พระครูพิสุทธิ์พรหมวิหาร (หลวงปู่สุข โกวิโท) แห่งวัดป่าพรหมนิมิต จังหวัดศรีสะเกษ พระกัมมัฏฐานผู้มีปฏิปทาอันงดงาม เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา และมีความนิ่งสงบเย็นเป็นสรณะ เคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างยิ่งยวด ได้ละสังขารที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓ เวลา ๑๕.๓๐ น. หลังจากท่านอาพาธด้วยโรคหัวใจและปอดมากว่า ๑๓ ปี แล้วเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีสะเกษอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งมรณภาพอย่างสงบ สิริรวมอายุ ๘๗ ปี ๕๗ พรรษา โดยจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันอาทิตย์ที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓
น้อมเศียรเกล้า อาเศียรวาท
กราบสรีรสังขาร
“หลวงปู่สุข โกวิโท”
พระผู้สานสร้าง…ทางพระพุทธศาสนา
(๓) มุ่งหน้าสู่วัดหนองป่าพง
จังหวัดอุบลราชธานี
ความเดิมตอนที่แล้ว…
ช่วงเวลาที่หลวงปู่สุข โกวิโทศึกษากับหลวงปู่คำมี พุทธสาโร แห่งวัดถ้ำคู่หาสวรรค์ จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่เครื่อง สุภัทโท หรือ พระมงคลวุฒ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ พระอุปัชฌาย์ของท่าน หลวงปู่สุขท่านก็ตั้งใจปฏิบัติเจริญภาวนาศึกษาธรรมจนเป็นที่พอใจแล้วจึงได้กราบลาหลวงปู่คำมีเพื่อธุดงค์ต่อไป แต่ก็ยังไปมาหาสู่กับหลวงปู่คำมีเป็นประจำ ซึ่งวิชาหลักที่ได้ศึกษากับหลวงปู่คำมีคือวิชาเกี่ยวกับการตั้งธาตุ หนุนธาตุ เปลี่ยนธาตุของธาตุทั้งสี่ และหลักการเจริญพระกรรมฐานจนได้แนวทางในการฝึกเพื่อความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงตามรอยบาทพระบรมศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และท่านก็มุ่งแนวทางนี้ จนกระทั่งหลวงปู่คำกล่าวกับท่านว่า
“จิตท่านดีแล้ว ทำถูกแล้ว”
(๓)มุ่งหน้าสู่วัดหนองป่าพง
จังหวัดอุบลราชธานี
ในพรรษาที่ ๑๐ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ หลวงปู่สุขเดินทางไปสู่วัดหนองป่าพง เพื่อแสวงหาธรรมและแนวทางในการปฎิบัติกับพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) ผู้ก่อตั้งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี พอไปอยู่ใหม่ๆ หลวงปู่ท่านถูกจับตาดูเป็นพิเศษเพราะช่วงเวลานั้น ยังเป็นยุคของคอมมิวนิสต์ จึงป้องกันการแอบอ้างเป็นพระปลอม พอหลวงพ่อชาท่านทดสอบดูความประพฤติอยู่นานถึงสามเดือน จนเห็นสมควร ท่านจึงเอาผ้าไตรจีวรและบาตรมาให้หลวงปู่ เพื่อให้เข้ากับหมู่สงฆ์ภายในวัดหนองป่าพงเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ได้ผ้ามาก็มีรอยขาดบ้างและได้บาตรเก่าใบใหญ่ เพราะในสมัยนั้นเครื่องอัฐบริขารของพระสงฆ์นั้นหายาก
หลังจากได้ผ่านการทดสอบการฝึกอบรมและการปฏิบัติเบื้องต้นแล้วนั้น หลวงพ่อชาท่านมักจะเรียกใช้งานหลวงปู่อยู่เป็นประจำโดยเฉพาะงานก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดหนองป่าพง เพราะหลวงปู่ท่านมีความรู้ความสามารถในงานก่อสร้างเป็นอย่างมาก และในสมัยนั้นมีการก่อสร้างถังเก็บน้ำ หลวงปู่สุขท่านก็ได้เป็นหลักในการก่อสร้างจนสำเร็จ และหลวงปู่ท่านอยู่ฝึกอบรมจิตใจและข้อวัตรในการปฏิบัติกับหลวงพ่อชาเป็นระยะเวลา ๒ ปี หลวงพ่อชาท่านจึงเห็นสมควรที่จะออกไปเผยแผ่แนวทางในการปฏิบัติ
หลวงพ่อชาจึงสั่งให้หลวงปู่สุขไปเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสวนกล้วย เป็นอีกหนึ่งในสาขาของวัดหนองป่าพง แต่หลวงปู่ท่านเองยังไม่พร้อม โดยให้เหตุผลกับหลวงพ่อชาไปว่า “จิตของผมยังไม่สงบผมยังชอบความวิเวก และยังไม่พร้อมที่จะแบกภาระใดๆ ในการเป็นเจ้าอาวาส”
หลวงปู่ท่านยังอยากออกเดินธุดงค์เพื่อขัดเกลาจิตใจต่อไป ท่านจึงชวนเพื่อนพระด้วยกันอีก ๗ รูป ออกธุดงค์
หลวงพ่อชาท่านก็มิขัด และได้แนะนำให้ออกเดินทางหลังเพล เมื่อออกเดินทางก็ให้ภาวนาไปเรื่อยๆ การธุดงค์ก็ค่ำไหนนอนนั่น บิณฑบาตแค่พอฉัน แล้วหลวงพ่อชาท่านก็ให้ธรรมะครั้งสุดท้ายกับหลวงปู่ไว้ว่า “ไปตายดาบหน้าเถอะ เอาดีมาให้ได้ ถ้ามันยังไม่ได้ดี ก็ยังไม่ต้องกลับมา” แล้วหลวงปู่กับเพื่อนพระก็กราบลาหลวงพ่อชาออกเดินธุดงค์มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออกต่อไป
หลังจากวันนั้นที่ท่านก้าวเท้าออกจากวัดหนองป่าพงมา หลวงปู่ท่านมิเคยได้กลับไปอีกเลย เพราะคำพูดของหลวงพ่อชามันยังดังอยู่ในหูท่านอยู่เสมอว่าให้เอาดีมาให้ได้แล้วจึงกลับมา
หลวงปู่สุขเล่าด้วยความถ่อมตนว่า ตัวท่านเองมันยังไม่ดี มันยังไม่พ้นทุกข์ ท่านจึงไม่กล้ากลับไป
การที่หลวงปู่ออกมาจากวัดหนองป่าพงในครั้งนั้นเป็นการเอาชีวิตความเป็นความตายเข้าแลกในการปฎิบัติตลอดมา
หลวงพ่อชาท่านเคยกล่าวกับพระภายในวัดขณะนั้นไว้ว่า พระที่ออกไปธุดงค์ครั้งนี้ จะได้กลับมาบ่พร้อมกันดอก ต่างคนต่างมาต่างคนต่างกลับคนละเวลา
และก็เป็นจริงดังคำหลวงพ่อชาท่านพูดไว้ เพราะเดินทางไปได้ไม่เท่าไรก็มีเพื่อนพระขอแยกกลับวัดหนองป่าพงไปก่อน คงเหลือเดินทางไปกับหลวงปู่เพียง ๒ รูป รวมหลวงปู่เป็น ๓ รูป แล้วธุดงค์ต่อไปยังภาคตะวันออก
จนกระทั่งมีพระอาจารย์ท่านหนึ่งนิมนต์หลวงปู่สุขไปงานพุทธาภิเษกที่จังหวัดอุบลราชธานี วันนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่หลวงปู่ท่านได้กลับเข้าไปภายในวัดหนองป่าพงอีกครั้ง เป็นเวลาเกือบ ๔๕ ปีที่ออกจากวัดหนองป่าพงมา
แม้กาลเวลาจะผ่านมาหลายปี แต่กลิ่นไอคุณธรรม รอยมือรอยเท้าของครูบาอาจารย์ยังคงอยู่เหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน ณ วัดหนองป่าพง
น้อมเศียรเกล้า อาเศียรวาท
กราบถวายความอาลัย “หลวงปู่สุข โกวิโท”
พระผู้สานสร้าง…ทางพระพุทธศาสนา
ตามรอยพ่อแม่ครูอาจารย์
และพระบรมศาสดาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
(โปรดติดตามตอนต่อไป …)
ขอขอบคุณ เรื่องและภาพ โดย ศิษยานุศิษย์หลวงปู่สุข โกวิโท