“ขุนเขาย่อมมีวันทลาย

สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง

แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ คณะ ๗ พิมพ์ครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๗ ฉบับธรรมทาน
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ คณะ ๗ พิมพ์ครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๗ ฉบับธรรมทาน

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

(ชาติที่ ๒)

พระมหาชนก : วิริยะบารมี

“เกิดเป็นคนควรมีความเพียรพยายามอยู่ร่ำไป

จนกว่าจะประสบผลสำเร็จ

นรชนผู้มีปัญญา

แม้ประสบทุกข์ ก็ไม่ไร้ซึ่งความหวัง”

(ตอนที่ ๗)

อุทยานอัมพวัน

อยู่มาวันหนึ่ง คนดูแลสวนได้นำผลไม้นานาชนิด ตลอดจนดอกไม้หลากพรรณมาถวาย พระมหาชนกทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงยินดีปรารถนาจะเสด็จประพาสพระราชอุทยาน คนดูแลสวนจึงเตรียมการรับเสด็จตามพระประสงค์ พระมหาชนกประทับบนคอช้างเสด็จออกจากพระนคร มีข้าราชบริพารตามเสด็จเป็นจำนวนมาก

ขณะพระองค์เสด็จผ่านประตูพระราชอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วง ๒ ต้น แผ่กิ่งก้านสาขาเขียวชอุ่มสง่างามต้นหนึ่งไม่มีผล อีกต้นหนึ่งมีผล ต้นที่มีผลนั้นเป็นมะม่วงที่มีรสหอมหวาน ไม่มีใครกล้าเก็บผลมะม่วงจากต้นนั้น เพราะพระราชายังไม่ได้เสวย

พระมหาชนกประทับบนคอช้างรับสั่งให้คนดูแลสวนเก็บผลมะม่วงผลหนึ่งมาให้เสวย มะม่วงนั้นมีรสชาติโอชาหอมหวานดุจรสทิพย์ พระองค์ทรงตั้งใจว่า เมื่อกลับออกจากอุทยานจะเสวยเพิ่มอีก แล้วเสด็จเข้าสู่พระราชอุทยาน อุปราช ปุโรหิต อำมาตย์ ข้าราชบริพาร ตลอดจนตะพุ่นช้าง ตะพุ่นม้า เมื่อรู้ว่าพระราชาเสวยมะม่วงแล้ว ครั้นพระองค์เสด็จคล้อยไปหน่อยหนึ่ง ต่างก็รุมกันยื้อแย่งผลมะม่วงที่เหลือ ทำให้ใบมะม่วงร่วง กิ่งฉีกหักเกลื่อน ไม่เหลือสภาพต้นมะม่วงที่สง่างามเหมือนเดิม ส่วนมะม่วงอีกต้นซึ่งไม่มีผลกลับยืนต้นแผ่กิ่งก้านสาขาเขียวครึ้มสง่างาม

ครั้นพระราชาเสด็จออกจากพระราชอุทยาน ตั้งใจว่าจะเสวยมะม่วงเพิ่มอีก กลับเห็นต้นมะม่วงที่ให้ผลดกหนาอยู่ในสภาพน่าหดหู่เช่นนั้น ส่วนต้นที่ไม่มีผลกลับยืนต้นแผ่กิ่งก้านสาขาเขียวครึ้มสง่างาม จึงตรัสถามเหลาอำมาตย์ว่าเกิดอะไรขึ้น

เมื่ออำมาตย์กราบทูลให้ทราบถึงสาเหตุ ที่ต้นมะม่วงกลายสภาพเป็นเช่นนี้ จึงเกิดควมสังเวชใจว่า “ต้นมะม่วงต้นหนึ่งยังคงแผ่กิ่งก้านสาขาสง่างาม เพราะไม่มีผล แต่อีกต้นที่มีผลดกหนาถูกยื้อแย่งใบร่วงกิ่งฉีกหักเกลื่อน ราชสมบัติก็เหมือนต้นมะม่วงมีผล ที่มีผู้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้เกิดปัญหาแก่แผ่นดิน วันหนึ่งอาจถูกโค่นล้มราชบัลลังก์เปลี่ยนแปลงการปกครอง หากยังไม่ถูกโค่นล้มราชบัลลังก์ พวกทหารก็คอยปฏิวัติรัฐประหารกันเอง ต้องคอยเฝ้าหวงแหน ทั้งถูกพวกคณะมนตรีแก่ๆ คอยประจบสอพลอ ทำให้เกิดความกังวลใจ

” การบวชเหมือนต้นมะม่วงไร้ผล

เพราะไม่มีผลประโยชน์ให้แสวงหา

ภัยย่อมมีแก่ผู้มีความกังวล

และภัยย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีความกังวล”

พระมหาชนกทรงอธิษฐานจิตมั่นว่า “เราจะไม่เป็นเหมือนต้นมะม่วงมีผล แต่จะเป็นเหมือนต้นมะม่วงไม่มีผล เราจะสละราชสมบัติออกบวช”

ครั้นเสด็จสู่พระนครแล้ว ได้เสด็จขึ้นปราสาท ให้เรียกเสนาบดีมารับสั่งห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าเฝ้า เว้นแต่ผู้นำอาหาร น้ำบ้วนพระโอษฐ์ และไม้สีพระทนต์เท่านั้น พระองค์ไม่ออกว่าราชการ ทรงมอบให้เหล่าเสนาอำมาตย์เป็นผู้วินิจฉัยราชกิจ ทรงบำเพ็ญสมณธรรมบนพระตำหนักเพียงลำพังพระองค์เดียว ทรงมอบให้เหล่าอำมาตย์เป็นผู้วินิจฉัยราชกิจ ทรงบำเพ็ญสมณธรรมบนพระตำหนักเพียงลำพังเพียงพระองค์เดียว

ครั้นวันเวลาล่วงไป ประชาชนไม่เห็นพระมหาชนก เกิดความรู้สึกว่า พระราชาเปลี่ยนไปจึงชุมนุมกันที่ท้องสนามหลวงวิพากษ์วิจารณ์กันว่า “พระราชาไม่เหมือนเดิม ไม่ทอดพระเนตรเหล่าคนฟ้อนรำ ไม่ใส่ใจเพลงขับ ไม่ทอดพระเนตรการชนช้าง การชนแพะ การชนวัว ไปประพาสพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรหมู่หงส์ พระองค์เหมือนคนใบ้ ประทับนั่งเฉยไม่ว่าาราชกิจอะไรๆ”

พระมหาชนกไม่มีจิตใจข้องเกี่ยวในกามทั้งหลาย ทรงน้อมไปในความสงบ ระลึกถึงเหล่าปัจเจกพุทธเจ้า ผู้คุ้นเคยในราชสกุล ทรงรำพึงว่า ใครจะสามารถบอกสถานที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าให้พระองค์ทราบได้ จึงเปล่งอุทานว่า

“ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย

มุ่งไปสู่ความดับสนิท

ย่อมรักษาศีล ปราศจากเครื่องเหนี่ยวรั้ง

คือ กิเลส สามารถก้าวข้ามตัณหาได้แล้ว

ทั้งหนุ่มและแก่ ในวันนี้ท่านอยู่ที่ไหนกัน

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่านผู้มีปัญญาเหล่านั้น

ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ไม่มีความตะเกียกตะกาย

แต่อยู่ในโลกที่ผู้คนมีความตะเกียกตะกายได้

จึงสามารถตัดข่ายแห่งมัจจุราช ซึ่งขึงไว้ให้ขาดเสียได้”

“ใครหนอจักสามารถนำเราไปสู่ป่า ซึ่งเป็นสถานที่อยู่ของท่านได้”

เมื่อพระมหาชนกน้อมรำลึกถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่เช่นนี้ ก็เกิดปีติอย่างมาก ทรงเสด็จลุกจากบัลลังก์เปิดสีหบัญชรด้านทิศเหนือ ยกมือไหว้เหนือพระเศียร น้อมนมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไปสู่ที่อันไกลโพ้น

วันเวลาล่วงไป ๔ เดือน พระหฤทัยของพระองค์ได้น้อมไปในบรรพชาอย่างยิ่ง ปราสาทราชฐานปรากฏดุจไฟนรกลุกไหม้ เร่าร้อนดุจถูกเผาผลาญ ทรงใคร่ครวญถึงกาลที่จะเสด็จออกจากมิถิลานคร สู่ป่าหิมวันต์ แล้วทรงพรรณาถึงกรุงมิถิลานครว่า “เมื่อไรเราาจะได้จากกรุงมิถิลานคร ราชธานีอันมั่นคง นายช่างผู้ชำนาญรังสรรค์ไว้ แบ่งออกเป็นพระราชนิเวศน์ ประตู ถนน กว้างขวาง มีกำแพง หอรบ ป้อมปราการที่แข็งแกร่ง มีซุ้มประตูมั่นคง มีทางหลวงตัดไว้เรียบร้อย มีร้านค้าเรียงรายอย่างเป็นระเบียบอยู่ริมถนน ผู้คนขวักไขว่ เบียดเสียดไปด้วยรถเทียมโคและม้า มีพุ่มไม้ประดับและพรรณไม้นานาชนิดในพระราชอุทยาน มีปราสาทอันวิจิตรงดงาม ระดะไปด้วยปราการ ๓ ชั้น ที่พระเจ้าวิเทหรัฐผู้ยิ่งใหญ่ พระนามว่า “โสมมนัส” ทรงสร้างไว้ และปกครองอาณาประชาราษฎร์โดยธรรม มิถิลานครที่พรั่งพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ อันหมู่ปัจจามิตรมิอาจรบชนะได้ รุ่งเรืองด้วยประการทั้งปวง ความหวังที่จะได้ออกบวชนั้นจะมาถึงเมื่อไรหนอ

เมื่อไรเราจะจากปราสาทราชมณเฑียรอันน่ารื่นรมย์ ฉาบทาด้วยปูนขาวและดินเหนียว มีกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจ พระตำหนักแซงเสียดยอดวิจิตรสีละลานตา ลาดรดประพรมด้วยแก่นจันทน์ ความหวังที่จะได้ออกบวชนั้นจะสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

เมื่อไรเราจะจะจากราชบัลลังก์ทอง ซึ่งลาดอย่างวิจิตรด้วยหนังโคจากผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าจากโขมรัฐและโกทุมพรรัฐ จากสระโบกขรณีอันชุ่มเย็น เจื้อยแจ้วจำเรียงเสียงด้วยนกจากพรากร่ำร้อง ดารดาษไปด้วยพรรณไม้น้ำ ทั้งปทุมและอุบลหลากสี ออกบวช ความหวังนั้นจะสำเร็จได้เมื่อไรหนอ

เมื่อไรกองช้างซึ่งประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง ตลอดจนเหล่านางสนมกำนัลพูดจาน่ารักเป็นที่สุด จะไม่ติดตามเรา

เมื่อไรเราจะได้ปลงผมห่มผ้าสังฆาฏิ อุ้มบาตรเที่ยวบิณฑบาต จะทรงผ้าสังฆาฏิที่ทำจากผ้าบังสุกุลที่เขาทิ้งไว้ตามถนนหนทาง เมื่อฝนตกตลอดทั้ง ๗ วัน ก็จะมีจีวรที่เปียกชุ่มเที่ยวบิณฑบาต จะจาริกท่องเที่ยวไปตามต้นไม้ตามราวป่า ทั้งกลางวันและกลางคืน เที่ยวไปโดยไม่กังวลถึงราชกิจอันใด ละความกลัว ความขลาดให้เด็ดขาด อยู่คนเดียวตามภูเขาและสถานที่อันทุรกันดาร จะทำจิตให้ตรงดุจนักดนตรีดีดพิณด้วยความร่มรื่นใจ ความหวังนั้นจะมาถึงเมื่อไรหนอ เมื่อไรเราจะตัดเสียซึ่งกามสังโยชน์ อันเป็นของทิพย์และของมนุษย์เสียได้

โปรดติดตามตอนต่อไป

ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง (ชาติที่ ๒) พระมหาชนก : วิริยะบารมี (ตอนที่ ๑๑) ““อุทยานอัมพวัน” ” เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here