ

เจ้าชายโกสเตอร์ (His royal Highness The Duke of Gloucester) แห่งราชวงศ์อังกฤษ
เจ้าชายโกสเตอร์ (His royal Highness The Duke of Gloucester) แห่งราชวงศ์อังกฤษ

          ที่น่าสนใจคือ พระองค์อยากมาดูลูกนิมิตด้วยว่า เป็นอย่างไร ทำไม ทำให้คนเป็นพระได้  หมายความว่า เวลาบวชพระต้องบวชภายในเขตสีมา โดยมีพระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์และสนทนาธรรมด้วย พระองค์ทรงสนใจในพระพุทธศาสนา และปฏิบัติพระองค์ต่อพระสงฆ์ตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพุทธในครั้งนั้น

          และที่สำคัญเมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๑ ที่ประชุมสมาพันธ์สันติภาพสากลที่ประเทศสวีเดน และ ๑๕ องค์กรเพื่อสันติภาพจากทั่วโลกได้มีมติถวายรางวัลสันติภาพสาขาความสัมพันธ์ด้านศาสนาระดับนานาชาติ แก่ พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ

        โดยที่ประชุมเห็นว่า “พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ  ได้เดินทางไปฏิบัติศาสกิจในต่างประเทศเป็นระยะเวลายาวนานไม่น้อยกว่า ๔๐ ปี สร้างความสัมพันธ์กับศาสนาต่าง ๆ ทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกา และในโอเซียเนีย ดังนั้นการถวายรางวัลในครั้งนี้ จึงเป็นการประกาศยกย่องพระพุทธศาสนา และคณะสงฆ์ไทย และเป็นเกียรติประวัติแก่ประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง”

        “แต่ท่านไม่สามารถเดินทางไปรับรางวัลสันติภาพโลกได้ เนื่องจากถูกจับกุมและถูกสั่งฟ้องในข้อหาใช้เงินงบประมาณรัฐผิดวัตถุประสงค์ โดยคณะกรรมการสันติภาพโลกได้จัดพิธีมอบรางวัลต่อหน้าเก้าอี้ที่มีป้ายชื่อท่านตามกำหนดการเดิม ณ  อาคารที่เป็นที่มอบรางวัลโนเบล”

          นี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น เพื่อชี้ให้เห็นว่าพระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ ในขณะนั้นที่เดินตามรอยและสานงานต่อจากพระอุปัชฌาย์คือ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่เป็นคณะสงฆ์ไทยคณะแรกเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ  จึงถือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับองค์กรสงฆ์ตอนนี้เป็นเรื่องที่เปราะบางในสังคมไทย และสังคมโลกมาก เพราะกระทบต่อจิตใจของชาวพุทธทั้งในไทยและทั่วโลก

        เรื่องที่เกิดขึ้นนี้แน่นอนว่า เป็นจุดเปราะบางทางศรัทธา หากไม่ระมัดระวังอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของชาวพุทธในระดับนานาชาติ และ อาจจะทําให้ต่างประเทศมองภาพลักษ์กระบวนการยุติธรรมของไทยไปในทางที่ไม่ดีก็ได้ ชาวพุทธทั่วโลกและในต่างประเทศก็ทราบดีว่าสถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้กําลังเกิดอะไรขึ้น จึงจับตามองการดําเนินคดีกับ พระสงฆ์ไทยในตอนนี้อย่างใกล้ชิด

          และพระสงฆ์อีกรูปที่สังคมไทยให้ความเคารพและศรัทธาเป็นอย่างมากที่ถูกดําเนินคดีตอนนี้ คือ พระเดชพระคุณพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา กรรมการมหาเถรสมาคม ในขณะนั้น

          สําหรับวัดสามพระยาในวงการศึกษาของคณะสงฆ์ เมื่อได้ยินชื่อวัดนี้ก็จะเข้าใจเป็น อันหนึ่งอันเดียวกันว่า “วัดสามพระยา เป็นศูนย์การเรียนการสอนเปรียญธรรม ๙ ประโยคของคณะสงฆ์ไทย” คือ มหาเถรสมาคมใช้วัดสามพระยาเป็นที่บ่มเพาะทางปัญญา หรือศูนย์กลางการศึกษาบาลีของคณะสงฆ์ไทย มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นแหล่งผลิตบุคลากรด้านการศึกษาให้กับคณะสงฆ์ เรียกว่า “ไม่มีมหาเถรสมาคมรูปใดที่เป็นประโยค ๙ จะไม่ผ่านการศึกษาบาลีจากวัดสามพระยา”

          “และการที่พระเดชพระคุณต้องถูกดําเนินคดีในครั้งนี้ การศึกษาบาลี เพื่อเป็นปรียญธรรม ๙ ประโยค ของคณะสงฆ์ไทยแทบจะล่มสลาย”

          วัดสามพระยา นอกจากจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาบาลีแล้ว “ยังเป็นที่สอนพระอุปัชฌาย์ให้กับคณะสงฆ์ไทย” ซึ่งพระสงฆ์ที่เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้กับลูกหลานเราทั่วประเทศทุกวันนี้ ล้วนผ่านการฝึกอบรมจากวัดสามพระยามาทั้งสิ้น

          นี่คือ ข้อมูลที่ต้องรู้ โดยเฉพาะพระสังฆาธิการที่เป็นเจ้าอาวาสทั้งหมดในเขตภาคกลาง ล้วนผ่านการอบรมไปจากวัดสามพระยา จึงจะเป็นเจ้าอาวาสได้ เรียกว่า “เป็นวัดสอนพระให้เป็นเจ้าอาวาส”

          ยังไม่จำต้องกล่าวถึงอีกรูปหนึ่ง คือ พระเดชพระคุณพระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร ซึ่งคณะสงฆ์และชาวพุทธต่างก็รู้อยู่ในใจดีว่ามีบทบาทที่สำคัญอย่างไรต่อคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนา

          การดำเนินคดีกับมหาเถรสมาคมทั้ง ๓ รูป จึงเป็นความเปราะบางที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อพระพุทธ ศาสนาจนถึงรากฐานเพราะมีผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาที่ไม่ใช่แต่เฉพาะในประเทศไทย แต่ยังรวมถึงวงการพระพุทธศาสนาทั่วโลกด้วย

          ทั้งนี้ เหตุแห่งการที่พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ และพระเดชพระคุณพระพรหมดิลก ในขณะนั้น ที่ต้องถูกดำเนินคดี และติดคุก เพียงเพราะธรรมกับโลกเข้าใจไม่ตรงกันดังที่ได้อธิบายมาแล้วในหลายตอนที่ผ่านมา

          แต่มันส่งผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาในสังคมไทยอย่างใหญ่หลวง เพราะงานทั้ง ๓ ด้านที่พระเดชพระคุณทั้ง ๒ เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน คือ งานเผยแผ่ทั้งในและต่างประเทศ, ศูนย์กลางการศึกษาบาลี เปรียญธรรม ๙ ประโยค, และการฝึกอบรมพระอุปัชฌาย์ของคณะสงฆ์ไทย  “ถ้าขาดงานทั้ง ๓ ด้านนี้ไปพระพุทธศาสนาในสังคมไทยก็แทบจะเป็นอัมพาตแล้ว”

        ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเปราะบางทางสังคม และควรกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม ทุกขั้นตอนของกระบวนการทางศาล    

        นี่คือ จุดอ่อนไหวด้านศาสนาที่กระบวนการยุติธรรมจะต้องคำนึงถึง ตามที่ท่านประธานศาลฎีกาให้นโยบายไว้ หากไม่ระมัดระวังในการปฏิบัติก็จะกลายเป็นว่า กระบวนการยุติธรรมมีส่วนที่ทำให้เกิดความเสื่อมของพระศาสนาเสียเอง

        ประเด็นที่สอง ศาลจะอำนวยความยุติธรรมให้กับสงฆ์ได้อย่างไร หากไม่เข้าใจบริบทการทำงานขององค์กรสงฆ์ ? กล่าวคือ เป็นประเด็นต่อเนื่องจากบทความก่อนหน้านี้ว่าด้วยเรื่อง “เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ กับเจ้าพนักงานที่เป็นเจ้าอาวาส บริบทของความรับผิดชอบและหน้าที่ต่างกัน”

          บทความเรื่องดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่าบริบท วัฒนธรรม จารีต การทำงานของฝ่ายศาสนจักร จะต่างไปจากของฝ่ายอาณาจักร หากนำเอาระบบของข้าราชการ หรือนิติวิธีที่บังคับใช้กับฝ่ายอาณาจักร มาใช้กับฝ่ายศาสนจักรโดยไม่คำนึงถึงบริบท วัฒนธรรม และจารีตการทำงานของสงฆ์ จะเกิดความเสียหายต่อคณะสงฆ์อย่างใหญ่หลวงซึ่งอาตมาได้อธิบายให้เห็นภาพชัดแล้วในบทความเรื่องดังกล่าวนี้

          แม้ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีศาลสงฆ์ที่เป็นศาลเฉพาะทาง (เหมือนศาลทหาร, ศาลภาษี, ศาลแรงงาน, ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ, ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ) ที่ตัดสินคดีเกี่ยวกับพระสงฆ์ และพระพุทธศาสนา ผู้ที่จะมาทำหน้าตัดสินคดีนอกจากจะมีความรู้ทางด้านกฎหมาย ยังต้องมีความรู้ทางด้านพระธรรมวินัย หรือเข้าใจบริบท จารีตการปฏิบัติของคณะสงฆ์เป็นอย่างดี หรือมีพระวินัยธรเข้าไปร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาตัดสินด้วย

        อนึ่ง การที่มีฆราวาสกับพระสงฆ์เป็นองค์คณะร่วมกันเพื่อพิจารณาคดีของสงฆ์ มันมีมาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้า และพระองค์ทรงวางแนวทางนี้ไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว

        “ครั้งพุทธกาลพระเทวทัตกล่าวหาว่าภิกษุณีกระทำความผิดเพราะตั้งครรภ์มีสัมพันธ์ชู้สาวกับพระภิกษุ ต้องปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุณี

          ภิกษุณีจึงมาขอเป็นธรรมกับพระพุทธองค์ว่าตนไม่ได้กระทำความผิด พระองค์จึงตั้งผู้มีความเชี่ยวชาญในพระวินัยคือพระอุบาลีเป็นผู้สอบสวน และตั้งนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐีเข้ามาร่วมเป็นองค์คณะในการสอบสวน”

        เหตุที่ต้องตั้งนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐี เพราะเห็นว่าการตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่สตรีหรือฆราวาสด้วยกันจะมีความเข้าใจ และเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ และสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้สะดวกกว่า เพราะผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้หญิง

        การที่จะมีพระวินัยธร หรือพระสงฆ์ที่เชี่ยวชาญด้านพระธรรมวินัย และเข้าใจจารีต วัฒนธรรม การทำงานขององค์กรสงฆ์เข้าไปร่วมเป็นองค์คณะพิจารณาคดีสามารถกระทำได้ เพราะองค์คณะตัดสินคดีข้อพิพาททางพระพุทธศาสนาที่ฆราวาสกับพระสงฆ์เป็นองค์คณะร่วมกันมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว

          นี่คือหนทางเดียวที่จะเป็นการสร้างความยุติธรรมให้กับคณะสงฆ์ได้ เพราะจะเป็นการพิจารณาเหตุและผลตามตามความเป็นจริงทั้งทางอาณาจักร และศาสนจักร จึงจะอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ทำอย่างที่ทำกันอยู่ตอนนี้คือเอาระบบอาณาจักรมาตัดสินระบบของศาสนจักร โดยไม่คำนึงถึงพระวินัย จารีต และวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรสงฆ์

          เอาละ !! สิ่งที่อาตมากล่าวไปนั้นมันก็เหมือนเป็นความฝัน และไม่มีอยู่จริง แต่สิ่งที่มีอยู่จริงตอนนี้คือ องค์คณะผู้พิพากษาที่จะทําหน้าที่ในการพิจารณาคดีของคณะสงฆ์

        ด้วยความเคารพต่อศาล อาตมามีความเห็นว่าองค์คณะผู้พิพากษาที่ท่านจะทําหน้าที่พิจารณาคดีของสงฆ์ ควรมีองค์ความรู้และเข้าใจในบริบทจารีตการทํางานของคณะสงฆ์เป็นอย่างดีด้วย เช่น

          มีความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางจารีตปฏิบัติการทำงานขององค์กรสงฆ์ ในงานทั้ง ๖ ตามพระราชบัญ ญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๕ ตรี (๑) และ (๓) และข้อ ๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ.๒๕๔๑) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ งาน ๖ ด้าน คือ ๑) การรักษาความเรียบร้อยดีงาม  ๒) การศาสนศึกษา ๓) การศึกษาสงเคราะห์ ๔) การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๕) การสาธารณูปการ และ ๖) การสาธารณสงเคราะห์

          หรือมีความรู้ ความเข้าใจ จารีต แนวทางปฏิบัติการทำงานในตำแหน่งหน้าที่ของคณะสงฆ์ในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช, ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม, กรรมการมหาเถรสมาคม, เจ้าคณะหน, เจ้าคณะภาค, เจ้าคณะจังหวัด, เจ้าคณะอำเภอ, เจ้าคณะตำบล, เจ้าอาวาส หรือพระสังฆาธิการ ฯ เป็นต้น ตลอดถึงบริบทของสำนักงาน และหน่วยงานต่าง ๆ ในการทำงานขององค์กรสงฆ์ด้วย

          เหตุที่องค์คณะผู้พิพากษาต้องเข้าใจสภาพสังคมวิทยาขององค์กรสงฆ์ ก็เพราะงบอุดหนุนที่คณะสงฆ์ได้รับมาจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้นำมาดำเนินงานการคณะสงฆ์ ๖ ด้านของคณะสงฆ์ และวิธีการหรือกระบวนการทำเนินงานก็เป็นไปตามจารีต และวัฒนธรรมขององค์กรสงฆ์ที่ทำร่วมกับรัฐมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

        ถ้าหากไม่เข้าใจบริบทเหล่านี้ แต่ได้นำเอาระบบการทำงานของข้าราชการ เจ้าหน้า เจ้าพนักงานของรัฐหรือบริบทการทำงานในอาณาจักร มาเป็นเครื่องมือ หรือนิติวิธีในการพิจารณาคดี ก็ยากที่จะให้ความเป็นธรรมแก่คณะสงฆ์ได้ เพราะบริบทการทำงานทางโลก(อาณาจักร) กับการทำงานทางธรรม(ศาสนจักร) มันมีความแตกต่างกันอยู่

          ด้วยความเคารพต่อศาล อาตมามีความเห็นว่าองค์คณะผู้พิพากษาที่จะทําหน้าที่พิจารณาคดี ของสงฆ์ ควรมีองค์ความรู้ และเข้าใจในบริบท จารีตการทํางานของคณะสงฆ์ หรือใครก็ตามที่ศาลจะมอบหมายให้มาพิจารณาคดีพระสงฆ์ ควรต้องมีความรู้เรื่องของพระสงฆ์ เรื่องคณะสงฆ์ด้วย เพื่อนำมาเป็นองค์ประกอบในการใช้ดุลพินิจพิจารณาคดี จึงจะเป็นธรรมกับคณะสงฆ์ เพราะหลักการที่คณะสงฆ์ถือปฏัติมาแต่โบราณกาลมามีอยู่ ๓ ประการ คือ พระธรรมวินัย จารีต และกฎหมายบ้านเมือง

          ทั้งนี้ ที่กล่าวมาใน ๒ ประเด็นนั้นคือ การดำเนินคดีกับอดีตกรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งเป็นกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม และศาลจะอำนวยความยุติธรรมให้กับคณะสงฆ์ไม่ได้เลย หากศาลไม่เข้าใจบริบท หรือสภาพสังคมวิทยาการทำงานขององค์กรสงฆ์

          และเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายต่อพระสงฆ์มาก แม้ไม่ได้เจตนาจะทำร้าย แต่ด้วยความไม่เข้าใจสงฆ์ ก็กลายเป็นว่า ทำร้ายสงฆ์เพราะความไม่รู้ อาตมาเห็นจาก “นโยบายประธานศาลฎีกา” จึงเชื่อว่าท่านประธานศาลฏีกาจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แน่นอน

        อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดนี้อาตมาอยากฝากเป็นทิฏฐานุคติว่า “ความยุติธรรม” เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของมนุษย์ ความยุติธรรมเป็นบ่อเกิดของสุขภาวะทางสังคม  สังคมที่ขาดความยุติธรรมจะขาดความสงบสุข เพราะ “ตราบใดที่เราขาดความยุติธรรม เราก็ไม่สามารถมีศานติสุขได้”

          แม้แต่พระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับความยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง ดังได้ปรากฏในหิรัญบัฏตอนหนึ่งว่า 

          “การยุติธรรมอันเดียวเป็นการที่สำคัญยิ่งใหญ่ เป็นหลักเป็นประธานการชำระ ตัดสินความทุกโรงศาล เป็นเครื่องประกอบรักษาให้ความยุติธรรมเป็นไป ถ้าวัดได้ดีขึ้นเพียงใด ประโยชน์ความสุขของราษฎร ก็จะเจริญยิ่งขึ้นเท่านั้น…”

(ขอบคุณภาพจาก เพจ “สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ” และเพจ “สำนักเรียนวัดสามพระยา”)

บทความพิเศษ ตอนที่ ๑๓

ศาลจะอำนวยความยุติธรรมให้กับคณะสงฆ์ได้อย่างไร

หากไม่เข้าใจบริบทการทำงานขององค์กรสงฆ์ ?

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน
พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here