“มารสูตร ” จากแนวความคิดของพระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙ ,ดร. สู่เรียนธรรมะจากพระไตรปิฎก เรื่องที่ ๑”พระราธะเถระ” ผู้ว่าง่าย ผู้ไม่โกรธ ผู้ปล่อยวางในขันธ์ พุทธบุตรของพระพุทธเจ้า ผู้เลิศทางด้านปฏิภาณ (จาก มารสูตร)

จาก พระไตรปิฎกฉบับหลวง  เล่มที่ ๑๗  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ๒. ราธสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑

เล่าว่า …

ในพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า “มาร มาร” ดังนี้ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล จึงเรียกว่า “มาร?”

             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรราธะ เมื่อรูปมีอยู่ มาร (ความตาย) จึงมี ผู้ทำให้ตายจึงมี ผู้ตายจึงมี เพราะฉะนั้นแหละ ราธะ เธอจงพิจารณาเห็นรูปว่า เป็นมาร เป็นผู้ทำให้ตาย เป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความทุกข์ เป็นตัวทุกข์ บุคคลเหล่าใดพิจารณาเห็นรูปนั้นอย่างนี้ บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมเห็นชอบ เมื่อเวทนามีอยู่ ฯลฯ

เมื่อสัญญามีอยู่ ฯลฯ เมื่อสังขารมีอยู่ ฯลฯ เมื่อวิญญาณมีอยู่ มารจึงมี ผู้ทำให้ตายจึงมี ผู้ตายจึงมี เพราะฉะนั้นแหละ ราธะ เธอจงพิจารณาเห็นวิญญาณว่า เป็นมาร เป็นผู้ทำให้ตาย เป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความทุกข์ เป็นตัวทุกข์

บุคคลเหล่าใดพิจารณาเห็นวิญญาณนั้นอย่างนี้ บุคคลเหล่านั้น ชื่อว่า ย่อมเห็นชอบ

พระราธะ :  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเห็นชอบมีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า?

          พระพุทธเจ้า :  ดูกรราธะ ความเห็นชอบมีประโยชน์ให้เบื่อหน่าย

         พระราธะ :  ความเบื่อหน่ายมีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า?

         พระพุทธเจ้า :  ดูกรราธะ ความเบื่อหน่ายมีประโยชน์ให้คลายกำหนัด

        พระราธะ : ก็ความคลายกำหนัดเล่ามีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า?

           พระพุทธเจ้า :  ดูกรราธะ ความคลายกำหนัดมีประโยชน์ให้หลุดพ้น

             พระราธะ :  ความหลุดพ้นเล่า มีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า?

             พระพุทธเจ้า  : ดูกรราธะ ความหลุดพ้นมีประโยชน์เพื่อนิพพาน

             พระราธะ :  นิพพานเล่ามีประโยชน์อย่างไร พระเจ้าข้า?

             พระพุทธเจ้า :  ดูกรราธะ เธอถามเลยปัญหาไปเสียแล้ว เธอไม่อาจเพื่อถือเอาที่สุดของปัญหาได้  ดูกรราธะ อันพรหมจรรย์เป็นคุณชาติหยั่งลงสู่นิพพาน มีนิพพานเป็นที่สุด อันกุลบุตรย่อมอยู่ประพฤติแล

ภาพประกอบโดย หมอนไม้
ภาพประกอบโดย หมอนไม้

จบ สูตรที่ ๑

           พระราธะมหาเถระ

พระพุทธสาวกของพระพุทธเจ้า

จุดเริ่มต้นที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สงฆ์อุปสมบทกุลบุตรด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ท่านพระราธะ เป็นองค์แรกในการอุปสมบทด้วยวิธีนี้

พระราธะมหาเถระ เกิดในสกุลพราหมณ์ ในนครราชคฤห์ เดิมชื่อ ราธะ สกุลของท่านเป็นสกุลที่มั่งคั่งสกุลหนึ่ง เมื่อราธพราหมณ์แก่เฒ่าชราบุตรภรรยาไม่เลี้ยงดู เป็นคนยากจนเข็ญใจ จึงไปอาศัยเลี้ยงชีพอยู่กับพระภิกษุในพระเวฬุวันมหาวิหาร

 ต่อมาราธพราหมณ์ มีความประสงค์อยากจะบวช แต่ไม่มีใครบวชให้ เมื่อไม่ได้บวชสมประสงค์ จึงมีร่างกายซูบผอม มีผิวพรรณหม่นหมองไม่ผ่องใส

พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์จึงตรัสถาม ทราบความแล้ว รับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า ใครระลึกถึงอุปการคุณของพราหมณ์ นี้ได้บ้าง

พระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าระลึกได้อยู่ ในวันหนึ่งข้าพระพุทธเจ้าเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ พราหมณ์ได้ ถวายอาหารแก่ข้าพระพุทธเจ้าทัพพีหนึ่ง

พระบรมศาสดาตรัสว่า ดีละ ๆ สารีบุตร สัตบุรุษเป็นคนกตัญญูกตเวที ถ้าอย่างนั้น สารีบุตร ให้พราหมณ์นั้นบวชเถิด

พระบรมศาสดาครั้นทรงอนุญาตให้พระสารีบุตรบวชราธพราหมณ์อย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งให้เลิกการอุปสมบทด้วยวิธีไตรสรณคมน์ ที่ได้ทรงอนุญาตไว้แล้วแต่เดิม ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ทรงอนุญาตให้สงฆ์อุปสมบทกุลบุตรด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ท่านพระราธะ เป็นองค์แรกในการอุปสมบทด้วยวิธีนี้

เมื่ออุปสมบทแล้ววันหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลว่า ขอพระองค์จงแสดงธรรม แก่ข้าพระพุทธเจ้าโดยย่อ ๆ ที่ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังแล้ว จักหลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว เป็นคนไม่ประมาท มีความเพียร ส่งจิตไปในภาวนา

พระบรมศาสดาตรัสสอนว่า “ราธะ สิ่งใดเป็นมาร ท่านจงละความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้นเสีย อะไรเล่า ชื่อว่า มาร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน มีความสิ้นไป เสื่อมไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา ชื่อว่า มาร ท่านจงละความกำหนัดพอใจในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นเสีย

 พระราธะรับโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสอนอย่างนี้แล้ว เที่ยวจาริกไปกับพระสารีบุตร ไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ครั้นพระราธะ ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ท่านพระสารีบุตรมาเฝ้าพระบรมศาสดา ๆ ทรงปราศรัยตรัสถามว่า สัทธิวิหาริกของท่าน นี้เป็นอย่างไร พระสารีบุตรกราบทูลว่า เป็นคนว่านอนสอนง่าย เมื่อแนะนำสั่งสอนว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนั้นไม่ควรทำ ท่านจงทำอย่างนี้ อย่าทำอย่างนั้น ดังนี้ ไม่เคยโกรธเลย

พระบรมศาสดาตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลาย ถือเอาเป็นตัวอย่างว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ว่าง่ายอย่างราธะเถิด เมื่ออาจารย์ชี้โทษ สั่งสอน อย่าถือโกรธ ควรคบแต่บัณฑิตที่ตนเห็นว่าเป็นคนแสดงโทษกล่าวชม ให้เป็นดุจคนชี้บอกขุมทรัพย์ให้ เพราะคบบัณฑิต เช่นนั้นมีคุณประเสริฐ ไม่มีโทษเลย และทรงยกย่อง สรรเสริญพระราธะ ว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายด้านปฏิภาณ คือ ญาณแจ่มแจ้งในพระธรรมเทศนา

ท่านพระราธะ ดำรงชนมายุสังขาร โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

ขอขอบคุณ แหล่งอ้างอิง : พระไตรปิฎกฉบับหลวง และ www.dhammathai.org

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here