ญาณวชิระ คือ นามปากกาของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น  ภาพวาดลายเส้นพู่กันจีนโดย หมอนไม้
ญาณวชิระ คือ นามปากกาของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น ภาพวาดลายเส้นพู่กันจีนโดย หมอนไม้

ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๗) พ่อแม่ คือ ครูอาจารย์คนแรกของลูก โดย ญาณวชิระ จากหนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช”

หนังสือ "ลูกผู้ชายต้องบวช " เรียนรู้วิถีชีวิตลูกผู้ชาย ภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เพื่อเรียนรู้ชีวิตพระภิกษุที่สมบูรณ์   โดย ญาณวชิระ
หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช ” เรียนรู้วิถีชีวิตลูกผู้ชาย ภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เพื่อเรียนรู้ชีวิตพระภิกษุที่สมบูรณ์ โดย ญาณวชิระ

พ่อแม่ คือ ครูอาจารย์คนแรกของลูก

พ่อแม่เป็นครูอาจารย์คนแรกของลูก เพราะจากวันที่ลูกเกิดท่านเป็นคนแรกที่คอยพร่ำสอนลูกอยู่ตลอดเวลา  สอนลูกให้เรียกคนนี้ว่า ป้า ให้เรียกคนนั้นว่า ลุง ให้เรียกคนทั้งหลายรอบตัวเหมือนญาติของตนเอง  เพื่อต้องการฝากฝังให้ทุกคนรักลูกของท่าน  และท่านก็เป็นครูของลูกตลอดไป  ตั้งแต่เล็กจนโต  เป็นครูอยู่ตลอดไปไม่มีเกษียณอายุ  แม้จากโลกนี้ไปแล้วก็ยังเป็นครูของลูกอยู่ เพราะเราคือท่าน ทุกสิ่งที่ท่านสอนอยู่ในตัวเรา พ่อแม่จึงเป็นครูที่วิเศษสุดอย่างยิ่งในชีวิตของลูก 

พ่อแม่ คือ พระอรหันต์ของลูก 

พระอรหันต์นั้น คือ  ผู้บริสุทธิ์  มีกายบริสุทธิ์  มีวาจาบริสุทธิ์  และมีใจบริสุทธิ์ พ่อแม่เป็นผู้มีจิตใจที่บริสุทธิ์ต่อลูกอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยทำให้ลูกเดือดร้อน  ไม่เคยคิดให้ลูกประสบสิ่งที่เป็นอันตรายแม้แต่เพียงเล็กน้อย จิตเช่นนี้แหละที่เรียกว่าจิตบริสุทธิ์ของพ่อแม่   ซึ่งเป็นพระอรหันต์สำหรับลูก เพราะพระคุณต่างๆ ของท่านมีมากมายดังที่กล่าวมานี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องพ่อแม่ไว้อย่างสูง ยากที่จะเทียบได้ จึงตรัสสอนให้รู้จักตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ แม้จะยกแม่ไว้บนไหล่ข้างหนึ่ง  ยกพ่อไว้บนไหล่ข้างหนึ่ง ให้ท่านถ่ายอุจจาระปัสสาวะอุปัฏฐากบำรุงท่านตลอดชีวิต  ก็ยังตอบแทนคุณไม่หมด

พ่อแม่ คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของลูก

แม้ว่าเราจะแสวงบุญด้วยการไปไหว้พระที่ไหนก็อย่าลืมไหว้พระคือพ่อแม่ พระคือพ่อแม่เป็นพระประจำบ้าน  แม้จะไปไหว้เทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนก็อย่าลืมไหว้เคารพพ่อแม่ซึ่งเป็นเทวดาศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านของเรา 

บางคนออกเที่ยวกราบไหว้พระทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตกโดยรอบ ด้วยคิดว่าพระที่อยู่ ณ นั้นเป็นพระอรหันต์  เป็นพระอริยะเจ้า  เป็นพระศักดิ์สิทธิ์  เที่ยวกราบไหว้บูชาภูผา ต้นไม้ และหุบเขา โดยคิดว่ามีเทวดาศักดิ์สิทธิ์สิงอยู่  แต่ไม่เคยกราบไหว้พ่อแม่ตนเองเลย  เพราะลืมคิดไปว่าพระอรหันต์อยู่ในบ้านแล้ว ก็แล้วเทวดาที่ไหนจะอำนวยประโยชน์แก่เขา ในเมื่อพ่อแม่ของตนก็ยังไม่เห็นความสำคัญ

คุณพ่อคุณแม่บวชให้เณรเอิร์ต ที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
คุณพ่อคุณแม่บวชให้เณรเอิร์ต ที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

การบวช คือ การตอบแทนบุญคุณพ่อแม่

ความกตัญญูเป็นหลักธรรมประจำใจที่สำคัญที่คนไทยยึดถือ หากมีโอกาสในชีวิตของลูกผู้ชายคนหนึ่ง สิ่งที่จะให้ตกหล่นหายไปไม่ได้ คือการแสดงความกตัญญู  และความกตัญญูสูงสุดสำหรับลูกผู้ชายที่นับถือพระพุทธศาสนาควรทำ  คือ การมีโอกาสบวชในพระพุทธศาสนา

การทำได้เช่นนี้ ชื่อว่าได้ทำหน้าที่ของลูกผู้ชายอย่างสมบูรณ์  จัดได้ว่าเป็นบุตรที่ประเสริฐ เพราะยกบิดามารดาสู่มรรคาแห่งสวรรค์  ในทางพระพุทธศาสนาได้จำแนกบุตรไว้  ๓ ประเภท  ดังนี้

 (๑) อวชาตบุตร  ลูกเลว

ลูกที่ไม่ทำหน้าที่ของลูกต่อพ่อแม่เหมือนลูกคนอื่นๆอวชาตบุตรเกิดมาเพื่อล้างผลาญทรัพย์สมบัติของพ่อแม่ ทำลายชื่อเสียงเกียรติยศของวงศ์ตระกูล แม้พ่อแม่จะเจ็บปวดทุกข์ระทมใจเพราะพฤติกรรมของลูกเช่นนี้  แต่เพราะรักลูกจึงไม่กล้าแม้แต่จะว่ากล่าวตักเตือน หรือทำโทษ แม้ลูกจะทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็พยายามปกป้องลูก

(๒) อนุชาตบุตร  ลูกที่ทำหน้าที่ของลูก 

ลูกที่ไม่ทำให้พ่อแม่ทุกข์ร้อนใจตั้งอยู่ในโอวาทคำสั่งสอน มีความกตัญญูเลี้ยงดูพ่อแม่ตามหน้าที่ของลูกที่พึงกระทำต่อพ่อแม่ผู้มีพระคุณ เมื่อมีความผิดพ่อแม่ว่ากล่าวตักเตือนหรือทำโทษตามความ ผิดก็น้อมรับด้วยความเชื่อฟัง

(๓) อภิชาตบุตร    ลูกที่ประเสริฐ   

ลูกที่ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ของลูก    ด้วยการเชื่อฟังคำสอน เลี้ยงดูพ่อแม่  ด้วยความกตัญญูเท่านั้น  แต่ยังนำพ่อแม่เข้าสู่ทางทางแห่งสวรรค์ด้วย

ความกตัญญูที่บ่งบอกถึงความเป็นอภิชาตบุตรนั้น ได้แก่คุณค่าแห่งจิตใจที่งดงามอ่อนโยนงดงาม ไม่แสดงอาการก้าวร้าวรุนแรงต่อผู้มีพระคุณทั้งความคิด คำพูดและการแสดงออกทางกาย รู้จักคุณความดีที่ท่านทำแก่ตนแล้วจดจำใส่ใจไว้ ตระหนักนึกอยู่เสมอถึงคุณความดีนั้น ไม่ลบหลู่ ไม่ดูหมิ่นดูแคลน ไม่เหยียดหยาม ไม่เสแสร้งแกล้งทำ  มีความอ่อนน้อมโดยธรรมชาติ เมื่อมีโอกาสก็ตอบแทนด้วยสำนึกในพระคุณนั้น 

ความกตัญญูนี้เองเป็นมงคลสูงสุดอย่างหนึ่งในชีวิต  คนเรามักมองข้ามมงคลอันหาประมาณมิได้คือความกตัญญูนี้ไปไขว่คว้าหามงคลจากที่อื่น เขาย่อมผิดหวังอยู่ร่ำไป  เพราะชีวิตอย่างชาวบ้านไม่มีมงคลใดจะอำนวยประโยชน์แก่ลูกๆ ได้อย่างสมบูรณ์เท่าความกตัญญู

บางคนน่าสงสาร เที่ยวกราบไหว้ต้นไม้ จอมปลวก  ภูผา เทวรูป  ก้อนหิน ฯลฯ โดยหวังที่จะให้เกิดมงคลสุขสวัสดิ์แก่ชีวิต แต่ไม่เคยกราบไหว้พ่อแม่ของตน เพราะเหตุที่ขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่ทราบว่าพ่อแม่ผู้มีพระคุณเป็นมงคลสูงสุดสำหรับตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ความสุขสวัสดีจะเกิดแก่ตัวเราได้อย่างไร

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสิ่งที่จะทำให้เกิดมงคลแก่ชีวิตคนเราไว้ ๓๘ ประการ หนึ่งในมงคล ๓๘ ประการนั้น  คือ “ความเป็นผู้กตัญญู” รู้จักเลี้ยงดูบิดามารดา   พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมงคลสูตรว่า

 “มาตาปิตุ  อุปัฏฐานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง”

แปลว่า

“การเลี้ยงดูมารดาบิดาเป็นมงคลสูงสุด”

ถ้าขาดความกตัญญูเสียอย่างแล้ว อย่าได้หวังว่าชีวิตจะมีมงคล

คำว่า “กตเวที”  คือ การแสดงออกว่าตนเป็นคนกตัญญู หรือการตอบแทนคุณความดีของผู้มีพระคุณ เมื่อผู้ใดทำอุปการคุณแก่เราแล้วก็พยายามหาทางตอบแทนคุณเมื่อมีโอกาส เช่น ลูกๆได้รับอุปการะเลี้ยงดูจากพ่อแม่จนเติบโต มีสติปัญญาประกอบสัมมาอาชีพมีรายได้เป็นหลักฐานแล้ว ก็เลี้ยงดูพ่อแม่เพื่อสนองพระคุณท่านตอบแทน  โดยพื้นฐานจิตใจแล้ว พ่อแม่ไม่ต้องการอะไรจากลูก แต่เป็นภาระโดยหน้าที่ของลูกที่จะต้องทำ ทำเพราะความเป็นลูกซึ่งไม่มีคำอธิบายมากไปกว่าเป็นการแสดงความกตัญญู  มิใช่ทำเพราะพ่อแม่อยากให้ทำ หรือทำตามค่านิยมของสังคม

โดยมากคนมักคิดกันว่าเลี้ยงดู คือการให้ข้าวปลาอาหาร ให้สิ่งของเท่านั้นก็ถือว่าเลี้ยงแล้ว จะชื่อว่าเลี้ยงต้องเลี้ยงทั้งกายและใจ  เพราะบางคนพ่อแม่แก่แล้วให้กินข้าวปนน้ำตาก็มี ความจริงเขาก็เลี้ยงด้วยข้าวปลาอาหาร แต่ก็มีคำพูดหรือกิริยาทิ่มแทงให้เจ็บใจ คนแก่ก็เลยต้องกินข้าวกับน้ำตา  เรียกว่าเลี้ยงกายแต่ไม่ได้เลี้ยงใจ  ในทางพระพุทธศาสนาได้แสดงการเลี้ยงพ่อแม่ไว้ ๒ ประการ คือ

เลี้ยงกาย ได้แก่ การให้ข้าวปลาอาหารเครื่องใช้สอย โดยตระหนักนึกความกตัญญูที่มีต่อท่าน

ด้วยคิดว่าพ่อแม่แก่แล้ว  หมดเรี่ยวแรง หากินเองไม่ได้ต้องอาศัยเรา และท่านเป็นพระอรหันต์ของเรา เป็นอรหันต์ในบ้าน  เป็นพระในบ้าน ปฏิบัติต่อพระภิกษุอย่างไรจงปฏิบัติต่อพ่อกับแม่อย่างนั้น  กราบพระภิกษุด้วยใจอย่างไรจงกราบพ่อแม่ด้วยใจอย่างนั้น อธิษฐานขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธ์อย่างไร จงอธิษฐานขอพรจากพ่อแม่อย่างนั้น อย่าดีแต่ทำกับพระภิกษุ อย่าดีแต่ทำกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์  

ในทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้อีกว่า ทำบุญกับพระสงฆ์ได้บุญมากที่สุด ส่วนทำบุญกับคนธรรมดา การทำบุญกับพ่อกับแม่ได้บุญมากที่สุด ปฏิบัติบำรุงให้ท่านมีความสุขด้วยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เมื่อป่วยไข้ก็หาหยูกยารักษาโรคให้ท่าน  พ่อแม่ที่แก่ตัวก็หวังพึ่งลูก ถ้าไม่พึ่งลูกก็ไม่รู้จะไปพึ่งใคร

ลูกๆ จึงควรตระหนักในการเลี้ยงดูพ่อแม่ให้มาก  ยิ่งอายุมากยิ่งต้องเอาใจใส่ นึกให้เห็นด้วยใจว่าคนแก่ทำอะไรเองไม่ได้ หาอยู่หากินเองไม่ได้ คนแก่ต้องการกำลังใจอายุยิ่งเหลือน้อย เรี่ยวแรงยิ่งนับวันมีแต่จะหมดตามอายุจะอาศัยใครถ้าไม่อาศัยลูก  ลูกให้กิน ก็ได้กิน ลูกไม่ให้ ก็ไม่ได้กิน 

เลี้ยงใจ ได้แก่ การทำให้ท่านเกิดความสบายใจ ไม่สร้างปัญหา      ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านเกิดความไม่สบายใจเป็นทุกข์ใจ ซึ่งเป็นการเลี้ยงใจแบบสามัญทั่วไป

นอกจากนี้ ยังมีเลี้ยงใจแบบที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์ คือ หล่อเลี้ยงจิตใจท่านให้เจริญงอกงามด้วยธรรมพยายามหล่อเลี้ยงจิตใจของพ่อแม่ให้ท่านสมบูรณ์ด้วยคุณธรรม เช่น  พ่อแม่ไม่มีศรัทธาในพระศาสนาเราปลูกศรัทธาให้งอกงามไพบูลย์ในใจท่านท่านไม่มีการรักษาศีลก็ชักชวนให้มีโอกาสได้รักษาศีล ท่านไม่มีการสละวัตถุสิ่งของทำบุญให้ทานก็ชักชวนให้มีโอกาสได้ทำบุญให้ทานท่านไม่มีปัญญาก็ชักชวนให้ท่านเกิดปัญญา บางครั้งนำท่านไปทำบุญให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาตามโอกาส ถึงวันเกิดท่านก็ชวนไปตักบาตรหรือทำบุญวันเกิดให้ท่านครั้งหนึ่ง เป็นต้น

การเลี้ยงอาหารใจดังกล่าวนี้พระพุทธองค์ ตรัสเรียกว่า อภิชาตบุตร หมายถึง ลูกที่ดีที่ประเสริฐ เพราะสามารถให้ทรัพย์ที่ประเสริฐแก่พ่อแม่ได้ ลูกที่เลี้ยงดูพ่อแม่ ด้วยข้าวปลาอาหารและเครื่องใช้สอยต่างๆ ซึ่งเป็นสมบัติภายนอกนั้นมีมาก เพราะทำได้ง่ายแม้จะเลี้ยงกายให้มีความสุขไม่ให้ลำบากเดือดร้อน  พ่อแม่ยังมีโอกาสไปอบายภูมิ ต่ที่ให้ทรัพย์ที่แท้จริงได้นั้นมีน้อยเพราะลูกที่ปิดประตูอบายภูมิให้พ่อแม่นั้นทำได้ยาก เช่น ชักนำพ่อแม่ที่ไม่มีศรัทธาในพระศาสนาให้เกิดศรัทธา ไม่มีศีลมีธรรมชักชวนให้มีศีลมีธรรม ไม่มีการทำบุญให้ทานเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว ก็ชักชวนไม่ให้เป็นคนตระหนี่ ให้รู้จักทำบุญให้ทานเป็นการหยิบยื่นสวรรค์ให้ ทำเช่นนี้ทำได้ยาก หากลูกคนใดทำได้ก็เป็นลูกที่ประเสริฐ พระพุทธองค์ตรัสเรียกลูกเช่นนี้ว่า อภิชาตบุตร 

ทรัพย์ที่แท้จริงนี้ไม่ว่าจะเป็นในชาติใดภพใด จะตามไปช่วยเหลือเกื้อกูลไม่ให้ลำบากเดือดร้อนตลอด  

คนไทยแต่โบราณจึงถือว่าการบวชเป็นการตอบแทนอย่างสูงสุด  เพราะถือว่าเป็นการจูงมือพ่อแม่ออกจากมุมมืดคืออบายภูมิเข้าสู่มรรคาแห่งสวรรค์ 

ความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณธรรมที่มีความสำคัญและจำเป็นแก่มนุษย์อย่างยิ่ง เพราะเป็นคุณธรรมที่สร้างสรรค์มนุษย์ให้เป็นคนดี มีความเจริญก้าวหน้าและช่วยพยุงสังคมมนุษย์ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข 

พ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกๆ ปฏิบัติต่อตนเองด้วยความกตัญญูเช่นไร  จงปฏิบัติต่อพ่อแม่ของตนด้วยความกตัญญูเช่นนั้น  เพราะเราปฏิบัติกับพ่อแม่ของตนอย่างไร แล้วจะได้รับการปฏิบัติตอบจากลูกๆ ของเราอย่างนั้นเช่นกัน หากเราปฏิบัติต่อพ่อแม่ของเราด้วยความกตัญญู  ลูกๆ ของเราก็จะจำเป็นแบบและปฏิบัติต่อเราด้วยความกตัญญูเช่นกัน  ตรงกันข้ามหากเราปฏิบัติไม่ดีกับพ่อแม่  ก็จะได้รับการปฏิบัติไม่ดีเช่นนั้นตอบจากลูกของตน นี่เป็นความอัศจรรย์ของความกตัญญูและอกตัญญู  บางคนคร่ำครวญว่าทำไมลูกเราไม่ปฏิบัติกับเราเหมือนลูกคนอื่น แต่เขาก็ไม่ได้คิดว่าตัวเราเองเคยปฏิบัติกับพ่อแม่เช่นนั้นบ้างหรือเปล่า 

ความกตัญญูเป็นสายใยที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกอย่างแน่นแฟ้น หากขาดความกตัญญูสายใยที่เชื่อมความรักความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูกก็ขาดสะบั้นลง และหากสังคมขาดความกตัญญูกตเวที  คนทุกคนไม่มีความสำนึกในบุญคุณและตอบแทนบุญคุณของท่านผู้มีบุญคุณแก่ตน จนถึงขนาดลูกเนรคุณได้ก็เท่ากับว่าเขาได้ฆ่าตนเองให้ตายจากความดี

ลูกไร้ความกตัญญูอย่าได้หวังว่าจะสามารถพอกพูนคุณความดีอย่างอื่นให้เจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้นในจิตใจได้  อย่าได้หวังว่าเขาจะทำความดีอย่างอื่นได้  และจะทำให้ชีวิตเขาบกพร่อง กลายเป็นคนมีจิตใจต่ำ หยาบกระด้าง ก้าวร้าว น่าขยะแขยง  มีแต่ความเห็นแก่ได้  พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า

 “สำหรับคนอกตัญญูแล้ว แม้จะให้แผ่นดินทั้งหมด

ก็ไม่สามารถทำให้คนอกตัญญูพอใจได้”

ภาษาบาลี ว่า

“อะกะตัญญุสสะ    โปสัสสะ  นิจจัง วิวะระทัสสิโน  สัพพัญเจ  ปะฐะวิง   ทัชชา  เนวะ นัง   อะภิราธะเยฯ”

นอกจากนั้น ความกตัญญู ยังเป็นคุณธรรมที่ท่านใช้เป็นเครื่องวัดระดับจิตใจของคนด้วย  ถ้าอยากรู้ว่าคนๆ นั้น มีจิตใจสูงหรือต่ำท่านให้สังเกตที่ความกตัญญูเป็นข้อสังเกตสิ่งแรก 

เมื่อคนขาดความกตัญญูซึ่งเป็นคุณธรรมของมนุษย์แล้ว จะต่างอะไรจากสัตว์ อย่างที่ได้ยินข่าวอยู่เสมอว่า ลูกคนโน้นคนนี้เนรคุณ  ฆ่า  หรือทำร้ายพ่อแม่ตน   ลูกเช่นนี้เป็นมนุษย์เพียงรูปร่าง  แต่จิตใจเลวทรามต่ำช้ากว่าสัตว์เดรัจฉาน

พระพุทธองค์แสดงโทษคนอกตัญญูเนรคุณพ่อแม่จนถึงฆ่าว่าเป็น “อนันตริยกรรม” คือ กรรมหนักที่สุด เท่ากับฆ่าพระอรหันต์และทำร้ายพระพุทธเจ้า  ประตูสวรรค์ปิดแต่ประตูนรกเปิดรอเขาอย่างเดียว ความกตัญญูกตเวทีนี้จึงเป็นคุณธรรมสำคัญและจำเป็นที่เราทุกคนจะต้องตระหนักให้มากและนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้องและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

นอกจากความกตัญญูกตเวทีจะเป็นเครื่องวัดระดับคุณค่าจิตใจมนุษย์แล้ว  ยังเป็นเครื่องหมายบ่งบอกให้รู้ว่าใครเป็นคนดีด้วย  แม้คนรอบข้างก็ตาม เราคิดจะคบค้าสมาคมกับใคร เราก็ต้องการที่จะคบคนดี  และเราจะรู้ว่าใครเป็นคนดี ก็ต้องสังเกตสิ่งดีที่มีอยู่ในตัวเขา คือสังเกตความประพฤติดีนั่นเอง ความประพฤติที่พอจะบ่งบอกได้ว่าใครเป็นคนดี และเป็นที่สังเกตได้ง่ายนั้น คือ ความกตัญญูกตเวที คนรอบข้างถ้าอยากรู้ว่าเป็นคนดีหรือไม่ ก็ต้องดูว่าเขาแสดงพฤติกรรมต่อพ่อแม่ผู้มีพระคุณอย่างไร

ถ้าคนใดไม่รู้บุญคุณของผู้มีพระคุณแสดงพฤติกรรมที่หยาบกระด้างก้าวร้าวร้ายกาจ มีวาจาที่เหมือนเข็มทิ่มใจพ่อแม่ พูดกับพ่อแม่ไม่นุ่มนวลชวนฟัง ก็พึงให้รู้ว่าเขายังไม่มีเครื่องหมายของคนดี  ควรตั้งข้อสังเกตในการคบค้าสมาคม และอาจเป็นคนไม่น่าคบหาสมาคม 

คนที่มีความกตัญญูกตเวที คือ รู้คุณและตอบแทนคุณผู้อื่นนั้น เป็นคนดีอย่างแท้จริง เราสามารถคบค้าสมาคมกับคนประเภทนี้ได้ ไม่มีโทษภัยประการใด  และเป็นที่มาแห่งความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ตรงข้ามหากเราไปคบกับคนอกตัญญูไม่รู้คุณคน และขาดความกตเวที ไม่รู้จักตอบแทนคุณผู้อื่นเป็นผลดีแก่ผู้ที่ไปคบด้วยเลย มีแต่จะนำโทษภัยมาให้ และเป็นที่มาแห่งความพินาศล่มจมในที่สุด  เพราะคนอกตัญญูมีเสนียดในตัวเอง

คนที่มีความกตัญญูนั้น เป็นผู้มีสิริมงคลในตัวโดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาสิริมงคลจากที่ไหนมาเสริม เขาย่อมมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ในหน้าที่การงานโดยธรรมชาติ เหมือนต้นไม้ที่มีดินน้ำ ปุ๋ย และอากาศดีพร้อม ย่อมมีความเจริญงอกงามออกดอกออกผลโดยธรรมชาติ

ตรงข้ามหากบุคคลใดขาดความกตัญญู มีความประพฤติเนรคุณต่อผู้อื่น ย่อมประสบความวิบัติอย่างน่าประหลาด เพื่อนฝูงมักห่างหาย ไม่มีผู้เคารพนับถือ ในเบื้องแรกพี่น้องร่วมท้องเริ่มทำตัวเหินห่าง ต่อมาญาติใกล้ชิด ตลอดจนคนรู้จักมักคุ้นเริ่มห่างหาย เช่น ลูกเนรคุณพ่อแม่ ศิษย์เนรคุณต่อครูบาอาจารย์ เขาเหล่านี้หาความเจริญไม่ได้ แม้ดูเหมือนว่าเจริญก็เพียงเพราะกรรมยังไม่ได้ช่อง แต่เมื่อใดกรรมได้ช่องก็จะตกต่ำในเบื้องปลายกลายเป็นหนักสองเท่า  ที่เบาก็กลายเป็นหนัก ที่หนักก็ยิ่งหนักมากยิ่งขึ้น เขาจะถูกสาปแช่งว่าเป็นคนชั่วช้าเลวทรามไม่รู้คุณคน

สำหรับผู้ที่มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญและเป็นผู้มีความก้าวหน้า   ที่ดีอยู่แล้วก็จะดียิ่งๆ ขึ้นไป   เมื่อถึงคราวเคราะห์  ที่หนักก็จะกลายเป็นเบา เพราะผลของเกราะแก้วคือความกตัญญูของตนนั่นเอง

คุณธรรม คือ ความกตัญญูกตเวทีคุณธรรมสำคัญของมนุษย์ เป็นเครื่องหมายเชิดชูมนุษย์ให้เป็นคนดี ผู้ใดมีความกตัญญูกตเวที  ย่อมมีความเจริญก้าวหน้าไม่ตกต่ำ เป็นที่ยกย่องของคนทั่วไป และผลของความกตัญญูกตเวทีนี้ ยังเป็นอานุภาพปกป้องคุ้มครองเขาให้พ้นจากภยันตรายต่างๆ ได้ด้วย  เพราะคุณบิดามารดามีค่ายิ่ง  จึงควรกตัญญู ๕ สถาน  

บุตรธิดาผู้มีความกตัญญู เมื่อหวนระลึกถึงพระคุณของบิดามารดาที่ได้ทำแก่ตนตามที่กล่าวมาข้างต้น จึงต้องบำรุงเลี้ยงมารดาบิดาสถาน  ๕   ดังนี้

(๑) ท่านได้เลี้ยงเรามาแล้วเลี้ยงท่านตอบ พ่อแม่ได้เลี้ยงเรามาตั้งแต่เล็กจนเติบโต พึงเลี้ยงพ่อแม่ให้เป็นสุข ถึงคราวท่านเจ็บป่วย  ลูกๆ พึงตั้งใจรักษาพยาบาลท่าน 

(๒) ทำกิจการงานท่านแสดงความกระตือรือร้นขวนขวายช่วยกิจการงานของพ่อแม่ กิจการงานใดที่พ่อแม่กระทำ หรือที่ท่านใช้ให้ทำ ลูกๆ มีความสามารถจะช่วยเหลือท่านได้ก็พึงกระทำ  เป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของพ่อแม่   

(๓) ดำรงวงศ์สกุล เกิดในตระกูลใดพึงดำรงตระกูลของตนมิให้เสื่อม อย่าให้ใครดูหมิ่นตระกูลของตนได้ ควรพยายามทำตระกูลของตนให้เป็นที่นิยมนับถือของคนทั่วไป ทำให้คนยกย่องเชิดชูตระกูลของตนให้ได้

(๔) ประพฤติตนให้เป็นที่ไว้ใจได้ว่าจะสืบทอดสมบัติของตระกูลได้  ลูกๆ ผู้สมควรรับทรัพย์มรดกของพ่อแม่ต้องเป็นผู้มีความประพฤติดี น่าไว้ใจ ละเว้นจากอบายมุข ละเว้นจากการดื่มเหล้าเมาสุรา คือทำตนให้น่าไว้ใจได้ว่า เมื่อรับสมบัติของตระกูลแล้วจะรักษาไว้ได้  ไม่ล้างผลาญเสียหมด

(๕) เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน  พ่อแม่ผู้มีความกตัญญูกตเวที  ในเมื่อพ่อแม่ล่วงลับไปแล้ว  ควรทำบุญให้ท่าน  อุทิศส่วนกุศลไปให้ท่านตามกำลังความสามารถของตน  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ลูกๆ ควรนำไปปฏิบัติต่อพ่อแม่ของตนเอง ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้รู้คุณและตอบแทนคุณของพ่อแม่

ชีวิตที่ดำเนินไปภายใต้โลกที่งดงาม อบอุ่นด้วยความห่วงใย เอื้ออาทร ท่ามกลางความอ่อนโยนของพ่อแม่  ปู่ย่าตายาย ตลอดจนญาติพี่น้องคนที่รักทั้งหลาย  ชีวิตเช่นนี้งดงามควรค่าแก่การจดจำ   มีผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “พ่อแม่” ร่วมกันสร้างเพื่อลูก  ชีวิตเป็นของเรา และเราสามารถทำความดีมากมายเพื่อพ่อกับแม่ด้วยตัวเราเอง แต่ถ้าเลือกได้  น่าจะเลือกทำให้พ่อกับแม่ ได้เห็นผ้าเหลืองของลูกชาย ภายใต้ร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนา    ในขณะที่พ่อกับแม่ยังมีโอกาสได้เห็น

การบวชเพื่อพ่อกับแม่เมื่อท่านจากไปโดยไม่มีโอกาสรับรู้ จะมีประโยชน์อะไร

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น เจ้าของนามปากกา "ญาณวชิระ"  ผู้เขียนหนังสือ "ลูกผู้ชายต้องบวช " กับสามเณรเอิร์ต และคุณพ่อ คุณแม่ ของสามเณร
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น เจ้าของนามปากกา “ญาณวชิระ”
ผู้เขียนหนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช ” กับสามเณรเอิร์ต และคุณพ่อ คุณแม่ ของสามเณร

ความกตัญญูเป็นหลักธรรมประจำใจที่สำคัญที่คนไทยยึดถือ หากมีโอกาสในชีวิตของลูกผู้ชายคนหนึ่ง สิ่งที่จะให้ตกหล่นหายไปไม่ได้ คือการแสดงความกตัญญู  และความกตัญญูสูงสุดสำหรับลูกผู้ชายที่นับถือพระพุทธศาสนาควรทำ  คือ การมีโอกาสบวชในพระพุทธศาสนา ” ญาณวชิระ

ขอรับหนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ ได้ที่ ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ทุกวัน จนกว่าหนังสือจะหมด พิมพ์แจกเป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here