พิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายเนื่องในวันครบรอบ ๙๖ ปี ชาตกาล
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์
(เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)
อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
วันพฤหัสบดี ที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๗
ณ ศาลาการเปรียญ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหารกรุงเทพมหานคร
“น้อมรำลึกวัยเยาว์ “๙๖ ปี ชาตกาล”
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)
วันพฤหัสบดี ที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๗
จากหนังสือ “วิถีแห่งผู้นำ”สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)
เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)
อนุโมทนากถา หนังสือ “วิถีแห่งผู้นำ”สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) โดย ญาณวชิระ พระมหาเทอด ญานวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมฺตฺตมํ.
ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์
ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ
พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)
อนุโมทนากถา
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา พระสงฆ์ไทยมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการพระศาสนาในระดับนานาชาติ เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ก็ด้วยวิสัยทัศน์ของบูรพาจารย์ ที่มองอนาคตพระศาสนาด้วยสายตาอันยาวไกล
เป็นที่ยอมรับกันว่า หลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นพระมหาเถระที่มีวิสัยทัศน์อันเป็นคุณูปการต่อการพระศาสนาทั้งในและต่างประเทศ เป็นผู้ริเริ่มวางรากฐานแนวคิดในการนำพระพุทธศาสนาก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่ วิสัยทัศน์ ปฏิปทา และจริยวัตรของท่าน ได้จุดประกายอุดมการณ์ความคิดฝัน สร้างแรงบันดาลใจให้กับพระสงฆ์รุ่นใหม่มาจนถึงปัจจุบัน
ยิ่งวิสัยทัศน์ที่แสดงออกถึงวิถีอย่างผู้นำของหลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ถูกถ่ายทอดผ่านพระผู้อยู่ใกล้ชิดที่คอยทำหน้าที่ถวายการอุปัฏฐากท่าน ทำให้หนังสือเล่มนี้เก็บแง่มุมทางความคิดของหลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ เอาไว้ได้อย่างละเอียด
ความมีวิริยะอุตสาหะในการเรียบเรียงหนังสือ “วิถีแห่งผู้นำ” สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ควรค่าแก่การยกย่องอย่างยิ่ง
ขออนุโมทนา
“ญานวชิระ” พระมหาเทอด ญานวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์)
วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
๑. ปฐมบทแห่งชีวิต
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นพระมหาเถระที่ได้รับการกล่าวนามถึงมากที่สุดรูปหนึ่ง ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาบนผืนแผ่นดินไทย ด้วยความเป็น “ต้นแบบแห่งสงฆ์” ที่พุทธบริษัทปรารถนาจะได้พบเห็น อันเป็นหนึ่งในทัสนานุตริยะที่เป็นมงคลยิ่ง โดยเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ริเริ่มวางรากฐานแนวคิดนำพระพุทธศาสนาก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ และนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ทั่วทุกมุมโลก
๒. ต้นกำเนิดของครอบครัว
สมัยก่อนชาวจีนโพ้นทะเลเป็นนักเดินเรืออีกชนชาติหนึ่งที่เข้ามาพึ่งพาอาศัยโพธิสมภารในแผ่นดินไทยบนเกาะสมุย นอกจากประกอบอาชีพประมง ทำไร่ ทำสวนแล้ว ยังประกอบอาชีพค้าขายอันเป็นอุปนิสัยของชาวจีนโดยทั่วไป
ปัจจุบันบ้านของบรรพชนที่เกาะไหหลำยังถูกรักษาไว้ให้อยู่ในสภาพดังเดิม โดยภายในบ้านได้นำภาพของโยมบิดาของเจ้าประคุณสมเด็จฯไปไว้บนแท่นบูชาของบรรพชน
สำหรับชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเกาะสมุยเป็นนักเสี่ยงโชคที่แสวงหาแผ่นดินทอง เพื่อทำการค้าขายส่วนมากเป็นพ่อค้าทางเรือแล่นเรือส่งสินค้าจากกรุงเทพมหานคร แวะรับส่งสินค้าที่สงขลาแล้วมุ่งหน้าสู่สิงคโปร์ และออกจากสิงคโปร์ แวะรับส่งสินค้าที่สงขลาแล้วเข้าสู่กรุงเทพมหานคร สินค้าก็มีมะพร้าว ข้าวสาร ผลิตผลทางการเกษตรตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภคอื่น ๆ
ในคราวนั้นมีตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากครอบครัวชาวจีนครอบครัวหนึ่ง “แซ่โหย่ว” หรือ “แซ่หยาง” เดินทางโดยเรือสำเภา แสวงหาทำเลทองเพื่อทำการค้าขายผ่านกรุงเทพ ฯ และแวะพักที่เกาะสมุยเหมือนพ่อค้าสำเภาทั่วไปได้เห็นเกาะสมุยมีภูมิประเทศดี น้ำท่าพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์จึงได้ตกลงใจลงหลักปักฐานตั้งบ้านขึ้นที่ริมชายหาดเฉวง ตำบลเฉวง โดยยึดอาชีพชาวประมง ทำสวนมะพร้าว และทำการค้าขายสืบเชื้อสายมาบนเกาะแห่งนี้
กลายเป็นตระกูล “โชคชัย” ในปัจจุบัน
ผู้นำครอบครัวตระกูลโชคชัยได้ตั้งร้านค้าขายเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ตลอดจนรับซื้อสินค้าจากชาวเกาะเพื่อขายต่อให้กับพ่อค้าเรือส่งเข้ากรุงเทพฯ บ้าง สงขลาบ้าง นครศรีธรรมราชบ้าง ส่งออกสิงคโปร์บ้าง ตามแต่พ่อค้าเรือคนไหนต้องการอะไร บางทีเดินทางไกลเอง จากกรุงเทพ ฯ ไปสิงคโปร์ จากสิงคโปร์ไปกรุงเทพ ฯ ต้องทำหมูเค็มใส่ไหลงเรือสำเภา เพื่อเป็นเสบียงเดินทางให้กินได้นานแรมเดือน จนครอบครัวกลายเป็นตระกูลคหบดีที่ มีที่ดินครอบครองจำนวนมากและมีความมั่นคงทางการเงินตระกูลหนึ่งของเกาะสมุย
๓. ความฝันของโยมแม่
ณ หมู่บ้านชายหาดเฉวง ตำบลเฉวง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ถือกำเนิดในตระกูลโชคชัยเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ตรงกับวันศุกร์ ปีมะโรง เป็นบุตรคนที่ ๕ ในจำนวนบุตรธิดา ๗ คนของตระกูล
โยมบิดา ชื่อ นายเลี่ยน โชคชัย โยมมารดา ชื่อ นางยี โชคชัย
*หนังสือสุทธิ เกิดวันศุกร์ ที่ ๑๑ มกราคม ๒๔๗๑
*มีบันทึกด้วยลายมือ เกิดวันศุกร์ ที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๑ เวลาทุ่มเศษ
ค่ำคืนที่เด็กชายเกี่ยวลืมตาดูโลกนั้น มารดาฝันเห็นปลาใหญ่รูปร่างแปลกพิกล ดำมุดผุดว่ายเล่นน้ำทะเลลึกมาแต่ไกล ครั้นขึ้นฝั่งกลับกลายเป็นช้างเผือกงางอนงามหมอบอยู่หาดทรายหน้าบ้าน ฝูงสัตว์นานาชนิด ทั้งสัตว์บกสัตว์น้ำต่างมาชุมนุมกัน ส่งเสียงระงมเต็มหาดเป็นที่อัศจรรย์
ญาติพี่น้องต่างมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้บุตรชาย ซึ่งจะเป็นผู้สืบต่อธุรกิจค้าขายของตระกูลต่อไป นายเลี่ยน โชคชัย (อุ่ยเหลี่ยน แซ่เอี้ยว หรือ หยาง) ผู้เป็นบิดา และนางยี โชคชัย (แซ่ภู่) ผู้เป็นมารดาได้ให้ชื่อบุตรชายว่า “เกี่ยว” เพื่อเป็นมงคลนามว่าบุตรชายได้ถือกำเนิดในช่วงที่ครอบครัวมีฐานะทางเศรษฐกิจเป็นหลักฐานมั่นคงพรั่งพร้อมทุกอย่างตามฐานะที่คนในสมัยนั้นจะพึงมีพึงได้ เป็นบุพนิมิตว่า บุตรชายถือกำเนิดมาเพื่อเกี่ยวเอาโชคลาภมาสู่วงศ์ตระกูล
เด็กชายเกี่ยว ได้รับการเลี้ยงดูทะนุถนอมกล่อมเกลา ในอ้อมกอดของบุพการีผู้ก่อกำเนิดได้รับความผาสุกตามสภาพที่จะพึงมีพึงเป็น เฉกเช่นบิดามารดามีให้แก่บุตรด้วยความอบอุ่นรวมกับพี่ๆ น้องๆ บนเกาะสมุยถิ่นกำเนิด
๔. มุ่งมั่นแต่เยาว์วัย
กาลเวลาต่อมา เด็กชายเกี่ยวเจริญวัยพอสมควร จึงได้รับการสนับสนุนให้ศึกษาหาความรู้ในโรงเรียนประชาบาลประจำหมู่บ้าน เข้ารับการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ เมื่ออายุ ๙ ปี ซึ่งมากกว่าเกณฑ์บังคับเรียนในสมัยปัจจุบันถึง ๒ ปี
เจ้าประคุณสมเด็จฯ เล่าว่า เนื่องด้วยผู้ปกครองในสมัยเมื่อ ๖๐ – ๗๐ ปีก่อน บ้านเมืองเรายังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการศึกษาเท่าที่ควร เพราะว่ามีความสนใจมุ่งเน้นให้มีอาชีพในการทำมาหากินมากกว่าเรื่องการศึกษา ผู้ใหญ่มักมองว่าการฝึกทำอาชีพของครอบครัวตนเองที่ประกอบอยู่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตในภายภาคหน้า จึงหมั่นให้บุตรธิดาฝึกกันทำมาค้าขาย หรืออาชีพอื่นใดตามความถนัดแห่งบรรพบุรุษที่ทำสืบต่อกันมา
แต่ด้วยความขยันหมั่นเพียรแสวงหาความรู้ และมีความมานะพากเพียร ช่างจดช่างจำของเด็กชายเกี่ยว จึงทำให้ผลการศึกษาออกมาเป็นที่น่าพอใจ ต่อมา เมื่อเรียนจบขั้นสูงสุดของโรงเรียน คือสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ในปี พ.ศ.๒๔๘๓* อันเป็นการศึกษาชั้นสูงสุดของโรงเรียนประชาบาลที่มีอยู่ในเกาะสมุยเวลานั้น เด็กชายเกี่ยวจึงได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะศึกษาต่อด้วยสติปัญญา และความตั้งใจจริงในอันที่จะใฝ่หาความรู้ต่อไป ทำให้บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ เห็นความมุ่งมั่นที่จะศึกษาต่อในลำดับชั้นที่สูงขึ้นไป จึงสนับสนุนให้เด็กชายเกี่ยวได้รับการศึกษาตามที่ต้องการ
(* เกิดปี ๒๔๗๑ อายุ ๙ ขวบเข้าเรียน ใช้เวลา ๔ ปี จบชั้นป.๔ = ๒๔๘๓)
บิดามารดาจึงได้ไปติดต่อโรงเรียนมัธยมศึกษาในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี เพื่อให้เด็กชายเกี่ยวได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
เจ้าประคุณสมเด็จฯ เล่าว่า “ ตอนนั้น โยมพ่อพาไปสมัครเรียน ต้องไปถ่ายรูป เพื่อนำไปสมัครเรียน โดยไปกับเด็กชายชีวิน(ต่อมา คือ ผู้ว่าชีวิน สุทธิสุวรรณ) นอกจากนั้น โยมพ่อต้องเอาเงินไปแลกเป็นเงินปัจจุบัน เพราะตอนนั้นรัฐบาลประกาศเลิกใช้เงินเหรียญสตางค์แบบเก่า โยมพ่อเก็บสะสมไว้มากเพราะเป็นพ่อค้า จึงต้องเอาเงินสตางค์ข้ามไปแลกด้วย จำได้ว่า โยมพ่อพาไปตัดผมไปถ่ายรูป และกินก๋วยเตี๋ยว ”
แต่ทว่าคงเป็นด้วยบุญบารมีวาสนาที่ได้กระทำไว้แต่ชาติปางก่อน แม้ว่ามีปัจจัยครบและพร้อมในการเดินทางเข้าไปศึกษาต่อยังตัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ท่านก็ไม่ได้ใช้โอกาสนั้นให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ ทั้งนี้คงเป็นด้วยบุญวาสนาบารมีที่จะเจริญในพระศาสนานั่นเอง
๕.จุดเริ่มต้นแห่งก้าวย่างบนเส้นทางธรรม
ก่อนวันเดินทางไปศึกษาต่อที่กำหนดไว้จะมาถึง เด็กชายเกี่ยวล้มป่วยไม่สบายอย่างกะทันหัน แม้จะได้รับการเยียวยารักษาทั้งยาต้ม ยาหม้อ ยาฝรั่ง ตามกำลังความสามารถที่หมอในสมัยนั้นจะทำได้ แต่อาการป่วยของเด็กชายเกี่ยวก็หาได้ทุเลาเบาบางลงไม่ หากแต่นานวันอาการก็ดูเหมือนยิ่งทรุดหนักลงทุกขณะ จนถึงขนาดบ่นเพ้อเพราะพิษไข้ ก่อให้เกิดความกังวลใจแก่บิดามารดาเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม อาการป่วยของเด็กชายเกี่ยวที่นับวันมีแต่จะทรุดหนักลง หาได้รอดพ้นไปจากการสังเกตของตาผ้าขาว ซึ่งเป็นหมอชาวบ้านท่านหนึ่งไม่ ตาผ้าขาวได้แนะนำบิดามารดาของเด็กชายเกี่ยวว่า
“ ถ้าต้องการให้เด็กชายเกี่ยวหายขาดจากโรคภัยไข้เจ็บกลับเป็นปกติ ก็ต้องให้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวร วิธีนี้เป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะช่วยให้พ้นจากวิบากกรรมได้ ”
จากหนังสือ “วิถีแห่งผู้นำ”สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)
สิ่งอัศจรรย์ทั้งหลายในโลกเกินหยั่งรู้ เพียงพ้นการบนบานศาลกล่าวไม่นาน อาการเจ็บไข้ก็ดูเหมือนทุเลาลง ทำให้บิดามารดาเชื่อว่า หนทางนี้เท่านั้นที่จะทำให้เด็กชายเกี่ยวหายขาดได้ จึงตกลงใจให้เด็กชายเกี่ยวบรรพชาเป็นสามเณรอุทิศกุศลแก่เจ้ากรรมนายเวรเป็นระยะเวลา ๗ วัน ตามคำแนะนำของตาผ้าขาวโดยไม่ลังเล
๖. สู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์
พิธีบรรพชาเด็กชายเกี่ยว โชคชัย ในวัย ๑๒ ปีได้ถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ณ วัดเฉวง (วัดสว่างอารมณ์) ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยนิมนต์เจ้าอธิการพัฒน์ ภทฺทมุนี วัดภูเขาทอง เจ้าคณะตำบลแม่น้ำ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในสมัยนั้น มาเป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อสมเด็จฯ เล่าว่า “ สมัยนั้น พระอุปัชฌาย์อยู่ที่วัดภูเขาทอง ตำบลแม่น้ำ โยมจึงต้องไปนิมนต์หลวงพ่อพัฒน์มาบวชให้ หลวงพ่อพัฒน์เป็นพระที่ชาวสมุยนับถือมาก เชื่อว่า ท่านเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ อย่างตอนเกิดพายุถล่มแหลมตะลุมพุก พัดเอาบ้านเรือนพังเสียหาย ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก เกาะสมุยปลอดภัย ไม่ถูกพายุถล่ม เพราะพระอุปัชฌาย์พัฒน์เป่าพายุไม่ให้มาขึ้นที่สมุย ชาวสมุยลือกันว่า ตอนเกิดพายุ เห็นหลวงพ่อพัฒน์ยืนอยู่ที่โขดหินริมทะเล เอาผ้าอาบโบกพัดให้พายุไปที่อื่น ”
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)
๗. บรรพชาวันแรก
เนื่องจากพระอุปัชฌาย์อยู่ที่วัดภูเขาทอง จึงต้องไปนิมนต์ให้มาบวชที่วัดเฉวง ในวันแรกที่สามเณรเกี่ยวบวช เกิดมีคนตายที่เตรียมจะเผา เป็นศพคนแก่ในหมู่บ้าน สามเณรเกี่ยวกลัวผี เกรงว่า กลางคืนจะนอนไม่หลับ จึงหลับตากล้าๆ กลัวๆ เดินตามพระอุปัชฌาย์เข้าไปยืนอยู่พักหนึ่ง พอเผลอลืมตาขึ้นเท่านั้น เหมือนกล้องที่มีเลนซ์ดีถ่ายภาพติดหมดเลย เห็นตั้งแต่หัวถึงเท้า ในภายหลัง หลวงพ่อสมเด็จฯ เล่าให้ศิษยานุศิษย์ฟัง ว่า “ภาพนั้นยังติดตาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ แหม่ สำคัญจริง คล้ายๆ กับเป็นเลนซ์ที่ดีมากจึงติดตาทันที จะเจือด้วยความกลัวหรืออะไรก็ไม่ทราบ แต่ภาพนั้นปรากฏชัดเจน เห็นลักษณะว่าเป็นอย่างไร มีผ้านุ่งห่มอย่างไร”
แม้ตอนแรกจะกลัว แต่พอนานเข้าก็เริ่มชิน จนเห็นเป็นธรรมดา จึงเป็นเหตุให้สามเณรเกี่ยวชอบไปนั่งในป่าช้าที่ริมทะเลในเวลาต่อมา
หลวงพ่อสมเด็จฯ เล่าว่า “ ตอนเป็นเณรบวชใหม่ๆ โยมนำไปฝากเป็นศิษย์หลวงพ่อพริ้ง ท่านได้พาธุดงค์ บางครั้งต้องปักกลดที่ป่าช้า แต่ก็ไม่ใช่ถือเป็นจริงเป็นจังอะไร ท่านอยากฝึกให้รู้ ตอนนั้น หลวงพ่อเข้าออกป่าช้าจนชำนาญทาง เรียกว่า รู้จักหลุมศพทุกหลุม ต้นไม้ทุกต้น โดยไม่ต้องเข้าไต้เข้าไฟอะไร จากที่ตอนแรกรู้สึกกลัว ก็กลายเป็นความสนุก ไม่ใช่สนุกสนานเฮฮาอย่างเด็กทั่วๆ ไปนะ แต่สนุกที่ได้ต่อสู้กับความกลัว สนุกที่เราสามารถเอาชนะความกลัวได้ รู้สึกเพลินที่ได้ไปตามสถานที่ที่แปลกตา ”
จากหนังสือ “วิถีแห่งผู้นำ”สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)
“ ที่จริงสมัยโน้น รอบเกาะสมุยเป็นเส้นทางธุดงค์ของพระทั้งนั้น พระท่านก็เดินเท้าไปตามป่าตามเขา ชาวบ้านเห็นพระธุดงค์ ถือเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องของการฝึกหัด ไม่ใช่เรื่องวิเศษวิโสอะไร ก็ถวายข้าวถวายน้ำ แล้วพระก็เดินต่อ ไม่ใช่อย่างทุกวันนี้ ทั้งคนทั้งพระต่างเห็นเป็นเรื่องวิเศษวิโสไป”
๘.วัดเฉวงในอดีต
วัดสว่างอารมณ์ เดิมชื่อว่า วัดเฉวง แปลว่า สว่าง เป็นวัดประจำหมู่บ้าน ตั้งอยู่ที่ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามประวัติระบุว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๗ โดยพระอาจารย์แก้ว เป็นผู้มอบที่ดินมรดกเนื้อที่จํานวน ๑๐ ไร่ ๑ งาน ๔๙ ตารางวา เพื่อสร้างวัด พระประธานภายในอุโบสถหลังเดิม ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีบรรพชาสามเณรเกี่ยวนั้น เป็นปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก กว้าง ๒๗ นิ้ว สูง ๔๒ นิ้ว ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ เขตวิสุงคามสีมา ขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๐ เมตร โดย พระครูวิบูลธรรมสาร (เพชร ติสฺโส) เจ้าคณะแขวง เป็นผู้ดําเนินการขอพระราชทานวิสุงคามสีมา
ภายหลัง เมื่อ พระครูประภาตธรรมคุณ (สงัด สุธมฺโม) เป็นเจ้าอาวาส เห็นว่า อุโบสถหลังเก่าที่สร้างมาพร้อมกับการตั้งวัดนั้นเล็กไป จึงได้สร้างอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเก่าให้มีขนาดใหญ่ขึ้น พระประธานปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง ๙๙ นิ้ว โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เขตวิสุงคามสีมา ขนาดกว้าง ๓๙ เมตร ยาว ๕๓ เมตร
นอกจากนั้น วัดเฉวง (วัดสว่างอารมณ์) ยังมีที่ธรณีสงฆ์อีกแห่ง อยู่บนเขาหัวจุก เป็นที่สำหรับปลีกวิเวกเจริญวิปัสสนาของพระวิปัสสนาจารย์เกาะสมุย โดยในปี พ.ศ.๒๔๗๙ หลวงปู่กลบ อินฺทสุวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดเฉวง ได้อัญเชิญรอยพระพุทธบาทจําลองมาประดิษฐานบนเขาหัวจุก เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชา
ต่อมา ที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทได้ผุพังไปตามกาลเวลา พระครูประภาตธรรมคุณ (สงัด สุธมฺโม) ได้หารือเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ที่จะสร้างเจดีย์สำหรับประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ขึ้นบนเขาหัวจุก เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ จึงได้มอบเงินสำหรับเริ่มต้นในการก่อสร้าง
พระครูวิสุทธิปัญญาคม(โอวาท ปญฺญาโสภโณ) รักษาการเจ้าอาวาสวัดสว่างอารมณ์(วัดเฉวง) เล่าว่า ตอนนั้น หลวงพ่อสมเด็จ ฯ มอบเงินให้เป็นทุนเริ่มต้นในการก่อสร้างเจดีย์เขาหัวจุก เดิมทีท่านปรารภว่า จะให้สร้างเจดีย์จำลองแบบไปจากภูเขาทอง เวลาเครื่องบินขึ้นลง ก็จะเห็นเจดีย์เขาหัวจุกเป็นสัญลักษณ์ของสมุย
“พระครูประภาตธรรมคุณ ได้รวบรวมเงินจากศรัทธาชาวสมุยและเงินที่ท่านสะสมไว้สร้างเจดีย์จนแล้วเสร็จ ภายหลังจากสร้างเสร็จแล้ว หลวงพ่อสมเด็จ ฯ ได้มอบพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ให้เป็นที่สักการบูชาของประชาชนด้วย ”
๙. อสุภสัญญา มรณานุสติกรรมฐาน
การบรรพชาเป็นสามเณร นับว่า เป็นผู้ทรงศีล แม้จะเป็นเพียงการรักษาศีล ๑๐ ก็ตาม แต่ก็เป็นศีลแห่งพรหมจรรย์ ชื่อว่า เป็นบรรพชิต เมื่อยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ย่อมทำให้ถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์แห่งศีลได้ เพราะนอกจากจะเป็นการละเว้นการกระทำในสิ่งอันเป็นบาปอกุศลแล้ว ยังเป็นการไม่สร้างเวรและอกุศลกรรมต่อไปอีกด้วย
จากการที่สามเณรเกี่ยวได้บรรพชาตามคำแนะนำของตาผ้าขาว เพื่อบนให้หายจากอาการเจ็บไข้ และผู้เป็นบิดา มารดา ตั้งใจจะให้บวชเพียงแค่ ๗ วัน ตามที่บนเอาไว้ เมื่อครบเวลาตามกำหนด ก็จะให้ลาสิกขามารับการศึกษาต่อไป
แต่ความอัศจรรย์บนโลกใบนี้ เกิดขึ้นได้เสมอ นับแต่วันที่ได้บนเอาไว้ อาการป่วยของเด็กชายเกี่ยวก็ดีขึ้น และหลังจากบวชได้เพียงไม่กี่วัน อาการเจ็บป่วยซึ่งมีทีท่าว่าจะทรุดลงเรื่อย ๆ ก็ทุเลาลง แล้วหายเป็นปลิดทิ้งในที่สุด
การที่พระอุปัชฌาย์ ไม่ปล่อยสามเณรน้อยผู้เป็นศิษย์ ให้ตกอยู่ในสภาพเซื่องซึมเพราะฤทธิ์ไข้ กลับสอนให้เห็นความไม่ตั้งมั่นแห่งสังขาร ด้วยการให้พิจารณาซากศพเป็นอารมณ์ ในวันแรกที่เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เหมือนจะเป็นนิมิตหมายแห่งการฝึกจิต ในการเจริญอสุภสัญญา อันจะเป็นเหตุให้เจริญในพระศาสนาต่อไป
“เปลว” เป็นคำเรียกหลุมศพของชาวสมุย ธรรมเนียมคนตายในชนบทสมัยก่อน เมื่อนำศพมาถึงเปลวแล้วต้องเปิดฝาโลงออก ทำพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อ พระอุปัชฌาย์ได้นำสามเณรเกี่ยวผู้ซึ่งเพิ่งก้าวเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ในวันนั้น ไปพิจารณาอสุภกรรมฐาน
สามเณรเกี่ยวเห็นศพคนตาย ซึ่งเป็นศพคนแก่ในหมู่บ้าน ที่รู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี จึงเกิดภาพจำติดตา แม้จะรู้สึกหวาดกลัวตามประสาผู้อยู่ในวัยเด็ก แต่ก็ปฏิบัติตามคำสอนของพระอุปัชฌาย์อย่างว่าง่าย
ภาพซากศพบนหลุมศพ ที่พระอุปัชฌาย์ให้สาเณรเกี่ยวไปพิจารณา ได้เกิดเป็นอสุภสัญญา กลายเป็นภาพติดตาสามเณรน้อยเหมือนกล้องที่มีเลนซ์ดี จนไม่อาจสลัดให้หายไปจากความทรงจำได้
แม้จะผ่านไปนานวัน แต่ภาพใบหน้า รูปร่างลักษณะ และเสื้อผ้าอาภรณ์ปรากฏชัดเจนในความทรงจำของสามเณรเกี่ยวตลอดมา
๑๐. ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อพริ้ง
ภายหลังจากสามเณรเกี่ยว โชคชัย บรรพชาครบ ๗ วัน ก็ถึงกำหนดที่จะต้องลาสิกขาไปศึกษาต่อ แต่สามเณรเกี่ยวก็เปลี่ยนเป้าหมายชีวิตอย่างกะทันหัน โดยได้บอกโยมบิดาโยมมารดาว่า จะขอบวชเป็นสามเณรอยู่ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง แม้โยมทั้งสองรู้สึกแปลกใจอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้คัดค้านหรือเหนี่ยวรั้งแต่ประการใด สามเณรเกี่ยวบวชอยู่ต่อมาจนครบ ๑ เดือน โยมบิดามารดาก็มาบอกให้ลาสิกขา เนื่องจากเกรงว่า จะไม่ทันเวลาที่ต้องไปเรียนตามกำหนดที่ติดต่อไว้แล้ว
สามเณรเกี่ยวบอกปฏิเสธการลาสิกขาต่อโยมบิดามารดา และปฏิเสธการลาสิกขาต่อมาอีกหลายต่อหลายครั้ง ในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกเส้นทางพระศาสนาตามรอยบาทพระบรมศาสดาบวชอยู่เรื่อยมาจนมรณภาพคืนสู่ธรรมชาติในร่มผ้ากาสาวพัสตร์นั่นเอง
“ความสุขจากการบวชที่เกิดขึ้นในจิตใจของสามเณรเกี่ยว เป็นเหตุให้ท่านไม่อยากจะสึกหาลาเพศนั้น คงเป็นเพราะเหตุแห่งบุญกุศลที่เคยทำมาแต่ก่อนเก่าหนุนส่งก็เป็นได้ นับได้ว่า ท่านผู้นี้บำเพ็ญบารมีมาเพื่อเป็นที่เคารพนบไหว้ เป็นครูบาอาจารย์ของหมู่มหาชนโดยแท้”
“วิถีแห่งผู้นำ” สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)
ความรู้สึกสุขสงบทำให้ความสนใจที่จะศึกษาทางโลกต่อในระดับที่สูงขึ้นของสามเณรเกี่ยวหมดความสำคัญลงอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่ความสนใจที่จะศึกษาพระธรรมกลับมีพลังเร่งเร้ามากขึ้น จนในที่สุดท่านตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตอย่างพุทธบุตรต่อไปอย่างไม่มีกำหนด โยมบิดามารดาจึงนำไปฝากเป็นศิษย์หลวงพ่อพริ้ง โกสโล ที่วัดแจ้ง ซึ่งเป็นพระวิปัสสนาจารย์สำคัญของเกาะสมุย ผู้ถือธุดงค์เป็นวัตร ชอบปลีกวิเวกเจริญวิปัสสนาอยู่ตามป่าช้า
สามเณรเกี่ยว จึงมีโอกาสได้เรียนพระกรรมฐานในเบื้องต้นจากหลวงพ่อพริ้ง โดยหลวงพ่อพริ้งได้นำเจริญพระกรรมฐานบนหลุมฝังศพขณะมีอายุ ๑๒ ปีเท่านั้น
ต่อมาภายหลัง เมื่อเข้ามาอยู่กรุงเทพ ก็ได้เรียนพระกรรมฐานเพิ่มจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า พระองค์ท่านมีความชำนาญด้านกสิณ และยังเป็นที่ทราบกันว่า ท่านได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับวิธีการเจริญพระกรรมฐานตามแนวต่างๆ และฝึกจนมีความชำนาญในแต่ละวิธี สามารถสวดพระปาติโมกข์ได้ในพรรษาแรกแห่งการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และเรียนสำเร็จเปรียญธรรม ๙ ประโยค อันเป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมขั้นสูงสุดของคณะสงฆ์ และเป็นหนึ่งในพระเถระผู้มีบทบาทสำคัญต่อพระพุทธศาสนาจนถูกขนานนามว่า พระเจ้า ๕ พระองค์ แห่งวงการคณะสงฆ์ไทย ในเวลาต่อมา
๑๑.เรียนกรรมฐานที่ป่าช้า
สำหรับการเรียนพระกรรมฐาน แม้สามเณรเกี่ยวจะอายุยังน้อย อยู่ในวัยเพียง ๑๒ ปีเท่านั้น เพิ่งเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ได้ไม่นานนัก แต่ก็ได้เริ่มฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนาอย่างจริงจัง โดยมีหลวงพ่อพริ้ง โกสโล พระวิปัสสนาจารย์ใหญ่แห่งเกาะสมุยเป็นผู้แนะนำสั่งสอน
ในพรรษาแรกของการบวชเณรนั่นเอง โยมบิดามารดาได้นำไปฝากเป็นศิษย์หลวงพ่อพริ้ง สามเณรเกี่ยวจึงได้เริ่มเรียนรู้วิธีการเจริญสมาธิภาวนาอย่างจริงจัง โดยหลวงพ่อพริ้งผู้เป็นอาจารย์ได้นำศิษย์น้อยของท่านออกเจริญพระกรรมฐาน อันเป็นการเรียนรู้ภาคปฏิบัติควบคู่ไปกับพระปริยัติ
แม้ในเวลานั้น สามเณรเกี่ยวยังไม่เข้าใจการปฏิบัติสมาธิภาวนากว้างขวางเท่าใดนัก แต่หลวงพ่อพริ้งผู้เป็นอาจารย์ก็มุ่งหวังที่จะให้ศิษย์ของท่าน ได้มีพื้นฐานการทำสมาธิ อุบายวิธีทำจิตให้สงบ อันเป็นแนวทางการเจริญสมาธิภาวนาตามหลักคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา
สามเณรเกี่ยวจึงเป็นหนึ่งในศิษย์หลวงพ่อพริ้ง ที่มีโอกาสเจริญสมาธิภาวนาตามคำแนะนำของท่านตั้งแต่ยังเยาว์วัย
ในการเจริญสมาธิภาวนา หรือเจริญกรรมฐานตามวิธีของหลวงพ่อพริ้งนั้น ท่านแนะนำให้เจริญกรรมฐานโดยยึดแนวทางอานาปานสติ คือ มีสติรู้ลมหายใจเข้าออก
จากหนังสือ “วิถีแห่งผู้นำ”สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)
เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)
“หากขณะใดที่จิตไม่สงบ ฟุ้งซ่าน ซัดส่ายมาก จะบริกรรมพุทโธกำกับลมหายใจเข้าออกไปด้วย ก็ได้ แต่ให้ถือหลักสำคัญในขณะกำหนดลมหายใจให้มีสติรู้อยู่ หรือ มีความรู้สึกตัวรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก”
จากหนังสือ “วิถีแห่งผู้นำ”สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)
เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)
สำหรับวิธีการสอนนั้น หลวงพ่อพริ้งอธิบายให้รู้ถึงวิธีการมีสติในการยืน เดิน นั่ง นอน ว่าทำอย่างไรเป็นเบื้องต้นก่อน จากนั้น จึงอธิบายขั้นตอนการมีสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก อันเป็นการแนะนำให้รู้พื้นฐานการภาวนา เป็นการแนะนำรูปแบบการเจริญกรรมฐานเบื้องต้นสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ เมื่ออธิบายให้เกิดความเข้าใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมา ท่านก็นำออกไปปฏิบัติกรรมฐาน โดยเลือกสถานที่วิเวกสงบปราศจากผู้คนพลุกพล่านเข้าออก เหมาะสำหรับการเจริญภาวนา
สถานที่ที่ท่านเลือกให้เป็นที่สำหรับเจริญภาวนาแก่ศิษย์ของท่านมักจะเป็นเปลว หรือป่าช้าที่ฝังศพ ซึ่งเป็นป่าหนาดงทึบ ที่หาได้ไม่ยากนักในชนบทสมัยนั้น เป็นป่าช้าอยู่ใกล้ทะเล เมื่อมีคนตายหลวงพ่อพริ้งก็ให้ขุดหลุมฝัง โดยทำกองทรายเป็นเนินดินสูงขึ้นมา เพราะป่าช้าอยู่ใกล้ทะเล เนินหลุมศพจึงเป็นเนินดินทรายขาว
เวลาที่หลวงพ่อพริ้งนำลูกศิษย์ไปนั่งกรรมฐานมักเป็นเวลากลางคืน หลังจากทำวัตรเย็นบอกวัตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านจะให้ลูกศิษย์ของท่านเลือกหลุมศพรูปละหลุม เอาผ้าอาบน้ำปูรองเป็นอาสนะคลุมบนหลุมศพแล้วก็นั่งเจริญภาวนาอยู่บนนั้นจนดึกพอประมาณจึงกลับเข้าวัด
“การนำลงมือปฏิบัติ คือ วิธีสอนกรรมฐานแก่ลูกศิษย์ของหลวงพ่อพริ้ง”
หลวงพ่อพริ้งผู้เป็นอาจารย์ได้นำสามเณรเกี่ยวเข้าสู่ป่าช้าเพื่อการเจริญกรรมฐาน โดยจัดให้พระและสามเณรแต่ละรูปนั่งอยู่บนหลุมฝังศพที่พูนดินขึ้นเป็นเนินรูปละหลุม ที่นั่งบนหลุมศพของพระและสามเณรแต่ละรูปต้องมีระยะห่างกันพอให้ตะโกนเรียกกันได้ยินเท่านั้น
เมื่อนั่งประจำที่แล้วหากเกิดความกลัวก็อย่าเพิ่งภาวนาองค์กรรมฐาน ให้สวดปะฏิสังขาโย ฯลฯ อัชชะ มะยา ฯลฯ และยะถาปัจจะยัง ฯลฯ ไปเรื่อยๆ เพื่อขจัดความหวาดกลัว ถ้ายังไม่หายกลัวก็ให้สวดไปจนครบ ๑๐๘ จบ
แรกๆ สามเณรเกี่ยวก็กลัวจนตัวสั่น แต่พอนานวันเข้าก็เริ่มชินจนเห็นเป็นธรรมดาไป เมื่อฝึกนั่งกรรมฐานจนได้หลักแล้ว หลวงพริ้งก็พาเดินธุดงค์ไปรอบๆ เกาะสมุย เรื่องเดินธุดงค์นั้น
หลวงพ่อสมเด็จ ฯ เล่าว่า “ สมุยในเวลานั้น ไม่เหมือนทุกวันนี้ ผู้คนไม่มาก เรียกว่า รู้จักกันหมดแทบทุกครัวเรือน เณรตามอาจารย์ไปถึงไหนคนก็ถาม แม้เมื่อมาเรียนที่กรุงเทพแล้ว เวลาหยุดเรียนกลับสมุย หลวงพ่อพริ้งก็ยังพาเดินธุดงค์อยู่ ”
๑๒.หลวงพ่อพริ้ง วิปัสสนาจารย์แห่งเกาะสมุย
พระครูอรุณกิจโกศล (พริ้ง โกสโล) หรือที่ชาวบ้านเรียกขานติดปากว่า หลวงพ่อพริ้ง แห่งวัดแจ้ง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีปูมหลังจากอัตโนประวัติ เล่าว่า ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๔ ที่ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนโตในจำนวน ๑๑ คน ของนายวอน เมืองนิเวศ และนางใย เมืองนิเวศ ได้ศึกษาร่ำเรียนในชั้นต้นจากพระสมุห์จอน วัดป่าลิไลก์ อำเภอไชยา จนเมื่ออายุได้ ๑๗ ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดป่าลิไลก์ โดยมีพระอธิการปาน เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๒
ครั้นมีอายุครบอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ก็ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดสโมสร อำเภอไชยา เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๖ เวลา ๑๔.๐๐ น. โดยมีพระครูโสภณเจตสิการาม (คง) วัดโพธาราม ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการคล้ำ วัดป่าลิไลก์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระสมุห์จอน ธมฺมจารี วัดสโมสร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ โกสโล ”
หลวงพ่อพริ้งสนใจในทางวิปัสสนากรรมฐาน ท่านจึงย้ายที่จำพรรษาไปเรื่อย หลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านได้จำพรรษาที่วัดสโมสร เพื่อร่ำเรียนวิชาอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนไปจำพรรษาที่วัดเขาแก้ว อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเวลาหลายพรรษา จากนั้น ได้จาริกข้ามมายังเกาะสมุย พำนักที่วัดคงคาราม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งขณะนั้นมีพระสมุห์พร้อม ธมฺมทินฺโน พระน้องชายแท้ๆ ของท่านเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งต่อมา พระสมุห์พร้อม ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ “พระครูวิบูลทีปรัต” แล้วย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎร์เจริญ เกาะพยงัน ขณะยังมีฐานะเป็นตำบลพะงันขึ้นอยู่กับอำเภอสมุย
หลวงพ่อพริ้ง โกสโล จำพรรษาอยู่ที่วัดคงคาราม จนกระทั่งเจ้าอาวาสวัดแจ้ง ตำบลหน้าทอนว่างลง จึงได้รับอาราธนาจากพระยาเจริญราชภักดี (สิงห์ สุวรรณรักษ์) นายอำเภอเกาะสมุย พร้อมด้วยชาวบ้าน นิมนต์ท่านมาจำพรรษาที่วัดแจ้ง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่เด็กชายเกี่ยวถือกำเนิดบนเกาะสมุย และ ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแจ้ง อำเภอเกาะสมุย เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑
๑๓. เรียนนักธรรมที่วัดแจ้ง
วัดแจ้งเป็นวัดสำคัญด้านการศึกษาปริยัติและปฏิบัติของเกาะสมุย เมื่อคราวสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเสด็จตรวจการคณะสงฆ์ที่สมุย ทรงขึ้นท่าที่หน้าทอน ก็มีกำหนดเข้าเยี่ยมวัดแจ้ง พระองค์บรรยายถึงสภาพวัดแจ้งในเวลานั้นว่า มีพระยืนแถวรอรับเสด็จราว ๗-๘ รูป มีนักเรียน ชี และชาวบ้าน นั่งเรียงแถวรอรับเสด็จ บางคนมีเครื่องสักการะและผลไม้มาถวาย อุโบสถวัดแจ้งเป็นไม้กระดานตีเป็นหลืบ กว้างขวางสะอาดสะอ้าน ส่วนกุฏิสงฆ์ยังมีสภาพเป็นฝาขัดแตะ มุงด้วยจาก
วัดแจ้งคงได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมาตามลำดับจนถึงยุคที่พระยาเจริญราชภักดี (สิงห์ สุวรรณรักษ์) นิมนต์หลวงพ่อพริ้งมาเป็นเจ้าอาวาส จึงได้มีการเรียนการสอนปริยัติและปฏิบัติควบคู่กันไป
เมื่อสามเณรเกี่ยวบรรพชาเป็นสามเณร ได้ตั้งตนอยู่ในโอวาทของหลวงพ่อพริ้งอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติกิจวัตรของตนเองอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ได้เรียนรู้ข้อวัตร ไหว้พระสวดมนต์ ทำวัตรเช้า – เย็น บิณฑบาตตามกิจสงฆ์อันสมควรแก่สมณะ
ต่อมา ท่านมีฉันทะที่จะแสวงหาความรู้ศึกษาข้อวัตร ข้อธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก คือ การศึกษานักธรรม
ดังนั้น เมื่อวัดแจ้งมีสามเณรอยู่ด้วยกันหลายรูป หลวงพ่อพริ้งจึงได้ริเริ่มให้มีการเรียนนักธรรม โดยท่านเป็นผู้สอนเอง สามเณรเกี่ยวจึงได้เรียนนักธรรมในปีแรกที่บวช โดยไม่ต้องไปเรียนต่อที่อื่น
ผลการสอบนักธรรมในปีนั้น มีสามเณรหลายรูปสอบตก ส่วนสามเณรเกี่ยวสามารถสอบผ่านนักธรรมชั้นตรีได้โดยไม่ยากนัก
หลวงพ่อสมเด็จ ฯ เล่าถึงสภาพการเรียนการสอนนักธรรมที่เกาะสมุยเวลานั้น ว่า “ สมัยนี้พอพูดถึงเรียนนักธรรมก็ดูเป็นธรรมดา เราต้องนึกย้อนกลับไปเกาะสมุยเมื่อ ๖๐- ๗๐ ปีที่แล้ว เอาแค่จะข้ามไปมาระหว่างสมุยกับสุราษฎร์ก็ยังลำบาก
แต่เดิมที่วัดแจ้ง ไม่มีการศึกษานักธรรมเป็นหลักมาก่อน ซึ่งก็เหมือนกับวัดอื่นๆ บนเกาะสมุย เนื่องจากการคมนาคม การสื่อสาร และการเรียนการสอนบนเกาะเป็นไปด้วยความยากลำบาก แม้ตำหรับตำราก็หายาก จะมีผู้เรียนอยู่บ้างก็เป็นเรื่องฉันทะเฉพาะตน สอนกันตามมีตามเกิด หากต้องการเรียนเป็นหลักเป็นเกณฑ์ ต้องข้ามไปเรียนที่พุมเรียง สุราษฏร์ธานี
“ในสมัยโน้นจะร่ำเรียนอะไรก็ดูจะเป็นเรื่องยากไปเสียหมด เกาะสมุยไปมาก็ยาก หนังสือจะอ่านอย่างทุกวันนี้ก็ไม่มี จะมีก็แต่อาจารย์ผู้สอน ต้องใช้วิธีเขียนตามที่หลวงพ่อพริ้งท่านให้จดใส่สมุด เพื่อเอามาท่อง แต่อาจารย์ท่านก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก ”
วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)
จากบันทึกชีวประวัติในวัยเยาว์ ในหนังสือ “วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)” เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) เพียงส่วนหนึ่ง เห็นได้ว่า กว่าจะมาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พระเถระผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา พระผู้สร้างพระสงฆ์รุ่นใหม่ได้มากมหาศาลในยุคสมัยของท่าน ตลอดชีวิตของท่านบุกเบิกงานเผยแแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกตามรอยธรรมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ทุกด้าน เป็นต้นธารที่ทำให้สังฆมณฑลสร้างสรรค์งานเผยแผ่พระพุทธศาสนากว้างไกลไปทั่วโลกในวันนี้ และวันต่อๆ ไป เพื่อช่วยเหลือชาวไทยและชาวโลกให้พ้นทุกข์ในสังสารวัฏ