วันนี้วันพระ วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔

“ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช”

(ตอนที่ ๔๐) บรรพ์ที่ ๗

“สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอภิสมาจาร” คือ วินัยส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียม ตอน “มหาปเทส ๔ หลักอ้างอิงการสันนิษฐานพระวินัยในปัจจุบัน”

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

มหาปเทส ๔

หลักอ้างอิงการสันนิษฐานพระวินัยในปัจจุบัน

           มหาปเทส   แปลว่า  หลักอ้างอิงใหญ่   เป็นหลักการอย่างกว้างๆ  ที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้  เพื่อให้พระภิกษุใช้เป็นหลักอ้างอิงในการตรวจสอบการปฏิบัติต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตว่าถูกต้องตามพระวินัยหรือไม่   พระภิกษุสงฆ์จะได้ปฏิบัติไม่ขัดกับพระธรรมวินัย ในขณะเดียวกันก็จะปฏิบัติไม่ขัดกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตด้วย   เนื่องจากบางท้องถิ่นมีของสิ่งหนึ่ง  แต่ไม่มีของอีกสิ่งหนึ่ง  หรือยุคสมัยหนึ่งของสิ่งหนึ่งมี  แต่ไม่มีของอีกสิ่งหนึ่ง

พระพุทธองค์จึงตรัสหลักอ้างอิงสำหรับตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต และท้องถิ่นนั้นๆ ไว้  ๔  ประการ  คือ

            ๑.  สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร  แต่เข้ากันกับสิ่งไม่ควร  ขัดกันต่อสิ่งที่ควร   สิ่งนั้นไม่ควร

๒.  สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร  แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร ขัดกันต่อสิ่งที่ควร  สิ่งนั้นควร

๓.  สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร   แต่เข้ากันกับสิ่งไม่ควร  ขัดกันต่อสิ่งที่ควร   สิ่งนั้นไม่ควร

๔.  สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร  แต่เข้ากันกับสิ่งควร  ขัดกันต่อสิ่งที่ไม่ควร   สิ่งนั้นควร

การปรับใช้มหาปเทส

สิ่งที่ไม่ได้ทรงห้ามไว้ไม่ควร  เช่น  ฝิ่น  ไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร  เพราะในครั้งพุทธกาลยังไม่รู้จักใช้ฝิ่น   แต่รู้จักใช้สุรา   และในครั้งพุทธกาลสุราเป็นของที่ทรงห้ามไว้  ฝิ่นไม่ได้ทรงห้ามไว้  แต่ทั้งสุราและฝิ่น  เป็นของทำลายประสาทให้มึนเมา  ฝิ่นจึงเป็นของไม่ควร  

สิ่งที่ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร  เช่น สุราแม้เป็นของที่ทรงห้าม  แต่ถ้าสุราใช้ปรุงอาหารเพื่อแก้คาวหรือให้มีรสชาติดีขึ้น  มุ่งประโยชน์อย่างอื่นมิใช่มุ่งให้มึนเมา ทรงอนุญาตไว้ว่าควร  แต่ฝิ่นสำหรับประกอบยาแก้โรค  ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่ก็เข้ากันได้กับสุราที่ประกอบอาหาร  ฝิ่นที่ประกอบยารักษาโรคจึงเป็นสิ่งที่ควร เพราะไม่ใช่เป็นของสำหรับเสพให้มึนเมาในฐานะเป็นสิ่งเสพติด

มะนาว  มะขาม ผลลูกจันทน์ และพืชชนิดอื่นที่มีรสเปรี้ยว ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร  แต่ให้รสเปรี้ยวอย่างมะขามป้อม และสมอที่ทรงอนุญาตไว้ให้ฉันหลังเที่ยง   มะนาว  มะขาม ผลลูกจันทร์ และพืชชนิดอื่นที่มีรสเปรี้ยวอย่างมะขามป้อมและสมอก็เป็นสิ่งที่ควร

ทรงอนุญาตน้ำผึ้ง  น้ำอ้อยไว้ว่าเป็นสิ่งที่ควรฉันหลังเที่ยง  แต่น้ำหวานที่ออกจากพืชชนิดอื่น เช่น รสหวานจากน้ำตาลที่ออกจากลูกตาล น้ำมะพร้าวที่เกิดโดยธรรมชาติ น้ำหวานที่เกิดจากการสังเคราะห์  ช็อคโกแลต ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้  เป็นของมีรสหวานสำเร็จประโยชน์เช่นเดียวกับน้ำผึ้ง น้ำอ้อย  จึงเข้ากันได้กับรสหวานแห่งน้ำผึ้งและน้ำอ้อย  รสหวานอย่างอื่นที่สงเคราะห์เข้ากับน้ำอ้อยได้และให้ประโยชน์อย่างน้ำผึ้งน้ำอ้อยก็ควรเช่นกัน  

น้ำอ้อยนั้นรับประเคนแล้วทรงห้ามไม่ให้เก็บไว้ฉันเกิน  ๗  วัน  พ้นกำหนดนั้นแล้วเป็นของไม่ควร   ต้องประเคนใหม่ เพื่อตรวจสอบว่าของนั้นไม่เสียแล้ว  รสหวานอย่างอื่น  ก็นับว่าเป็นของไม่ควรเหมือนกัน

เงิน คือ ปัจจัย และการปรับใช้มหาปเทส สำหรับพระสงฆ์ในปัจจุบัน

สำหรับสิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับชาวพุทธอีกเรื่องหนึ่ง คือ บางคนไม่กล้าถวายเงินแด่พระสงฆ์เพราะกลัวบาป เนื่องจากกลัวว่าจะทำให้พระภิกษุผิดวินัย

ในพระวินัยระบุว่า ห้ามพระภิกษุรับเงินและทอง  ห้ามให้ผู้อื่นรับเงินและทองเพื่อตน  และห้ามยินดีในเงินและทองที่เขารับไว้เพื่อตน  โดยนัยนี้  แม้ไม่ได้รับด้วยมือของตน  เพียงรู้ว่าเขาถวายไว้กับคนอื่นเกิดความยินดีก็ไม่พ้นอาบัติ  

ในปัจจุบันแม้จะมีผู้คิดแบบใบปวารณาบัตรขึ้นมาใช้แทนเงิน (รวมเหรียญ และธนบัตรด้วย)  ถึงอย่างไรก็ไม่พ้นอาบัติอยู่ดี  เพราะใบปวารณาบัตรก็ตีค่าเท่าจำนวนเงินที่ระบุไว้ในใบปวารณา  เช่น ใบปวารณาบัตร มีค่าเป็นจำนวน ๑,๐๐๐ บาท  ซึ่งก็มีค่าเท่ากับธนบัตรจำนวน ๑,๐๐๐ บาท  แท้จริง ใบปวารณาบัตรก็เป็นกระดาษแผ่นหนึ่ง แม้ธนบัตรก็เป็นกระดาษแผ่นหนึ่ง  แต่ทั้งสองมีค่าตามจำนวนเงินที่ระบุไว้   พระภิกษุรับเอง  ใช้ให้ผู้อื่นรับเพื่อตนและยินดีในจำนวนเงินที่เขารับให้ก็ไม่พ้นอาบัติ

การปรับใช้มหาปเทสเกี่ยวกับเงินจึงมีความจำเป็นสำหรับพระสงฆ์ในยุคปัจจุบัน เนื่องจากเงินเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของพระภิกษุ โดยเฉพาะสังคมที่ขยายเป็นเมือง  และเมืองขยายการติดต่อระหว่างประเทศ จากประเทศครอบคลุมทั่วโลก  พระพุทธศาสนาในโลกปัจจุบันไม่ได้อยู่เพียงบ้าน  ตำบล อำเภอ หรือจังหวัดเท่านั้น  แต่ครอบคลุมจากประเทศสู่ทวีป  จากทวีปสู่โลก

บางท้องถิ่นและบางยุคสมัย เงินไม่มีความจำเป็นสำหรับพระสงฆ์ เนื่องจากสังคมไม่สลับซับซ้อน  พระภิกษุดำรงชีวิตอยู่กับสังคมชาวบ้าน  เงินก็ไม่มีความจำเป็นกับการดำรงชีวิต

แต่ปัจจุบันรูปแบบสังคมเปลี่ยนไป ทัศนคติในการใช้เงินของพระสงฆ์ได้เปลี่ยนไป สิ่งใดก็ตามที่เป็นการแลกเปลี่ยนด้วยราคา ไม่ได้ยกเว้นว่าเป็นพระภิกษุสามเณร เช่น สมัยก่อนพระภิกษุเดินทางโดยเรือ  ม้า และช้างซึ่งเป็นพาหนะของคนในยุคสมัยนั้น   สมัยปัจจุบันคนเลิกใช้พาหนะดังกล่าวในการเดินทาง โดยมีพาหนะอย่างใหม่เข้ามาแทนที่ คือ รถยนต์ เครื่องบิน (พระภิกษุเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาในต่างประเทศ)  พระภิกษุเดินทางโดยรถยนต์ เครื่องบิน จำเป็นต้องใช้เงินเป็นค่าพาหนะ  พระภิกษุเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลต้องจ่ายค่ายารักษาโรค  ใช้ไฟฟ้าของรัฐต้องจ่ายค่าไฟฟ้า  ใช้ประปาต้องจ่ายค่าประปา  กุฎีวิหารเสนาสนะผุผังต้องซื้ออุปกรณ์บูรณะซ่อมแซม  ศึกษาเล่าเรียนต้องซื้อหนังสือตำรับตำราเรียน  ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงของการดำรงชีวิตของพระสงฆ์ในโลกปัจจุบัน  

หากนำมหาปเทสที่พระพุทธเจ้าวางไว้มาเป็นหลักอ้างอิงวินัยว่าด้วย “เงิน”  การรับเงินก็เป็นสิ่งที่ควรสำหรับพระภิกษุในโลกปัจจุบัน   แต่ไม่ใช่สิ่งควรในแง่การรับเพื่อการสะสมพอกพูนให้มากขึ้น แล้วเพลิดเพลินยินดีว่า ได้จำนวนเท่านั้นเท่านี้แล้ว   เงินเป็นสิ่งที่ควรแก่สมณวิสัยในแง่เป็นปัจจัยเพื่อการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบัน  ใช้จ่ายตามเหตุและปัจจัยที่เกิดขึ้นในขณะนั้น  แต่ถ้าเป็นไปเพื่อการสั่งสมแล้ว  ย่อมไม่ควรโดยประการทั้งปวง

เพื่อป้องกันไม่ให้พระสงฆ์คิดมากเกี่ยวกับเงิน  จนเกิดความกังวล บูรพาจารย์จึงเรียกเงินว่า “ปัจจัย”  คือ รวมเงินเข้าในปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตเหมือนปัจจัย ๔ มี จีวร บิณฑบาต  เสนาสนะ และยารักษาโรคนั่นเอง  ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา พึงพิจารณาตามความเหมาะสม 

“ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช” (ตอนที่ ๔๐) บรรพ์ที่ ๗ “สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอภิสมาจาร” คือ วินัยส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียม ตอน “มหาปเทส ๔ หลักอ้างอิงการสันนิษฐานพระวินัยในปัจจุบัน” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here