ขอน้อมถวาย
ผลงานนี้ไว้ในพระพุทธศาสนา
เพื่อเป็นพุทธบูชา
กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา
พุทเธ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง
พุทโธ ปะกิคัณหาตุ อัจจะยันตัง
กาลันตะเร สังวะริตุง วะ พุทเธ ฯ
หากจะมีกรรมอันน่าติเตียนใด
ที่ข้าพเจ้าได้ทำผิดพลาดไว้ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ
ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงยกโทษล่วงเกินนั้น
เพื่อข้าพเจ้าจะได้มีความสำรวมระวัง
ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกาลต่อไปฯ
ญาณวชิระ
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง
การบำเพ็ญบารมีสิบชาติสุดท้ายก่อนตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
“ขุนเขาย่อมมีวันทลาย สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง
แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”
เขียนโดย ญาณวชิระ
: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
คำนำผู้เขียน
ทศชาติ เป็นเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ขณะที่พระองค์กำลังบำเพ็ญบารมี เพื่อบรรลุพระโพธิญาณ และเป็นเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาที่ชาวโลก ไม่เฉพาะแต่คนไทยรู้จักมากที่สุดเรื่องหนึ่ง บรรพบุรุษไทยในอดีต ได้นำทศชาติมาเขียนเป็นจิตกรรมฝาผนังพระอุโบสถตามวัดต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวให้ลูกหลานได้ศึกษาเส้นทางชีวิตมหาบุรุษ ผู้ที่จะเกิดมาเป็นพระศาสดาเอกของโลก
หลายปีมาแล้ว ผู้เขียนชอบเข้าไปนั่งในพระอุโบสถ ดูภาพจิตกรรมฝาผนัง วันแล้ววันเล่าไม่รู้จักอิ่ม ความงดงามของภาพจิตรกรรม ดึงผู้เขียนให้จมลึกลงไปสู่เหตุการณ์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตตามภาพจิตรกรรม ทั้งงดงามและอิ่มเอิบ
ค่ำคืนวันหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ได้ปรารภถึงเรื่องอยากให้มีหนังสือทศชาติที่อ่านง่าย และเหมาะสมกับสมัยปัจจุบัน พร้อมกับส่งหนังสือให้เล่มหนึ่ง วันเวลาล่วงเลยมาจนถึงจนถึงต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ ผู้เขียนเริ่มเปิดพระไตรปิฎกและอรรถกถาออกอ่าน แล้วผู้เขียนก็จมหายไปกับเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า
บางเรื่องราวดูเจ็บปวดหนักหน่วงในชีวิตมนุษย์ จนไม่น่าเชื่อว่าจะมีชีวิตเช่นนี้อยู่จริงบนโลก
บางเรื่องราวดูงดงาม บางเรื่องราวดูเหงาเศร้า แต่ทั้งหมดก็เต็มไปด้วยพลังแห่งความเพียรพยายามของมหาบุรุษเอกของโลก พระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์โดยเลือดเนื้อและชีวิตอย่างมนุษย์ทั่วไป แต่ทรงสูงส่งยิ่งด้วยพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ เหนือมนุษย์และเทวดาทุกผู้ทุกนาม ผู้เขียนพยายามเก็บความจากพระไตรปิฎก และอรรถกถาให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ แล้วนำมาจัดเรียงหัวข้อใหม่ เพื่อให้น่าสนใจและชวนติดตามมากขึ้น โดยได้เชื่อมโยมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลไว้ด้วย
นอกจากนั้น ยังได้นำแผนที่แสดงที่ตั้งเมืองต่างๆ ในชมพูทวีปและสุวรรณภูมิสมัยโบราณมาประกอบไว้ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น บางเมืองในชาดกยังมีชื่อปรากฏอยู่ในสมัยพุทธกาล บางเมืองได้เปลี่ยนชื่อไปหลายชื่อ แต่บางเมืองก็ถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา บางเรื่องบางเหตุการณ์ในทศชาติ อาจดูเป็นเรื่องเกินจริงสำหรับชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง แต่หากพิจารณาให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของบุคคลผู้เป็นมหาบุรุษแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าว มีโอกาสเกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์ได้เสมอ.
ญาณวชิระ
: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ธันวาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๔๙
ชาติที่ ๑. พระเตมีย์
เนกขัมบารมี
ถึงร้อยภพร้อยชาติก็ปรารถนาพระโพธิญาณ
“แม้เลือดเนื้อจะเหือดแห้งไป แม้ร่างกายจะแตกดับ เราจะไม่ทำลายปณิธาน”
เตมีย์ เป็นชาดกที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึงเรื่องราวในอดีตชาติของพระองค์ เมื่อครั้งเกิดเป็นพระเตมีย์กุมาร ทรงมีปณิธานที่จะบำเพ็ญ “เนกขัมมบารมี” ตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะสละราชบัลลังก์ออกบวช แม้จะได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและการบีบคั้นทางด้านจิตใจอย่างไร ก็ไม่ทำให้ปณิธานของพระองค์แปรเปลี่ยนไป
เตมีย์ชาดก ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกายชาดก มหานิบาต และอรรถกถา มหานิบาต
ขณะตรัสเล่าเรื่องเตมีย์ พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ขณะนั้นเป็นเวลาบ่ายแล้ว อาทิตย์ย้ายดวงคล้อยต่ำลง หมู่ภิกษุต่างออกจากสถานที่สำหรับทำสมาธิ มานั่งประชุมกันในอาคารสำหรับแสดงธรรม ได้สนทนาถึงการออกบวชของพระพุทธองค์ว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ เนื่องจากพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติแห่งความเป็นพระราชา แต่พระองค์กลับเลือกที่จะออกบวช จึงเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์
ขณะนั้น พระพุทธองค์เสด็จออกพระคันธกุฎีมายังอาคารสำหรับแสดงธรรม ตรัสถามภิกษุถึงเรื่องราวที่กำลังสนทนากัน เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า พระองค์บำเพ็ญบารมีมาจนเต็มเปี่ยมแล้ว จึงสละราชสมบัติออกบวชเพื่อตรัสรู้ในชาตินี้ การสละราชบัลลังก์ออกบวชของผู้ที่บารมีเต็มเปี่ยมแล้วเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าอัศจรรย์ แต่การออกบวชของพระองค์ในอดีตชาติขณะญาณยังไม่แก่กล้า กำลังบำเพ็ญบารมีอยู่ พระองค์ได้สละราชสมบัติออกบวชนั่นต่างหากเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์
พระพุทธองค์จึงตรัสเล่าเรื่องพระเตมีย์กุมาร ผู้ตั้งปณิธานที่จะออกบวชอย่างแน่วแน่
กำเนิดพระเตมีย์
“พระกุมารผู้ทำให้โลกเกิดความชุ่มเย็นใจ”
ในอดีตชาติได้มีพระเจ้าแผ่นดินพระนามว่ากาสิกราช ครองราชสมบัติในแคว้นกาสี กรุงพาราณสี ด้วยทศพิธราชธรรมเสมอมา พระองค์มีพระสนมถึง ๑๖,๐๐๐ คน แม้เช่นนั้นก็หาได้มีพระโอรสหรือพระธิดากับพระสนมเหล่านั้นไม่ ชาวพระนครเดือดร้อนใจด้วยเกรงว่าหากพระราชาไม่มีพระโอรสหรือพระธิดาแล้วจะไม่มีผู้สืบสันตติวงศ์ จึงรวมตัวกันชุมนุมที่ท้องสนามหลวง กราบทูลให้พระราชาปรารถนาพระโอรส พระราชาจึงรับสั่งกับพระสนมทุกคนให้ปรารถนาบุตร
พระสนมเหล่านั้นได้ประกอบพิธีต่างๆ บนบานศาลกล่าวอ้อนวอนบวงสรวงเทวดาทั้งหลาย มีพระจันทร์ เป็นต้น แม้เช่นนั้น ก็ไม่มีพระสนมองค์ใดทรงครรภ์
ฝ่ายเจ้าหญิงจันทา อัครมเหสีพระเจ้ากาสิกราช พระธิดาเจ้าเมืองมัททรัฐ มีพระจริยาวัตรงดงามเพียบพร้อมด้วยศีล เมื่อพระราชารับสั่งให้ตั้งความปรารถนาให้ได้พระโอรส แทนที่พระองค์จะบวงสรวงเทวดาบนบานเหมือนอย่างคนอื่น พระองค์กลับสมาทานศีลอุโบสถในวันเพ็ญ ทรงเปลื้องเครื่องประดับต่างๆ ออก บรรทมที่นอนปูลาดบนพื้น ทรงรำลึกถึงศีลของพระองค์ แล้วตั้งสัตยาธิษฐานว่า
“ถ้าข้าพเจ้ารักษาศีลไม่ขาด ขอบุตรของข้าพเจ้าจงเกิดขึ้นด้วยสัจวาจานี้”
ด้วยเดชานุภาพแห่งศีลที่พระนางจันทราเทวี สมาทานรักษาพลันบันดาลให้บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ อันเป็นทิพยอาสน์ของท้าวสักกเทวราชเกิดรุ่มร้อน เมื่อท้าวสักกะตรวจดูสาเหตุก็ทราบว่าพระนางจันทราเทวีปรารถนาโอรส จึงตกลงใจจะให้โอรสที่เหมาะสมแก่พระนาง โดยพิจารณาเห็นว่า พระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่เหมาะสม
ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีเป็นเวลา ๒๐ ปี จึงสวรรคตไปบังเกิดในอุสสุทนนรกรับกรรมอยู่เป็นเวลายาวนานถึง ๘๐,๐๐๐ ปี พ้นจากนรกแล้ว จึงไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จนสิ้นบุญ ครั้นสิ้นบุญจะต้องเคลื่อนจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น มีความประสงค์จะไปเกิดบนเทวโลกชั้นสูงขึ้นโดยลำดับ
ท้าวสักกะจึงเสด็จไปเชิญพระโพธิสัตว์ ให้ไปเกิดเป็นมนุษย์ พร้อมกับให้เหตุผลว่า “ขณะนี้ พระนางจันทาเทวี อัครมเหสีของพระเจ้ากาสิกราช ปรารถนาโอรส ท่านจงอุบัติในพระครรภ์ของพระนาง เมื่อเกิดในโลกมนุษย์แล้ว จะมีโอกาสบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมได้ ความเจริญจะมีแก่ท่าน แก่มหาชน และแก่พระชนกชนนีด้วย”
พระโพธิสัตว์รับคำท้าวสักกะ แล้วได้เสด็จลงมาปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางจันทาเทวี พร้อมเทพบุตร ๕๐๐ องค์ที่หมดบุญ ต้องจุติ ได้มาถือปฏิสนธิในครรภ์เหล่าภริยาอำมาตย์ในพระนครนั้น
พระราชาทรงทราบว่าพระมเหสีทรงครรภ์ จึงได้ปฏิบัติอย่างดี เมื่อครรภ์ครบกำหนดแล้ว ก็ประสูติพระโอรสสมบูรณ์ด้วยลักษณะผู้มีบุญญาธิการ ส่วนภรรยาอำมาตย์ทั้งหมดก็คลอดกุมาร ๕๐๐ คน ในวันนั้นเช่นกัน
ขณะนั้น พระราชากำลังเสด็จออกว่าราชการ ประทับอยู่ท่ามกลางเหล่าเสนาอำมาตย์ แวดล้อมไปด้วยข้าราชบริพาร เจ้าหน้าที่กราบทูลให้ทรงทราบว่า พระราชโอรส พระองค์ประสูติแล้ว พระเจ้ากาสิกราชสดับคำถวายรายงานจากเจ้าหน้าที่ ความรักในพระโอรส ในฐานะความเป็นบิดาก็เกิดขึ้นครั้งแรก
พระองค์เกิดปีติซาบซ่านอยู่ภายในพระหฤทัย แม้เหล่าอำมาตย์ข้าราชบริพาร ต่างก็พากันเกิดความรู้สึกยินดีปรีดาเป็นสุขโดยทั่วกัน
เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูตินั้น ได้เกิดฝนตกอย่างหนัก ทำให้เกิดความชุ่มฉ่ำไปทั่วทั้งแคว้นกาสี
เหมือนการประสูติพระโพธิสัตว์จะทำให้พระราชาเบิกบานพระทัย และหัวใจแห่งหมู่อำมาตย์ ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ชุ่มเย็นโดยทั่วกัน
พระราชาตรัสถามเหล่าอำมาตย์เป็นเชิงสัพยอกว่า “ท่านทั้งหลายดีใจหรือที่เราได้ลูกชาย”
พวกอำมาตย์กราบทูลว่า “ไยพระองค์ตรัสถามเช่นนั้น เมื่อก่อนพวกข้าพระองค์เหมือนคนไร้ที่พึ่ง บัดนี้พวกข้าพระองค์มีที่พึ่งเพราะได้เจ้านายแล้ว”
พระเจ้ากาสิกราชได้ทรงสดับคำของเหล่าอำมาตย์ ก็เกิดปีติปลื้มพระทัย ตรัสเรียกมหาเสนาบดีมาสั่งว่า พระโอรสควรจะมีบริวาร ให้ไปตรวจดูว่า วันนี้มีเด็กเกิดในเรือนอำมาตย์ท่านใดบ้าง มหาเสนาบดีได้ให้ไปตรวจดูเห็นทารกในเรือนอำมาตย์ ๕๐๐ คน จึงกราบทูลให้ทรงทราบ พระราชารับสั่งให้พระราชทานเครื่องประดับและนางนมแก่ทารกทั่วทุกคน
คัดเลือกนางนม
ส่วนนางนมพระโอรสนั้น คัดสรรแต่ลักษณะดีจำนวน ๖๔ นาง ต้องไม่สูงจนเกินไป นมไม่หย่อนยาน น้ำนมมีรสหวาน
ถ้านางนมสูงเกินไป เมื่อทารกนั่งดื่มนมจะทำให้คอทารกยาวผิดส่วน ถ้าสตรีเตี้ยเกินไปจะทำให้กระดูกคอทารกหดสั้นเข้า ถ้าสตรีผอมเกินไปจะทำให้ขาของทารกเสียดสีกัน ถ้าสตรีอ้วนเกินไปจะทำให้เท้าทั้งสองของทารกเพลีย ถ้าสตรีผิวดำนักจะทำให้น้ำนมเย็นเกินไป สตรีมีผิวขาวนักจะทำให้น้ำนมร้อนเกินไป สตรีมีนมหย่อนยานจะทำให้ทารกดั้งหัก สตรีเป็นโรคหืด มีน้ำนมเปรี้ยว สตรีเป็นโรคมองคร่อ มีน้ำนมรสเฝื่อนเผ็ด
พระเจ้ากาสิกราชทรงดีพระหฤทัย ได้พระราชทานพรแก่พระนางจันทาเทวีตามปรารถนา พระนางรับพรแล้วถวายฝากคืนไว้ก่อน
ในวันขนานนามพระโพธิสัตว์ พระเจ้ากาสิกราชบูชาเหล่าพราหมณ์ผู้รู้ลักษณะพยากรณ์ด้วยสักการะอย่างมากมาย แล้วตรัสถามถึงสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อพระโอรส
พวกพราหมณ์เห็นลักษณะพระโพธิสัตว์ จึงกราบทูลว่า
“พระโอรสของพระองค์สมบูรณ์ด้วยลักษณะแห่งบุคคลผู้มีบุญญาธิการ อย่าว่าแต่ทวีปหนึ่งเลย พระโอรสสามารถครองความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ตลอดมหาทวีปทั้ง ๔ มีทวีปน้อย ๒,๐๐๐ เป็นบริวาร อันตรายใดๆ จะไม่เกิดขึ้นกับพระโอรสเลย”
พระเจ้ากาสิกราชสดับคำพยากรณ์ของพราหมณ์เหล่านั้น ทรงดีพระทัยเป็นอย่างมาก ทรงขนานพระนามพระโอรสว่า
“เตมีย์กุมาร” แปลว่า “พระกุมารผู้ทำให้โลกเกิดความชุ่มเย็นใจ”
เพราะถือเอานิมิตวันที่พระกุมารประสูติ ฝนตกทั่วกาสิกรัฐ หัวใจพระราชา อำมาตย์ และข้าราชบริพาร ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ต่างเย็นใจ เหมือนถูกรดด้วยน้ำฝนให้เกิดความชุ่มฉ่ำโดยทั่วกัน
ไม่ต้องการเป็นกษัตริย์ครองแผ่นดิน
เมื่อพระโพธิสัตว์มีพระชนม์ได้ ๑ เดือน นางนมได้นำขึ้นเฝ้าพระบิดา พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระโอรสแล้ว เกิดความรักเป็นอย่างยิ่ง ทรงสวมกอดจุมพิตพระโอรสที่พระเศียร อุ้มให้บรรทมบนพระเพลา ประทับนั่งชื่นชมอยู่กับพระกุมาร แม้ขณะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ
ขณะนั้นเจ้าหน้าที่เรือนจำได้ควบคุมตัวนักโทษ ๔ คนมายังหน้าพระที่นั่งเพื่อให้พระราชาสั่งลงอาญา พระราชาทรงสั่งลงอาญาพวกโจรตามความผิด ดังนี้
นักโทษคนที่ ๑ ให้เอาหวายที่ยังมีหนามเฆี่ยน ๑,๐๐๐ ครั้ง แล้วราดด้วยน้ำเกลือ นักโทษคนที่ ๒ ให้ล่ามด้วยโซ่ตรวนแล้วส่งไปคุมขังในเรือนจำ นักโทษคนที่ ๓ ให้เอาหอกแทง นักโทษคนที่ ๔ ให้เอาหลาวเสียบ
พระกุมารได้ฟังคำตัดสินลงโทษของพระบิดาก็สะดุ้งกลัว ทรงรำพึงว่า “พระราชาของเราอาศัยราชสมบัติ ทำกรรมหนักเหลือเกิน จะทำให้ไปเกิดในนรก”
คืนนั้น พี่เลี้ยงนางนมให้พระกุมารบรรทมเหนือพระแท่นที่ตกแต่งไว้อย่างดี ภายใต้มหาเศวตฉัตร พระกุมารบรรทมได้ครู่หนึ่งก็สะดุ้งตื่น พระองค์ไม่อาจข่มตาหลับต่อไปได้อีก จึงทอดพระเนตรมหาเศวตฉัตร ได้เห็นสิริราชสมบัติอันยิ่งใหญ่ตระการตา
พลันนั้น พระกุมารเกิดความกลัวอย่างจับจิต จนมิอาจสะกดกลั้นได้ พระองค์ลืมตาในความมืดมิดของราตรีอันยาวนาน พยายามคิดทบทวนว่า พระองค์มาจากไหน จึงได้มาสู่พระราชมณเฑียร ภายใต้มหาเศวตฉัตรนี้
เมื่อทรงใคร่ครวญดูก็กลับระลึกชาติได้ว่า พระองค์จุติมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระองค์ทรงทบทวนต่อไปอีก ก็ทราบว่าพระองค์เคยหมกไหม้อยู่ในอุสสุทนรกเป็นเวลายาวนาน ทรงทบทวนต่อไปอีกว่า ทำไมจึงได้ไปเกิดในนรก ก็ทราบว่าพระองค์เคยเป็นพระราชาปกครองแผ่นดินภายใต้มหาเศวตฉัตรนี้นั่นเอง
ทรงพิจารณาอยู่ก็ทราบว่า พระองค์ได้ครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีนี้เป็นเวลา ๒๐ ปี หลังจากสรรคตแล้วได้ไปเกิดในนรกหมกไหม้อยู่ยาวนานถึง ๘๐,๐๐๐ ปี บัดนี้ได้กลับมาเกิดในปราสาทราชฐาน ซึ่งเปรียบประหนึ่งเรือนโจรภายใต้เศวตฉัตรนี้อีกครั้ง
พระกุมารทรงทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมา ขณะเจ้าหน้าที่ควบคุมนักโทษ ๔ คนมา เห็นพระบิดากล่าวคำหยาบอันจะเป็นเหตุให้ตกนรกเช่นนั้น หากพระองค์ครองราชสมบัติก็จะกลับไปบังเกิดในนรกรับกรรมชั่วอีกครั้งเป็นแน่ พระกุมารเกิดความกลัวอย่างมาก จนทำให้ผิวพรรณดุจทองคำเหี่ยวแห้งเศร้าหมองลง เหมือนดอกบัวที่ถูกคนเอามือขยำจนเหี่ยวเฉา
พระองค์บรรทมรำพึงอยู่ในความมืดมิดของราตรี ว่าทำอย่างไรจึงจะพ้นจากพระราชมณเฑียร ซึ่งเปรียบประหนึ่งเรือนโจรนี้ได้
เทพธิดาผู้สิงสถิตอยู่ในมหาเศวตฉัตร เคยเป็นมารดาของพระเตมีย์ในชาติหนึ่ง เห็นเช่นนั้นก็เห่กล่อมพร้อมทั้งปลอบโยนพระกุมารให้สบายพระทัยว่า
“เตมีย์ ลูกแม่ ลูกอย่าเศร้าโศก อย่าคิดมาก อย่าหวาดกลัวไปเลย ถ้าลูกปรารถนาจะพ้นจากราชสมบัตินี้ ลูกแม่ไม่ได้เป็นคนง่อยเปลี้ย ก็จงทำเป็นเหมือนคนง่อยเปลี้ย ไม่ได้เป็นคนหูหนวก ก็จงทำเป็นเหมือนคนหูหนวก ไม่ได้เป็นใบ้ ก็จงทำเป็นเหมือนคนใบ้เถิด
“ จงตั้งใจอธิษฐาน ๓ อย่างนี้ อย่าแสดงว่าเป็นคนฉลาด จงให้คนทั้งปวงรู้กันว่าลูกเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา คนเหล่านั้นจะได้กล่าวโทษดูหมิ่นลูกว่าเป็นกาลกิณี ความปรารถนาของลูกก็จะสำเร็จได้ด้วยวิธีนี้”
พระกุมารกลับบังเกิดความอบอุ่นพระทัยขึ้นมาได้ เพราะคำพูดปลอบโยนของเทพธิดา จึงตอบว่า “แม่เทพธิดา ข้าพเจ้าจะทำตามคำของท่าน ท่านเห็นประโยชน์จึงได้เกื้อกูลข้าพเจ้าอย่างมากมายเช่นนี้ “
ครั้นแล้ว พระกุมารก็ได้ตั้งจิตอธิษฐานตามคำแนะนำของเทพธิดา แล้วเทพธิดาก็ได้อันตรธานหายไปในความมืดมิดของราตรีกาลนั้น
(โปรดติดตามตอนต่อไป …)