ช่วงนี้ถ้าติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์แล้ว ข่าวที่ร้อนแรงที่สุดตอนนี้น่าจะเป็นข่าวของเรื่องการได้รับประกันตัวของอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิของท่านโดยชอบตามรัฐธรรมนูญแล้วที่ได้รับการประกันตัว แต่สิ่งที่เป็นข้อถกเถียงหรือร้อนแรงกว่าก็คือ “ความชอบธรรมของการนุ่งห่มจีวรหลังออกมาจากเรือนจำ”

“ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” นุ่งห่มจีวรหลังออกจากเรือนจำ กับ “พระพิมลธรรมโมเดล” พระธรรมวินัย จารีต และกฎหมายบ้านเมือง

โดย พระธรรมวินัย จารีต และกฎหมายบ้านเมือง

(หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒)

        เพราะในสังคมมีความคิดแตกออกเป็น ๓ กลุ่ม โดยกลุ่มแรกบอกว่าท่านยังสามารถใส่จีวรได้โดยชอบตามพระธรรมวินัยและกฎหมาย กลุ่มที่สองมองว่าการที่ท่านนุ่งห่มจีวรผิดกฎหมายอาญากรณีแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ และกลุ่มที่สามยังงง ๆ อยู่ว่าที่ถูกธรรมแล้วท่านใส่ได้หรือไม่ได้กันแน่

ดังนั้นอาตมาจะได้อธิบายถึงข้อกฎหมาย พระธรรมวินัย และจารีต ในประเด็นดังกล่าวเป็นลำดับดังนี้

พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม
พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม
พระธรรมทูต ประเทศสกอตแลนด์

          ประเด็นแรก วินิจฉัยตามหลักพระธรรมวินัย ว่าด้วยเรื่องของการนุ่งห่มจีวร หรือถอดจีวร ได้หรือไม่อย่างไร ตามพระธรรมวินัยเรื่องนี้มีสาระสำคัญอยู่ว่า

“เวลาที่จีวรสูญหาย หรือมีภัยมาถึงตัว พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุใส่ชุดคฤหัสถ์ได้ เพื่อปกปิดตนเองให้พ้นจากภัยนั้น”

การที่อดีตกรรมการมหาเถรสมาคมถูกกล่าวหา ถูกฟ้องเป็นคดีในชั้นศาล และถูกจับกุม คุมขัง อยู่ในเรือนจำจึงถือได้ว่าเป็นภัยอีกประเภทหนึ่งของพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนา

          เมื่ออดีตกรรมการมหาเถรสมาคม มีภัยคุกคามจนต้องถูกบังคับให้ถอดจีวร โดยที่ท่านไม่ได้กล่าวคำลาสิกขา หรือไม่ได้มีเจตนาลาสิกขา แล้วใส่ชุดขาวอยู่ในเรือนจำ ซึ่งขณะท่านอยู่ในเรือนจำก็ยังดำเนินวิถีดังเช่นพระภิกษุตามพระธรรมวินัยเหมือนเดิม เมื่อท่านได้รับประกันตัว ทั้งคดีก็ยังไม่ได้ตัดสินและถึงที่สุด ท่านจึงมีความชอบตามพระธรรมวินัยทุกประการที่จะนุ่งห่มจีวร เพราะความเป็นพระภิกษุของท่านยังเหมือนเดิมไม่ได้สูญหายไปไหน

          ประเด็นที่สอง วินิจฉัยตามกฎหมายบ้านเมือง กรณีผิดกฎหมายอาญาเพราะแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ ตามหลักประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘ บัญญัติว่า “ผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวชในศาสนาใดโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

          ความผิดตาม ปอ.มาตรา ๒๐๘ องค์ประกอบความผิดภายนอก คือ (๑) ผู้ใด หมายถึง บุคคลธรรมดาคือบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่พระภิกษุได้แต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นพระภิกษุ อดีตกรรมการมหาเถรสมาคมจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดข้อนี้ เพราะท่านไม่ใช่บุคคลทั่วไป แต่ท่านมีสถานะเป็นพระภิกษุสงฆ์ตามพระธรรมวินัยหรือเป็นผู้บวชในพระพุทธศาสนาตามกฎหมายพระราชบัญญัติคณะสงฆ์อยู่แล้ว (๒) แต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวชในศาสนาใดโดยมิชอบ ตามข้อเท็จจริงนั้นตั้งแต่ก่อนเข้าเรือนจำ อยู่ในเรือนจำ และเมื่อได้รับการประกันตัวออกมา ท่านก็ยังคงสถานะเป็นพระภิกษุเช่นเดิม ท่านจึงมีความชอบที่จะนุ่งห่มจีวรได้ตามปกติวิถีของสงฆ์ จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดข้อนี้

เมื่อการกระทำดังกล่าวของอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดภายนอก จึงไม่จำเป็นต้องนำองค์ประกอบความผิดภายในเรื่อง เจตนา และเจตนาพิเศษมาวินิจฉัยต่อ ดังนั้นท่านจึงไม่ได้กระทำความผิดตาม ปอ.มาตรา ๒๐๘

ประเด็นที่สาม วินิจฉัยตามจารีตของคณะสงฆ์ ในอดีตของคณะสงฆ์ก็เคยเกิดมีเรื่องแบบนี้เช่นกัน กรณีของกรณีพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ที่เกิดจากการถูกกลั่นแกล้งหรือเป็นคดีการเมืองในยุคนั้นก็ว่าได้ เหตุเกิดเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๔  พระพิมลธรรมถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเข้าล้อมจับที่กุฏิ ด้วยข้อหากระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ และกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งถือว่าเป็นข้อหาที่ร้ายแรงมากในยุคนั้น และท่านได้ถูกบังคับให้ถอดจีวร โดยที่ท่านก็ไม่ได้กล่าวคำลาสิกขา แล้วใส่ชุดขาวถูกจองจำอยู่ในเรือนจำหลายปี พอท่านพ้นคดีออกมาจากเรือนจำท่านก็นุ่งห่มจีวรของพระภิกษุตามปกติเหมือนเดิม และภายหลังยังได้รับสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร)

          ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าจากข้อเท็จจริงของอดีตกรรมการมหาเถรสมาคมที่เกิดขึ้น ท่านจึงมีความชอบธรรมตามพระธรรมวินัย กฎหมายบ้านเมือง และจารีต สามารถนุ่งห่มจีวรหลังได้รับการประกันออกมาจากเรือนจำได้ เมื่อท่านออกมาจากเรือนจำแล้วไม่ว่าท่านจะพำนักอยู่ที่วัด เดินทางไปไหน หรือแม้แต่จะเดินทางไปขึ้นศาลก็ชอบธรรมที่จะนุ่งห่มจีวรได้เป็นปกติวิสัยเสมือนพระภิกษุทั่วไป

          และขอทิ้งท้ายด้วยสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “กฎหมายย่อมช่วยผู้บริสุทธิ์” ซึ่งตรงกับพุทธสุภาษิตที่ว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here