จรํ ติฏฺฐตุ พุทฺธสาสนํ ฯ
ขอให้พระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน
ญาณวชิระ
ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๑๒)
ความเข้าใจ เรื่อง มารผจญ
โดย ญาณวชิระ
เมื่อกำหนดวันบวชแล้ว ผู้จะบวชไม่ควรเที่ยวเตร่ยามค่ำคืนดึกดื่น ควรอยู่กับบ้านหรือวัด เพื่อท่องคำขอบวชให้ขึ้นใจ และศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการบวช อีกทั้งข้อปฏิบัติในชีวิตความเป็นพระภิกษุ เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้วจะได้ปฏิบัติกิจสงฆ์ได้ถูกต้อง ควรประคับประคองตนให้ตั้งอยู่ในศีล เป็นการฝึกชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดตั้งแต่ต้น
นอกจากนั้น ตามคติโบราณเชื่อว่า การบวชมีอานิสงส์มาก อาจเพื่อจะเผด็จผล ในสิ่งที่มวลมนุษย์พึงประสงค์ได้สูงสุด หากเหตุปัจจัยพรั่งพร้อม อาจเพื่อทำลายกิเลสในขันธสันดานบรรลุอริยธรรมขั้นสูง ถึงความเป็นพระอรหันต์สิ้นภพสิ้นชาติได้ในที่สุด หากไม่ถึงความสิ้นกิเลส ก็เป็นการทำเหตุปัจจัยเพื่อภพชาติต่อไป
การบวชมีอานิสงส์อย่างนี้ จึงอาจถูกขัดขวางจากผู้ไม่หวังดีหรือผู้มีเวรต่อกัน ไม่ว่าเขาเหล่านั้นอยู่ในฐานะมนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เทวาอารักษ์ หรือภูตผีปีศาจก็ตาม อาจเพื่อจะขัดขวางไม่ให้เราบรรลุในสิ่งที่พึงประสงค์ได้เช่นกัน ดังเรื่องของท่านพาหิยทารุจีริยะผู้ที่ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็นผู้ตรัสรู้เร็วเป็นตัวอย่าง
ท่านพาหิยทารุจีริยะ ได้เดินทางจากเมืองหนึ่งไปยังเมืองหนึ่งเพื่อที่จะฟังธรรม และบวชกับพระพุทธองค์โดยไม่พักค้างคืนที่ไหนเลย ท่านได้พบพระพุทธองค์ขณะกำลังบิณฑบาต ได้ฟังธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์และขอบวชในระหว่างทางนั่นเอง แต่พระองค์ยังไม่อนุญาต เนื่องจากยังไม่มีบาตรและจีวรบริขารเครื่องใช้สำหรับพระ พระพุทธองค์ให้ไปหาบริขารมาก่อนจึงจะบวชให้ ท่านพาหิยทารุจีริยะเดินตัดทุ่งไปโดยไม่ได้ระมัดระวังตัว ก็ไปพบโคแม่ลูกอ่อนซึ่งเคยผูกเวรกันไว้แต่ชาติก่อน พอโคแม่ลูกอ่อนเห็นท่านพาหิยทารุจีริยะ ความโกรธเกลียดก็พุ่งขึ้นมาทันที จึงวิ่งไปขวิดท่านเต็มแรงจนท่านเสียชีวิต
มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตชาติแม่โคอ่อนเคยเกิดเป็นหญิง ถูกท่านพาหิยทารุจีริยะกับพรรคพวกฆ่าข่มขืน จึงผูกเวรไว้ทุกภพทุกชาติ ในชาติปัจจุบันหญิงนั้นเกิดเป็นโคแม่ลูกอ่อน พอเห็นท่านพาหิยทารุจีริยะเดินตัดทุ่งมา เพราะแรงอาฆาตที่ฝังอยู่ในใจทำให้ความโกรธเกลียดพุ่งขึ้นมาทันที จึงวิ่งไปขวิดท่านจนถึงแก่ความตาย
ในกรณีมนุษย์ ทั้งคนรักคนชัง ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการบวชได้ คนชังก็หาวิธีการกลั่นแกล้ง ส่วนคนรักก็รักมากจนขาดความเข้าใจ กลัวว่าจะไปลำบาก จึงหาวิธีการหน่วงเหนี่ยว จนอาจเป็นจุดเปลี่ยนของความคิดหาทางขัดขวางไม่ให้บวชได้
โบราณจึงเชื่อว่า คนทำความดีโดยเฉพาะการบวชมักมีมารผจญ หรือมีอุปสรรคขัดขวางไม่ให้ทำได้สำเร็จ ในพระพุทธศาสนาท่านจำแนกมารไว้ ๕ จำพวก คือ
(๑) กิเลสมาร มาร คือ กิเลส
(๒) ขันธมาร มาร คือ ขันธ์ ๕
(๓) อภิสังขารมาร มาร คือ บุญและบาป
(๔) เทวปุตตมาร มาร คือ เทวบุตร
(๕) มัจจุมาร มาร คือ ความตาย
กิเลสมาร ได้แก่ มารที่เป็นกิเลส เป็นสิ่งที่นอนเนื่องในขันธสันดานขัดขวางไม่ไห้คนมีกิเลสหนาบวชได้ เพราะติดในรูป เสียง กลิ่น รส ติดในความสะดวกสบาย กลัวว่าบวชแล้วจะเป็นทุกข์ เนื่องจากไม่สามารถทำตามความต้องการได้ กิเลสจึงชื่อว่าเป็นมารที่ขัดขวางต่อการบวช
ขันธมาร ได้แก่ มารที่เป็นขันธ์ ๕ เนื่องจากร่างกายประกอบขึ้นจากขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ขันธ์ ๕ ทั้งหมดนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงจึงไม่คงทนถาวร นานเข้าก็จะแก่คร่ำคร่าใช้ประโยชน์ไม่ได้ ร่างกายสังขารขันธ์ที่แก่และมีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตอย่างนักบวช เป็นอุปสรรคต่อการประพฤติพรหมจรรย์ และเป็นภาระต่อเพื่อนสหธรรมมิก บางคนมีร่างกายพิการมาแต่กำเนิดอันเป็นผลมาจากอดีตกรรม บางคนก็เกิดจากปัจจุบันกรรม บางคนอ้วนไป บางคนผอมไป บางคนสูงไป บางคนเตี้ยไป ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคต่อการบวช ขันธ์ ๕ จึงชื่อว่าเป็นมารที่ขัดขวางต่อการบวช
อภิสังขารมาร ได้แก่ มารที่เป็นบุญและบาป คนที่อยู่ในระหว่างเสวยผลบุญมักไม่นึกถึงที่จะทำความดี มักจะหลงไปในอำนาจวาสนาที่เกิดจากผลบุญ ในขณะที่ผู้ที่กำลังเสวยผลบาปกรรม ก็จะไม่ได้คิดถึงเรื่องที่จะบวช เพราะขวนขวายที่จะประคับประคองชีวิตให้ดำรงอยู่ให้ได้ หรือขวนขวายเพื่อปากท้อง ทั้งบุญและบาปจึงเป็นมารขัดขวางไม่ให้บวช
เทวบุตรมาร ได้แก่ มารที่เป็นเทวบุตร เทวดาที่มีความคิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ เห็นผู้อื่นทำความดีจะเกิดอิจฉาขึ้นมาทันที และหาทางขัดขวางไม่ให้ทำการได้สำได้เร็จ
มัจจุมาร ได้แก่ มารคือความตาย ซึ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อคิดที่จะทำความดียังไม่ได้ลงมือทำ มัจจุมารก็ตัดรอนเสียก่อน จึงไม่มีโอกาสได้ทำ เพราะมัวแต่ไปคิดว่าทำสิ่งนี้ๆ ให้สำเร็จก่อนค่อยบวช จึงไม่ควรประมาทว่ายังมีเวลา อายุยังน้อย ยังเด็กอยู่เอาไว้ก่อน ความตายจึงชื่อว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางการบวช
มารผจญตามคติโบราณ
มารผจญตามคติโบราณ โดยทั่วไปหมายเอาเทวบุตรมาร คือเทวดาที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ คอยขัดขวางไม่ให้ทำความดี
คตินี้มาจากเมื่อครั้งพระพุทธองค์จะตรัสรู้มีพญามารวสวัตตีมาผจญ แต่พระองค์ก็เผชิญกับพญามารด้วยบารมี ๑๐ ทัศอย่างองอาจ จนสามารถชนะได้ด้วยชัยชนะอันยิ่งใหญ่ เหตุการณ์ครั้งนั้น ได้กลายมาเป็นคติความเชื่อสำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนาว่า จะทำความดีมักมีมารผจญ และมารที่ชอบผจญผู้ทำความดีมักมาจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี
สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตีนั้นเป็นเทวโลกชั้นสุดท้าย สวรรค์ชั้นนี้แปลกกว่าชั้นอื่น เพราะเป็นสวรรค์ที่มีเทพผู้เป็นใหญ่ปกครองอยู่ ๒ ฝ่าย คือ
(๑) ฝ่ายเทพยดา มีเทวาธิราชชื่อว่า “พระปรนิมมิตเทวราช” เป็นผู้ปกครองเหล่าเทพทั้งหลาย
(๒) ฝ่ายมาร มีพญามาราธิราชชื่อว่า “ท้าวปรนิมมิตวสวัตตีมาราธิราช” เป็นผู้ปกครองเทพฝ่ายมาร
คนทั่วไปรู้จักท้าวปรนิมมิตวสวัตตีมาราธิราชกัน ในนาม พญาวสวัตตีมาร เราทั้งหลายล้วนรู้จักมารท่านนี้ดี ในฐานะพญามารผู้ตามขัดขวางการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้ามาโดยตลอด จากพุทธประวัติตอนพระพุทธองค์ผจญมาร ซึ่งก็กลายมาเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่คนไทยเรานิยมสร้างกัน พระองค์มีพญาช้างที่มีกำลังมหาศาลชื่อครีเมขล์เป็นพาหนะคู่ใจ เป็นช้างที่มีพละกำลังมหาศาลก่อนตรัสรู้ พระพุทธเจ้าได้ผจญพญาวสวัตตีมารนี้
โปรดติดตาม “ทำไมลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๑๓) เล่าประวัติพญามาร” โดย ญาณวชิระ …ตอนต่อไป
หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / บริษัท โตโยต้า บัสส์ จำกัด ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ ขอรับหนังสือได้ฟรี ที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ
ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น