มื่อการเดินทางท่องเที่ยวกับการธุดงค์เป็นหนึ่งเดียว

ชวนอ่าน การเดินทางท่องเที่ยว เพื่อพบทางข้างในตนเอง …

ท่องเที่ยว…โลกกะธรรม

๑. เริ่มปักหมุดตรงจุดสตาร์ท

โดย กิตติเมธี

หลายปีก่อนเมื่อผู้เขียนยังเป็นเด็กนั่งเล่นเลี้ยงวัวเลี้ยงควายอยู่ชายทุ่ง  ไกลทุ่งนาออกไป เกือบสุดสายตา  จะมองเห็นรถยนต์วิ่งกันดูเหมือนมดที่เดินตามๆ กันไป  คันหนึ่งตามกัน  อีกคันวิ่งสวนมา    จากนั้นความคิดก็ช่วยปรุงแต่งเรื่องราวไปต่างๆ นานาตามความเพ้อฝันของเด็กท้องไร่ท้องนาคนหนึ่งที่หวังว่าสักวันจะได้เข้าใกล้และร่วมเดินทางอยู่บนรถคันใดคันหนึ่งที่วิ่งผ่านไปนั้นบ้าง

กาลเวลาหมุนเวียนไปจนกระทั่งวันหนึ่งเด็กน้อยได้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพด้วยความบังเอิญผสมกับความตั้งใจ  ได้เห็นรถที่ตนเองเคยนึกฝันอยู่ในระยะสายตา  ได้ทดลองนั่งลงบนเบาะนิ่มๆ  ความรู้สึกเหมือนกำลังลอยอยู่ในอากาศ

ต่อนั้นความฝันก็ยังคงทำงานต่อไป  เมื่อแหงนมองขึ้นไปบนฟ้าเห็นนกเหล็กบินอยู่เคียงคู่กับก้อนเมฆ  ก็เริ่มฝันถึงการเดินทางด้วยความสูงระดับนั้นคงจะน่าตื่นเต้นไม่น้อย   แล้ววันเวลานั้นก็มาถึงจนได้  เมื่อขึ้นเครื่องบินครั้งแรก  กลายเป็นช่วงเวลาที่ประทับใจ  พอๆ กับความรู้สึกว่า  ภาพของโลกในวันที่เรานั่งฝันไปว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  เอาเข้าจริงกลับไม่ได้เป็นอย่างที่ใครๆ เขียนเล่าหรือบอกไว้  ทุกอย่างเราต้องไปเรียนรู้และสัมผัสเอง

         เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนเริ่มเรียนรู้โลกกะธรรมร่วมกัน  หรือที่พระพุทธศาสนาใช้กับคำว่า “โลกธรรม” (อ่านว่า โลก-กะ-ธรรม) โดยโลกที่ใครๆ ได้สัมผัสนั้นอาจมีคล้ายๆ กันคือโลกในฝันที่เรียกกัน

ว่า “โลก”  แบบที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้  สาเหตุที่เป็นอย่างนั้น  ก็เพราะเป็นโลกแห่งมายา ทุกสิ่งที่เรารับรู้เป็นแค่ภาพมายา  เต็มไปด้วยเรื่องลาภ (เงินทอง), ยศ (อำนาจ), สรรเสริญ (ชื่อเสียง) และความสุข ไม่ใช่ความจริง  ไม่นานก็จางหายไปทั้งสิ้น

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงหรือที่พระพุทธองค์ใช้คำว่า “ธรรม” ไม่ใช่แบบนั้น  ถ้าเราเผลอตกเข้าสู่วังวนแห่งมายาจะลืมโลกแห่งความจริงเหล่านี้ไปเสียสิ้นคือ  เสื่อมลาภ, เสื่อมยศ, นินทา  และที่สำคัญที่สุดคือ “ความทุกข์”  ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทำให้เรากลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงอีกครั้ง

ถ้าแบ่งให้ดูง่ายก็คือ

๑. โลก คือ ได้ลาภ       —กะ—        ธรรม คือ เสื่อมลาภ

๒. โลก คือ ได้ยศ        —กะ—          ธรรม คือ เสื่อมยศ

๓. โลก คือ สรรเสริญ    —กะ—          ธรรม คือ นินทา

๔. โลก คือ สุข — กะ —       ธรรม คือ ทุกข์

ในวังวนของชีวิตจึงปฏิเสธโลกทั้งสองแบบนี้ไม่ได้  แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ปฏิเสธโลกที่ผู้คนล้วนต้องการดูดี (รูปร่าง,หน้าตา), มีเงินทอง, มีชื่อเสียง และมีอำนาจว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรมี หรือไม่ควรได้   หากเพียงแต่หากใครต้องการจะมีสิ่งเหล่านั้น ก็ควรสร้างวิธีทางที่ดี ที่งดงาม เช่น การไม่โกรธ  ไม่ผูกอาฆาต  มีเมตตา  รู้จักแบ่งบัน เป็นต้น เพื่อสร้างสรรค์ให้สิ่งเหล่านั้นเป็นจริงขึ้นมา เพราะทุกสิ่งจะมีคุณค่าแก่เรา ก็เมื่อมีความงดงามแห่งความดี ในการเดินทางสู่ความสำเร็จที่น่าจดจำ

ผู้เขียนจึงเชื่อมั่นว่า  “การเดินทางก็คือการสร้างทาง”ที่จะทำให้เราเข้าใจในโลกที่เราอยู่นี้ได้มากขึ้นว่าจุดสมดุลที่จะหลอมหลวมโลกทั้งสองนั้นเข้าหากันหรือกึ่งกลางความพอดีที่เราอาจเรียกว่า ทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา)  หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า เหตุผล  ซึ่งตรงกับคำว่า Rational คำนี้มาจากคำในภาษากรีกว่า “ratio” ที่แปลว่า สมดุล  โดยความสมดุลดังกล่าวจะสร้างชีวิตเราไม่ให้เอียงไปด้านใดด้านหนึ่งจนขาดความเข้าใจต่อโลกที่เรามี

และสิ่งที่สำคัญก็คือ…

 เมื่อเรามีเส้นทางหรือเห็นทางที่คนอื่นเดินมาก่อน

แม้เราอาจจะไม่รู้ว่ามีจุดหมายอยู่ที่ใด

แต่เราก็มั่นใจได้ว่า  ต้องมีจุดหมายอยู่ที่ไหนสักแห่งแน่ๆ

เราลองสมมติเส้นทางชีวิตดูว่า  ถ้าชีวิตคือการเดินทางไปสู่จุดหมายคือ  “การรู้จักตัวเอง”  บางคนอาจบอกว่าอย่าเดินทางไปเป็นกลุ่มแต่จงไปคนเดียว  ดังที่นักจิตวิทยาอย่างมาสโลว์ (Abraham Maslow)  กล่าวถึงการตระหนักรู้ตัวเองอย่างแท้จริงข้อหนึ่งคือ การที่คนแต่ละคนต้องรู้สึกเป็นอิสระจากสิ่งแวดล้อม

ซึ่งดูเหมือนการเดินทางแบบคนเดียวนั้นจะทำให้เรารับรู้ความจริงและการเข้าใจตัวเองได้มากกว่าจะเดินร่วมกับกลุ่มคนแบบที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำว่า  “มนุษย์ทั้งหลายผู้ไม่สะอาด มีปัญญามุ่งประโยชน์ตน ย่อมคบหาสมาคมเพราะมีเหตุเป็นประโยชน์ ผู้ไม่มีเหตุมาเป็นมิตร หาได้ยากในทุกวันนี้ บุคคลพึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด”  แต่คำอธิบายนี้เหมือนจะบอกเป็นนัยว่า …

เมื่อไม่มีเพื่อนร่วมทางที่ดีพอก็ควรจะไปคนเดียวดีกว่า

แต่หากมีเพื่อนร่วมทางไปด้วย  และคุยกันได้  เตือนสติกันได้  ความไปเป็นคณะก็ดูจะน่าสนใจไม่น้อย  เพราะนั่นยิ่งทำให้เรารับรู้จักตัวเองมากขึ้น

ดังที่มหาตมะ คานธีนักปราชญ์ชาวอินเดียกล่าวไว้ว่า …

น้ำหยดหนึ่งที่แยกตัวมาจากมหาสมุทรย่อมเหือดแห้งไปมิได้ก่อประโยชน์ แต่หากหยดน้ำนั้นยังคงเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรก็สามารถแบกรับกองเรืออันเกรียงไกรไว้ได้อย่างสบาย

หรือที่สปิโนซ่า (Spinoza) นักคิดนักปรัชญาชาวตะวันตกก็ยืนยันความคิดนี้ด้วยเช่นกันว่า  “เราจะบรรลุถึงความสมบูรณ์ได้มากแค่ไหนก็อยู่ที่ว่าเราเข้าใจความสัมพันธ์และเครือข่ายมากมายมหาศาลที่เชื่อมโยงโลกทั้งมวลให้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้มากขึ้นเพียงใด”

แต่ไม่ว่าจะเดินทางคนเดียวหรือไปเป็นคณะ  การค้นพบก็เป็นเรื่องของแต่ละคนอยู่ดี  เพราะแต่ละคนก็มองในสิ่งที่ตนอยากเห็นและอยากเชื่อ  การต้องเดินตามรอยเท้าของคนอื่นเราอาจรับรู้ข้อมูลเดียวกันแต่อาจความคิดล้วนแตกต่างกัน

ถ้าโลกนี้คือกะลาใบใหญ่  เราก็จะอยู่ใต้กะลาที่มีกะลาใบเล็กๆ ที่อาจเรียกให้สวยหรูว่า มีหมวกสวมไว้คนละใบ  ให้เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  และต่างเชื่อกันไปว่าสิ่งที่ตนเองยึดถือเท่านั้นถูกต้อง  และดีที่สุด  แต่การเดินทางทำให้เราเห็นวิธีการที่จะหลอมรวมความเชื่อที่แต่ละคนมีนั้นเข้าหาความจริง  บางครั้งก็ทำสำเร็จ  แต่หลายครั้งที่พิสูจน์แล้วว่าสุดท้ายก็เหลือเพียงเศษซากของความสำเร็จ  และช่วยเตือนสติเราได้ทุกครั้งว่านี่คือความจริงอย่างที่สุด

ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่

สุดท้ายก็ดับไป

 เราก็แค่ผู้เดินทางผ่านมา  ได้เห็น  ได้เฝ้าดู  ก่อนจะเดินทางต่อไปจนกว่าจะพบจุดหมายที่เป็นของเรา

ทำให้หนังสือเล่มนี้  ผู้เขียนตั้งใจจะเขียนแค่ประสบการณ์การเดินทางเท่านั้น  แต่จะไม่เขียนถึงบทจบไว้ในทุกตอนที่ก้าวเดินไป  เพราะคิดว่าตราบที่ยังไม่พบจุดหมายที่ตนเองค้นหา  ก็เท่ากับเราการเดินทางของตัวเรานั้นยังไม่มีวันสิ้นสุด

ก้าวแต่ละก้าวได้ทิ้งร่องรอยไว้ นี่ก็แค่อีกหนึ่งรอยเท้าที่ได้ฝากเอาไว้…

 “กิตติเมธี”

กันยายน ๒๕๕๘

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ดร.

ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร

สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ดร.

ถาม การท่องเที่ยว เป็นการธุดงค์ได้ ไหม  เวลาพระเดินทาง มีข้อจำกัดอย่างไร บ้าง และมีความเป็นอิสระอย่างไรบ้าง

ตอบ การท่องเที่ยวตรงกับภาษาบาลีว่า จร แปลว่า เที่ยวไป ในทางพระพุทธศาสนานั้นเชื่อมโยงกับความหมาย ๒ ลักษณะคือ ๑. ความหมายในแง่ของฝึกตน การเที่ยวไปในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นการจึงมุ่งเน้นการจำกัดกิเลสอันเกิดจากความอยากและความยึดมั่นถือมั่น  ซึ่งตรงกับคำว่า ธุดงค์ หมายถึง องค์แห่งธรรมเป็นเครื่องกำจัดกิเลสคือตัณหาและอุปาทาน อาศัยเจตนาที่แน่วแน่ในการปฏิบัติ ในแง่มุมนี้ การเดินทางจึงไม่ต่างจากการฝึกตนให้เราลดละตัวตน ๒. ความหมายในแง่ของการเผยแผ่ธรรมะ โดยในพระไตรปิฎก พระวินัยปิฎกเล่ม ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ปรากฎข้อความว่า “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ” แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์” ในแง่มุมมนี้ การเดินทางท่องเที่ยวไปจึงเป็นการประกาศพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลก โดยเน้นความสุขสงบเป็นที่ตั้ง

          จากทั้งสองความหมายนี้ เราอาจรวมได้ว่า การเดินทางของพระนั้นมุ่งทั้งแง่การฝึกปฏิบัติตน ไม่ให้ติดที่อยู่ ติดเสนาสนะ และไม่ยึดมั่นในตัวตน เพราะเมื่อเราอยู่ต่างที่ต่างถิ่นจะเกิดการฝึกฝนตนเอง หรือมีมุมมองที่หลากหลายในการดำเนินชีวิตยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับพระปุณณะเดินทางไปสู่แคว้นสุนาปรันตชนบทที่มีคนดุร้ายอยู่ พระพุทธองค์จึงทรงถามถึงจิตใจของพระปุณณะว่าพร้อมแค่ไหนถ้าไปแล้วโดนทำร้าย พระปุณณะตอบว่า ถ้าถูกเขาว่า ก็ดีกว่าเขาตี ถ้าถูกตีก็ดีกว่าถูกฆ่า เป็นต้น จากคำตอบนี้ทำให้พระพุทธองค์ทรงบอกว่าท่านพร้อมแล้วสำหรับเดินทางไปได้ เพราะจิตใจของท่านได้ฝึกฝนมาอย่างดีแล้วและการฝึกนี้จะสมบูรณ์ขึ้นเมื่อท่านเดินทางไปยังสถานที่น่ากลัวเช่นนั้นและปฎิบัติได้โดยที่จิตใจท่านยังคงดีอยู่

ขณะเดียวกันการเดินทางยังได้เผยแผ่หลักธรรมะ และมอบความสุขสงบจากวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แก่ชาวโลกที่อาจจะหลงลืมรูปแบบวิถีชีวิตแบบนี้

แต่การท่องเที่ยวไปในโลกของพระนั้นมีข้อจำกัดไม่ควรไปในที่ไม่เหมาะสม เช่น แหล่งหญิงโสเภณี โรงสุรา  เป็นต้น และมีความอิสระตราบที่ยังคงสำรวมระวังในการเดินทางไปยังที่ต่างๆ แบบแมลงผึ้งที่ไม่เคยทำลายดอก สี และกลิ่นดอกไม้ดูดแต่น้ำหวานไป ฉันใด มุนีผู้ฝึกตนไม่ทำลายศรัทธาของชาวบ้านพึงเที่ยวไปในหมู่บ้าน ฉันนั้น

อย่างไรก็ตาม การเดินทางสำหรับพระนั้นก็ยังถูกมองว่า ไม่เหมาะสม ดูจากการแต่งกายบ้าง สถานที่บ้าง แต่ถ้าใครเดินทางบ่อยจะรู้ว่า สถานที่และเวลามีส่วนสำคัญในการสอนเรื่องการปรับตัว  เช่นที่มีพุทธานุญาตให้พระสงฆ์สวมรองเท้าที่ทำด้วยหนังเกินหนึ่งชั้นได้ในแคว้นอวันตีที่ขลุขละมาก โดยก่อนหน้านี้มีพระวินัยห้ามพระสวมรองเท้าเกินหนึ่งชั้น เป็นต้น ฉะนั้น คนที่เดินทางมากจะเข้าใจสถานที่ว่าควรปรับตัวอย่างไร และเวลาจะทำให้เราเปลี่ยนความคิดได้เสมอจึงอย่ารีบด่วนว่าอะไรผิดหรือถูกตราบเท่าที่เรายังไม่รู้แจ้งเห็นจริง หรือยังมีอวิชชาครอบงำอยู่

แต่สิ่งที่สำคัญและพิสูจน์การเดินทางในแต่ละครั้งของเราได้ดีที่สุด ก็คือเรามีกุศลคือความดีหรืออกุศลคือความชั่วในตัวเราเพิ่มมากกว่ากัน และได้สร้างความสุขสงบหรือสร้างความทุกข์แก่คนอื่นในการเดินทางนั้นหรือไม่ เมื่อเราตอบได้ การเดินทางนั้นของเราไม่ว่าพระหรือโยมล้วนมีธรรมะส่องสว่างนำทางเราก้าวเดินไปเสมอ

เจริญพร

กิตติเมธี

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here