“ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช”

(ตอนที่ ๓๙) บรรพ์ที่ ๗

“สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอภิสมาจาร” คือ วินัยส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียม ตอน น้ำปานะและประวัติการคั้นน้ำปานะ

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

น้ำปานะ 

น้ำปานะ  คือ  น้ำสำหรับดื่มที่คั้นออกจากผลไม้  ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ให้ฉันได้หลังเที่ยง  จุดประสงค์ที่ทรงอนุญาตให้ฉันน้ำปานะหลังเที่ยงได้ ก็เพื่อให้ช่วยลดเวทนาคือความหิวลงได้บ้าง  จะได้มีกำลังในการบำเพ็ญสมณธรรม ผลไม้ที่ทรงอนุญาตให้ทำน้ำปานะคราวแรกมี  ๘  ชนิด  เรียกว่า อัฐบาน คือ

๑.  น้ำมะม่วง

๒.  น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า

๓.  น้ำกล้วยมีเม็ด

๔.  น้ำกล้วยไม่มีเม็ด

๕.  น้ำมะซาง 

๖.  น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น

๗.  น้ำเง่าอุบล 

๘.  น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่ 

ต่อมาทรงอนุญาตเพิ่มเติ่มเข้ามาอีก คือ น้ำอ้อยสด น้ำผลไม้ทุกชนิด  เว้นน้ำมหาผล และน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก  น้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง น้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง นอกจากนั้น ยังอนุญาตนำปานะที่ทำจากเหง้า เช่น น้ำเหง้าบัว เป็นต้น

การที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตน้ำปานะเพิ่มในภายหลังเนื่องจากแต่ละท้องถิ่นมีพันธุ์ไม้ที่แตกต่างกัน  ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ และสภาพภูมิอากาศที่แตกต่าง บางท้องถิ่นไม่มีผลไม้ที่ระบุให้ทำน้ำปานะ  แต่ก็มีผลไม้อีกชนิดอื่น  จึงทรงอนุญาตเพิ่มเติมภายหลัง

อีกอย่างหนึ่ง คำว่า มหาผล แปลว่า ผลไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นผลไม้ที่ทำน้ำปานะไม่ได้นั้น  ท่านไม่ได้ระบุขนาดไว้ว่าลูกใหญ่ขนาดไหน  เพียงแต่ระบุว่าผลไม้ใหญ่

บางท่านตีความว่า  ผลไม้ลูกใหญ่กว่ากำมือทำน้ำปานะไม่ได้  เช่น ส้มโอ  มะพร้าว  แตงโม สับปะรด เป็นต้น   แต่นั่นก็เป็นการสันนิษฐานเอาตามความเห็น  เพราะไม่มีการระบุไว้เช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม ก็เป็นการยากที่จะลงความเห็นได้ว่า ผลไม้ขนาดไหนจึงชื่อว่าเป็นผลไม้ใหญ่  หากถือเอากำมือเป็นข้อกำหนดขนาดของผลไม้ใหญ่  มะม่วงและฝรั่งบางพันธุ์ก็ใหญ่กว่ากำมือ   บางท่านไม่ได้ถือตามนี้ แต่ถือเอาข้อความตามที่ระบุว่าผลไม้ทุกชนิดทำน้ำปานะได้เป็นข้อยุติ   ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาควรพิจารณาและปฏิบัติตามความเหมาะสม

เล่าเรื่อง ประวัติของน้ำปานะ

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้ามีพระประสงค์จะแสดงยมกปาฏิหาริย์ พระเจ้าพิมพิสารได้สดับดังนั้น จึงเข้าไปทูลถามว่า พระองค์ทรงห้ามมิให้พระภิกษุแสดงปาฏิหาริย์ แล้วเหตุใดจึงจักแสดงด้วยพระองค์เอง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า พระองค์ห้ามพระภิกษุแต่มิได้ห้ามพระองค์เอง เหมือนพระเจ้าแผ่นดินห้ามประชาชนกินผลไม้ในอุทยาน แต่ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินจะเสวยผลไม้ในอุทยานนั้นไม่ได้

พระเจ้าพิมพิสารทูลถามถึงเวลาที่จะทรงทำยมกปาฏิหาริย์   พระบรมศาสดาตรัสว่า ในวันเพ็ญเดือน ๘ สี่เดือนต่อจากนี้ไป

พระเจ้าพิมพิสารทูลถามอีกว่า  พระองค์จักทรงแสดงที่ไหน  พระเจ้าข้า พระบรมศาสดาตรัสว่า  แสดงที่กรุงสาวัตถี

เหล่าเดียรถีย์นักบวชต่างลัทธิได้ฟังข่าวว่า ๔ เดือนต่อจากนี้ไป พระพุทธองค์จะแสดงยมกปาฏิหาริย์ ที่กรุงสาวัตถี จึงบอกแก่มหาชนว่า เราก็จักแสดงปาฏิหาริย์เช่นกัน จึงชักชวนอุปัฏฐากบริจาคทรัพย์ได้แสนหนึ่ง  แล้วให้สร้างมณฑปขึ้นที่ชานกรุงสาวัตถี  ประกาศว่าพวกเราจักแสดงปาฏิหาริย์เช่นกัน

ต่อมา พวกเดียรถีย์ทราบความว่า  พระบรมศาสดาจักแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่โคนต้นมะม่วง  จึงสั่งการให้พวกศิษย์ของตนโค่นต้นมะม่วงรอบกรุงสาวัตถีทิ้งให้หมด  แม้กระทั่งต้นที่เพิ่งงอกในวันนั้น เว้นแต่ในพระราชอุทยานอันเป็นเขตหวงห้ามของพระเจ้าแผ่นดิน

ในวันเพ็ญเดือน ๘ พระบรมศาสดาเสด็จไปยังกรุงสาวัตถี ผู้รักษาอุทยานของพระเจ้าแผ่นดิน ชื่อคัณฑะ เห็นมะม่วงสุกผลใหญ่ผลหนึ่งอยู่บนต้นมะม่วงในพระราชอุทยาน  จึงไล่มดดำมดแดงและบรรดานกที่มาชุมนุมเพราะกลิ่นของมะม่วงให้หนีไปแล้วเก็บผลมะม่วงนั้น  ขณะกำลังเดินทางเข้าเมือง เพื่อนำมะม่วงสุกไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล  นายคัณฑะได้พบพระบรมศาสดาในระหว่างทาง นายคัณฑะคิดว่าหากเราถวายมะม่วงผลนี้แก่พระราชา พระองค์ก็คงจะพระราชทานกหาปณะแก่เราเพียง ๘ หรือ ๑๖ กหาปณะ กหาปณะที่พระราชทานมานั้น อย่างมากก็พอแก่การเลี้ยงชีพในชาติหนึ่ง  แต่หากถวายมะม่วงผลนี้แก่พระบรมศาสดา ก็จะทำให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลตลอดกาล นายคัณฑะจึงน้อมถวายมะม่วงผลนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งๆ ที่รู้ว่าอาจถูกลงโทษถึงชีวิต หรือไม่ก็อาจถูกเนรเทศออกจากเมือง

พระบรมศาสดาทรงรับบาตรจากพระอานนท์ โน้มบาตรเข้าไปรับผลมะม่วง  และแสดงอาการจะประทับนั่ง ในขณะที่นายคัณฑะยังมองเห็น พระอานนท์จึงปูอาสนะถวาย เมื่อพระองค์ประทับนั่งแล้ว พระอานนท์จึงกรองน้ำ ขยำมะม่วงสุกผลนั้นทำเป็นน้ำปานะถวาย  พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยน้ำปานะนั้นแล้ว ตรัสบอกให้นายคัณฑะขุดหลุมปลูกเมล็ดมะม่วงนั้น

พระบรมศาสดาทรงล้างพระหัตถ์ลงในหลุมเมล็ดมะม่วง ทันใดนั้น ต้นมะม่วงก็งอกขึ้นมาและเจริญเติบโต แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปทันที มะม่วงต้นนั้นออกดอกออกผลดกหนาไปด้วยผลที่ยังดิบและผลที่สุกงอมแล้ว เหล่าพระภิกษุผู้ตามเสด็จ ก็ยังได้ฉันน้ำปานะที่ทำจากผลมะม่วงสุกนั้นเช่นกัน

พระราชาทรงสดับข่าวการเกิดขึ้นของต้นมะม่วงอย่างอัศจรรย์นี้จึงสั่งตั้งกองอารักขา ตรัสห้ามมิให้ผู้ใดทำลาย และมะม่วงต้นนั้นจึงได้นามว่า คัณฑามพฤกษ์ ตามนามของนายคัณฑะผู้ปลูก

“ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช” (ตอนที่ ๓๙) บรรพ์ที่ ๗ “สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอภิสมาจาร” คือ วินัยส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียม ตอน น้ำปานะและประวัติการคั้นน้ำปานะ เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here