ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๓)
๓. การบวชทำให้ชีวิตและสังคมงดงาม
โดย ญาณวชิระ
ชีวิตภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์เป็นชีวิตที่งดงาม และเต็มไปด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม ชีวิตภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์จึงเป็นชีวิตที่ผู้คนทั้งหลายต้องการให้ลูกหลานเข้าไปสัมผัส เพราะวิถีของนักบวชคือ การฝึกฝนอบรมตน ขัดเกลากิเลสให้เบาบาง สูงสุดเพื่อทำกิเลสให้สิ้นไป แม้จะบวชไม่นานนัก และยังไม่อาจกระทำในสิ่งสุดได้ในชาตินี้ แต่สิ่งที่ได้อานิสงส์หลังจากการลาสิกขาคือ มีคนนับหน้าถือตาในสังคม เนื่องจากผู้ที่ผ่านการบวชเรียนเขียนอ่านแล้ว เชื่อว่าจะเป็นคนดีน่าคบค้าสมาคม เมื่อคบเข้าแล้วก็เป็นที่หวัง หรืออบอุ่นใจได้ว่าจะไม่ทำให้ชื่อเสียงเกียรติยศเสียหาย และเป็นที่พึ่งแก่กันและกันได้ตลอดไป
ชีวิตที่ผ่านการบวชเรียนเขียนอ่านฝึกอบรมจิตใจ เป็นชีวิตที่งดงามด้วยความดี น่าคบค้าสมาคม นอกจากผู้ที่ผ่านการบวชจะทำชีวิตของตนเองให้งดงามแล้ว ยังทำให้สังคมงดงามด้วย
การบวชทำให้จิตใจงดงาม
ชีวิตภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นชีวิตที่เพียรพยายามเอาชนะจิตใจตัวเอง เป็นชีวิตที่ฝึกทวนกระแสจิต ถ้าโกรธก็จะไม่โกรธจนระงับไม่ได้ ถ้าเกลียดก็จะไม่เกลียดจนผูกใจเจ็บอาฆาตพยาบาทปองร้าย จนนำไปสู่การเข่นฆ่าทำลายล้างซึ่งกันและกัน
ถ้าจิตใจไม่มีข้อมูลขยะ คือ ความวิตกกังวลใดๆ ที่เป็นไปในทางที่ไม่ดี ไม่มีไฟ คือ ความโกรธ ความเกลียด ความอาฆาตพยาบาท ความอิจฉาริษยา เป็นต้น แผดเผาให้รุ่มร้อน จิตใจจะสงบทำให้เกิดความสงบเย็นได้ในระดับหนึ่ง
คนที่ผ่านการบวชมาแล้ว เท่ากับผ่านการฝึกกลั่นกรองไม่ให้ความกังวลเข้ามาสู่จิต ฝึกรับข้อมูลจริงและทิ้งข้อมูลขยะ ที่ถูกส่งผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ป้องกันไม่ให้ข้อมูลขยะ คือ ความโกรธเกลียด อาฆาต พยาบาท และวิตกกังวล เป็นต้น เข้ามาแผดเผาจิตใจ
ผู้ที่ผ่านการบวช และได้รับการฝึกหัดขัดเกลาที่ดี จึงเป็นคนมีความละเอียดสุขุม เป็นคนมองโลกในแง่ดี มองโลกตามความเป็นจริง มีความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งมาจากพื้นฐานจิตใจที่งดงาม
ล้อมกรอบ
หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน โดยสถาบันพัฒนาพระวิทยากร อุปถัมภ์การจัดพิมพ์โดย บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด ติดต่อขอรับได้เป็นธรรมบรรณาการ (ฟรี) จนกว่าหนังสือจะหมด ที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ
ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๓) “การบวชทำให้ชีวิตและสังคมงดงาม” โดย ญาณวชิระ จากคอลัมน์ ทำไมลูกผู้ชายต้องบวช ( หน้าธรรมวิจัย นสพ. คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒)