นะมะการะสิทธิคาถา (สัมพุทเธ)
จากหนังสือ พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์
เรียบเรียงโดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
เรียบเรียงโดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ฉบับธรรมทาน พิมพ์ครั้งที่ ๑๘ โดยกองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศฯ
นะมะการะสิทธิคาถา
สัมพุทเธ
บนนมัสการพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต
คาถาประพันธ์ของบุรพาจารย์
ประวัติความเป็นมา
บทสัมพุทเธ เป็นบทนมัสการพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต เป็นบทเก่าที่พระสงฆ์ใช้สวดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ยังไม่สามารถสืบค้นที่มาได้
เนื้อความบทสัมพุทเธ กล่าวถึงการนมัสการพระพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสรู้ไปแล้วในอดีต ซึ่งมีอยู่จำนวนมากมาย ในคำนมัสการ ได้ระบุจำนวนพระพุทธเจ้าถึง ๓,๔๘๕,๑๙๒ พระองค์ แล้วอธิษฐานขออานุภาพแห่งการกระทำความนอบน้อมพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ให้ขจัดเสียซึ่งอุปัทวะทั้งหลาย และอันตรายทั้งปวงเป็นอเนกให้พินาศไปสิ้น บทนมัสการสัมพุทเธ ยังไม่สามารถค้นหาประวัติความเป็นมาที่ชัดเจนได้ว่าประพันธ์ขึ้นในยุคใด
นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่า บทสัมพุทเธที่ใช้มาแต่เดิมนั้นประพันธ์ขึ้นตามคติข้างฝ่ายพระพุทธศาสนามหายาน เพราะเนื้อความกล่าวถึงการนมัสการพระพุทธเจ้าจำนวนมากตามแบบอย่ามหายาน จนต้องมีการประพันธ์คำนมัสการขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้แทนบทสัมพุทเธให้สอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเนื้อความอันเป็นจุดมุ่งหมายของคำนมัสการตามบทสัมพุทเธนี้แล้ว บูรพาจารย์ผู้ประพันธ์ไม่น่าจะยึดคติการนมัสการมาจากพระพุทธศาสนามหายาน แต่น่าจะประพันธ์ตามศรัทธาที่มีต่อคำสอนทางพระพุทธศาสนาเถรวาทนี้เอง โดยอาศัยหลักการน้อมรำลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตมาเป็นเครื่องคุ้มครองรักษาให้ปลอดภัย ดังปรากฏในชาดกต่างๆ สมัยที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีเพื่อปรารถนาโพธิญาณ เมื่อเกิดอันตรายก็จะอธิษฐานขอคุณจากพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตมาทำการคุ้มครองรักษา
ใน วัฏฏกชาดก จริยาปิฎก เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นลูกนกคุ่ม เกิดไฟไหม้ป่า ก็ได้ทำสัจกิริยา โดยการอ้างเอาคุณมีศีลเป็นต้นของพระพุทธเจ้าในอดีตมาเป็นเครื่องคุ้มครองรักษาจนไฟดับหมดไป
ในโมรชาดก ทุกนิบาต เมื่อพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นนกยูงทองก็ได้ผูกปริตรขึ้นนมัสการพระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลาย เพื่อคุ้มครองป้องกันอันตรายในที่อยู่อาศัย และแคล้วคลาดปลอดภัยในถิ่นที่ออกหากิน
ชาดกทั้งสองเรื่อง ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกพระพุทธศาสนาเถรวาทนี้เอง แสดงให้เห็นว่า แม้คุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตก็สามารถน้อมนำมาเป็นสิ่งนมัสการเพื่อให้เกิดพุทธานุภาพได้
นอกจากนั้น ในอาฏานาฏิยสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรคที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่หมู่ภิกษุศพบนเขาคิชฌกูฏในระหว่างพรรษาที่ ๓ หลังการตรัสรู้ ก็มีเนื้อความน้อมรำลึกถึงพระพุทธเจ้าในอดีตทั้ง ๗พระองค์ เพื่อทำการคุ้มครองรักษาเช่นกัน ซึ่งน่าจะเป็นคติที่บุรพาจารย์นำมาเป็นหลักในการประพันธ์คำนมัสการสัมพุทเธ
ในภายหลัง ได้มีการประพันธ์บทนะมะการะสิทธิคาถาขึ้นมาใหม่ เนื่องจากมีความเห็นว่าบทสัมพุทเธที่มีมาแต่เดิมนั้น มีคติข้างฝ่ายพระพุทธศาสนาแบบมหายาน ไม่ตรงต่อคำสอนพระพุทธศาสนาเถรวาท บทนะมะการสิทธิคาถานิยมสวดแพร่หลายในคณะธรรมยุตินิกายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ส่วนคณะสงฆ์มหานิกายยังคงใช้บทสัมพุทธเธที่มีมาแต่เดิมตามแบบอย่างพระสงฆ์ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นหลัก (แต่ในปัจจุบันใช้กันทั้งสองแบบตามความเหมาะสม)
นะมะการะสิทธิคาถา
(สัมพุทเธ)
สัมพุทเธ
สัมพุทเธ อัฏฐะวีสัญจะ ทวาทะสัญจะ สะหัสสะเก
ปัญจะสะตะสะหัสสานิ นะมามิ สิระสา อะหัง
เตสัง ธัมมัญจะ สังฆัญจะ อาทะเรนะ นะมามิหัง
นะมะการานุภาเวนะ หันตวา สัพเพ อุปัททะเว
อะเนกา อันตะรายาปิ วินัสสันตุ อะเสสะโต ฯ
สัมพุทเธ ปัญจะปัญญาสัญจะ จะตุวีสะติสะหัสสะเก
ทะสะสะตะสะหัสสานิ นะมามิ สิระสา อะหัง
เตสัง ธัมมัญจะ สังฆัญจะ อาทะเรนะ นะมามิหัง
นะมะการานุภาเวนะ หันตวา สัพเพ อุปัททะเว
อะเนกา อันตะรายาปิ วินัสสันตุ อะเสสะโต ฯ
สัมพุทเธ นะวุตตะระสะเต อัฏฐะจัตตาฬีสะสะหัสสะเก
วีสะติสะตะสะหัสสานิ นะมามิ สิระสา อะหัง
เตสัง ธัมมัญจะ สังฆัญจะ อาทะเรนะ นะมามิหัง
นะมะการานุภาเวนะ หันตวา สัพเพ อุปัททะเว
อะเนกา อันตะรายาปิ วินัสสันตุ อะเสสะโต ฯ
คำแปล
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๕๑๒,๐๒๘ พระองค์ด้วยเศียรเกล้า ขอนอบน้อมพระธรรมด้วย พระสงฆ์ด้วย ของพระสัมมาพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยความเคารพ ด้วยอานุภาพแห่งการกระทำความนอบน้อม จงขจัดเสียซึ่งสิ่งอันไม่เป็นมงคลทั้งปวง แม้อันตรายทั้งหลายเป็นอเนกจงพินาศไปสิ้น
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑,๐๒๔,๐๕๕ พระองค์ด้วยเศียรเกล้า ขอนอบน้อมพระธรรมด้วย พระสงฆ์ด้วย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยความเคารพ ด้วยอานุภาพแห่งการกระทำความนอบน้อม จงขจัดเสียซึ่งสิ่งอันไม่เป็นมงคลทั้งปวง แม้อันตรายทั้งหลาย เป็นอเนกจงพินาศไป
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒,๐๔๘,๑๐๙ พระองค์ด้วยเศียรเกล้า ขอนอบน้อมพระธรรมด้วย พระสงฆ์ด้วย ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยความเคารพ ด้วยอานุภาพแห่งการกระทำความนอบน้อม จงขจัดเสียซื่อสิ่งอันไม่เป็นมงคลทั้งปวง แม้อันตรายทั้งหลายเป็นอเนกจงพินาศไปสิ้น เทอญฯ
“พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ ที่เกิดจากพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ สามารถนำผู้คนออกจากทุกข์ในสังสารวัฏคือการเวียนว่ายตายเกิดอันนำมาซึ่งความเศร้าโสกเสียใจ ความคับแค้นใจ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความร้อนรน กระวนกระวายใจทั้งมวลได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นอานุภาพที่ไม่มีใครคัดค้านได้ในโลก อีกประการหนึ่ง คือ อานุภาพแห่งการน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธองค์ ด้วยการสวดสาธยายพระพุทธพจน์จนเกิดพุทธานุภาพในการต้านทานทุกข์ โศกโรคภัย และสรรพอันตรายทั้งหลายให้อันตรธานไปสิ้น เกิดความสุขสวัสดีในการดำรงชีวิต”