รู้สึกอยู่ในบุญ เมื่อพระอาจารย์แชมป์ แห่งวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เมตตาส่งภาพชุดนี้มาให้แต่เช้า ตามมาด้วยคลิปสั้นๆ ของเพื่อนที่ไปร่วมพิธีห่มผ้าแดงรอบองค์พระเจดีย์ภูเขาทอง ตั้งแต่ ๗ โมงเช้า
จากข้อมูลเพจ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เล่าว่า วันนี้ คือ งานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ และพิธีบวงสรวงผ้าแดง ณ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ประจำปี ๒๕๖๖ วันจันทร์ ที่ ๒๐พฤศจิกายน ๒๕๖๖ (วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒)
.
โดยมี พระเดชพระคุณพระธรรมโพธิมงคล เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยคณะสงฆ์วัดสระเกศฯ และพุทธศาสนิกชน อัญเชิญผ้าแดงห่มองค์พระเจดีย์พระบรมบรรพต หรือ “พิธีห่มผ้าแดงภูเขาทอง” ที่จัดขึ้นทุก ๆ ปี เนื่องในงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ หรืองานภูเขาทอง ที่ปฏิบัติสืบสานตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช รัชกาลที่ ๕
.
และ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พาณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานฝ่ายฆราวาส ร่วมพิธีอัญเชิญผ้าแดงห่มองค์พระเจดีย์พระบรมบรรพต หรือ พิธีห่มผ้าแดงภูเขาทอง การห่มผ้า พระเจดีย์ และมหาเจดีย์ เป็นการบูชา แสดงความเคารพต่อพระบรมสารีริกธาตุ ต่อพระรัตนตรัย
พิธีห่มผ้าแดง จัดขึ้นทุก ๆ ปี ในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ เกิดขึ้นจากความเชื่อว่าจะได้ อานุภาพแห่งการบูชาพระเจดีย์ด้วยผืนผ้าที่พระบรมสารีริกธาตุ และทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายนานาประการ
สีแดงเป็นสีแห่งมงคล เป็นสีแห่งความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต นอกจากนั้น สีแดงของผ้ายังเป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่ การได้มาถวายผ้าแดงก็เพื่อสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ประดิษฐานอยู่ภายในองค์พระเจดีย์ พระบรมบรรพต ภูเขาทอง ย่อมเกิดเป็นผลานิสงส์บันดาลความร่มเย็นเป็นสุข แก่ตนเองและครอบครัวตลอดจนประเทศชาติ บ้านเมือง จึงเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานตราบจนปัจจุบัน
ประวัติศาสตร์ พระบรมสารีริกธาตุ
กับ งานวัดภูเขาทอง
เมื่อครั้งที่เดินทางไปกราบพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระเจดีย์ภูเขาทองในวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๔ ได้กราบหลวงพ่อพระพรหมสิทธิ ในขณะนั้น ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า พระบรมสารีริกธาตุ บนภูเขาทอง วัดสระเกศ ฯ นี้มีความสำคัญมาก ตั้งแต่การขุดพบ การอัญเชิญมา แม้แต่การขุดพบในอินเดีย เขาก็บันทึกเป็นหลักฐานว่า การขุดพบ ขุดพบอย่างไร ชั้นดินที่ขุดอยู่ในชั้นอะไร เรื่องราวมาจากทางจดหมายเหตุทั้งหมด ดังในคำนำ หนังสือ “๑๑๒ ปี แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงกบิลพัสดุ์ สู่สยามประเทศ” เขียนโดยคณะสงฆ์วัดสระเกศ พุทธศักราช ๒๕๕๔ ตอนหนึ่งว่า เนื่องจากในปี พุทธศักราช ๒๔๔๐ มิสเตอร์วิลเลียม เปปเป ชาวอังกฤษ ได้ขุดพบผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จารึกอักษรโบราณ ความว่า เป็นพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในส่วนของศากยราชสกุล ได้รับการแบ่งไปในคราวโทณพราหมณ์ ได้รับหน้าที่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ภายหลังการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระหลังพุทธกาลนั้น
“รัฐบาลอังกฤษซึ่งปกครองประเทศอินเดียในขณะนั้น เห็นสมควรถวายพระบรมสารีริกธาตุแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แล้วพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ออกเดินทางไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากรัฐบาลอินเดียกลับสู่สยามประเทศและทรงพระกรุณาโปรดเกล้า และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ณ พระเจดีย์บรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศฯ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๒ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ ที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย แก่เจ้าพระยายมราชในคราวนั้นด้วย
“นับแต่วันบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในสมัยพระพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงปัจจุบันนั้นเป็นเวลา ๑๑๒ ปี แล้ว (ในปี ๒๕๕๔ หากนักถึงปัจจุบันก็ ๑๒๐ ปีพอดี)
และในปีนั้น ๒๕๕๔ ผู้สืบสกุลเจ้าพระยายมราช ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนนั้นมาถวายเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในโอกาสเฉลิมฉลอง ๒๖ พุทธศตวรรษ พระพุทธศาสนามีอายุ ๒,๖๐๐ ปี นับแต่กาลตรัสรู้แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันจะเป็นการสนองพระเดชพระคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้พระบรมสารีริกธาตุเป็นมรดกของพระพุทธศาสนา ประเทศชาติ บ้านเมือง และเป็นสิริมงคล แก่ประชาชนในชาติตลอดไป และเพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล ถวายเป็นพระพรชัยมงคล แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ในโอกาสมหามงคล ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๔
“คณะสงฆ์วัดสระเกศ พร้อมพุทธศาสนิกชนทั้งมวล เห็นสมควรอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งผู้สืบสกุลเจ้าพระยายมราช ได้อัญเชิญมาถวายนั้น ขึ้นไปประดิษฐานไว้ ณ พระเจดีย์บรมบรรพต (ภูเขาทอง) และได้จัดพิมพ์หนังสือ “ประวัติพระบรมสารีริกธาตุ ตามจดหมายเหตุ ร.ศ.๑๑๖ เป็นที่ระลึก”
หลังจากนั้นผู้เขียนก็นำเรื่องการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในช่วง ๒๖๐๐ ปี มาเขียนลงนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ และนสพ.คมชัดลึก ที่เคยทำงานอยู่ ด้วยความปีติ ที่ได้ทราบว่า พระบรมสารีริกธาตุองค์จริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ประดิษฐานอยู่ในประเทศไทยด้วยเหมือนกัน ทำให้มีกำลังใจในการปฏิบัติธรรมเพื่อให้รู้เห็นกายใจตามความเป็นจริงไปจนกว่าจะสิ้นทุกข์ในสังสารวัฏด้วยความศรัทธาในพระรัตนตรัยยิ่งชีวิต
ในปีนั้น นอกจากจะให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปสำคัญภายในวัดแล้ว เพื่อประกาศเกียรติคุณเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ซึ่งได้มรณภาพลง เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ที่ผ่านมา
ในฐานะที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นรองประธานสภาสงฆ์โลก นับเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกและรูปเดียวที่ก้าวขึ้นสู่การบริหารองค์การสงฆ์โลก เป็นคณะสงฆ์ไทยคณะแรก ที่เดินทางเยือนทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการตามคำนิมนต์ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เป็นคณะสงฆ์ไทยคณะแรกที่เดินทางเยือนนครรัฐวาติกัน กรุงโรม อย่างเป็นทางการ เป็นคณะสงฆ์ไทยคณะแรกที่เดินทางรอบโลก เพื่อสังเกตการณ์พระพุทธศาสนาและสานศาสนสัมพันธ์กับนานาอารยประเทศ
เป็นผู้ริเริ่มเชื่อมโลกพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทกับฝ่ายมหายานเข้าด้วยกัน และเป็นผู้ริเริ่มวางรากฐานการสร้างวัดในต่างประเทศ จนเกิดวัดไทยขึ้นทั่วโลก ในครั้งนั้น สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ จึงได้จัดนิทรรศการ ชุด “พระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก” พร้อมเปิดตัวภาพเขียนประวัติศาสตร์ “เย็นหิมะในรอยธรรม” ย้อนเส้นทางประวัติศาสตร์การเดินทางรอบโลกของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ร่วม ๖๐ ปี โดยเปิดให้ชม ระหว่าง ๑๐-๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๖ ที่ผ่านมา
และในวันอาทิตย์ ที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลา ๐๖.๐๐ น. ได้มีพิธีห่มผ้าแดงสักการะองค์บรมบรรพต
โดยริ้วขบวนอัญเชิญผ้าแดง ประกอบด้วย ขบวนรถบุปผชาติ ขบวนฉัตรธงทิว ขบวนเทวดา ขบวนพราหมณ์ ขบวนม้า และขบวนช้างอัญเชิญมณฑปประดิษฐานเกศา เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) ต่อด้วยขบวนพุทธศาสนิกชนอัญเชิญผ้าแดงยาวหลายกิโลเมตร ผ่านถนนราชดำเนิน ข้ามสะพานผ่านฟ้าลีลาส เข้าสู่ถนนหลานหลวง เลี้ยวขวาสี่แยกหลานหลวง ผ่านถนนจักรพรรดิพงษ์ เลี้ยวขวาสี่แยกแม้นศรี เข้าถนนบำรุงเมือง เลี้ยวขวาที่สี่แยกเมรุปูน เข้าถนนบริพัตร ข้ามสะพานมหาดไทยอุทิศ เลี้ยวขวาเข้าถนนดำรงรักษ์ เข้าสู่ถนนจักรพรรดิพงษ์ ข้ามสะพานนริศดำรัส แล้วเลี้ยวเข้าวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร โดยยึดตามพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ สมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ปราศจากอันตรายนานาประการ
สำหรับประวัติงานวัดสระเกศนั้นมีความเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร ที่ยังจัดมาจนถึงปัจจุบัน เริ่มมีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เกี่ยวเนื่องกับงานเทศกาล การละเล่นทางน้ำ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดให้ขุดคลองใหญ่ข้างวัดสระเกศขึ้นคลองหนึ่ง พระราชทานนามว่า“คลองมหานาค” เพื่อให้ชาวพระนครเล่นเพลงเรือ เล่นสงกรานต์ และลอยกระทง ในเทศกาลทางน้ำ ตามแบบอย่างคลองมหานาคที่ทุ่งภูเขาทอง ครั้งกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นเหตุให้เกิดงานวัดสระเกศสืบต่อมา
ครั้นต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงเห็นว่า ที่คลองมหานาค วัดสระเกศ เริ่มมีประชาชนมาเที่ยวงานเทศกาลทางน้ำมากขึ้นทุกปี จึงโปรดให้หล่อพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง ประดิษฐานไว้ที่ริมคลองท่าน้ำวัดสระเกศ เพื่อให้ประชาชนที่มาเที่ยวงานเทศกาลได้เคารพสักการะบูชา และถวายพระนามว่า “หลวงพ่อโต” ภายหลัง เมื่อบ้านเมืองเจริญมากขึ้น จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่เชิงบรมบรรพต ภูเขาทอง หันพระพักตร์ออกสู่คลองมหานาคเช่นเดิม
งานวัดสระเกศเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น และเป็นที่รู้จักของประชาชนอย่างกว้างขวางในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างภูเขาทองต่อจากรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ จนแล้วเสร็จ พระองค์ได้รับพระบรมสารีริกธาตุจากรัฐบาลอินเดีย ที่ขุดได้จากกรุงกบิลพัสดุ์ โดยมิสเตอร์ วิลเลียม เปปเป ชาวอังกฤษ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้บรรจุประดิษฐานไว้บนองค์บรมบรรพต ภูเขาทอง และโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ในช่วงเทศกาลลอยกระทง จนกลายเป็นประเพณีนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ สำหรับชาวพระนครที่เก่าแก่ที่สุดสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนเกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุ ไว้ในคอลัมน์ซอยสวนพลู หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ว่า“ประเทศไทยนี้มีเจดีย์และที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุมากมาย แต่ที่แน่ใจว่าพระบรมสารีริกธาตุองค์จริง คือ องค์ที่บรรจุที่บรมบรรพต ภูเขาทอง เพราะมีบันทึกเป็นจดหมายเหตุประกอบโดยละเอียดตั้งแต่ขุดพบ จนอัญเชิญจากประเทศอินเดียมาสู่ประเทศไทย ประกอบกับทางประเทศอินเดีย ก็มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานอีกด้วย”
ครั้นคณะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาถึงเมืองสมุทรปราการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานในวิหาร เกาะพระสมุทรเจดีย์ ทำเพื่อการเฉลิมฉลอง และที่พระสมุทรเจดีย์นี้เอง พระบรมสารีริกธาตุได้เกิดปาฏิหาริย์ ส่องแสงสว่างแวววาวออกจากองค์พระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่อัศจรรย์”
นอกจากนั้น วัดสระเกศยังเป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และราชวงศ์จักรี เดิมมีชื่อว่า “วัดสะแก” เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ไปราชการสงครามที่กรุงกัมพูชา ทรงทราบข่าวว่ากรุงธนบุรีเกิดจลาจล จึงยกทัพกลับมาถึงบริเวณวัดสะแก ทรงเห็นว่าเป็นสถานที่ต้องตามหลักพิชัยสงคราม จึงประกอบพิธีมูรธาภิเษกขึ้นบริเวณสระน้ำที่วัดสะแก อันเป็นที่ตั้งหอไตรในปัจจุบัน ก่อนเสด็จไปปราบจลาจลในกรุงธนบุรี ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ผ่านพิภพเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
ภายหลังเมื่อทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว จึงทรงสถาปนา “วัดสะแก” เป็น “วัดสระเกศ” พระอารามหลวง เพื่อเฉลิมพระเกียรติให้ต้องตามสถานที่ที่พระองค์ประกอบพิธีมูรธาภิเษก วัดสระเกศจึงถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และราชวงศ์จักรี
ต่อมา สระที่นำน้ำขึ้นมาทำน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีมูรธาภิเษกได้ถูกถมไป เพราะถือว่าสระน้ำที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้แล้วไม่ควรที่ประชาชนทั่วไปจะใช้อีก ยังคงปรากฏอยู่แต่หอไตร นอกจากนั้น ยังมีพระตำหนักรัชกาลที่ ๑ อยู่บริเวณเดียวกับหอไตร เดิมเป็นเรือนไม้ ต่อมารัชกาลที่ ๓ ได้เปลี่ยนเป็นตึกก่ออิฐถือปูนในคราวที่บูรณะวัดสระเกศทั้งพระอาราม เพราะพระองค์เกรงว่าหากพระตำหนักยังเป็นเรือนไม้อาจจะทรุดโทรมเสียหายได้ง่าย ภายในพระตำหนักมีภาพจิตรกรรมฝาผนังลวดลายกระบวนจีน อันแสดงถึงลักษณะเฉพาะของจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ ๓
พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) ในขณะนั้น กล่าวว่า “พระเจดีย์บรมบรรพต ภูเขาทอง ได้จำลองแบบมาจากพระเจดีย์วัดภูเขาทอง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความสูงประมาณ ๑๐๐ เมตร ความกว้างโดยรอบเส้นศูนย์กลางประมาณ ๕๐๐ เมตร สร้างโดยพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีถึง ๓ พระองค์ด้วยกัน คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
โดยใช้เวลาในการก่อสร้างเป็นเวลากว่า ๕ ทศวรรษ ครั้นสร้างแล้วเสร็จ รัชกาลที่ ๕ ก็ได้รับพระบรมสารีริกธาตุจากรัฐบาลอินเดีย ที่ขุดได้จากกรุงกบิลพัสดุ์ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้บรรจุประดิษฐานไว้บนองค์บรมบรรพต ภูเขาทอง และโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ นับว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มากที่เหตุการณ์มีความสอดคล้องกันเช่นนี้ งานเทศกาลนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ จะเริ่มด้วยการห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์ก่อนวันงาน ๓ วัน เพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า งานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุเริ่มขึ้นแล้ว เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ชาวพระนครให้ความสำคัญมาก เพราะเชื่อว่าเป็นพิธีทำให้เกิดสิริมงคล อานุภาพแห่งการบูชาพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในชีวิต แคล้วคลาดปลอดภัย เป็นความเชื่อที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล”
ท่านกล่าวต่อไปอีกว่า “เรื่องของอานุภาพการบูชาพระเจดีย์นั้น ปรากฏความว่า หลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๓ พรรษา เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายแก่ชาวเมืองเวสาลี ผู้คนประสบภัยพิบัตินานาประการ ทั้งข้าวยากหมากแพง ฝนแล้ง ภูตผีปีศาจทำอันตราย บ้านเมืองกระด้างกระเดื่อง เกิดโจรผู้ร้ายเข่นฆ่าชาวเมืองผู้บริสุทธิ์ ไม่เว้นแม้แต่สมณพราหมณ์ผู้ทรงศีล ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก
“ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จสู่เมืองเวสาลี ความทุกข์ความเดือดร้อนวุ่นวายก็พลันหายไปสิ้น เป็นที่น่าอัศจรรย์แก่ประชาชนโดยทั่วไป เมื่อโรคภัยไข้เจ็บหายก็ทำให้ประชาชนมาแวดล้อมพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ตรัสว่า สิ่งที่เกิดเช่นนี้มิใช่เรื่องน่าอัศจรรย์ แต่เป็นเพราะอานุภาพแห่งบุญบารมีที่พระองค์เคยเอาผ้าประดับบูชาเจดีย์ในอดีตชาติ ”
แม้วันนี้มาไม่ทัน วันหลังมาก็ได้ มากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้าได้ทุกวัน
พระเจดีย์บรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศฯ เปิดต้อนรับทุกท่านทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศที่เดินทางมาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และท่องเที่ยวทางธรรมไปในตัว
เพราะขณะเดินขึ้นภูเขาทอง ก็มีเสียงธรรมะตามสายของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ให้ฟังตลอดทาง ฟังแล้วรู้สึกชุ่มชื่นใจ ลืมความวุ่นวายสับสนจากโลกภายนอกไปได้ชั่วขณะ แม้เป็นชาวต่างชาติที่อาจฟังภาษาไทยไม่เข้าใจ ก็จะได้รับความสงบเย็นเมื่อค่อยๆ เดินขึ้นไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุ แล้วนั่งพัก หรือ นั่งทำสมาธิ อยู่กับลมหายใจเข้า-หายใจออก สักพัก ที่ด้านบนองค์พระเจดีย์ สัมผัสลมพัดเย็นสบาย มองเห็นทิวทัศน์ได้รอบทิศ
กรุงเทพมหานครยามค่ำคืนช่างงดงาม แสงไฟส่องสว่างเจิดจรัสทั่วพระนคร เหมือนนครหลวงแห่งนี้ไม่เคยหลับใหล เมื่อมองขึ้นเหนือยอดเจดีย์ “แสงฉัพพัณรังสีเรืองรองบนยอดองค์พระเจดีย์นั้น เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ยิ่งทำให้เกิดปีติ มองไปรอบข้าง ผู้คนต่างมีดอกไม้ธูปเทียนในมือ มีจิตใจมั่นคงแน่วแน่เดินทำประทักษิณเวียนขวารอบองค์พระเจดีย์ บูชาพระบรมสารีริกธาตุ บรรยากาศน่าศรัทธายิ่ง
เมื่อเดินกลับลงมาด้านล่างแวะไหว้ “หลวงพ่อโต” “หลวงพ่อดำ” “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)” และ “รอยพระพุทธบาท” ซึ่งประดิษฐานอยู่บริเวณรอบบรมบรรพต แต่พระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ทำให้สะดุดตามาก คือ พระพุทธรูปยืนสูงสง่า พระพุทธรูปองค์นี้ คือ “พระอัฏฐารส” พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามญาติ ศิลปะสกุลช่างสมัยสุโขทัยตอนต้น มีความสูงถึง ๑๐.๗๕ เมตร อายุเก่ากว่า ๗๐๐ ปี รัชกาลที่ ๓ อัญเชิญมาจากวัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก
แม้เราไม่ได้มีโอกาสมาร่วมงานห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์สุวรรณบรรพตในวันนี้ แต่ทุกๆ วัน ที่บรมบรรพต ภูเขาทอง วัดสระเกศ ก็เปิดต้อนรับทุกท่านตั้งแต่เช้าถึงเย็น มากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุหนึ่งเดียวในประเทศไทย แล้วตั้งจิตอธิษฐานเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานตามรอยธรรมที่พระพุทธเจ้าค้นพบ และตั้งบำเพ็ญเพียรอย่างไม่ย่อท้อ ก็จะทำให้เราใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า และอยู่บนเส้นทางที่จะนำจิตเราไปสู่ความสิ้นทุกข์ในสังสารวัฏในที่สุด ดังพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า