นิทานธรรม เรื่องที่ ๑
ปัญญา – บุญมา – วาสนาส่ง
โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดพุทธารามเกาหลี เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้
สัปดาห์นี้จะขอเล่านิทานให้ฟัง เป็นนิทานธรรมะ ซึ่งผู้เขียนเคยอ่านแล้วก็ประทับใจจึงนำมาเล่าต่อ ก็ขอให้ผู้อ่าน อ่านสบายๆ
นานมาแล้ว มีชายหนุ่มคนตัดฟืนคนหนึ่งอาศัยอยู่ในเมืองพาราณาสี วันหนึ่งก็ไปตัดฟืนในป่า โดยปกติประตูเมืองปิด โดยยึดเอาแสงพระอาทิตย์ตกดินเป็นหลัก แสงพระอาทิตย์ตกตินเมื่อไหร่ประตูเมืองก็ปิดเมื่อนั้น ชายหนุ่มคนตัดฟืนกลับมาไม่ทันประตูเมืองปิด
เมื่อมืดลงจึงไปพักอาศัยอยู่ใต้ต้นไม้ข้างกำแพงประตูเมือง บนต้นไม้นั้นมีไก่ ๒ ตัวนอนอยู่ก่อนแล้ว ในเวลาใกล้รุ่ง ไก่ตัวหนึ่งก็ถ่ายลงมาถูกไก่ตัวที่นอนอยู่ข้างล่าง ไก่ตัวข้างล่างก็ถามว่าใครถ่ายมาถูกตัวเรา ไก่ตัวข้างบนก็ตอบว่า เราเองแหละ เราไม่ได้พิจารณาก็เลยถ่ายลงไป เมื่อพูดเสร็จก็ถ่ายลงไปอีกครั้ง ไก่ทั้งสองจึงทะเลาะกัน และอวดกำลังความวิเศษของตัวเอง
ไก่ตัวล่างก็พลางอวดว่า เรานี้มีคุณวิเศษนะ ใครได้กินเนื้อเรา ในตอนเช้าจะได้ทรัพย์หนึ่งพันกหาปณะ (หนึ่งกหาปณะมีราคา ๔ บาท) ไก่ตัวบนเมื่อได้ยินดังนั้น ก็พูดอวดขึ้นว่า แค่นี้ไม่ต้องอวดหรอก ใครได้กินเนื้อล่ำของเราจะได้เป็นพระราชา ใครกินเนื้อภายนอก ถ้าเป็นชายจะได้เป็นเสนาบดี ถ้าเป็นหญิงจะได้เป็นอัครมเหสี ถ้าได้กินเนื้อติดกระดูกจะได้เป็นขุนคลัง ถ้าเป็นนักบวชจะได้เป็นนักบวชราชสำนัก
เมื่อชายหนุ่มคนตัดฟืนได้ยินดังนั้น ก็คิดว่า ถ้าเราได้เป็นพระราชา เงินหนึ่งพันกาปณะจะมีประโยชน์อะไร ว่าแล้วก็ย่องไปจับไก่ตัวบนฆ่าให้ตาย แล้วก็นำไปให้ภริยาจัดการย่างอย่างดี และก็บอกกับภริยาว่า เมื่อเราได้กิน เราจะได้เป็นพระราชา ส่วนเจ้ากินแล้วจะได้เป็นพระอัครมเหสี
ดังนั้น ก่อนที่เราจะกิน เราควรจะชำระร่างกายให้สะอาดเสียก่อน จึงได้เอาภาชนะใส่ไก่พร้อมปิดฝาไว้อย่างดีไปวางไว้ริมตลิ่ง แล้วก็ลงไปอาบน้ำ ปรากฏว่าฝนตกเกิดลมแรง กระแสน้ำพัดเอาภาชนะที่ใส่ไก่ลอยไปกับกระแสน้ำ ทั้งสองคนก็ถูกกระแสน้ำพัดไปจมน้ำเสียชีวิตในเวลาต่อมา
เวลานั้นมีควาญช้างคนหนึ่ง ขี่ช้างลงไปอาบน้ำที่ท่าน้ำทางใต้ เห็นภาชนะลอยมาเก็บขึ้นมาดูเห็นว่าเป็นไก่ จึงนำไปให้ภริยา ขณะนั้นมีพระดาบสตนหนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์ของควาญช้าง ซึ่งพระดาบสผู้นี้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่ต้น จึงรีบมายังบ้านของควาญช้าง แล้วก็ถามถึงกิจที่ควาญช้างต้องทำด้วยอาหาร ภริยาของควาญช้างก็เข้าใจว่า พระดาบสยังไม่ได้รับประทานอาหาร จึงได้ถวายไก่ที่ได้มาให้พระดาบส
พระดาบสจึงได้แบ่งเอาเนื้อล่ำให้ควาญช้าง เนื้อนอกให้ภริยาของควาญช้าง ส่วนพระดาบสได้เนื้อติดกระดูก แล้วได้บอกกับควาญช้างว่า อีก ๗ วัน ท่านจะได้เป็นพระราชา ให้รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี ส่วนภริยาของท่านจะได้เป็นพระอัครมเหสี
ในใจของควาญช้างก็ไม่เชื่อ แต่ก็ไม่ได้กล่าวอะไร อีก ๗ วันต่อมา ข้าศึกยกทัพมาล้อมเมืองพาราณสี พระราชาเมืองพาราณสีบอกให้ควาญช้างแต่งตัวเป็นพระราชาออกไปรบ แล้วพระองค์ก็ปลอมตัวเป็นนายตรวจปะปนไปกับประชาชน พระราชาถูกธนูยิงสวรรคต นายควาญช้างจึงให้เอาทรัพย์สมบัติในคลังหลวงออกมา ประกาศว่าใครอยากได้สมบัติจงช่วยออกไปรบ ปรากฏว่า คนไปรบมากมาย ชนะข้าศึกได้วันเวลาอันรวดเร็ว
เหล่าเสนาบดีเห็นว่านายควาญช้างเป็นผู้มีปัญญา สามารถปกป้องบ้านเมืองไว้ได้ สมควรที่จะเป็นพระราชา ภริยาควาญช้างจึงได้เป็นพระอัครมเหสี ส่วนพระดาบสก็ได้เป็นพระอาจารย์ของพระยา หรือพระราชา เรื่องก็จบลงตรงนี้
นิทานเรื่องนี้เขาสรุปลงว่า เมื่อเคยทำบุญไว้ ถึงเวลาบุญก็ส่งผลเอง ใครก็เอาไปไม่ได้ เราในฐานะคนไทยก็มักจะได้ยินสำนวนว่า “แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แต่แข่งบุญวาสนาแข่งไม่ได้” หรือ แข่งอะไรก็แข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้ เมื่อได้ยินสำนวนนี้บางครั้งเราก็คิดนะ เอาไว้ปลอบใจคนแพ้หรือเปล่า หลายคนก็บอกว่า ถ้าเราสู้ เราพยายาม เราใช้สติปัญญาทำให้ดีที่สุด สักวันหนึ่งความสำเร็จก็จะเป็นของเราเอง
ผู้เขียนไม่ได้ต้องการจะบอกว่า เพราะบุญล้วนๆ หรือเพราะความพยายามใช้สติปัญญา อย่างใดอย่างหนึ่ง บางอย่างก็ใช้ความพยายาม ใช้สติปัญญาอย่างเต็มที่ บางอย่างก็ต้องอาศัยบุญเกื้อหนุนกัน
ขอยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราเป็นคณะกรรมการในการคัดเลือกตำแหน่งอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อให้ใครคนหนึ่งได้รับรางวัลเกียรติยศสูงสุดของชีวิต ตำแหน่งนั้นมีคนเดียวที่จะได้รับ คนที่ผ่านเข้ารอบมา คะแนนสอบทุกอย่างเท่ากันหมด มีผลงานโดดเด่นเหมือนกัน มีความสามารถเหมือนกัน ผ่านกฎเกณฑ์ทุกอย่างเท่ากันหมด ทุกอย่างเหมือนกันหมดเลย เมื่อที่จะต้องเลือกคนหนึ่งคนใด ถ้าไม่บอกว่าเป็นบุญเป็นวาสนาส่งให้ถึงฝั่งฝัน ก็ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร อาจจะใช้คำว่าจะยกภาระหน้าที่ให้เป็นหน้าที่ของบุญ วาสนาก็ได้
อันนี้ก็เป็นเพียงตัวอย่าง ไม่มีอะไรเป็นเกณฑ์ตายตัว เพียงแต่ยกตัวอย่างในมิติของบุญเท่านั้นเอง ส่วนในมิติของความรู้ ความสามารถ สติปัญญา ความพยายามก็ว่ากันไป
จบ
นิทานธรรม เรื่องที่ ๑ “ปัญญา – บุญมา – วาสนาส่ง ” โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดพุทธารามเกาหลี เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้