ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

(ชาติที่ ๒) พระมหาชนก : วิริยะบารมี (ตอนที่ ๙ ตอนจบ)

“บนเส้นทางที่ต้องเลือก”

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

เมื่อมิคาชินะฤาษีไปแล้ว พระนางสีวลีเทวีหมอบลงแทบพระบาทพระราชา กราบทูลให้พระองค์กลับไปอภิเษกพระโอรสเป็นพระมหากษัตริย์ก่อนว่า “อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงต่างตกใจว่า พระราชาทอดทิ้งพวกเขาออกผนวชเสียแล้ว ขอพระองค์โปรดทำให้ประชาชนอบอุ่นใจ ด้วยการกลับไปอภิเษกพระโอรสครองราชสมบัติแล้ว จึงทรงผนวชในภายหลัง”

พระโพธิสัตว์แย้งว่า “พระองค์สละชาวชนบท มิตร อำมาตย์และพระประยูรญาติทั้งหลายแล้ว ส่วนทีฆาวุราชกุมารนั้นเล่า ก็เป็นบุตรของชาววิเทหะ สามารถปกครองบ้านเมืองให้เจริญได้ ชาววิเทหะนั่นแหละจะอภิเษกพระกุมารให้ครองราชสมบัติในกรุงมิถิลานคร”

พระนางสีวลีกราบทูลถึงตัวพระนางเองว่า “เมื่อไม่มีพระองค์ หม่อมฉันจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร” พระโพธิสัตว์ตอบว่า “พระเทวี อาตมาจะบอกให้รู้ เมื่อเธอให้พระโอรสครองราชสมบัติ ก็จะเป็นเหตุให้ทำบาปทั้้งทางกาย วาจา และใจเป็นอันมาก ซึ่งจะทำให้ไปเกิดในนรก การที่เราดำรงชีพอยู่ด้วยก้อนข้าวที่ผู้อื่นให้ นี้เป็นธรรมของนักปราชญ์ ”

กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ตรัสโต้ตอบกันเสด็จดำเนินไปเช่นนี้จนอาทิตย์อัสดงจับทิวป่าสาดแสงสีแดงระเรื่อ พระเทวีจึงรับสั่งให้ตั้งค่ายพักแรม ส่วนพระโพธิสัตว์เสด็จพระทับแรมที่โคนไม้แห่งหนึ่งตลอดราตรี

ครั้นรุ่งเช้า พระโพธิสัตว์ทรงเสด็จพระราชดำเนินตามหนทางต่อไป แม้พระเทวีก็เสด็จตามไปข้างหลัง จนลุเข้าเขตคูถนนในเวลาภิกขาจาร

ขณะนั้น มีชายชาวเมืองคนหนึ่งซื้อเนื้อมาจากโรงฆ่าสัตว์เสียบหลาวย่างไฟจนสุก เอาออกวางไว้ข้างนอกคอยให้เย็น พอเผลอ สุนัขตัวหนึ่งแอบคาบชิ้นเนื้อวิ่งหนีไป เขาวิ่งไล่ตามจนสุนัขออกประตูเมือง เมื่อเห็นว่า วิ่งตามไม่ทันแล้วจึงกลับบ้าน พระโพธิสัตว์กับพระเทวีเสด็จมาตามทางที่สุนัขวิ่งสวนมา สุนัขนั้นตกใจกลัวจึงทิ้งเนื้อวิ่งหนีไป

พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นเนื้อนั้น ทรงรำพึงว่า สุนัขทิ้งชิ้นเนื้อหนีไปแล้ว และเจ้าของคนอื่นก็ไม่มี อาหารเช่นนี้ไม่มีโทษ ชื่อว่า “บังสุกุลบิณฑบาต” จึงนำบาตรดินออกมา หยิบเนื้อชิ้นนั้นขึ้นมาปัดฝุ่นแล้วใส่ลงในบาตร เสด็จไปท่าน้ำ ทรงพิจารณาอาหารบิณฑบาตแล้วเริ่มเสวยชิ้นเนื้อนั้น

พระเทวีดำริว่า “หากพระราชายังมีเยื่อใยอยู่บ้าง ก็จะไม่เสวยเนื้อเดนสุนัข เปื้อนฝุ่น ไม่สะอาด น่าเกลียดนี้ แต่นี้พระองค์ไม่ใช่พระราชสวามีของเราอีกต่อไปแล้ว” แม้เช่นนี้ พระนางก็ไม่สามารถหักห้ามความรักได้ จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชา พระองค์ช่างเสวยเนื้อที่น่าเกลียดเช่นนี้ได้” พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “เธอยังไม่รู้จักบิณฑบาตที่วิเศษนี้หรอก” แล้วทรงเสวยก้อนเนื้อนั้นต่อไปดุจเสวยอมตรส

พระเทวีทรงตำหนิพระราชาว่า “คนทั่วไปแม้อดอาหารมาถึง ๔ มื้อ ก็ไม่ยอมกินเนื้อเปื้อนฝุ่นไม่สะอาด พระองค์สิช่างเสวยเนื้อเดนสุนัข ไม่สะอาด น่าเกลียดนี้ได้”

พระโพธิสัตว์ตอบว่า “ชิ้นเนื้อนี้ เป็นอาหารอาตมา เพราะทั้งคนทั้งสุนัขต่างก็สละแล้ว อาหารที่บุคคลได้มาโดยชอบธรรม เป็นของไม่มีโทษ”

เมื่อสองกษัตริย์ตรัสโต้แย้งกันพลางเสด็จพระราชดำเนินไปอยู่อย่างนี้ก็ถึงประตูถูนนคร ขณะนั้น เด็กในนครกำลังเล่นกันอยู่ เด็กหญิงคนหนึ่งเอากระด้งน้อยฝัดทรายเล่นอยู่ ทำให้กำไรสองอันที่สวมอยู่ในข้อมือข้างหนึ่งกระทบกันเกิดเสียงดัง แต่มืออีกข้างหนึ่งไม่มีเสียง พระโพธิสัตว์ดำริว่า พระนางสีวลีตามหลังมา

สตรีย่อมเป็นที่ครหาสำหรับบรรพชิต

ชนทั้งหลายเห็นก็จะติเตียนได้ว่า บรรพชิตนี้แม้บวชแล้วก็ยังไม่สามารถตัดขาดจากภรรยา ถ้าเด็กคนนี้ฉลาด จะพูดทำให้นางสีวลีกลับได้ จึงเสด็จเข้าไปหาเด็กหญิงคนนั้น ตรัสว่า

“หนูน้อย

กำไลข้อมือข้างหนึ่งของหนูมีเสียง

แต่อีกข้างหนึ่งทำไมไม่มีเสียง”

เด็กหญิงกล่าวว่า

“สมณะ

เสียงเกิดจากกำไลสองอันกระทบกัน

แต่มืออีกข้างหนึ่งมีกำไลอันเดียว

จึงไม่มีเสียง

เหมือนนักปราชญ์สงบนิ่ง

ส่วนคนสองคนย่อมวิวาทกัน

ถ้าอยู่คนเดียวจะวิวาทกับใครได้

หากท่านอยากไปสวรรค์

จงอยู่คนเดียวเถิด”

พระโพธิสัตว์จึงตรัสกับพระนาวสีวลีว่า “สีวลี เธอได้ยินเด็กพูดแล้วมิใช่หรือ เสมอเพียงชั้นคนใช้ยังตำหนิเราได้ เพราะความที่อาตมาเป็นบรรพชิต เธอเป็นสตรีเดินตามกันมา ย่อมเป็นเหตุให้เกิดข้อครหา เราจะแยกกันบนทางสองแพร่งนี้ เธอเดินไปทางหนึ่ง ส่วนอาตมาก็จะเดินไปอีกทางหนึ่ง จากนี้ต่อไป อย่าเรียกอาตมาว่าเป็นสวามีเธอ และอาตมาก็จะไม่เรียกเธอว่า เป็นมเหสีของอาตมา”

พระนางสีวลีกราบทูลว่า “ถ้าเช่นนั้น พระองค์เป็นกษัตริย์จงเดินไปตามทางขวา ส่วนหม่อมฉันเป็นสตรีจะเดินไปตามทางซ้าย”

ครั้นพระเทวีเสด็จไปได้ครู่หนึ่ง ไม่สามารถจะอดกลั้นโศกาอาดูรได้ จึงเสด็จตามพระราชามาอีกเหมือนเดิม แล้วเข้าถูนนครพร้อมกัน

พระโพธิสัตว์เสด็จเที่ยวบิณฑบาตจนถึงประตูเรือนช่างศร แม้พระนางสีวลีก็เสด็จมาประทับยืนอยู่ข้างหลัง ช่างศรนั่งที่ริมประตูบ้าน กำลังลนลูกศรที่ถ่านเพลิง หลับตาข้างหนึ่ง เล็งดูที่คดด้วยตาข้างหนึ่งดัดลูกศรให้ตรง

พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงตรัสถามช่างศรนั้นว่า

“ช่างศร

ทำไมท่านจึงหลับตาข้างหนึ่ง

เล็งดูลูกศรด้วยตาข้างหนึ่ง”

ช่างศรกราบทูลว่า “สมณะ การเล็งด้วยตาทั้ง ๒ ข้าง จะพร่ามัวไม่เห็นที่คด ไม่สามารถดัดลูกศรให้ตรงได้ ถ้าหลับตาข้างหนึ่งเล็งดูที่คดด้วยตาอีกข้างหนึ่ง ก็จะสามารถเห็นที่คด และดัดลูกศรให้ตรงได้ หากคนอยู่ด้วยกันสองคนจึงวิวาทกัน ถ้าคนเดียวแล้วจะไปวิวาทกับใครเล่า หากท่านอยากไปสวรรค์ จงอยู่คนเดียวเถิด ปกติสมณะทั้งหลายจะไม่พาแม้น้องสาวเที่ยวไปด้วย แต่เหตุไร ท่านจึงพาภรรยารูปร่างงดงามติดตามไปด้วย ภรรยานี้จะทำให้ท่านเกิดอันตราย ท่านจงให้ภรรยากลับไป อยู่คนเดียว บำเพ็ญสมณธรรมเถิด”

พระโพธิสัตว์เสด็จเที่ยวบิณฑบาต ได้ภัตตาหารที่เจือปนแล้วเสด็จออกจากพระนคร ประทับนั่งเสวยที่ท่าน้ำแห่งหนึ่ง ครั้นเสวยเสร็จแล้ว ทรงบ้วนพระโอษฐ์ ล้างบาตรเก็บเข้าถุง แล้วตรัสกับพระนางสีวลีว่า “สีวลี เธอได้ยินที่ช่างศรพูดแล้วไม่ใช่หรือ ช่างศรเสมอเพียงคนใช้ ยังติเตียนเราได้ เพราะความที่อาตมาเป็นบรรพชิต ส่วนเธอเป็นสตรีเดินตามกันมา ย่อมทำให้เกิดข้อครหา เราจะต้องแยกกันบนทางสองแพร่งนี้ เธอเดินไปทางหนึ่ง ส่วนอาตมาก็จะเดินไปทางหนึ่ง จากนี้ต่อไปอย่าเรียกอาตมาว่าเป็นพระสวามีของเธอ และอาตมาก็จะไม่เรียกเธอว่าเป็นมเหสีอาตมาอีก”

แม้นางสีวลีเทวีจะถูกพระโพธิสัตว์ห้ามเรียกพระองค์ว่าพระสวามี ก็ยังเสด็จติดตามไปอย่างไม่ละความพยายาม พระโพธิสัตว์เองก็ไม่สามารถให้พระนางสีวลีกลับได้ แม้มหาชนก็ตามเสด็จพระองค์อยู่นั่นเอง

ครั้นแล้ว พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นแนวป่าใหญ่เขียวชอุ่มอยู่เบื้องหน้า เมื่อดำเนินไป ได้ทอดพระเนตรเห็นหญ้ามุงกระต่ายข้างทาง จึงถอนหญ้ามุงกระต่ายขึ้นมา แล้วตรัสกับพระเทวีว่า

“สีวลี

เธอดูหญ้ามุงกระต่ายนี่สิ

หญ้ามุงกระต่ายที่ติดกันอยู่แต่เดิม

บัดนี้อาตมาถอนขึ้นแล้ว

ไม่อาจต่อกันได้อีก

จากนี้ต่อไป

การอยู่ร่วมกันระหว่างเราสองคนไม่มีอีกแล้ว

เธอจงอยู่คนเดียว

แม้อาตมาก็ก็จะอยู่คนเดียวเช่นกัน”

พระเทวีได้ฟังเช่นนั้นแล้ว เกิดความเศร้าโศกเสียใจว่า จากนี้ไปจะไม่ได้อยู่ร่วมกับพระมหาชนกนรินทรราชอีกแล้ว พระนางไม่อาจอดกลั้นความเศร้าโศกเสียใจได้ ก็ทุบพระอุระด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง ทรงร้องไห้อย่างน่าสงสาร ครั้นแล้วก็หมดสติถึงวิสัญญีภาพสลบล้มลงไปในระหว่างทาง

พระโพธิสัตว์ทราบว่าพระนางสลบไปแล้ว แม้จะสงสารเหลือประมาณ แต่ก็ตัดใจรีบสาวเท้าเสด็จหายเข้าไปในป่าใหญ่ เมื่อพระนางฟื้นแล้ว เสด็จลุกขึ้นตรัสถามถึงพระราชา ให้เที่ยวค้นหาก็ไม่พบ พระนางร้องไห้ปริเวทนาการปริ่มจะขาดใจ แล้วให้สร้างพระเจดีย์ตรงที่พระราชาประทับยืน บูชาด้วยของหอมและดอกไม้ แล้วเสด็จกลับกรุงมิถิลานคร

ฝ่ายพระโพธิสัตว์เสด็จเข้าป่าหิมวันต์

เจริญสมณธรรม

จนได้บรรลุอภิญญาและสมาบัติภายใน ๗ วัน

มิได้เสด็จมาสู่ถิ่นมนุษย์อีกเลย

ตลอดพระชนมชีพ

ขณะที่พระนางสีวลีเสด็จกลับ โปรดให้สร้างพระเจดีย์หลายองค์ในระหว่างทาง ณ ที่ที่พระโพธิสัตว์ตรัสกับช่างศร ตรัสกับเด็กหญิง เสวยเนื้อที่สุนัขทิ้ง ตรัสกับมหามิคาชินะฤาษี และตรัสกับมหานารทะฤาษี บูชาด้วยของหอมและดอกไม้

ภายหลังเสด็จไปถึงมิถิลานครแล้ว ทรงอภิเษกพระราชโอรส ณ พระราชอุทยานอัมพวัน ทรงส่งพระราชโอรสพร้อมทั้งจาตุรังคเสนาเข้าพระนครไป ส่วนพระองค์ทรงผนวช ประทับอยู่ ณ พระราชอุทยานนั้น ทรงเพ่งกสิณ บริกรรมจนได้บรรลุฌาน ไม่เสื่อมจากฌาน เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วได้ไปเกิดในพรหมโลก ฝ่ายพระมหาชนกก็ได้ไปเกิดในพรหมโลกเช่นกัน

กลับชาติมาเกิดในสมัยพุทธกาล

พระศาสดาตรัสว่า มิใช่แต่ในชาตินี้เท่านั้นที่ตถาคตออกบวช แม้ในชาติก่อน ตถาคตก็ออกบวชเช่นกัน แล้วสรุปชาดกว่า “ท้าวสักกเทวราชในอดีตชาตินั้น ได้มาเกิดเป็นพระอนุรุทธะในชาตินี้ พราหมณ์ทิศาปราโมกข์ได้มาเกิดเป็นพระมหากัสสปะ นางมณีเมขลาเทพธิดาผู้รักษาสมุทร ได้มาเกิดเป็นอุบลวรรณาภิกษุณี นารทะฤาษีได้มาเกิดเป็นพระสารีบุตร มิคาชินะฤาษีได้มาเกิดเป็นพระโมคคัลลานะ เด็กหญิงได้มาเกิดเป็นนางเขมาภิกษุณี ช่างศรได้มาเกิดเป็นพระอานนท์ ราชบริษัทที่เหลือได้มาเกิดเป็นพุทธบริษัท สีวลีเทวีได้มาเกิดเป็นมาารดาพระราหุล ฑีฆาวุกุมารได้มาเกิดเป็นราหุล พระชนกพระชนนีได้มาเกิดเป็นมหาราชศากยสกุล ส่วนพระมหาชนกนรินทรราช คือเราพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เอง”

จบ (ชาติที่ ๒) พระมหาชนก : วิริยะบารมี

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง (ชาติที่ ๒) พระมหาชนก : วิริยะบารมี (ตอนที่ ๙ ตอนจบ) “บนเส้นทางที่ต้องเลือก” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here