หนังสือ "ลูกผู้ชายต้องบวช" โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด  จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน ติดต่อขอรับหนังสือได้ที่ ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร  ทุกวัน จนกว่าหนังสือจะหมด
หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน ติดต่อขอรับหนังสือได้ที่ ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ทุกวัน จนกว่าหนังสือจะหมด

บรรพ์ที่  ๒

ความเข้าใจเรื่องการบวช

จากวิธีการ สู่ความมุ่งหมาย

และอุดมการณ์แห่งการบวชในพระพุทธศาสนา

ญาณวชิระ คือ นามปากกาของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น ภาพวาดลายเส้นพู่กันจีนโดย หมอนไม้
ญาณวชิระ คือ นามปากกาของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น ภาพวาดลายเส้นพู่กันจีนโดย หมอนไม้

โดย ญาณวชิระ

ตามตัวอักษร การบวชมาจากคำภาษาบาลีว่า

ปัพพัชชา  หรือ บรรพชา ที่คุ้นเคยในภาษาไทย เรียกตามภาษาชาวบ้านทั่วๆ ไปว่า บวช  

คำว่า “บวช” นี้ เป็นคำที่ใช้เรียกทั้งการบรรพชาและอุปสมบท  อุปสมบทเป็นพระภิกษุหรือบรรพชาเป็นสามเณรก็ตาม  ล้วนเรียกกันว่า  “บวช”  ทั้งสิ้น

 ในปัจจุบันแยกใช้ต่างกัน โดยเรียกตามขั้นตอนการบวช คำว่า บรรพชา ใช้สำหรับการบวชเป็นสามเณร ส่วนคำว่า อุปสมบท ใช้สำหรับการบวชเป็นพระภิกษุ

เดิมทีเดียวในตอนต้นพุทธกาลคำสองคำนี้ไม่ได้แยกกัน แต่จะเรียกผู้บวชว่า ผู้ได้รับการบรรพชาอุปสมบท เมื่อมีผู้ศรัทธาออกบวชมาก คณะสงฆ์ใหญ่ขึ้น พระพุทธองค์จึงมอบให้คณะสงฆ์เป็นผู้มีอำนาจในการบวชกุลบุตรกุลธิดา ผู้ที่จะบวชต้องผ่านการกลั่นกรองจากคณะสงฆ์ก่อน  รูปแบบการบวชจึงเปลี่ยนไป

            คำว่า บรรพชา หรือ บวช แปลตรงตัวว่า การงดเว้น  ผู้ที่บวชแล้วต้องงดเว้น จึงเรียกว่า บรรพชิต  คือ เว้นจากการมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างชาวบ้านทั่วๆ ไป การใช้ชีวิตอย่างพระภิกษุดูเหมือนว่าทวนกระแสสังคม   แต่ก็เข้ากับยุคสมัยได้อย่างกลมกลืนและงดงาม   

บรรพชาเณรเอิร์ต ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
บรรพชาเณรเอิร์ต ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

คำว่า งดเว้นนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตตามหลักพุทธธรรม เป็นวิถีชีวิตแห่งการศึกษาค้นคว้า ฝึกฝน อบรม และขัดเกลาตนตามแนวทางพระพุทธศาสนา โดยใช้ระบบการพัฒนาแบบศีล สมาธิ และปัญญา ที่เรียกว่าไตรสิกขา เป็นกรอบในการขัดเกลา เพื่อนำไปสู่การเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง รู้จักทำใจและปล่อยวางในบางเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต อยู่ในสังคมก็ไม่ถูกกระชากให้กระเด็นกระดอนไปตามกระแสสังคม ไม่ระเริงหลงจนเกินไปเมื่อถึงคราวประสบสุข  ไม่สยบยอมก่นเศร้าร้าวฉานจนโลกจะแตกไปเป็นเสี่ยงๆ ให้ได้ เมื่อถึงคราวที่มีทุกข์ทับ   ไม่สุขจนขาดสติ และไม่ทุกข์จนขาดปัญญา

           คนเราเกิดได้เพราะมีพ่อแม่เป็นผู้ให้กำเนิด แต่ชีวิตความเป็นพระภิกษุเป็นชีวิตที่เกิดโดยธรรม อาศัยธรรมวินัยจึงเกิดได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่วาเสฎฐสามเณรและภารทวาชสามเณรที่บุพพารามว่า 

 “วาเสฏฐะทั้งหลาย อนึ่ง ศรัทธาของบุคคลใดแลตั้งมั่นในตถาคต หยั่งรากฝังลงลึกลงดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง  ทั้งสมณะ  พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ก็ตามในโลกนี้ ชักนำเขาไปทางอื่นไม่ได้ บุคคลนั้นสมควรกล่าวด้วยความภูมิใจอย่างนี้ว่า “เราเป็นบุตร เป็นโอรสที่เกิดจากพระโอษฐ์ เกิดมาจากธรรม เนรมิตมาจากธรรม เป็นทายาทโดยธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า” ข้อนี้เป็นเพราะเหตุไร?  เป็นเพราะคำว่า ธรรมกายก็ตาม พรหมกายก็ตาม ธรรมภูตก็ตาม พรหมภูตก็ตามนี้ เป็นคำสำหรับใช้เรียกแทนชื่อ  ตถาคต ทั้งนั้นแล” (อัคคัญญสูตร ๑๑/๙๑/๕๕)

            ชีวิตที่เกิดโดยธรรมตามที่ตรัสนี้ พระพุทธองค์แสดงไว้ในโอวาทปาติโมกข์, เป็นชีวิตแห่งความสงบเสงี่ยมเรียบง่าย  อ่อนน้อมถ่อมตน สำรวมระวัง ไม่กระทบกระทั่ง ไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้าย รู้จักประมาณในอาหาร มีที่นั่งที่นอนอันสะอาดสงัดไม่ระคนด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นไปเพื่อขวนขวายแสวงหาพวกพ้องบริวาร มีความเพียรเพ่งพินิจ ไม่อิจฉาริษยา ไม่พยาบาทปองร้าย แม้ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญสมาธิอยู่ก็ไม่เป็นไปเพื่อต้องการโอ้อวดคนอื่นว่าตนเองปฏิบัติธรรม ไม่เป็นไปเพื่อดูหมิ่นคนอื่นว่าเขาไม่ปฏิบัติธรรม อุทิศชีวิตเพื่อประโยชน์และสันติสุขแก่สังคม สมกับพระดำรัสที่พระพุทธองค์ตรัสแก่สาวกเมื่อครั้งแรกที่ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาว่า

            “พระภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์และเป็นของมนุษย์  แม้พวกเธอเองก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์และเป็นของมนุษย์ พระภิกษุทั้งหลาย ขอให้พวกเธอทั้งหลายเที่ยวจาริกรอนแรมไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก   เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อย่าไปทางเดียวกันสองรูป  ดูก่อนพระภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงแสดงธรรมให้งดงามในเบื้องต้น ให้งดงามในท่ามกลาง ให้งดงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง…แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรมเหมือนกัน” (๔/๓๙-๔๐/๓๒) 

           พระพุทธพจน์บทนี้ เป็นเสมือนสุนทรพจน์ที่ประกาศอุดมการณ์ของความเป็นพระภิกษุไว้อย่างสมบูรณ์และชัดเจนที่สุด  เป็นเครื่องยืนยันว่า ชีวิตความเป็นพระภิกษุเป็นชีวิตที่มีเป้าหมาย และมีแนวทางเพื่อนำไปสู่เป้าหมายนั้นอย่างชัดเจน มีความตื่นตัวอยู่เสมอ พร้อมจะฝึกฝนพัฒนาตน เพื่อให้เข้าใจโลกและชีวิตที่ไหลเวียนไปตามกระแสแห่งไตรลักษณ์ ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นจนอยู่เหนือกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกและชีวิต  อุทิศกำลังกายและกำลังใจเพื่อประโยชน์เพื่อสันติสุขของสังคมส่วนรวม

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

พระพุทธพจน์ดังกล่าว เป็นทั้งปณิธานแห่งชีวิตของความเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และเป็นทั้งอุดมการณ์ที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้แก่สาวกผู้เจริญรอยตามแบบอย่างวิถีชีวิตของพระองค์ ให้สาวกได้ตระหนักถึงการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า

หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน ติดต่อขอรับหนังสือได้ที่ ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ทุกวัน จนกว่าหนังสือจะหมด

(โปรดติดตาม ” ทำไม …ลูกผู้ชายต้องบวช ” ตอนต่อไป)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here