ธรรมบันดาลใจรำลึกวัยเยาว์ พระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร จากมโนปณิธาน อดีตพระราชกิจจาภรณ์
ก้าวข้ามความกลัว
“ สมัยก่อน โยมพ่อ (คุณพ่อเกิน วงศ์ชะอุ่ม) เคยสอนว่ายน้ำ ตอนเด็กๆ ไม่กี่ขวบ เวลาน้ำในแม่น้ำมูลขึ้นสูงในหน้าน้ำ มองไปทางไหนก็ไม่เห็นฝั่ง
มองไปข้างหน้า
“โยมพ่อใช้ความกลัว เพื่อสร้างความกล้าให้อาตมา โยมพ่อใช้มือทั้งสองจับตัวอาตมาให้ลอยอยู่เหนือน้ำ ให้กางมือกางเท้าออก แล้วบอกว่าให้มองไปข้างหน้า เมื่อมองไปข้างหน้าก็ไม่เห็นฝั่ง เพราะน้ำบุ่งสระพังเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกันกับแม่น้ำมูล น้ำท่วมเยอะมาก แล้วโยมพ่อก็ปล่อยมือจากตัวอาตมา มือและเท้าของอาตมาก็ตะเกียกตะกายตีน้ำ เพราะว่ายน้ำยังไม่เป็น ยิ่งตีน้ำก็ยิ่งจมลงๆ พอจมลงไป โยมพ่อก็จับยกขึ้นมาพยุงให้ลอยอยู่เหนือน้ำ บอกว่า มองไปข้างหน้า แล้วก็ปล่อยลงไปอีก ทำอยู่อย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า วันแล้ววันเล่า
“ในที่สุด เมื่อถูกฝึกบ่อยๆ ก็รู้วิธีการประคองตัวในน้ำได้ ไม่ต้องตีน้ำ ที่ตีน้ำในตอนแรกเพราะความกลัว ยิ่งตีก็ยิ่งค่อยๆ จมลง พอนานๆ ไปก็เข้าใจและรู้วิธี แค่ประคองเฉยๆ แทบไม่ต้องทำอะไรก็ลอยตัวไปได้ นั่นคือการสอนว่ายน้ำของโยมพ่อ ที่ไม่ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมืออะไร แต่ก็ทำให้อาตมาพบวิธีว่ายน้ำด้วยตัวเอง”
ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น (ปัจจุบัน พระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร) รำลึกความทรงจำในวัยเยาว์ ต่อมาว่า ที่เล่าเรื่องนี้เพราะกำลังจะอธิบายว่า มนุษย์เรามีศักยภาพที่จะทำอะไรได้หลายอย่าง ให้ขุดศักยภาพของตนเองออกมา เพียรฝึกฝนและทำหน้าที่ตามศักยภาพนั้น พระก็มีหน้าที่ของพระ ขณะเดียวกัน หน้าที่ของพระก็เป็นเรื่องภาวนาที่อยู่ภายในตัว แต่ก็ก็ต้องไปเกี่ยวข้องอยู่กับการปกครองของคณะสงฆ์ และเชื่อมโยงช่วยเหลืออยู่กับสังคมในทุกมิติ ตั้งแต่ครอบครัว หมู่บ้าน ชุมชน จนถึงประเทศชาติบ้านเมือง และขยายกว้างออกไปจนถึงนานาชาติ
จาก คอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๑๗ ความรักอันยิ่งใหญ่ในวัยเยาว์
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
กระดานชนวน
“แรกที่อาตมาเข้าเรียน ยังไม่มีสมุดหรือหนังสือ เข้าใจว่าหนังสือจะมีเฉพาะครู ยังใช้กระดานชนวนฝึกเขียน ทุกวิชาอยู่ที่กระดานชนวน พอเลิกเรียนกว่าจะกลับถึงบ้าน เด็กๆ ก็ใช้กระดานขว้างเป็นจานบินตามประสาเด็ก บางทีกระดานชนวนก็แตกระหว่างทางบ้าง ต่อมา ไม่นานทางการก็เปลี่ยนหลักสูตร มีสมุดดินสอมาแจก และเริ่มเข้าสู่การเรียนแบบสมัยใหม่อย่างจริงจัง
“พอวันหยุดเรียน ตกเย็นต้องเดินเท้าไปนอนที่ทุ่งนากับพ่อใหญ่แม่ใหญ่ กลางคืนมีหน้าที่สุมไฟไล่ยุงให้ควาย ก็สนุกไปตามเรื่อง ตื่นเช้ามาก็นั่งหัวเรือไปยามมองยามต้อนกับโยมพ่อใหญ่
แสงสว่างจากใจบรรพบุรุษ เมื่อบุตรหลานได้เข้าสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์
“โยมพ่อมีชีวิตไม่ต่างจากโยมพ่อใหญ่และชาวบ้านคนอื่นๆ ผูกพันอยู่กับทุ่งนาและสายน้ำ มีเรือ มีควาย มีทุ่งนาเป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งชีวิต ปีไหนฝนดีน้ำเต็มคันนา ข้าวกล้าเขียวขจีเต็มทุ่ง โยมพ่อจะนั่งมองสุดปลายนาฮัมเพลงผิวปากด้วยความอิ่มใจ ปีไหนน้ำท่วมหรือฝนแล้ง โยมพ่อจะนิ่งเงียบมีแววตาครุ่นคิด
“โยมพ่อสอนให้ดูลักษณะวัว ลักษณะควาย ว่า วัวควาย ลักษณะใดเป็นคุณ ลักษณะใดเป็นโทษ ควายเป็นคุณ แม้ปล่อยไปตามคันนาก็ไม่กินข้าวในนา และจะรู้เวลากลับเข้าคอกเข้าแหล่งเอง
“โยมพ่อบอกว่า เวลาสอนควายไม่ให้กินข้าว ต้องดึงใบข้าวให้ควายดม ตบปากควายเบาๆ แล้วบอกว่า อันนี้กินไม่ได้ ทำสองสามครั้งให้ควายจำ ถ้าควายมีลักษณะเป็นคุณจะไม่กินต้นข้าว ก็ปล่อยให้แทะเล็มกินหญ้าตามคันนาได้
“ระหว่างโยมพ่อ กับโยมพ่อใหญ่มีอะไรที่เหมือนกันมาก มีชีวิตจิตใจดี สม่ำเสมอราบเรียบ ไม่มีอารมณ์ขึ้นลง มองโลกในแง่ดี ขยัน กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เหมือนธรรมชาติให้โยมทั้งสองเกิดมาเพื่อเป็นพ่อลูกกัน แม้ออกเรือนอยู่บ้านคนละหลังได้อาหารอะไรมา โยมพ่อมักนึกถึงโยมพ่อใหญ่ โยมแม่ใหญ่ และโยมป้า ตกเย็นมักจะให้นำข้าวปลาอาหารไปส่งเสมอ“
อดีตพระราชกิจจาภรณ์ เล่าย้อนรำลึกความทรงจำให้ฟังถึงความสัมพันธ์ระหว่างชีวิต ต่อชีวิต ประดุจเทียนที่ส่องสว่างไปข้างหน้าอย่างไม่มีวันดับ และแสงสว่างยิ่งทอประกายในใจบรรพบุรุษ เมื่อบุตรหลานได้เข้าสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์
“คนที่นี่มีสายน้ำเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มีทุ่งนาเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณ ลูกหลานบุ่งสระพังจะจดจำท่าน้ำในบุ่งสระพังได้ทุกท่า จดจำหนองน้ำได้ทุกหนอง ท่าที่เถียงนาพ่อใหญ่เรียกว่าท่าชาละวัน เพราะเคยมีจระเข้ใหญ่ขึ้นที่ท่านี้จึงเรียก ท่าชาละวัน แล้วก็มีท่าหัวบุ่ง ท่าฮ่องหนองหมา ท่าโนนพระเจ้า ท่าเกลือ ท่าโนนวัด ท่ากกแต้ ท่าน้ำคำ ท่ากกไผ่ ไล่เรียงจากหัวบุ่งสระพังไปจนถึงปากบุ่งสระพัง จึงเป็นท่ากระโสบ ท่าหอ(เจ้าปู่) และท่าบ้านหัวบุ่ง มีบ่อเกลือ หน้าแล้งชาวบ้านจะมาต้มเกลือเก็บสะสมไว้ปรุงอาหาร และหมักปลาร้า ส่วนที่ปากบุ่งสระพัง มีหาดทราย ชาวบ้านก็จะมาช่วยกันขนทรายเข้าวัดหน้าสงกรานต์
“แม้ทุกข์ยากเช่นนี้ ชาวบ้านก็อยู่กันได้ตามประสาชาวบ้าน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แค่เรื่องปากท้องก็ยุ่งยากมากพอแล้ว จึงไม่มีใครมีกะจิตกะใจคิดเรื่องเรียนหนังสือ”
กระดานชนวนที่ถูกโยนเล่นหลังเลิกเรียนจนแตกไปหลายแผ่นในวัยเยาว์ เมื่อท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในขณะนั้น บวชเรียน และได้เรียนหนังสือในเพศบรรพชิตจนเติบใหญ่ ท่านกลับใส่ใจในการเรียนเป็นอย่างยิ่งจนจบปริญญาโททางด้านปรัชญา จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในเวลาต่อมา
จากคอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) หน้าธรรมวิจัย วันอังคารที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐ ตอนที่ ๑๓ วิถีพุทธ…ประดุจเทียนที่ส่องสว่างไปข้างหน้า โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ (หน้าธรรมวิจัย นสพ. คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๐)
“ครูบาอาจารย์เป็นกัลยาณมิตร เป็นแสงสว่างนำทางชีวิต เป็นนิมิต เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความรุ่งโรจน์ของชีวิต ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า กัลยาณมิตร คือ รุ่งอรุณแห่งความคิด เพราะก่อนที่แสงสว่างจะมาถึงยามเช้า ย่อมมีแสงแห่งรุ่งอรุณจับขอบฟ้าก่อน…”
ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ ในครั้งนั้น ย้อนอดีตเมื่อวัยเยาว์ให้ฟัง ในวันที่การศึกษาของพระเณรกำลังถูกลดความสำคัญลงไป จนแทบจะไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญเลยก็ว่าได้ หากไม่มีครูบาอาจารย์ผู้เป็นต้นแบบ เป็นพระเล็กๆ ที่มีวัตรปฏิบัติอันงดงาม ซุกตัวอยู่ในมุมหนึ่งของชุมชนเล็กๆ ที่ยังมีอยู่ทั่วประเทศเป็นผู้สร้างพระเณรให้มีความเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวทางธรรม วันนี้อนาคตพระพุทธศาสนาจะเป็นเช่นไร ดังที่ท่านเล่าต่อมาว่า…
“ที่เล่ามา ก็เป็นโอกาสได้เชิดชูวิถีการปฏิบัติของครูบาอาจารย์ และอีกอย่างหนึ่ง ก็เป็นการให้กำลังใจพระเล็กๆ หลวงปู่ หลวงตา หลวงพ่อ ที่ไม่มีชื่อเสียงเรียงนาม ที่ได้อุ้มชู ช่วยเหลือเด็กน้อยอยู่ตามมุมใดมุมหนึ่งของสังคม ให้มีโอกาสได้บวชเรียน ซึ่งท่านเหล่านั้นมีอยู่มากมายตามชนบททั่วประเทศ
“เด็กบางคนขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเรียนหนังสือ เมื่อมาบวชเป็นสามเณร ครูบาอาจารย์ก็ส่งเสริมให้เรียนต่อ ทั้งนักธรรม บาลี และวิชาการทางโลก ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย ก็เพื่อให้เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต ซึ่งตัวท่านเองก็อาจไม่รู้ว่า วันหนึ่งวันใดข้างหน้า สามเณรน้อยที่ท่านได้ดูแลด้วยความเมตตา คอยแนะนำพร่ำสอนให้มีวินัย ให้มีหลักธรรม พอประคับประครองตนเองให้พ้นปากเยี่ยวปากกา พอพึ่งตนเองได้เมื่อเติบโตขึ้นมา อาจกลายเป็นหลักของสังคม และเป็นที่พึ่งของคณะสงฆ์ ทำให้พระพุทธศาสนาสืบทอดต่อไปไม่สิ้นสุด
“ครูบาอาจารย์จึงเป็นกัลยาณมิตร เป็นแสงสว่างนำทางชีวิต เป็นนิมิต เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความรุ่งโรจน์ของชีวิต ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า กัลยาณมิตร คือ รุ่งอรุณแห่งความคิด เพราะก่อนที่แสงสว่างจะมาถึงยามเช้า ย่อมมีแสงแห่งรุ่งอรุณจับขอบฟ้าก่อน
“หลวงพ่อที่วัดปากน้ำ ( พระมงคลธรรมวัฒน์(บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) และอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร จึงเป็นรุ่งอรุณทางความคิดให้กับอาตมา เพราะท่านเป็นปราชญ์ที่อุทิศชีวิตและกำลังความคิดเพื่อชุมชนที่ท่านอยู่
แม้ชีวิตของท่านจะซุกตัวเงียบๆ อยู่กับชาวบ้านในมุมใดมุมหนึ่งของสังฆมณฑล ไม่แสดงตัว ไม่ปรากฏทั้งโดยนามและฉายา แต่ท่านก็มีมุมความคิด มีวิถีการปฏิบัติ มีวิธีการดำเนินชีวิตในรูปแบบและแนวทางของท่าน
“ชีวิตอาตมาได้พบเจอท่านทั้งสอง ได้เห็นวิถีพระบ้านของหลวงพ่อวัดปากน้ำ และวิถีพระป่าของอาจารย์มหามังกร จึงเป็นเหมือนขอบฟ้าได้เจอรุ่งอรุณทางความคิด
“โดยเฉพาะพระอาจารย์มหามังกร ที่มีวิถีแห่งพระป่าเป็นทางเดินของชีวิต แต่ขณะเดียวกัน ท่านก็ไม่ได้ทิ้งวิถีโลก ท่านเข้าใจโลก เรียนรู้โลก ท่านไม่ทิ้งข้อมูลข่าวสารของโลก อาตมาจึงได้ศึกษาซึมซับกับท่านมาช่วงหนึ่ง”
และนี่คือ ทิศทางทางความคิดของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในครั้งนั้น ที่มาจากหนังสือและการได้เรียนรู้อยู่กับครูบาอาจารย์ ที่อาจไม่มีชื่อเสียง แต่สำหรับศิษย์ ไม่ว่าครูจะเป็นใคร ย่อมยิ่งใหญ่ในใจศิษย์เสมอ …ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม
ครูบาอาจารย์ที่สำคัญของท่านเจ้าคุณเทอดซึ่งเป็นผู้ให้ชีวิตแรกที่เราไม่อาจผ่านเลยไปก็คือโยมพ่อใหญ่โทน โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม(คุณปู่ กับ คุณย่า) คุณพ่อเกินและคุณแม่หนูเพชร วงศ์ชอุ่ม ของท่าน ที่มีจิตใจอันงดงาม เป็นพระในบ้านที่ทำให้ท่านอบอุ่นมาตั้งแต่วัยเยาว์ และซึมซับความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ มาจากท่านอย่างเต็มเปี่ยม ดังที่ท่านเล่าให้ฟัง
“ขอเล่าย้อนกลับไปถึงการเรียนหนังสือในชนบทเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๒๐ สภาพทั่วไปของหมู่บ้านตามชนบทในยุคนั้น ส่วนมากยังไม่มีไฟฟ้า ต้องใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด และกระบอก(ขี้ใต้) ซึ่งทำจากน้ำมันยางนาและขี้ขอนดอก(ไม้ผุ)คลุกผสมกัน แล้วพันด้วยใบไม้รัดด้วยตอกให้เป็นท่อนราวศอกหนึ่ง ท่อนหนึ่งจุดได้ราวอาทิตย์เศษ
“ชาวบ้านต้องเข้าป่าหาขี้ขอนดอกและขี้ยางนามาทำกระบอกสะสมไว้ โยมแม่ใหญ่เล่าว่า ตอนที่ท้องโยมพ่อได้เข้าป่าไปหาขี้ขอนดอก หาเห็ด เจอเสือเข้าตกใจมาก เสือก็ตกใจ คนก็ตกใจ คนกับเสือต่างยืนจ้องหน้ากัน ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ได้แต่นึกถึงคุณพระคุณเจ้า นึกถึงผีปู่ ผีย่า ผีป่า ผีดง และลูกในท้อง แล้วก็นึกแผ่เมตตาให้เสือ หากไม่เคยมีเวรมีกรรมต่อกัน ก็ขออย่าทำอันตรายต่อกันเลย อยู่ดีๆ เสือก็เดินหันหลังหลบเข้าป่าไป
“ บ่อยครั้งที่โยมแม่ใหญ่มักเล่าเรื่องเสือให้ลูกหลานฟัง เหมือนเป็นช่วงสำคัญของชีวิตที่โยมแม่ใหญ่จดจำไม่ลืม และบทแผ่เมตตาบทแรกที่โยมแม่ใหญ่สอนให้ลูกหลานท่อง คือ “อโหสิๆ” ไม่ว่าจะทำอะไรก็ให้อโหสิ
“ใครทำอะไรที่ไม่ดีก็อย่าไปถือโทษโกรธเคือง
ให้อโหสิ ทุกครั้งที่ปล่อยสัตว์ ให้บอกว่า
“ชาตินี้ข้าปล่อยเจ้า ชาติหน้า ขอให้เจ้าปล่อยข้า”
พระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์ )
บทแผ่เมตตานี้ เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในทุกสถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี หากเราระลึกถึงการให้อภัยกันและกันอย่างสม่ำเสมอ เชื่อได้ว่า ความสุขใจจะแผ่ขยายออกไปให้กับคนรอบข้าง และกระเพื่อมไปยังผู้คนที่ห่างไกลได้อย่างแน่นอน และนั่นหมายถึงความสงบสันติในสังคมจักบังเกิดขึ้นต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด เพียงเพราะการอโหสิกรรม …
จาก คอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๑๒ . เรื่องของเสือและบทแผ่เมตตาของโยมแม่ใหญ่ โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐