“ขุนเขาย่อมมีวันทลาย

สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง

แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

(ชาติที่ ๒)

พระมหาชนก : วิริยะบารมี

“เกิดเป็นคนควรมีความเพียรพยายามอยู่ร่ำไป

จนกว่าจะประสบผลสำเร็จ

นรชนผู้มีปัญญา

แม้ประสบทุกข์ ก็ไม่ไร้ซึ่งความหวัง”

(ตอนที่ ๖)

“แรงกตัญญู”

เขียนโดย ญาณวชิระ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

(ความเดิมจากตอนที่แล้ว) หลังจากที่มีการทดสอบภูมิธรรมของพระมหาชนกจนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า พระองค์คือผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นพระมหากษัตริย์แห่งมิถิลานคร ดังที่มหาชนต่างโห่ร้องถวายสาธุการสรรเสริญพระปัญญาด้วยความปีติยินดีว่า

“คนเป็นอันมากเที่ยวขุดค้นหาทรัพย์

ทางทิศที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและดวงอาทิตย์ตก

แต่ขุมทรัพย์อยู่นี่เอง”…

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

เมื่อพระมหาชนกได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งมิถิลานครแล้ว ก็หวนคิดถึงพระมารดา จึงโปรดให้เชิญพระมารดาและพราหมณ์มหาศาลมาจากนครกาลจัมปากะ พระองค์ทำการบูชาสมโภชเฉลิมฉลองพระมารดา และพราหมณ์มหาศาลอย่างยิ่งใหญ่

เมื่อพระมหาชนกขึ้นครองราชย์นั้น พระองค์มีอายุ ๑๖ ชันษา เพราะความที่พระองค์ขึ้นครองราชย์สมบัติขณะยังทรงพระเยาว์ และเป็นยุวกษัตริย์ที่เพียบพร้อมด้วยสติปัญญา ประชาชนชาววิเทหรัฐต่างเล่าขานถึงยุวกษัตริย์ของตนด้วยความเคารพรักว่า

“พระมหาชนกทรงเป็นพระโอรส

ของพระเจ้าอริฏฐชนกราช

ผู้สิ้นพระชนม์กลางสนามรบ

ทรงครองราชสมบัติ

เป็นพระราชาแห่งมิถิลานคร

เพราะความเป็นบัณฑิต

เฉลียวฉลาดในอุบาย

สามารถแก้ปัญหาได้”

อาณาประชาราษฎร์ยินดีปรีดาเฉลิมเฉลองพระนครเป็นการใหญ่ ตกแต่งพระราชนิเวศน์อย่างวิจิตรสวยงาม ห้อยพวงดอกไม้ โปรยปรายข้าวตอก ตกแต่งด้วยดอกไม้ เครื่องอบธูป และเครื่องหอม จัดเตรียมข้าวน้ำโภชนาหารในภาชนะเงิน ภาชนะทองคำ โดยประการต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องราชบรรณาการถวายพระมหาชนก อาณาประชาราษฎร์ต่างหลั่งไหลกันมา ชื่นชมยุวกษัตริย์ของตนอย่างเนืองแน่น

พวกอำมาตย์ข้าราชบริพารอยู่ปะรำหนึ่ง พวกพราหมณ์อยู่ปะรำหนึ่ง พวกเศรษฐีเป็นต้นอยู่ปะรำหนึ่ง พวกชะแม่ชาววังสนมฝ่ายในรูปโฉมงดงามอยู่ปะรำหนึ่ง พราหมณ์ทั้งหลายก็พร้อมกันสวดสาธยายมนต์ เพื่ออำนวยสวัสดี ผู้กล่าวชัยมงคลก็พร้อมกันร้องถวายชัยมงคลกึกก้อง เหล่าผู้ชำนาญการขับร้องก็พร้อมกันขับเพลงถวายอยู่อึงมี่ ชนทั้งหลายก็บรรเลงดนตรีอยู่ครามครัน พระราชนิเวศน์ก็บรรลือลั่นสนั่นศัพท์สำเนียงเป็นเสียงเดียวกัน ปานมหาสมุทรบ้าคลั่งปั่นป่วน เพราะพายุร้าย พระมหาชนกทอดพระเนตรไปที่ไหน ก็เหมือนจะกัมปนาทหวั่นไหว

พระมหาชนกประทับบนพระราชอาสน์ ภายใต้มหาเศวตฉัตรทอดพระเนตรสิริราชสมบัติอันยิ่งใหญ่ ทรงระลึกถึงความเพียรพยายามของพระองค์ ท่ามกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล แล้วพระองค์ทรงรำพึงว่า

“ชื่อว่าความเพียร ควรทำแท้

ถ้าเราไม่มีความเพียร

ท่ามกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล

เราก็จะไม่ได้ราชสมบัตินี้”

เมื่อทรงระลึกถึงความเพียรพยายามอยู่ ก็เกิดปีติโสมนัส จึงเปล่งอุทานด้วยกำลังปีติว่า

“ลูกผู้ชายที่เป็นบัญฑิตควรมีความหวัง อย่าพึงเบื่อหน่าย เพราะความหวังนี้เองจึงทำให้เราได้เป็นพระราชา

ลูกผู้ชายที่เป็นบัณฑิตควรมีความหวัง อย่าพึงเบื่อหน่าย เพราะความหวังนี้เองจึงทำให้เราสามารถว่ายน้ำขึ้นฝั่งได้

เกิดเป็นคนควรเพียรพยายามอยู่ร่ำไป จนกว่าจะประสบความสำเร็จ นรชนผู้มีปัญญา แม้ประสบทุกข์ก็ไม่ไร้ซึ่งความหวัง

แท้จริง คนเป็นอันมากเมื่อประสบทุกข์ ก็บ่นเพ้อรำพัน เมื่อประสบสุขก็ระเริงหลง ไม่คิดถึงความเพียรพยายามจึงประสบหายนะคือ ความตาย โภคะทั้งหลายของสตรีหรือบุรุษ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความคิดเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นเพราะความเพียรพยายาม ”

พระมหาชนกทรงปกครองบ้านเมือง ด้วยทศพิธราชธรรมเสมอมา กาลต่อมา พระนางสิวลีได้ประสูติพระโอรส สมบูรณ์ด้วยลักษณะแห่งผู้มีบุญญาธิการ ทรงขนานนามว่า “ทีฆาวุราชกุมาร” เมื่อทรงเจริญวัย ได้รับการอุปราชาภิเษกแล้ว ทรงช่วยพระบิดาปกครองบ้านเมืองต่อมา

ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)  ภาพวาดโดย อาจารย์พีร์ ขุนจิตกร
ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ภาพวาดโดย อาจารย์พีร์ ขุนจิตกร

ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง (ชาติที่ ๒) พระมหาชนก : วิริยะบารมี (ตอนที่ ๑๐) “แรงกตัญญู” เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here