ขุนเขาย่อมมีวันทลาย

สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง

แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

“ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ

: ชาติที่ ๖ พระภูริทัต ศีล คือ อาภรณ์ประดับกาย

“ใครต้องการหนัง

เอ็น กระดูก หรือเลือด ของเรา

ก็จงเอาไปเถิด”

พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่องราวในอดีตชาติของพระองค์ เมื่อครั้งเกิดเป็นพญานาคชื่อ ภูริทัต ทรงมีพระปณิธานที่จะบำเพ็ญ “ศีลบารมี” ตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะรักษาศีลไม่ให้ขาด  ไม่ให้ถูกทำลาย  แม้จะได้รับความทุกข์ทรมานอย่างไรก็ตาม ก็จะไม่ทำร้ายผู้อื่นให้ได้รับความลำบาก เดือดร้อน

ภูริทัตชาดก ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต และ อรรถกถา ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต

ขณะตรัสเล่าเรื่องภูริทัต พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร

ในวันอุโบสถวันหนึ่ง พวกอุบาสกต่างก็รักษาศีลอุโบสถตั้งแต่เช้าตรู่ จากนั้น ก็ถวายทาน  ครั้นตะวันชายบ่ายคล้อยเย็นลง ต่างก็ถือดอกไม้ธูปเทียนไปยังพระเชตวัน เพื่อฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์

ตามปกติ เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมายังธรรมสภา ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดเตรียมไว้สำหรับพระองค์  หากวันไหนพระภิกษุสงฆ์สนทนากันด้วยเรื่องอะไร พระองค์ก็จะยกเรื่องนั้นขึ้นมาแสดง

ในวันนั้น หมู่ภิกษุสงฆ์สนทนากันเกี่ยวกับข้อประพฤติในอดีตของพระพุทธเจ้า สืบเนื่องมาจาก การรักษาศีลอุโบสถของพวกอุบาสก พระพุทธเจ้าเสด็จมา ตรัสว่า การรักษาศีลอุโบสถโดยมีพระพุทธเจ้าเป็นอาจารย์คอยให้โอวาท แม้จะเป็นการกระทำที่ทำได้ยากก็จริงอยู่ แต่ก็ไม่น่าอัศจรรย์ เหมือนบัณฑิตในอดีตกาล ทั้งที่เป็นผู้มียศอันยิ่งใหญ่ แม้ไม่มีอาจารย์สอน ก็สละยศเช่นนั้น ไปรักษาศีลอุโบสถได้ แล้วพระองค์ก็ตรัสเล่าเรื่องราวในอดีตชาติของพระองค์ เมื่อครั้งเกิดเป็นพญานาคภูริทัต

ศึกนาคราช

          ในอดีตกาล ยังมีพระราชาพระองค์หนึ่ง พระนามว่า “พรหมทัต” ครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี  ทรงตั้งพระราชโอรสให้ดำรงตำแหน่งอุปราช  ครั้นอยู่ต่อมา พระองค์ทรงเห็นว่า  พระราชโอรสมีอำนาจมากขึ้น คุมกองกำลังทางทหารทุกหมู่เหล่า ทรงระแวงว่า พระราชโอรสจะชิงราชสมบัติ จึงรับสั่งให้ออกจากพระนครไปอยู่ที่ไหนก็ได้ตามชอบใจ เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว  จึงกลับมาครองราชสมบัติ

พระราชโอรสออกจากพระนครตามรับสั่งของพระบิดา มุ่งหน้าไปยังแม่น้ำยมุนา  สร้างศาลาอาศัยอยู่ระหว่างแม่น้ำยมุนากับภูเขาลูกหนึ่ง ขุดเผือกมันและเก็บผลไม้กินเป็นอาหารพอประทังชีพ

กาลนั้น นางนาคมาณวิกาตนหนึ่ง อยู่ในภพนาคใกล้ฝั่งแม่น้ำ เมื่อสามีตายแล้ว ได้เห็นนาคตนอื่นที่ยังมีสามี เกิดใจเร่าร้อนขึ้น ด้วยอำนาจกิเลส จึงออกจากนาคพิภพเที่ยวไปตามฝั่งแม่น้ำ  เห็นรอยเท้ามนุษย์ จึงเดินตามไปจนถึงศาลาหลังหนึ่ง

ขณะนั้น พระราชโอรสเข้าป่าเก็บผลไม้ นางจึงเข้าไปที่ศาลา เห็นเครื่องปูลาดทำด้วยไม้  และบริขารอื่น ๆ ก็ทราบว่า เป็นที่อยู่ของบรรพชิต คิดจะทดลองดูว่า บรรพชิตรูปนั้น บวชด้วยศรัทธา หรือไม่ ถ้าบวชด้วยศรัทธา ก็จะน้อมไปในเนกขัมมะ จะไม่นอนบนที่นอนที่ตกแต่งไว้ แต่ถ้านอนก็แสดงว่า ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาก็เป็นสามีของตนได้ และจะอยู่ร่วมกันที่บรรณศาลาแห่งนี้

นางจึงกลับนาคพิภพ นำดอกไม้ทิพย์มาจัดแจงที่นอนและประดับศาลาให้งดงาม แล้วกลับไป ยังนาคพิภพตามเดิม

เมื่อพระราชโอรสกลับมาในเวลาเย็น เข้าไปในบรรณศาลา ก็แปลกใจว่า ดอกไม้มาจากไหน  กลิ่นหอมเหลือเกิน ใครมาจัดเตรียมที่นอนเอาไว้ ทรงเห็นที่นอนแล้ว ก็ดีใจว่า ไม่ได้นอนที่นอนอย่างนี้ มานานมากแล้ว จึงนอนพลิกกลับไปกลับมาบนที่นอนด้วยความสุขใจ เพราะไม่ได้บวชด้วยศรัทธา  ครั้นแล้วก็หลับไป มาตื่นอีกทีในวันรุ่งขึ้นเวลาสายแดดแรงแล้ว พระราชโอรสจึงต้องรีบออกไปหาผลไม้  โดยไม่ได้เก็บกวาดศาลา

นางนาคมาณวิกา ออกจากนาคพิภพ มาตรวจดู เห็นที่นอนดอกไม้ยับยู่ยี่ ก็รู้ได้ทันทีว่า ท่านผู้นี้  ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา ยังติดอยู่ในความสุขกับการใช้ชีวิต เป็นสามีตนได้ จึงเก็บกวาดดอกไม้เก่า และนำดอกไม้ใหม่มาตกแต่งไว้เหมือนเดิม ประดับศาลา โปรยดอกไม้ ตามที่จงกรม แล้วกลับไปยังนาคพิภพตามเดิม

วันนั้น พระราชโอรสก็นอนบนที่นอนดอกไม้ ครั้นรุ่งขึ้น ทรงเฝ้าคิดวนเวียนอยู่ว่า ใครมาประดับ ศาลาไว้ พระองค์จะต้องรู้ให้ได้ จึงทำทีไปเก็บผลไม้ตามปกติ แล้วแอบหลบอยู่ในที่กำบัง  ไม่ไกลจากศาลา

ส่วนนางนาคมาณวิกา ถือของหอมและดอกไม้เป็นจำนวนมาก มายังศาลา พอพระราชโอรส เห็นนางนาคมาณวิการูปร่างหน้าตาแช่มช้อยงดงามยิ่งนัก ก็เกิดความรักในทันที แต่ก็ยังไม่แสดงตน รอให้นางจัดเตรียมที่นอนดอกไม้เสร็จแล้ว จึงค่อย ๆ ย่องเข้าไปหา ถามว่า  “เธอเป็นใคร”  นางนาคมาณวิกา ตอบว่า ตนชื่อ “นาคมาณวิกา” พระราชโอรส ตรัสถามว่า  “เธอมีสามีแล้วหรือยัง” นางตอบว่า “เมื่อก่อนเคยมีสามี แต่ตอนนี้เป็นหม้ายอยู่ เพราะสามีตายไปแล้ว ท่านเล่าเป็นใคร ทำไม จึงมาอยู่ในป่าเพียงลำพังคนเดียว” พระราชโอรสตรัสเล่าเรื่องราวของพระองค์ให้นางฟังว่า เป็นพระโอรสของพระเจ้ากรุงพาราณสี แล้วตรัสถามถึงสาเหตุที่นางออกจากนาคพิภพมาที่นี้  นางตอบว่า “เมื่อสามีตายแล้ว เธอได้เห็นนางนาคตนอื่นใช้ชีวิตอยู่กับสามี จึงออกจากภพนาคมา หวังจะได้สามี”

พระราชโอรส ตรัสว่า “แม้เรา ก็ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา เพราะถูกพระบิดาขับไล่ จึงมาอยู่ที่นี่  เธอ อย่าคิดมากไปเลย เราเป็นสามีของเธอได้ เราทั้งสอง จะอยู่ด้วยกัน” แล้วทั้งสอง ก็ตกลงใจอยู่ร่วมกัน นางนาคสร้างตำหนักมีค่ามาก ด้วยอานุภาพของตน ตั้งแต่นั้นมา พระราชโอรสก็ได้เสวย ข้าวและน้ำทิพย์ เลี้ยงชีวิต

อยู่ต่อมา นางนาคมาณวิกา ได้ตั้งครรภ์คลอดบุตรเป็นชาย จึงตั้งชื่อให้ว่า “สาครพรหมทัต”  เพราะประสูติที่ริมฝั่งแม่น้ำ ในเวลาที่สาครพรหมทัตเดินได้ นางนาคมาณวิกา ก็ได้คลอดบุตรอีกคน เป็นหญิง และตั้งชื่อให้ว่า “สมุททชา” เพราะนางเกิดที่ริมฝั่งสมุทร  

วันเวลาผ่านไป พรานป่าชาวกรุงพาราณสีคนหนึ่ง ล่าสัตว์มาถึงที่นั้น ได้พูดคุยสนทนากัน  เกิดจำพระราชโอรสได้ ครั้นกลับถึงพระนคร ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับพระราชาเสด็จสวรรคต  พวกอำมาตย์ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชาเสร็จแล้ว ได้ประชุมกันในวันที่ ๗ เพื่อประกอบพิธีอัศวเมธ หาพระราชาพระองค์ใหม่ เนื่องจากไม่รู้ว่า พระราชโอรสยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

ขณะนั้น พรานป่า ได้เข้าไปในพระนคร รู้ข่าวที่พระราชาสวรรคต จึงไปพบพวกอำมาตย์  บอกให้ทราบว่า พระราชโอรสยังมีชีวิตอยู่ ขณะที่ตนเข้าป่าล่าสัตว์ ได้พบกับพระองค์ใกล้ฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่ง ตนได้พักอาศัยอยู่กับพระองค์ถึงสองสามวัน พวกอำมาตย์ ให้นายพรานนำทางไปพบพระราชโอรส กราบทูลให้ทราบว่า พระราชา  สวรรคตแล้ว และทูลขอให้พระองค์กลับไปครองสิริราชสมบัติ

พระราชโอรส เข้าไปหานางนาคมาณวิกา แจ้งให้ทราบว่า พระบิดาสวรรคตแล้ว และพวกอำมาตย์ได้มาเชิญให้ไปขึ้นครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี พวกเราทั้งสองจะไปด้วยกัน  นางได้ยินเช่นนั้น รู้สึกหวั่นไหวกล่าวว่า “หม่อมฉัน ไปกับพระองค์ไม่ได้ พวกเรามีชาติเป็นนาค  มีพิษร้าย โกรธง่าย แม้เพราะสาเหตุเพียงเล็กน้อย การอยู่กับหญิงร่วมสามี เป็นเรื่องลำบาก  สำหรับคนที่โกรธง่าย ถ้าหม่อมฉันเห็นหรือได้ยินอะไรที่ขัดเคืองใจนิดเดียว ก็จะโกรธ มองดูอะไร  ก็จะถูกแผดเผามอดไหม้เป็นเถ้าธุลีชั่วพริบตา หม่อมฉันจึงไปกับพระองค์ไม่ได้” แม้วันรุ่งขึ้นพระราชโอรส ก็อ้อนวอนเธออีกครั้ง

นางยังยืนยันกับพระราชโอรสเหมือนเดิมว่า “ไม่ว่าจะอย่างไร หม่อมฉันก็ไปกับพระองค์ไม่ได้  ส่วนลูกของเรา เป็นชาติมนุษย์ เพราะเกิดร่วมกันกับพระองค์ ถ้าพระองค์ยังรักหม่อมฉัน ก็ขออย่าละเลยลูกของเรา พวกเขาเป็นเหมือนพืชน้ำ มีความละเอียดอ่อน เมื่อเดินทางไกล ต้องลำบาก เพราะลมแดด อาจตายได้ ขอให้ขุดเรือลำหนึ่ง ใส่น้ำให้เต็ม แล้วให้พวกเขา ได้เล่นน้ำขณะเดินทาง  เมื่อถึงพระนคร จึงให้ขุดสระโบกขรณีไว้ให้พวกเขาเล่น ทำอย่างนี้ จะทำให้ลูก ๆ ไม่ลำบาก”  

ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นางนาคมาณวิกา ได้กราบลาพระราชโอรส และสวมกอดลูกทั้งสอง  แนบระหว่างอก จูบที่ศีรษะ มอบให้พระราชโอรส นางร้องไห้คร่ำครวญ ด้วยความเศร้าโศก  ปิ่มจะขาดใจ ด้วยความอาลัยรักลูกและสามี แล้วหายกลับไปยังนาคพิภพตามเดิม

แม้พระราชโอรส ก็เศร้าโศกไม่ต่างกัน ทรงร้องไห้น้ำนองหน้า เมื่อระงับความเศร้าโศกได้แล้ว ทรงเช็ดน้ำตา เสด็จออกจากนิเวศน์ ไปพบเหล่าอำมาตย์ พวกอำมาตย์อภิเษกพระราชโอรสกลางป่านั่นเอง แล้วทูลเชิญเสด็จนิวัตกลับสู่พระนคร

พระราชา รับสั่งให้ขุดเรือ ยกขึ้นเกวียน ใส่น้ำให้เต็ม โปรยดอกไม้หลากสี งดงาม มีกลิ่นหอมลงในน้ำ ให้บุตรทั้งสองเล่นขณะเดินทาง

พวกอำมาตย์ นำพระราชาเสด็จถึงกรุงพาราณสี แวดล้อมไปด้วยหญิงนักฟ้อน อำมาตย์ และประชาชน ที่มารอรับเสด็จอย่างเนืองแน่น

ทูตจากแดนมนุษย์

พระราชาทรงให้ขุดสระโบกขรณีไว้สำหรับพระโอรสพระธิดาทั้งสองพระองค์ อยู่มาวันหนึ่ง  ขณะทั้ง ๒ พระองค์ พากันเล่นน้ำในสระโบกขรณี ได้มีเต่าตัวหนึ่ง พลัดหลงเข้าไปในสระแล้วหาทางออกไม่เจอ จึงพยายามดำลึกลงไปใต้พื้นสระเพื่อหาทางออก ครั้นโผล่ศีรษะขึ้นมา  เห็นพวกเด็ก ๆ ได้ดำลึกลงไปอีก พวกเด็กเห็นเต่าจึงตกใจกลัว วิ่งหนีไปเฝ้าพระบิดา กราบทูลว่า “มียักษ์น่ากลัว ในสระ” เพราะไม่เคยเห็นเต่า พระราชารับสั่งให้เจ้าพนักงานไปจับยักษ์ตนนั้นมา  

พวกเจ้าพนักงานทอดเเหจับเต่าไปถวายพระราชา พระกุมารและพระกุมารีทั้งสองเห็นเต่า ก็ร้องลั่น ว่า “พ่อ นี่ปีศาจ พ่อ นี่ปีศาจ” พระราชาทรงกริ้วเต่าเป็นอย่างมาก เพราะทรงรักพระโอรส จึงรับสั่งให้ลงโทษเต่า เจ้าพนักงานคนหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ควรเอาใส่ครกตำให้แหลก บางคนบอกว่า เต่าตัวนี้ สร้างเวรสร้างกรรมให้พระราชา ควรเอาไปปิ้งกิน บางคนบอกว่า ควรต้มในกระทะเดือด แต่อำมาตย์ คนหนึ่ง บอกว่า ควรจะโยนลงในวังน้ำวนแม่น้ำยมุนา แรงน้ำจะกระแทกกระดองมันให้แหลกละเอียด  จึงจะสาสมกับสิ่งที่เต่าตัวนี้กระทำ

เต่าได้ยิน จึงโผล่หัวออกมาจากกระดอง พูดว่า “เราทำผิดอะไร จึงลงโทษเช่นนี้ การลงโทษ อย่างอื่น เราพอรับได้ แต่ท่านผู้นี้ หยาบช้าเหลือเกิน อย่าพูดอย่างนี้”

พระราชา ทรงดำริว่า เต่าตัวนี้ กลัวถูกโยนลงไปในวังน้ำวนแม่น้ำยมุนา ควรจะทำเช่นนั้น  มันจึงจะทุกข์ จึงรับสั่งให้ทิ้งลงไปในวังน้ำวนแม่น้ำยมุนา เต่าถูกกระแสน้ำวนหมุนดิ่งลงไปถึงนาคพิภพ จนไปโผล่ยังที่อยู่ของพญานาค

พวกนาคมาณพบุตรของท้าวธตรฐนาคราช กำลังเล่นน้ำอยู่ในวังน้ำวนนั้น เห็นเต่า จึงสั่งให้จับ ไปเป็นทาส เต่าคิดว่า เราหนีพ้นจากเงื้อมมือพระเจ้าพาราณสีมาได้ กลับตกมาอยู่ในเงื้อมมือของพวกนาค ทำอย่างไร เราจะรอดพ้นไปได้ จึงคิดหาอุบายหลอกพวกนาคว่า ตนเป็นเต่า ชื่อ “จิตตจูฬ” เป็นราชทูตพระเจ้าพาราณสี มาเฝ้าท้าวธตรฐนาคราช เพราะพระเจ้าพาราณสี  มีความประสงค์จะให้พระธิดา แก่ท้าวธตรฐนาคราช ขอให้นำตนไปเข้าเฝ้าท้าวธตรฐนาคราช

นาคมาณพ หลงเชื่อ จึงนำเต่าไปเฝ้าพญานาคราช พญานาคราช เห็นเต่า ก็พอพระทัย  พูดสัพยอกว่า “เจ้าผู้มีรูปร่างน่าเกลียดเช่นนี้ ไม่น่าจะเป็นนักการทูตได้” เต่าได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า  “ทูตจะต้องตัวสูงเท่าลำตาลหรือพระเจ้าข้า ความจริงแล้ว ร่างกายจะตัวเล็กหรือใหญ่ไม่สำคัญ  การทำหน้าที่ให้สำเร็จตามที่ได้รับมอบหมายสำคัญกว่า โดยมากทูตของพระราชาข้าพระองค์เป็นมนุษย์  ย่อมทำหน้าที่บนบก นกย่อมทำหน้าที่ในอากาศ ส่วนข้าพระองค์ ชื่อว่า “จิตตจูฬ” ได้รับฐานันดรศักดิ์ เป็นที่โปรดปรานของพระราชา เป็นผู้ปกครองนิคม เป็นราชทูตผู้ทำหน้าที่ในน้ำ ขอพระองค์อย่าดูหมิ่น รูปร่างข้าพระองค์เลย” พญานาคธตรฐ ถามเต่านั้นว่า “พระราชาส่งท่านมาทำไม”

เต่ากราบทูลว่า “พระเจ้ากรุงพาราณสี ทรงดำริว่า พระองค์ได้เชื่อมสัมพันธไมตรีกับพระราชาทั่วทั้งชมพูทวีปแล้ว บัดนี้ พระองค์ควรเชื่อมสัมพันธไมตรีกับท้าวธตรส ทรงมีพระประสงค์ จะถวายเจ้าหญิงสมุททชา จึงส่งข้าพระองค์มากำหนดวันรับพระธิดา

พญานาคธตรฐ ทรงยินดี ให้มอบเครื่องบรรณาการแก่ราชทูตจากโลกมนุษย์ แล้วส่งนาคมาณพ ๔ ตน ไปพร้อมกับเต่า เพื่อกำหนดวันส่งตัว พวกนาคมาณพ นำเต่าออกจากนาคพิภพ มาจนถึงโลกมนุษย์ พอเต่าเห็นสระบัวในระหว่างแม่น้ำยมุนากับกรุงพาราณสี คิดจะวางแผนหนี จึงหลอกนาคมานพว่า “พระราชาของเรา ตลอดจนพระมเหสี และพระโอรส ทราบว่า เราจะเที่ยวไปทางน้ำ  จึงบอกให้เก็บดอกบัวไปถวาย เราจะลงไปเก็บดอกบัวในสระก่อน ถ้าเห็นช้า ก็ให้พวกท่านล่วงหน้า  เข้าพระนครไปก่อน แล้วค่อยไปพบกันที่พระราชนิเวศน์”

นาคมาณพ หลงเชื่อ จึงปล่อยเต่านั้นไป เมื่อเต่าลงสระบัวได้ ก็แอบอยู่ ไม่ยอมโผล่หัวขึ้นมา  นาคมาณพเห็นเต่าช้าเกินไป จึงแปลงกายเป็นมาณพ เข้าไปเฝ้าพระราชา ด้วยเข้าใจว่า จะเจอเต่าในพระราชนิเวสน์ ตามที่นัดแนะกันเอาไว้

ทูตจากนาคพิภพ

พระราชาทรงปฏิสันถารมาณพ แล้วตรัสถามว่า มาจากไหน พวกนาคมาณพทูลว่า  “พวกข้าพระองค์ เป็นทูตของพญานาคธตรฐ ท้าวเธอ ถามถึงความไม่มีโรคของพระองค์ หากพระองค์ มีความประสงค์สิ่งใด ก็ทรงบอก ท้าวเธอจะจัดหามาถวาย ทราบว่า พระองค์ จะประทานเจ้าหญิงสมุททชา  ให้พระราชาพวกข้าพระองค์ หรือ พระเจ้าข้า”   

พระราชา ตรัสว่า “ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา มนุษย์ไม่เคยทำการวิวาห์กับพวกนาค พวกเราเป็นมนุษย์ แล้วจะกระทำความสัมพันธ์กับนาค ซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉานได้อย่างไร”

พวกนาคมาณพ ฟังเช่นนั้นแล้ว กล่าวด้วยความเคืองแค้นว่า “ถ้าพญานาคธตรฐ ไม่เหมาะสมกับมนุษย์ แล้วทำไม พระองค์จึงส่งเต่า ข้ารับใช้ ชื่อว่า “จิตตจูฬ” เป็นราชทูตไปทูลพระราชาของพวกเราว่า จะให้พระธิดา ชื่อว่า “สมุททชา” เล่า ครั้นส่งสาส์นไปแล้ว กลับกล่าวดูหมิ่นพระราชาของพวกเราเช่นนี้ พวกเราเป็นนาค รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร พระองค์เป็นใหญ่เหนือกว่ามนุษย์ทั้งปวง แต่กลับทำเยี่ยงนี้ เห็นทีจะต้องสละพระชนม์ชีพ หรือแว่นแคว้น เสียเป็นแน่ เพราะเมื่อพวกนาคโกรธ ชีวิตมนุษย์อย่างพวกท่าน ก็ไม่เหลือรอด”

พระราชา ตรัสว่า “เราไม่ได้ดูหมิ่นท้าวธตรฐ แต่ถึงแม้ท้าวธตรฐ จะมีฤทธิ์มาก เป็นใหญ่กว่า นาคทั้งปวง ก็ไม่คู่ควรกับธิดาของเรา เราเป็นกษัตริย์ของชนชาววิเทหะ และ ธิดาของเรา ก็เกิดในชาติกษัตริย์ ที่สูงส่ง ไม่คู่ควรกับเดรัจฉานซึ่งกินกบเป็นอาหาร”

พวกนาคมาณพ อยากจะพ่นพิษฆ่าพระราชา แต่ก็คิดว่า ตนเป็นราชทูต ถูกส่งมากำหนดวันมงคล กลับมาทำการอันเป็นอัปมงคล ฆ่าพระราชานี้เสีย เป็นเรื่องไม่สมควร จึงลุกออกจากพระราชนิเวศน์ แทรกแผ่นดินกลับนาคพิภพ ถูกพญานาคราช ถามว่า “พวกท่านรับตัวเจ้าหญิงมาแล้วหรือ” นาคมาณพกราบทูลว่า “พระองค์ส่งพวกข้าพระองค์ไป ด้วยสาเหตุอันไม่สมควร  ถ้าพระองค์ประสงค์จะประหารชีวิตพวกข้าพระองค์ ก็จงประหารเถิด พระเจ้ากาสีนั้นทั้งด่าทั้งบริภาษ พระองค์เหลือเกิน ยกพระธิดาของตนขึ้นข่ม เพราะหลงชาติ” ครั้นแล้ว จึงกราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ฟัง

พญานาคราช โกรธมาก รับสั่งให้ประชุมพลนาค มีนาคกัมพลอัสสดร ซึ่งเป็นญาติฝ่ายมารดา ของพระองค์ เป็นต้น ไปกรุงพาราณสี แต่สั่งห้ามไม่ให้ทำร้ายใคร ๆ

พวกพลนาคทั้งหลาย ถามว่า “ถ้าไม่ให้ทำร้ายใคร ๆ เมื่อพวกข้าพระองค์ไปถึงที่นั้นแล้ว จะต้องทำอย่างไร ควรพ่นพิษใส่ใคร ให้เป็นผุยผง” พญานาคราชธตรฐ ไม่ต้องการให้เจ้าหญิงเกิดอันตราย  เพราะมีจิตรักพระธิดา จึงสั่งไม่ให้ทำอันตรายใคร ๆ แต่ให้แผ่พังพาน ห้อยอยู่ตามบ้านเรือน ตามสระน้ำ  ตามทางเดิน ตามทาง ๔ แพร่ง บนยอดไม้ และบนเสาระเนียด

ตอนแรก เนรมิตกายให้มีขนาดใหญ่ก่อน แล้วแผ่พังพานห้อยหัวลง และเลื้อยอยู่ทุกหนทุกแห่ง  ทั้งในห้อง นอกห้อง ใต้เตียง บนเตียง หรือบนตั่ง ให้พ่นควันส่งเสียง “ซู่ ซู่” แต่อย่าปรากฏตัวให้เด็ก  คนชรา หญิงมีครรภ์ และเจ้าหญิงสมุททชาเห็น

แม้พระองค์ ก็จะเนรมิตกายเผือกใหญ่โต วนขนดล้อมนครกาสีไว้ ๗ ชั้น ปิดด้วยพังพานใหญ่ให้มืดมนไปทั่ว ทำให้ประชาชน เกิดความกลัว

พวกพลนาคทั้งหลาย ได้ทำตามรับสั่ง ต่างแปลงร่างแตกต่างกันไป

เช้าวันนั้น ราตรีสว่างแล้ว แต่ทั่วทั้งมหานครกาสี ตลอดจนพระราชนิเวศน์ กลับมืดมิด  ถูกปกคลุมด้วยลมหายใจของพวกนาค ที่แผ่พังพาน ข่มขู่ผู้คนชาวเมืองกาสีอยู่ทุกหนทุกแห่ง  ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน บึง ถนนหนทาง ยอดไม้ และเสาระเนียด

ชาวพระนคร พากันตกใจกลัว จึงพูดกับพญานาคว่า ท่านเบียดเบียนพวกเราทำไม  พวกนาคกล่าวว่า “พระราชาของพวกท่าน บอกว่า จะให้พระธิดาแก่พระราชาเรา เมื่อส่งทูตไปกลับไร้สัจจะ ทั้งด่าทั้งบริภาษพระราชาเรา ถ้าไม่ให้พระธิดา เราจะฆ่าชาวพระนครให้หมด” มนุษย์อ้อนวอนว่า จะไปกราบทูลขอร้องพระราชา จึงพากันไปชุมนุมเรียกร้องที่ประตูพระราชวัง ต่างร้องไห้คร่ำครวญขอให้พระราชาช่วยเหลือ

ฝ่ายมเหสีของพระราชา บรรทมอยู่ในห้องของตน ๆ ต่างก็ส่งเสียงกรีดร้องโวยวายลั่นขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน อ้อนวอนขอให้พระราชาประทานพระธิดาแก่พญานาค

ส่วนพระเจ้ากาสี ก็สะดุ้งตื่น เพราะเสียงโกลาหลของชาวเมือง และเสียงกรีดร้องของพระมเหสี ครั้นแล้ว นาคมาณพทั้ง ๔ ตน ก็ปรากฏตัว แสดงอาการเหมือนจะฉกพระเศียรพระองค์  พร้อมข่มขู่ว่า “จะให้พระธิดา หรือไม่ให้” ทรงได้ยินเสียงชาวพระนคร และมเหสีร้องคร่ำครวญ  ขอความช่วยเหลือ ดังไปทั่วพระราชวัง แม้พระองค์เอง ก็ถูกนาคมาณพข่มขู่เหลือเกิน ทรงตกใจกลัว  จึงยอมยกพระธิดาให้ท้าวธตรฐ

ครั้นนาคราช ได้ฟังพระดำรัสดังนั้นแล้ว ก็ถอนทัพ ถอยห่างจากเมือง ไกลออกไป ประมาณ ๑ คาวุต เนรมิตนครแห่งหนึ่งขึ้น เหมือนเทพนคร แล้วส่งบรรณาการไปว่า “ขอพระองค์จงส่งพระธิดา มาให้พวกเรา” พระราชาตอบพวกนาคกลับไปว่า “เราจะส่งพระธิดาไปในความคุ้มครองของพวกอำมาตย์เรา” แล้วรับสั่งให้เรียกเจ้าหญิงมาเฝ้า นำขึ้นไปชั้นบนปราสาท เปิดสีหบัญชรออก  ชี้ให้พระธิดาดูนครอันงดงามวิจิตรตระการตาแห่งนั้น ว่า “นครนั้น อยู่ไม่ไกลจากเมืองของเรา ลูกจะเป็นอัครมเหสีของพระราชาในนครนั้น เมื่อลูกเบื่อ ก็กลับมเยี่ยมพ่อที่เมืองของเราได้” แล้ว  ให้ประดับเจ้าหญิง ส่งไปในความคุ้มครองของอำมาตย์พระองค์  

พวกพญานาค ต้อนรับเจ้าหญิง ได้ทำสักการะพวกอำมาตย์อย่างมากมายแล้ว นำเข้าไปยังพระนคร ถวายเจ้าหญิงแก่ท้าวธตรฐ พวกอำมาตย์ได้รับเครื่องบรรณาการกลับมาเป็นจำนวนมาก ท้าวธตรฐนาคราช นำเจ้าหญิงขึ้นสู่ปราสาท ให้บรรทมบนที่นอนที่ประดับไว้อย่างวิจิตรงดงาม

พวกนางนาคมาณวิกา แปลงร่างเป็นคนค่อม และคนเตี้ย ห้อมล้อมเจ้าหญิงเหมือนคนรับใช้  มนุษย์ พอเจ้าหญิงนอนบนที่นอนทิพย์ ครั้นถูกสัมผัสอันเป็นทิพย์เท่านั้น ก็หลับไปทันที ท้าวธตรฐ นำพระธิดา และบริวารนาค หายไปในที่นั้น ได้ไปปรากฎในนาคพิภพ พร้อมกับการอันตรธานไป  ของนครเนรมิตอันวิจิตรงดงามนั้น เหมือนเปลวไฟ หายไปในอากาศ

กำเนิดพระภูริทัต

ที่นาคพิภพ พระธิดา ตื่นบรรม ทอดพระเนตรที่บรรทมทิพย์ แล้วออกเดินสำรวจไปตามปราสาทราชมณเฑียร พระราชนิเวศน์ ล้วนแล้วแต่ทำด้วยทองและแก้วมณี อุทยาน  และสระโบกขรณีร่มรื่นดารดาษด้วยดอกไม้นานาพันธุ์ออกดอกบานสะพรั่ง งดงามราวกับเทพนคร เกินที่จะจินตนาการได้ พระธิดา รู้สึกเป็นสุขใจอย่างประหลาด จึงรับสั่งถามหญิงรับใช้ว่า “เมืองนี้ ช่างงดงามเหลือเกิน ไม่เหมือนเมืองของเรา เมืองนี้ เป็นของใคร” หญิงรับใช้ทูลว่า “เป็นเมืองพระสวามีขององค์หญิง ผู้มีบุญน้อย จะไม่ได้สมบัตินี้ แต่เพราะองค์หญิง มีบุญมาก จึงได้สมบัตินี้”

ฝ่ายท้าวธตรฐนาคราช รับสั่งให้ประกาศไปทั่วนาคพิภพว่า “ใครปรากฏกายเป็นงู ให้เจ้าหญิง สมุททชาเห็น จะต้องได้รับราชทัณฑ์” เพราะเหตุนั้น จึงไม่มีใครกล้าปรากฏกายเป็นงู ให้เจ้าหญิงเห็น แม้แต่คนเดียว เจ้าหญิง เข้าใจว่า เป็นโลกมนุษย์ จึงไม่ระแวงสงสัย ทรงยินดีอยู่สังวาสกับท้าวธตรฐ ด้วยความรัก จนมีพระโอรส ๔ พระองค์ คือ

๑. สุทัศนะ

๒. ทัตตะ (พระภูริทัต) ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์

๓. สุโภคะ

๔. อริฎฐะ

แม้พระนางสมุททชา จะประสูติพระโอรสถึง ๔ พระองค์แล้ว ก็ยังไม่ทรงทราบว่า พระองค์อยู่ในนาคพิภพ

อยู่มาวันหนึ่ง พวกนาคหนุ่ม ๆ นึกคะนองขึ้นมา จึงบอกพระโอรสอริฏฐะว่า มารดาของพระองค์ เป็นมนุษย์ ไม่ได้เป็นนางนาค พระโอรสอริฎฐะ คิดว่า เราจะทดสอบพระมารดา  

วันหนึ่ง ขณะเสวยนม พระโอรสอริฏฐะ ได้เนรมิตร่างเป็นงู ใช้ปลายหาง เสียดสีหลังเท้าพระมารดา พระนางเห็นพระโอรส กลายร่างเป็นงู จึงสะดุ้งกลัว กรีดร้องด้วยความตกพระทัย ทิ้งพระโอรสลงพื้น เล็บกระทบนัยน์ตาพระโอรสแตก เลือดไหลเป็นทาง ท้าวธตรฐนาคราช  ได้ยินเสียงกรีดร้องของพระนางสมุททชา จึงตรัสถามว่า “นั่น เสียงใคร” ทรงสดับสิ่งที่พระโอรสกระทำ  จึงเสด็จไปด้วยความเกรี้ยวกราด รับสั่งให้นำพระโอรสอริฏฐะ ไปประหารชีวิต ว่า “เอาเด็กคนนี้ไปฆ่าทิ้งเสีย”

พระนางสมุททชา ทราบว่า พระราชาทรงกริ้ว จึงตรัสด้วยความรักพระโอรสว่า “ตาลูกก็แตกแล้ว พระองค์ ยกโทษให้ลูกเถิด” เมื่อพระนาง ตรัสอย่างนั้น พระราชา ก็ใจอ่อน ไม่ทรงทราบว่า  จะทำอย่างไร จึงยอมยกโทษให้

ในวันนั้นเอง พระธิดา จึงทราบว่า มหานครอันงดงามแห่งนี้ คือ นาคพิภพ ตั้งแต่นั้นมา  พระโอรสอริฏฐะ ก็ได้ชื่อว่า “กาณาริฏฐะ” แปลว่า อริฏฐะบอด

ครั้นพระโอรสทั้ง ๔ พระองค์ เจริญวัยแล้ว พระบิดา ได้มอบราชสมบัติให้ แห่งละ ๑๐๐ โยชน์  มีอิสริยยศมาก ห้อมล้อมไปด้วยเหล่านางนาคสาว พระโอรสทั้ง ๓ พระองค์ จะกลับมาเฝ้าพระบิดา และพระมารดา เดือนละครั้ง ส่วนพระโอรสทัตตะ พระโพธิสัตว์พระองค์เดียว จะมาทุก ๑๕ วัน

พระโพธิสัตว์นั้น ทำหน้าที่ช่วยพระบิดาสามารถช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในนาคพิภพได้  พระบิดา จึงนำไปเฝ้าท้าววิรูปักข์มหาราชด้วยเสมอ

อยู่มาวันหนึ่ง ท้าววิรูปักข์มหาราช พร้อมด้วยนาคบริวาร ได้ไปยังไตรทศบุรี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ต่างนั่งแวดล้อมพระอินทร์ ถกปัญหาที่ถามกันในหมู่เทพ แต่วันนั้น ไม่มีเทพตนใดสามารถตอบคำถามได้ ขณะนั้น พระโพธิสัตว์ ซึ่งนั่งอยู่ท่ามกลางหมู่เทพ ได้ขอตอบปัญหา  และสามารถตอบปัญหานั้น ได้อย่างถูกต้อง

ท้าวสักกเทวราช ทรงบูชาพระโพธิสัตว์ ด้วยดอกไม้ธูปเทียนทิพย์ แล้วตั้งชื่อใหม่ ให้พระโพธิสัตว์ ทรงตรัสว่า ทัตตะ เธอมีปัญญากว้างขวาง ยิ่งใหญ่เสมอด้วยแผ่นดิน ตั้งแต่นี้ไป  เธอจงชื่อว่า “ภูริทัต” ผู้มีปัญญาประหนึ่งแผ่นดิน

รักษาอุโบสถศีล

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระภูริทัต ได้ไปอุปัฎฐากพระอินทร์ เป็นประจำ เห็นเวชยันต์มหาปราสาท ประดับประดาแพรวพราวงดงาม และเห็นสมบัติของพระอินทร์ น่ารื่นรมย์ยิ่งนัก  เกลื่อนกล่นไปด้วยนางเทพอัปสรมากมาย ทรงเกิดเบื่อหน่ายในการมีชีวิตแบบพญานาค ที่ต้องจับกบจับเขียดกินเป็นอาหาร ต้องการไปเกิดในสวรรค์ และจะต้องรักษาศีลอุโบสถ บำเพ็ญกุศลที่จะทำให้ไปเกิดในสวรรค์ เมื่อกลับถึงนาคพิภพแล้ว จึงทูลลาพระมารดาและพระบิดาว่า จะไปรักษาศีลอุโบสถ

พระมารดาและพระบิดาทรงอนุญาต แต่ด้วยความเป็นห่วง จึงขอให้หาสถานที่บำเพ็ญภายในอุทยานที่เงียบสงบแห่งหนึ่ง ในนาคพิภพเท่านั้น อย่าออกไปข้างนอก เพราะเกรงจะเกิดอันตราย เนื่องจากนาคทั้งหลาย เมื่อออกจากนาคพิภพแล้ว มักจะเกิดอันตรายเสมอ

พระโพธิสัตว์ทูลรับว่า จะจำศีลอุโบสถในพระราชอุทยานในนาคพิภพ แต่ขณะพระโพธิสัตว์บำเพ็ญอุโบสถศีล นางนาคสาวต่างนำดนตรีนานาชนิดมาห้อมล้อมบรรเลงขับกล่อมอยู่เสมอ จึงไม่สามารถบำเพ็ญอุโบสถศีลให้สมบูรณ์ได้

ศีลอุโบสถ คือ ศีลที่รักษาตามกาลสมัย มีระยะเวลารักษาวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ในวันอุโบสถ พอตะวันขึ้นวันใหม่ ก็เป็นอัน หมดเขตศีลอุโบสถ ศีลอุโบสถ หากสมาทานรักษา ในวันที่ไม่ใช่วันอุโบสถ เรียกว่า ศีล ๘ ศีลอุโบสถที่รักษาในปัจจุบันมี ๘ ประการ  คือ

          ๑ เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ๒ เว้นจากการลักทรัพย์ ๓ เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์  ๔ เว้นจากการพูดเท็จ  ๕ เว้นจากการดื่มสุรา และเมรัย ของมึนเมา ๖ เว้นจากการทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว จนถึงอรุณขึ้นมาใหม่ ๗ เว้นจากการร้องรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ดูการละเล่น การลูบไล้ทาด้วยของหอม และประดับประดาเครื่องแต่งกาย ๘ เว้นจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่

พระโพธิสัตว์ คิดว่า ถ้าอยู่ที่นี้ต่อไป คงไม่สามารถบำเพ็ญอุโบสถศีลให้สำเร็จได้ ควรจะไปรักษา ในโลกมนุษย์ จึงออกจากนาคพิภพไป โดยไม่ได้บอกให้พระมารดาและพระบิดาทราบ เพราะเกรงว่า  จะถูกห้าม บอกเพียงพวกภรรยาว่า จะไปขดขนดเข้าสมาธิบนจอมปลวกในโลกมนุษย์ ไม่ไกลจากต้นไทรใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา จะอธิษฐานอุโบสถศีลตลอดคืนจนรุ่งสาง พอตะวันขึ้นให้ผลัดเปลี่ยนกันครั้งละ ๑๐ นาง นำของหอมและดอกไม้ไปบูชา แล้วบรรเลงดนตรี ตรงแม่น้ำยมุนา  จากนั้น ค่อยกลับมายังนาคพิภพพร้อมกัน

พระโพธิสัตว์ ออกจากนาคพิภพ ไปขดขนดบนจอมปลวก อธิษฐานอุโบสถกรรม ๔ ประการว่า “ใครต้องการหนัง เอ็น กระดูก หรือเลือด ของเรา ก็จงเอาไปเถิด”  

ครั้นแล้ว ได้เนรมิตร่างประมาณเท่างอนไถ นอนรักษาอุโบสถศีลอยู่อย่างนั้น จนกว่าอรุณจะขึ้น วันใหม่เท่านั้น นางนาคมาณวิกา ผู้เป็นภรรยา จึงจะมาปรนนิบัติ ตามที่พระโพธิสัตว์สั่งไว้ บูชาด้วยของหอม และดอกไม้ บรรเลงดนตรี แล้วนำพระองค์ กลับมานาคพิภพตามเดิม     

พระโพธิสัตว์ ได้รักษาอุโบสถศีล โดยทำนองนี้ วันเวลาได้ผ่านไปยาวนาน  

จอมพราน

ในกาลนั้น ยังมีพราหมณ์คนหนึ่งยึดอาชีพเป็นพรานป่าล่าเนื้อ อาศัยอยู่ใกล้ประตูกรุงพาราณสี  ผู้คนจึงเรียกชื่อเขาว่า “พรานเนสาทะ” พรานนั้น ออกป่าล่าสัตว์กับลูกชาย ชื่อ “โสมทัต” ใช้หลาวยนต์ และบ่วงแร้ว ดักกวางได้ ก็ฆ่า แล้วแล่เนื้อ หาบมาขาย เลี้ยงชีพ

อยู่ต่อมาวันหนึ่ง เป็นวันพระอุโบสถ นายพรานเนสาทะกับลูกชาย ออกป่าล่าสัตว์ตั้งแต่เช้าก็ยังดักสัตว์ไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว แม้กระทั่งเหี้ยตัวหนึ่ง ก็ยังไม่ได้ จึงบอกลูกว่า “โสมทัต ลูกพ่อ ถ้าเรากลับบ้านมือเปล่า แม่ของลูก ต้องเล่นงานเราทั้งสองเป็นแน่ ถึงอย่างไร เราต้องได้สัตว์สักตัวหนึ่งกลับบ้าน” จึงบ่ายหน้าเดินดุ่มตรงไปทางจอมปลวกที่พระโพธิสัตว์ขดขนด รักษาศีลอยู่ เห็นรอยกวางมากมาย ลงไปกินน้ำที่แม่น้ำยมุนา จึงบอกลูกให้ถอยออกไป นายพรานหยิบธนูออกมา ยืนแอบอยู่ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง คอยดักยิงกวาง ที่จะลงกินน้ำ

ครั้นเวลาเย็น กวางตัวหนึ่ง ลงมากินน้ำ พรานยิงกวางตัวนั้น แต่พลาด ไม่ถูกจุดที่สำคัญ  กวางถูกลูกศร บาดเจ็บ เลือดไหล วิ่งหนีไป ด้วยความตกใจกลัว พรานสองพ่อลูก พากันวิ่งตามไป จนถึงที่มันขาดใจตาย จึงนำกวางออกจากป่า มาจนถึงจอมปลวกบริเวณต้นไทร ที่พระโพธิสัตว์จำศีล

ขณะนั้น เป็นเวลาพลบค่ำ พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว ความมืดแผ่ปกคลุมไปทั่วผืนป่า  เสียงสัตว์กลางคืนวังเวงแว่วระงมไพร ท้องฟ้าดารดาษไปด้วยแสงดาว ผืนป่ากึกก้องไปด้วยเสียงร้องของนกดุเหว่าและสาลิกา เกลื่อนกล่นไปด้วยย่านไทร มีฝูงนกดุเหว่าร้องอยู่ระงมไพร  นายพรานไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ จึงพักค้างคืนใกล้บริเวณต้นไทรนั้น พรานสองพ่อลูกหาที่เก็บเนื้อแล้ว พากันปืนขึ้นไปขัดห้างนอนบนต้นไทรใหญ่ ครั้นเวลาใกล้รุ่ง พรานตื่นขึ้น  เอียงหู คอยฟังเสียงสัตว์ร้อง

ขณะนั้น ได้อรุณแล้ว พระอาทิตย์จับขอบฟ้า แสงเงินแสงทองทอประกายไปทั่ว  เหล่านางนาคมาณวิกา พากันมาตกแต่งอาสนะดอกไม้ สำหรับพระโพธิสัตว์ ที่ออกจากการรักษา อุโบสถศีล

พระโพธิสัตว์ กลายร่างจากงู แล้วเนรมิตร่างทิพย์ ประดับด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง  ประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้ ดูประหนึ่งท้าวสักกเทวราช ส่วนเหล่านางนาคมาณวิกา ก็บูชาพระโพธิสัตว์ ด้วยธูปเทียน และดอกไม้ แล้วบรรเลงทิพยดนตรี ฟ้อนรำขับร้องบูชาอยู่

จอมพราน แว่วได้ยินเสียงนั้น เกิดความสงสัยว่า ใครมาบรรเลงดนตรีอยู่กลางป่าดงพงไพรเช่นนี้  จึงปลุกลูกชายให้ตื่น เพื่อจะตามเสียงนั้นไป แต่ลูกชายเหนื่อยจากการเดินทางทั้งวัน จึงไม่ตื่น  จอมพราน ตัดสินใจลงจากต้นไม้ เดินตามเสียงนั้น เข้าไปหาพระโพธิสัตว์เพียงคนเดียว

เหล่านางนาคมาณวิกา เห็นพรานปรากฏตัวขึ้น จึงตกใจกลัว แทรกแผ่นดินหนีกลับไปนาคพิภพ  มีพระโพธิสัตว์เพียงผู้เดียวเท่านั้น ที่นั่งอยู่อย่างองอาจ จอมพรานจึงถามว่า “ท่านชื่ออะไร มีนัยน์ตาแดง นั่งอยู่อย่างสง่า มีท่าทางผึ่งผาย รุ่งเรืองอยู่ท่ามกลางป่าดงพงไพรเต็มไปด้วยดอกไม้ สตรี ๑๐ คน  ที่หนีไปนั้น เป็นใคร แต่งตัวงดงาม เครื่องประดับสร้อยสังวาลย์ ล้วนทำจากทอง ยืนเคารพท่านอยู่ ท่านคงเป็นยักษ์ หรือเป็นนาค ผู้มีเดชานุภาพมาก

พระโพธิสัตว์ นึกในใจว่า ถ้าพระองค์ จะบอกว่า พระองค์ เป็นท้าวสักกเทวราช ผู้มีฤทธิ์มาก   พรานคนนี้ ก็จะเชื่อ แต่วันนี้ ควรจะพูดความจริง เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จึงบอกตามความจริงว่า“พราหมณ์ เราเป็นนาค ผู้มีฤทธิ์เดช ยากที่ใคร ๆ จะล่วงล้ำได้ ถ้าเราโกรธ ก็สามารถทำให้บ้านเมืองที่เจริญ พินาศไปด้วยเดช มารดาเรา ชื่อ สมุททชา บิดาเรา ชื่อ ธตรฐ พี่ชายคนโตเราชื่อ สุทัศนะ พวกญาติ เรียกเราว่า ภูริทัต”

พระโพธิสัตว์ เห็นรูปร่างนายพราน ก็ทราบว่า เป็นคนดุร้ายหยาบคาย มีลักษณะแห่งคนทรยศมิตร ถ้าเขาไปบอกหมองูมาจับ ก็จะเกิดอันตรายต่อการรักษาอุโบสถศีลของตน จึงคิดจะนำนายพราน ไปนาคพิภพ ให้ทรัพย์สมบัติมากมาย จนเป็นที่พอใจ จะได้ไม่ต้องการอะไรอีก พระองค์ก็จะได้รักษาอุโบสถศีลต่อไปได้อย่างยาวนาน จึงกล่าวว่า “เราจะให้ทรัพย์สมบัติมากมายแก่ท่าน  นาคพิภพ เป็นสถานที่น่าอยู่ ไปเที่ยวนาคพิภพกันเถิด” นายพราน กล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีลูกชายอยู่คนหนึ่ง ถ้าลูกไปด้วย ข้าพเจ้าก็จะไป”

พระภูริทัต จึงบอกให้พรานไปตามลูกชายมา แล้วบอกให้รู้ว่า ตรงวังน้ำวนในแม่น้ำยมุนา  ลึกลงไป หลายร้อยชั่วคน เป็นเมืองของพระองค์

พระภูริทัต นำพรานสองพ่อลูก ไปยังฝั่งแม่น้ำยมุนา ตรงบริเวณวังน้ำวนมีน้ำสีเขียวไหลมาจากกลางป่าลึก กึกก้องด้วยเสียงนกยูง และนกกระเรียน พระภูริทัต ยืนอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำกล่าวว่า “เมื่อท่านพร้อมด้วยบุตร ไปถึงนาคพิภพแล้ว จะอยู่อย่างสุขสบาย” แล้วพระโพธิสัตว์ ก็นำพรานสองพ่อลูก ไปยังนาคพิภพ

เมื่อจอมพรานสองพ่อลูกไปถึงนาคพิภพ ร่างก็กลายเป็นร่างทิพย์ พระโพธิสัตว์ ยกสมบัติทิพย์ให้ มากมาย และได้ให้นางนาคสาวคนละ ๔๐๐ นาง คอยปรนนิบัติ พรานสองพ่อลูก ก็เสวยทิพยสุข อยู่ในนาคพิภพนั้น

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ แม้รักษาอุโบถศีลอยู่อย่างนั้น ก็มิได้ละเลยหน้าที่ของตน ได้ไปเฝ้าพระชนกและพระชนนี ทุกกึ่งเดือน แสดงธรรมกถาถวาย จากนั้น ก็ไปพบพราน ถามความเป็นอยู่ ว่า  ถ้าต้องการสิ่งใด ก็ให้บอก อย่าเกรงใจ อย่าเบื่อหน่าย ขอให้อยู่อย่างสบายใจ จากนั้น ก็ไปทักทาย โสมทัตลูกชายพราน แล้วจึงไปยังนิเวศน์ของพระองค์  

พรานอยู่นาคพิภพได้หนึ่งปี ก็เกิดเบื่อหน่าย อยากกลับโลกมนุษย์ เพราะเหตุที่ตนมีบุญน้อย  เห็นนาคพิภพ ปรากฏเหมือนนรกโลกันต์ ปราสาทประดับงดงาม ก็ปรากฏเหมือนเรือนจำ  นางนาคกัญญา แม้ตกแต่งสวยงาม ก็ปรากฏเป็นเหมือนนางยักษ์ นายพราน จึงไปหาลูกชาย ถามว่า  รู้สึกเบื่อหน่ายบ้างหรือไม่ โสมทัตบอกว่า ยังไม่เบื่อ นายพรานบอกลูกว่า “พ่อเบื่อหน่าย เพราะไม่ได้เห็นหน้าแม่ของลูก มานานมากแล้ว พ่อคิดถึงแม่และพี่น้องของลูก เราจะกลับบ้าน”

โสมทัต อิดเอื้อน ยังไม่อยากกลับ แต่เมื่อพ่อรบเร้ามากเข้า จึงตกปากรับคำ นายพรานคิดว่า ถ้าบอกให้ภูริทัตรู้ว่า ตนเบื่อหน่าย อยากกลับบ้าน ก็จะให้สมบัติเพิ่มมากขึ้นไปอีก  เพื่อเหนี่ยวรั้งไว้ไม่ให้กลับ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะกลับไม่ได้ เราจะหาอุบายยกย่องสมบัติของภูริทัต  จะถามถึงสาเหตุที่ยอมละทิ้งสมบัติ ไปรักษาอุโบสถศีลในโลกมนุษย์ ถ้าภูริทัตตอบว่า ต้องการจะไปสวรรค์  จึงไปรักษาอุโบสถศีล เราก็จะบอกให้ทราบว่า ภูริทัตมีสมบัติมากมายถึงอย่างนี้ ยังทิ้งไปรักษาอุโบสถศีล เพื่อต้องการไปสวรรค์ แล้วเหตุใด เราจะมาใช้ชีวิตเพราะอาศัยทรัพย์คนอื่น  เราจะกลับไปโลกมนุษย์ เยี่ยมญาติ แล้วบวชบำเพ็ญสมณธรรม ภูริทัตคงจะยอมให้กลับไป

ต่อมาวันหนึ่ง เมื่อพระโพธิสัตว์ มาเยี่ยม ถามข่าวว่า เบื่อหรือยัง นายพรานจึงทำเป็นเลี่ยงไป ตอบว่า ตนจะเบื่อได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งของเครื่องบริโภค ที่ได้รับ ไม่ได้บกพร่องเลย นายพรานยังไม่บอกถึงเรื่องที่ตนอยากจะกลับ แต่เริ่มพรรณนาถึงสมบัติของพระโพธิสัตว์ โดยประการต่าง ๆ ว่า  “แผ่นดินราบเรียบ มีต้นกฤษณามากมาย ส่งกลิ่นหอมฟุ้ง ดารดาษด้วยหมู่แมลงค่อมทอง มีหญ้าเขียวชอุ่มเย็นใจ ทั้งหมู่ไม้ก็ร่มรื่น มีสระโบกขรณีสวยงาม ระงมด้วยเสียงหงส์ มีกลีบดอกบัวร่วงหล่นอยู่เกลื่อนกลาด พระองค์บังเกิดในวิมานทิพย์ อันกว้างใหญ่ น่ารื่นรมย์เช่นนี้ จะหาความสุขใดมาเปรียบได้  พระองค์เห็นจะไม่ทรงหวังวิมานของท้าวสักกเทวราช เพราะวิมานอันยิ่งใหญ่ไพบูลย์ของพระองค์  ก็เหมือนวิมานท้าวสักกเทวราชอยู่แล้ว ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พระองค์เห็นจะปรารถนาตำแหน่งอื่น   ที่ยิ่งกว่านี้ จึงรักษาอุโบสถศีล”

พระภูริทัต ได้ยินเช่นนั้น จึงกล่าวว่า “พราหมณ์ อย่าพูดอย่างนั้นเลย ยศศักดิ์ของเรา หากเทียบกับท้าวสักกเทวราชแล้ว ต่ำกว่ามาก เหมือนการนำเมล็ดพันธุ์ผักกาด ไปวางเทียบกับภูเขาสิเนรุ ยศศักดิ์ของพวกเรา เทียบกับคนใช้ของพระอินทร์ยังไม่ได้เลย เราปรารถนาเวชยันตมหาปราสาท  ปรารถนาวิมานของหมู่เทพทั้งหลาย ต้องการจะได้ความสุขนั้น จึงรักษาอุโบสถศีลอยู่บนจอมปลวก”

นายพราน ได้ยินเช่นนั้น ก็ดีใจคิดว่า ได้โอกาสแล้ว จึงกล่าวลาว่า “ข้าพระองค์กับลูกชาย เข้าป่าล่าสัตว์มานานวัน พวกญาติทางบ้านไม่รู้ว่า ข้าพระองค์เป็นตายร้ายดีอย่างไร ข้าพระองค์จะทูลลากลับโลกมนุษย์ ไปเยี่ยมญาติ”

พระโพธิสัตว์ คิดว่า เมื่อเราให้ทรัพย์สมบัติ พรานนี้ ได้อาศัยเราเลี้ยงชีพอยู่อย่างสุขสบาย  คงจะไม่ไปบอกให้ใครรู้ว่า เรารักษาศีลอยู่ที่ไหน เราจะให้แก้วมณีที่ปรารถนาได้ทุกอย่าง แก่พรานนี้  จึงกล่าวว่า “พราหมณ์ ท่านจงรับแก้วมณีทิพย์นี้ไป เมื่อท่านมีแก้วมณีทิพย์อยู่กับตัว ปรารถนาสิ่งใดก็จะได้สมปรารถนา ท่านจะปราศจากโรคภัยทั้งปวง”

พราน กล่าวว่า “พระองค์ตรัสเช่นนี้ ทำให้ข้าพระองค์สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ยิ่งนัก  ข้าพระองค์ แก่แล้ว ไม่ต้องการสมบัติ ชีวิตที่เหลืออยู่ อยากหาโอกาสบวชบำเพ็ญพรต เช่นท่านบ้าง”

พระโพธิสัตว์ กล่าวว่า “พราหมณ์ การรักษาพรหมจรรย์ ทำได้ยากยิ่งนัก วันใดที่ท่านไม่ยินดี ในการรักษาพรหมจรรย์แล้ว ให้มาหาเรา เราจะให้ทรัพย์สมบัติ ท่านจะได้ไม่ลำบาก ในการประกอบอาชีพ”

พราน กล่าวว่า “ถ้าต้องการทรัพย์สมบัติ ข้าพระองค์จะกลับมาหาพระองค์อีกครั้ง”

พระโพธิสัตว์ รู้ว่า นายพรานนั้น ไม่ต้องการอยู่ในนาคพิภพอีกต่อไป จึงเรียกนาคมาณพมา  นำกลับไปส่งในโลกมนุษย์ ครั้นขึ้นจากแม่น้ำยมุนาแล้ว ได้นำไปส่งจนถึงเขตแดนกรุงพาราณสี

ขณะนั้น นายพรานบอกลูกว่า “โสมทัต เราจะเที่ยวยิงเนื้อและหมูป่าไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงบ้าน” จึงเดินล่าสัตว์ไปเห็นสระน้ำระหว่างทาง จึงชวนกันลงอาบ

พรานสองพ่อลูก แก้เครื่องอาภรณ์อันเป็นทิพย์ออกห่อ วางไว้ริมฝั่งแล้วลงอาบน้ำ พลันนั้น เครื่องอาภรณ์และผ้าทิพย์เหล่านั้น ได้หายกลับไปยังนาคพิภพตามเดิม ผ้านุ่งห่มผืนเก่า กลับมาสวมใส่ ในร่างของพรานสองพ่อลูกนั้น แม้ธนู ศร และหอก ก็ได้ปรากฏตามเดิม

โสมทัต ร้องโวยวาย ตำหนิพ่อด้วยความเสียดาย นายพราน ปลอบลูกชายว่า “ลูกเอ๋ย เมื่อยังมีเนื้ออยู่ในป่า เราก็ไม่อดตาย” แล้วเดินทางกลับบ้าน

พราหมณีแม่ของโสมทัต รู้ว่า คนทั้งสองกลับมา ก็ดีใจ จัดข้าวปลาอาหารให้กิน นายพรานกินอาหารอิ่มแล้ว เพราะเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง จึงหลับไป ส่วนแม่ถามลูกชายว่า หายไปไหน กันมา นานจนถึงป่านนี้ โสมทัตตอบว่า “แม่ พระภูริทัตนาคราช พาลูกกับพ่อ ไปยังนาคพิภพ  เราทั้งสอง คิดถึงแม่ จึงขอกลับมา” นางพราหมณีผู้เป็นมารดา ถามลูกชายว่า “ไม่ได้แก้วแหวนอะไร ๆ  จากพญานาคมาบ้างเลยหรือ” โสมทัต ตอบว่า “ไม่ได้อะไรกลับมาเลย แม่” นางถามว่า “ทำไมพญานาค  จึงไม่ให้อะไรบ้าง” โสมทัต ตอบว่า “พระภูริทัตให้แก้วสารพัดนึก แต่พ่อไม่รับ” นางถามว่า “ทำไม พ่อของลูกจึงไม่รับ” โสมทัต ตอบว่า “พ่อบอกว่า จะกลับมาบวช”

นางพราหมณีได้ยินดังนั้น ก็โกรธจัด โวยวายลั่นบ้าน ว่า “พ่อแกทิ้งแม่ให้เลี้ยงลูกตามลำพัง ไปเสพสุขกับนางนาคสาวในเมืองนาค แล้วจะกลับมาบวชหรือ” ว่าแล้วจึงเอาพลั่วสาดข้าว  ตีหลังพราน ขู่คำรามว่า “อ้ายพราหมณ์ชั่ว แกจะบวชหรือ ไปนอนกับนางนาคสาว ๆ กลับมาเห็นหน้าแก่ ๆ ของเมีย ก็นึกจะบวชหรือไง พญานาคภูริทัต ให้แก้วแหวนเงินทอง ก็ไม่ยอมรับมา  เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมไม่บวชเสีย กลับมาให้เห็นหน้าทำไม จะไปตายที่ไหนก็ไป”

นายพราน รู้ว่า ภรรยาตีโพยตีพาย ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ จึงปลอบว่า “เจ้าอย่าโกรธนักเลย  ข้าเป็นพรานป่า เมื่อป่ายังมีเนื้อ เจ้ายังมีข้าอยู่ เจ้าจะกลัวอะไร ข้าจะท่องไปทุกป่า ล่าสัตว์มาเลี้ยงเจ้า” แล้วก็ชวนลูกชายเข้าป่าล่าสัตว์เลี้ยงชีพตามเดิม  

มหาเวทย์อาลัมพายน์

ครั้งนั้น ยังมีครุฑตนหนึ่ง อาศัยอยู่ที่ต้นงิ้ว กลางมหาสมุทร ใช้ปีกกระพือลมแหวกน้ำในมหาสมุทร โฉบลงไปจับหัวนาคราชได้ตัวหนึ่ง สมัยนั้น พวกครุฑ ยังไม่รู้วิธีจับนาค จึงจับหัวบ้าง  หางบ้าง ตามแต่จะได้โอกาส ต่อมา จึงรู้วิธีจับนาคทางหาง วันนั้น พญาครุฑตัวนั้น จับนาคได้ทางหัว  ปล่อยให้นาคห้อยหางลง พาบินไป ผ่านป่าหิมวันต์

ยังมีพราหมณ์ชาวกาสีคนหนึ่ง ออกบวชเป็นฤๅษี สร้างศาลาอาศัยอยู่ในป่าหิมวันต์  ท้ายที่จงกรมของฤๅษี มีต้นไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ฤๅษีทำที่พักผ่อนที่โคนต้นไทรใหญ่นั้น ครุฑหิ้วนาคบินผ่านมาถึงยอดไทร ส่วนนาคก็ห้อยหางอยู่กลางอากาศ จึงเอาหางตวัดเกี่ยวกิ่งต้นไทรไว้  เพื่อสลัดตนให้หลุดจากกรงเล็บครุฑ

ครุฑไม่ทันรู้ตัว เพราะบินไปอย่างเร็ว ต้นไทรใหญ่ จึงถูกถอนขึ้นทั้งรากทั้งโคน ติดหางนาคไป  เมื่อครุฑพานาคไปถึงต้นงิ้ว ก็จิกฉีกท้องนาคกิน แล้วทิ้งซากลงในมหาสมุทร ต้นไทรก็ตกลงตามไปด้วย เสียงดังสนั่นหวั่นไหว ครุฑจึงก้มลงเหลียวมองดูตามเสียงนั้น เห็นต้นไทร จึงคิดทบทวนว่า ต้นไทรถูกถอนมาจากไหน ก็นึกขึ้นได้ว่า “ต้นไทรนั้น อยู่ท้ายที่จงกรมของฤๅษี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อฤๅษีมาก  ตัวเรา จะเป็นการทำบาปหรือไม่ เราถามฤๅษีดู ก็จะรู้ได้” จึงแปลงกายเป็นมาณพน้อย ไปพบฤๅษี

ขณะนั้น ฤๅษีกำลังปรับสถานที่ที่ต้นไทรถูกถอนไปให้พื้นเสมอกัน พญาครุฑในร่างมาณพน้อย ไหว้ฤๅษี แล้วนั่งลง ทำทีเป็นเหมือนไม่รู้อะไร แกล้งถามว่า “พระคุณเจ้า เดิมทีที่ตรงนี้ เป็นอะไร”  ฤๅษีตอบว่า “อุบาสก ครุฑตนหนึ่ง โฉบนาคมากิน นาคเอาหางตวัดเกี่ยวกิ่งต้นไทร เพื่อให้หลุดพ้นจากกรงเล็บครุฑ ครุฑไม่ทันรู้ตัว เนื่องจากบินไปเร็ว เพราะตนมีกำลังมาก ต้นไทรจึงถูกถอนขึ้นทันที ตรงนี้เป็นที่ที่ต้นไทรถูกถอนขึ้น อาตมาจึงต้องปรับที่ให้เรียบ”

ครุฑถามว่า “พระคุณเจ้า ครุฑจะมีบาปติดตัวหรือไม่” ฤๅษีตอบว่า “ถ้าครุฑนั้นไม่รู้  ก็ไม่บาป เพราะไม่มีเจตนา” ครุฑถามต่อไปว่า “แล้วนาค จะมีบาปหรือไม่” ฤๅษีตอบว่า “แม้นาค ก็มิได้มีเจตนาจะให้ต้นไทรเสียหาย แต่เหนี่ยวไว้ เพื่อจะให้รอดชีวิต นาคก็ไม่มีบาปเช่นกัน”

       ๒ วิธีการที่ครุฑจับนาคไม่ให้เป็นอันตราย ปรากฏในปัณฑรกชาดก พระสุตตันตปิฎก

พญาครุฑ ได้ฟังฤๅษีตอบเช่นนั้น ก็ดีใจ จึงกล่าวว่า “พระคุณเจ้า ข้าพเจ้านี้แหละ คือครุฑตนนั้น พระคุณเจ้าตอบคำถามได้แจ่มแจ้งนัก ข้าพเจ้ารู้มนต์บทหนึ่ง ชื่อว่า “อาลัมพายน์” ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ข้าพเจ้าจะถวายมนต์นั้นให้พระคุณเจ้าเพื่อบูชาอาจารย์” ฤๅษีกล่าวว่า “อย่าเลย เราไม่ต้องการมนต์ ท่านกลับไปเถิด” ครุฑจึงวิงวอนจนฤๅษีใจอ่อนรับมนต์บทนั้นไว้ เพื่อตัดความรำคาญ ครุฑถวายมนต์ และบอกยาแก้พิษนาค แล้วจากไป

ในกรุงพาราณสีนั้น ยังมีพราหมณ์คนหนึ่ง สร้างหนี้สินไว้มาก จนหนี้ท่วมหัว ไม่สามารถใช้หนี้ได้  กลายเป็นคนล้มละลาย ถูกเจ้าหนี้ทวงถามอยู่บ่อย ๆ จึงหนีหนี้เข้าป่า เดินทางมาจนถึงอาศรมฤๅษีอยู่ปฏิบัติ จนฤๅษีเกิดความเมตตา ฤๅษีคิดว่า พราหมณ์นี้ มีอุปการะมาก เราจะให้เรียนมนต์ทิพย์ที่พญาครุฑให้ไว้ จึงให้พราหมณ์เรียนมหาเวทย์ชื่อว่า “อาลัมพายน์”  พร้อมทั้งยาทิพย์ และวิธีการใช้มหาเวทย์

พราหมณ์นั้น คิดว่า เราได้วิธีเลี้ยงชีพแล้ว อยู่ปรนนิบัติฤๅษีต่อไปอีก ๒ – ๓ วัน จึงอ้างเหตุว่า เกิดโรคลม ไม่สามารถอยู่ที่นี่ต่อไปได้ จึงกราบลาฤๅษี ออกจากป่า เดินสาธยายมนต์ไปตาม หนทางใหญ่ จนมาถึงฝั่งแม่น้ำยมุนา

ในขณะนั้น พวกนางนาคมาณวิกาภรรยาพระภูริทัต ต่างก็ถือแก้วมณี ออกจากนาคพิภพมาวางไว้บนกองทราย ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ใช้แสงแก้วมณีนั้น ส่องสว่าง พากันเล่นน้ำตลอดทั้งคืน จนถึงรุ่งเช้า จึงพากันตกแต่งกายด้วยเครื่องอาภรณ์ทุกอย่าง นั่งล้อมแก้วมณีให้สิริเข้าสู่กาย

ฝ่ายพราหมณ์ เดินสาธยายมหาเวทย์อาลัมพายน์ มาถึงที่นั้น เหล่านางนาคมาณวิกา  ได้ยินเสียงสาธยายมนต์อาลัมพายน์ เข้าใจว่า เป็นเสียงครุฑ ตกใจกลัว ไม่ทันหยิบแก้วมณี พากันแตกตื่นแทรกแผ่นดินหนีไปนาคพิภพ พราหมณ์เห็นแก้วมณีก็ดีใจว่า มนต์ของตนศักดิ์สิทธิ์  จึงหยิบเอาแก้วมณีนั้นไป

ขณะนั้น จอมพรานเนสาทะพร้อมโสมทัตผู้เป็นลูกชาย ท่องป่าล่าสัตว์มา เห็นพราหมณ์อาลัมพายน์ถือแก้วมณีอยู่ในมือ จึงเปรยกับบุตรว่า “พระภูริทัต เคยให้แก้วมณีนี้แก่เรา ใช่ไหม” โสมทัตตอบว่า  “ใช่แล้ว พ่อ” นายพรานจึงกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น เราจะหลอกพราหมณ์ว่า แก้วมณีนั้น เป็นอัปมงคล แล้วชิงเอามาเป็นของเรา”

โสมทัต กล่าวว่า “พระภูริทัต เคยให้แก้วมณีมาแล้ว ตอนนั้น ทำไม พ่อไม่รับ แต่บัดนี้ กลับจะไปหลอกเอาจากพราหมณ์ อย่าทำอย่างนั้นเลย พ่อ”

นายพรานเนสาทะ กล่าวว่า “อย่าฟื้นฝอยหาตะเข็บ ลูกอยู่เฉย ๆ คอยดูพ่อหลอกตาพราหมณ์นั่น” ว่าแล้ว จึงถามพราหมณ์อาลัมพายน์ว่า ได้แก้วมณีนี้ มาจากไหน

พราหมณ์อาลัมพายน์ อวดว่า วันนี้ตนเดินมาตามทางตั้งแต่เช้าตรู่ ได้เห็นนางนาคมาณวิกา  ผู้มีตาแดงจำนวนมาก ห้อมล้อมแก้วมณีนี้อยู่ พอเห็นตนเข้าเท่านั้นก็ตกใจกลัว พากันทิ้งแก้วมณี หนีไป

จอมพรานเนสาทะ คิดจะหลอกพราหมณ์อาลัมพายน์ เอาแก้วมณี จึงบอกความเป็นอัปมงคลของแก้วมณีว่า “หากใครนำแก้วมณีนี้ไปประดับ จะต้องเคารพบูชาเก็บรักษาไว้อย่างดีเท่านั้น จึงจะเป็นประโยชน์ มิเช่นนั้น จะทำให้เกิดความพินาศล่มจมอย่างใหญ่หลวงนัก คนไม่มีบุญ ไม่ควรประดับ เราจะให้ทองคำร้อยแท่ง เพื่อแลกกับแก้วมณีนี้”

พราหมณ์อาลัมพายน์กล่าวว่า “เราจะไม่ขายแก้วมณี แต่ถ้าใครสามารถบอกได้ว่า มีนาคใหญ่ ผู้มีเดชมาก ยากที่ใคร ๆ จะล่วงเกินได้ อยู่ที่ใด เราจึงจะให้”

จอมพรานเนสาทะ กล่าวว่า “ท่านเป็นครุฑแปลงกายเป็นพราหมณ์มาเที่ยวจับนาคไปเป็นอาหารหรืออย่างไร จึงต้องการรู้ที่อยู่ของนาค”

พราหมณ์อาลัมพายน์ กล่าวว่า “นายพราน เราไม่ได้เป็นครุฑ แม้แต่ครุฑ เราก็ยังไม่เคยเห็น  แต่เรามีความชำนาญเกี่ยวกับงูพิษ คนทั่วไปเรียกเราว่า หมองู”

จอมพรานเนสาทะถามว่า “ท่านมีกำลังอะไร มีศิลปะอะไร และอำนาจวิทยาคมของท่าน ศักดิ์สิทธิ์อย่างไร จึงไม่เกรงกลัวนาคราช”

พราหมณ์อาลัมพายน์ คุยอวดพรานเนสาทะว่า “มีครุฑตนหนึ่ง มาบอกวิชาหมองูอย่างสูงให้ฤๅษีโกสิยโคตร ผู้อยู่ป่าประพฤติตบะมานาน ส่วนเราเป็นลูกศิษย์ผู้อุปัฏฐาก ท่านฤๅษี จึงสอนมหาเวทย์ให้เรา ด้วยความเมตตา เราจำมหาเวทย์ที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นจนขึ้นใจ จึงไม่กลัวพญานาค เราเป็นอาจารย์ของเหล่าหมองูทั้งหลาย ชนโดยทั่วไป จึงเรียกเราว่า อาลัมพายน์”

พรานเนสาทะ คิดว่า ถ้าบอกที่อยู่ภูริทัตนาคราชแล้ว ก็จะได้แก้วมณี จึงปรึกษาลูกชายว่า  ควรบอกที่อยู่ภูริทัต แก่พราหมณ์อาลัมพายน์ จึงจะได้แก้วมณี ไม่ควรจะทิ้งโอกาสดี ๆ นี้ไป  

โสมทัตผู้เป็นบุตร กล่าวว่า “พ่อ พระภูริทัต มีบุญคุณกับเรามาก ทำไมพ่อจะทำร้ายผู้ที่มีบุญคุณ กับพ่อ ถ้าพ่อต้องการทรัพย์ พระภูริทัต ก็จะให้ทรัพย์เป็นจำนวนมาก พ่อไปขอท่านสิ”

พรานเนสาทะ กล่าวกับลูกชายว่า “โสมทัต ของที่อยู่ต่อหน้าก็เอาไว้ก่อน จะไปหวังน้ำบ่อหน้าทำไม”

โสมทัตผู้เป็นบุตร เตือนสติพ่อว่า “คนทำร้ายมิตร ไร้น้ำใจ จะต้องตกนรกหมกไหม้ แผ่นดินจะสูบ หรือถ้ายังมีชีวิตอยู่ ก็จะประสบแต่ความหายนะ พ่ออย่าทำเลย ถ้าพ่อทำอย่างนั้น  กรรมจะตามสนองพ่อในไม่ช้า”

พรานเนสาทะ กล่าวกับลูกชายว่า “ลูกอายุยังน้อย ยังเป็นเด็ก จึงไม่รู้อะไร พวกพราหมณ์ ครั้นทำบาปแล้ว บูชามหายัญ ก็บริสุทธิ์ได้ พ่อเป็นพราหมณ์ บูชามหายัญ ล้างบาปได้ ลูกจะกลัวอะไร”

โสมทัตผู้เป็นลูกชาย กล่าวว่า “พ่อทำไปคนเดียวเถิด ลูกจะไม่อยู่ร่วมทำกรรมหยาบช้ากับพ่อ” แล้วจึงเดินหนีจากพ่อไป

โสมทัตนั้น เป็นบัณฑิต แม้พยายามเตือนบิดา ไม่ให้กระทำกรรมด้วยการทรยศมิตร  แต่บิดาก็ไม่ยอมรับฟัง จึงป่าวประกาศ ให้เทวดาเป็นพยานกึกก้องกลางราวป่าว่า จะไม่ขอร่วมทำบาปเช่นนี้ จึงเดินหนีบิดาไปต่อหน้าต่อตา เข้าป่าหิมวันต์ บวชเป็นฤๅษี จนได้บรรลุอภิญญา และสมาบัติ  รักษาฌานไว้ไม่ไห้เสื่อม ตลอดชีวิต หลังจากตายแล้ว ได้ไปเกิดในพรหมโลก  

ส่วนพรานเนสาทะผู้เป็นบิดา คิดว่า โสมทัต คงไม่หนีไปไหนได้ นอกจากจะกลับเรือนเท่านั้น  ครั้นเห็นพราหมณ์อาลัมพายน์แสดงอาการหงุดหงิดไม่พอใจ จึงปลอบว่า “ท่านอาลัมพายน์ อย่าวิตกไปเลย เราจะบอกที่อยู่พญานาคภูริทัตให้” แล้วจึงพาพราหมณ์อาลัมพายน์ ไปยังที่พญานาคภูริทัต รักษาอุโบสถศีล เห็นพญานาคตัวใหญ่ คู้ขนดอยู่ที่จอมปลวก จึงยืนชี้มือไปทางจอมปลวก อยู่ห่าง ๆ  พลางกระซิบบอกพราหมณ์อาลัมพายน์ว่า “ท่านเห็นรัศมีสีแมลงค่อมทอง ศีรษะแดง ตัวขาวโพลน  เหมือนกองปุยนุ่น นอนอยู่บนจอมปลวกนั่นไหม ? นั่นแหละพญานาคราช ไปจับเอาเถิด”

พระโพธิสัตว์ ลืมตาขึ้น เหลือบมองมาเห็นพรานเนสาทะ คิดในใจว่า เราคิดเอาไว้ไม่ผิดว่า  พราหมณ์คนนี้ เป็นคนทรยศมิตร จะทำลายอุโบสถของเรา จึงอุตส่าห์นำไปนาคพิภพ มอบสมบัติให้มากมาย  หวังจะให้เพียงพอ ไม่ยอมรับแก้วมณีที่เราให้ แต่กลับไปเอาหมองูมาจับเรา

พระโพธิสัตว์ สอนตนเองว่า “ภูริทัต ถ้าเจ้าโกรธ ผู้ที่ทำร้ายเจ้า ศีลก็จะขาด เจ้าได้อธิษฐานอุโบสถไว้แล้ว เจ้าต้องรักษาไม่ให้ขาด อาลัมพายน์จะตัด จะเผา จะฆ่า จะแทงด้วยหลาว ก็ตามเถิด  เจ้าจะต้องไม่โกรธเขา ถ้าเจ้าโกรธ มองดู เขาจะแหลกเป็นผุยผงไปทันที ให้เขาทุบตีเจ้าเถิด ถึงอย่างไร  เจ้าก็จะต้องไม่โกรธ ต้องไม่แลดู” ครั้นพระโพธิสัตว์ ให้โอวาทตนดังนี้แล้ว ก็หลับตาลง ทรงอธิษฐาน บำเพ็ญศีลบารมี ไว้อย่างมั่นคง ซุกเศียรเข้าไว้ภายในขนด นอนนิ่ง ไม่ขยับกาย

ไปสู่อำนาจมหาเวทย์

ฝ่ายพรานเนสาทะ เตือนพราหมณ์อาลัมพายน์ว่า “เชิญท่านเข้าไปจับเอานาคนี้ แล้วส่งแก้วมณี มาให้เรา” พราหมณ์อาลัมพายน์ เห็นพญานาค ก็ดีใจ ไม่สนใจแก้วมณีอีกต่อไปว่า เป็นของมีค่าอย่างไร โยนแก้วมณีไปให้พรานเนสาทะ แก้วมณีพลัดหล่นจากมือนายพราน ตกลงที่พื้นดิน แล้วจมหายเข้าไปในแผ่นดิน กลับไปยังนาคพิภพ

          นายพรานเนสาทะ ได้ทรยศมิตร จึงเสื่อมจากฐานะ ๓ ประการ คือ เสื่อมจากเเก้วมณี ๑ เสื่อมจากมิตรภาพระหว่างพระภูริทัต ๑ และเสื่อมความเคารพจากบุตร ๑ เพราะความโลภ เขาร้องไห้รำพันกลับเรือนว่า “เราหมดที่พึ่งพาอาศัยแล้ว เพราะเราไม่เชื่อลูก”

ฝ่ายพราหมณ์อาลัมพายน์ เอาโอสถทิพย์ทาชโลมทั่วร่างกายบ้าง เคี้ยวไว้ในปากบ้าง แล้วบ่นทิพยมนต์ร่ายมหาเวทย์ป้องกันตัวเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ จับหางลากออกมาแล้วกดหัวเอาไว้อย่างมั่นคง จากนั้น เปิดปากพระโพธิสัตว์ออก แล้วบ้วนยาที่เคี้ยวพร้อมเสมหะ ยัดใส่เข้าไปในปาก พระโพธิสัตว์

พญานาคภูริทัต เกิดในตระกูลนาคราช จึงเป็นสัตว์สะอาดอย่างชาติกษัตริย์ทั้งหลาย  แม้ถูกกระทำเช่นนั้น รู้สึกสะอิดสะเอียนแทบสำรอก ก็ไม่โกรธ ไม่ลืมตา เพราะกลัวศีลจะขาด

ครั้นแล้ว พราหมณ์อาลัมพายน์ ใช้ทั้งยาทั้งมนต์ป้องกันตัวเอง จับหางพระภูริทัตหิ้วให้หัวห้อยลงข้างล่าง เขย่าให้สำรอกอาหารออกให้หมด แล้วจับให้นอนเหยียดยาวกับพื้นดิน  เอาเท้าเหยียบย่ำเหมือนคนนวดถั่ว พระภูริทัตเจ็บปวดคล้ายกระดูกจะแหลกละเอียด จากนั้น  พราหมณ์อาลัมพายน์ ก็จับหางภูริทัต หิ้วให้หัวห้อยลง แล้วฟาดลงกับพื้นดิน เหมือนคนตีผ้า   แม้พระโพธิสัตว์ เจ็บปวดทุกข์ทรมานถึงปานนี้ ก็ไม่โกรธ

เมื่อพรามหณ์อาลัมพายน์ ทำให้พญานาคภูริทัต อ่อนแรงลงแล้ว จึงเอาเถาวัลย์ถักเป็นกระโปรง ใส่พระโพธิสัตว์ แต่ตัวพระโพธิสัตว์ ใหญ่กว่ากระโปรง ส่วนหัวจึงเข้าลำบาก  พราหมณ์อาลัมพายน์ ใช้ส้นเท้าถีบยันพระโพธิสัตว์เข้าไป พระโพธิสัตว์ได้รับความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานมาก

จากนั้น พราหมณ์ก็แบกกระโปรงใส่พระโพธิสัตว์ ไปจนถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง วางกระโปรงลงกลางหมู่บ้าน แล้วร้องประกาศ บอกประชาชน ให้มาดูพญานาคแสดงการฟ้อนรำ เมื่อชาวบ้านมาชุมนุมกันแล้ว พราหมณ์อาลัมพายน์ จึงเรียกพญานาคภูริทัตออกมา

พระโพธิสัตว์ คิดว่า วันนี้ จะเล่นให้ผู้คนสนุกสนานเพลิดเพลิน เมื่ออาลัมพายน์ ได้ทรัพย์มากแล้ว จะปล่อยเราไป ดังนั้น วันนี้ เราจะทำตามที่อาลัมพายน์สั่งทุกอย่าง

อาลัมพายน์ นำพระโพธิสัตว์ออกจากกระโปรง กล่าวว่า “เจ้าจงทำตัวให้ใหญ่” พระโพธิสัตว์ จึงทำลำตัวให้ใหญ่ตามที่บอก อาลัมพายน์บอกให้ทำตัวให้เล็ก ให้ขดเป็นขนด ให้คลาย ให้แผ่พังพาน ให้สูง ให้ต่ำ  ให้เห็นตัว ให้หายตัว ให้เห็นครึ่งตัว ให้ตัวเป็นสีขียว เหลือง แดง ขาว หงสบาท ให้พ่นเปลวไฟ พ่นน้ำ พ่นควัน อาลัมพายน์ สั่งให้ทำอาการใด ๆ พระโพธิสัตว์ก็เนรมิตกาย แสดงตามที่อาลัมพายน์สั่งทุกอย่าง

ผู้คน เห็นพระโพธิสัตว์แล้ว ก็เกิดความสงสาร กลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ ต่างนำข้าวของเงินทอง และเครื่องประดับ มาให้พราหมณ์ ด้วยความสงสารพระโพธิสัตว์

อาลัมพายน์ ได้เงินประมาณ ๑,๐๐๐ กหาปณะ จากหมู่บ้านนั้น ทีแรกเขาตั้งใจจับพระโพธิสัตว์ มาแสดงให้ได้เงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ ก็จะปล่อย แต่ครั้นได้เงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ กลับคิดว่า แค่แสดงในหมู่บ้านเล็ก ๆ ยังได้เงินมากถึงเพียงนี้ ถ้าแสดงในพระนคร จะได้มากมายขนาดไหน เพราะความโลภ จึงไม่ยอมปล่อยพระโพธิสัตว์

พราหมณ์อาลัมพายน์ ได้เงินจากหมู่บ้านนั้น จึงให้นายช่างทำกระโปรงแก้ว ใส่พระโพธิสัตว์ขึ้นพาหนะไปอย่างสบาย มีผู้มาสมัครเข้าเป็นบริวาร ติดตามไปเป็นจำนวนมาก อาลัมพายน์ให้พระโพธิสัตว์แสดงไปตามหมู่บ้านและนิคมต่าง ๆ จนถึงกรุงพาราณสี

อาลัมพายน์ ไม่ให้พระโพธิสัตว์กินน้ำผึ้งและข้าวตอก แต่เอากบให้กิน พระโพธิสัตว์ไม่ยอมกินสัตว์ จึงต้องอดอาหาร แม้จะอ่อนเพลีย เพราะอดอาหาร แต่ถึงอย่างนั้น อาลัมพายน์  ก็ยังให้พระโพธิสัตว์แสดงตามชุมชนต่าง ๆ ใกล้ประตูกำแพงพระนครทั้ง ๔ ด้าน พระโพธิสัตว์  ก็แข็งใจแสดง ทั้ง ๆ ที่ เหนื่อยล้าเจียนขาดใจ เพราะกลัวอาลัมพายน์ จะไม่ปล่อย

ครั้นถึงวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ พราหมณ์อาลัมพายน์ ให้เจ้าหน้าที่ กราบทูลพระราชาว่า จะให้นาคราชแสดงถวายพระองค์ พระราชา จึงรับสั่งประกาศไปทั่วพระนคร ให้ประชาชนประชุมกัน ประชาชนชน จึงพากันมาประชุมที่ท้องสนามหลวง เพื่อดูการแสดง

หัวอกแม่   

ในวันที่พราหมณ์อาลัมพายน์ จับพระโพธิสัตว์ไปนั้น พระมารดาพระโพธิสัตว์ ฝันว่า พระนาง ถูกชายคนหนึ่ง ตัวดำ นัยน์ตาแดง หน้าตาโหดเหี้ยม น่ากลัว เอาดาบตัดแขนขวาของพระนางขาดแล้ว ถือไปทั้ง ๆ ที่เลือดสด ๆ ยังไหลอยู่ ครั้นพระนางตื่นขึ้นมา ก็ตกใจกลัว ลุกขึ้นลูบคลำแขนขวาของพระองค์ ก็ทราบว่า ฝันร้าย พระองค์รู้สึก ใจคอไม่ดี ไม่รู้ว่า จะเกิดอันตรายแก่พระโอรส  แก่ท้าวธตรฐมหาราช หรือแก่พระองค์เอง

         พลันนั้น พระนาง ก็ทรงเป็นห่วงพระโพธิสัตว์ ยิ่งกว่าคนอื่นขึ้นมาอย่างจับใจ ด้วยคนอื่น ๆ อยู่ในนาคพิภพกันหมด มีเพียงพระโพธิสัตว์คนเดียวเท่านั้น ที่ไปรักษาอุโบสถศีลอยู่ในโลกมนุษย์ พระองค์เป็นห่วงว่า ภูริทัต จะถูกหมองู หรือครุฑจับไป ครั้นแล้ว พระองค์ก็ทรงรู้สึกเย็นเยียบไปทั้งตัว

         จากวันที่พระมารดาพระโพธิสัตว์ฝันร้าย จนผ่านไปได้กึ่งเดือน ก็ไม่เห็นภูริทัตมาเฝ้าพระนางเต็มไปด้วยความระทมทุกข์ว่า “ลูกภูริทัต ไม่เคยหายไปนานขนาดนี้ นี่ก็เกินกึ่งเดือนเข้าแล้ว  เห็นทีจะเกิดอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่”

         พระนางสมุททชา ทรงเฝ้ามองทางที่พระโพธิสัตว์จะกลับมา วันแล้ววันเล่า ทรงรำพึงว่า  “ลูกภูริทัต จะมาวันนี้ ลูกภูริทัต จะมาวันนี้” แต่วันแล้ววันเล่า ก็เงียบหาย

ครั้นผ่านไปได้หนึ่งเดือน พระนางสมุททชา ไม่เห็นบุตร ก็ทรงโศกเศร้า ผุดลุกผุดนั่ง ไม่เป็นอันกินอันนอน ร้องไห้ ไม่มีเวลาใด ที่ไม่มีน้ำตา ดวงหฤทัยเหือดแห้ง พระเนตรทั้งสอง บวมเป่งขึ้นมา

เมื่อครบกำหนดหนึ่งเดือน เป็นเวลาที่สุทัศนะ พระโอรสองค์ใหญ่มายี่ยม สุทัศนะ ให้บริษัทรออยู่ข้างนอก แล้วขึ้นปราสาท ไหว้พระชนนี

เนื่องจากพระนางสมุททชา กำลังโศกเศร้าถึงภูริทัต จึงไม่ได้ทักทายปราศรัย ไม่ยอมตรัสอะไร กับสุทัศนะ เหมือนที่ผ่านมา สุทัศนะ รู้สึกแปลกใจว่า ทุกครั้งที่ตนมาพบ พระมารดาจะยินดีต้อนรับ  แต่วันนี้ พระมารดาโศกเศร้า น้อยพระทัย คงมีอะไรแน่ จึงทูลถามถึงสาเหตุ แต่พระชนนี ก็ยังเอาแต่ นิ่งเงียบ ไม่ได้ตรัสอะไร สุทัศนะคิดว่า หรือจะเกิดเหตุร้ายอะไร จึงถามว่า “ใครทำให้แม่ ไม่สบายใจ  หรือมีเหตุร้ายอะไร”

พระนางสมุททชา ตรัสว่า “สุทัศนะ แม่ฝันร้ายมาเดือนหนึ่งแล้ว แม่ฝันว่า มีชายคนหนึ่ง  ตัดแขนแม่ไป ดูเหมือนเป็นแขนข้างขวา เขาถือติดมือไปทั้ง ๆ ที่เลือดสด ๆ ยังไหลเป็นทาง ตั้งแต่แม่ ฝันร้าย แม่ไม่มีความสุขเลย ลูกรัก น้องของลูกหายไปได้เดือนหนึ่งแล้ว ไม่เห็นมาเยี่ยมแม่ ไม่รู้จะเป็นตายร้ายดีอย่างไร เขาไม่เคยหายไปนานขนาดนี้ เราจะไปนิเวศน์ของภูริทัตกัน ไปเยี่ยมน้องของลูก” กล่าวเช่นนั้นแล้ว จึงเสด็จไปยังนิเวศน์ของพระภูริทัต พร้อมด้วยนาคข้าราชบริพารเป็นอันมาก

          ฝ่ายพวกภรรยาพระโพธิสัตว์ เมื่อไม่เห็นพระภูริทัตที่จอมปลวก ก็คิดว่า คงจะอยู่ในนิเวศน์ของมารดา จึงไม่ได้พากันสงสัย หรือสอบถามถึง ครั้นเหล่าภรรยาพระภูริทัตทราบว่า แม่ผัวมาหาบุตรของตน ก็พากันออกมาต้อนรับ จึงรู้ว่า พระภูริทัตหายไปได้หนึ่งเดือนแล้ว ต่างตกใจหมอบลงแทบพระบาทพระนางสมุททชา ร้องไห้รำพันถึงพระโพธิสัตว์

          มารดาพระโพธิสัตว์ ขึ้นไปตรวจดูบนปราสาท พร้อมหญิงสะใภ้ เห็นที่นอนและที่นั่งบุตรก็ยิ่งเศร้าใจคร่ำครวญรำพันว่า “แม่ไม่เห็นลูกภูริทัต จะตรอมตรมจนสิ้นใจ เหมือนแม่นกที่ลูกถูกฆ่า เห็นแต่รังเปล่า จะระทมทุกข์ จนสิ้นใจ”

เมื่อมารดาพระโพธิสัตว์ รำพันอยู่อย่างนี้ แม้นาคสักตนหนึ่ง ก็ไม่อาจทรงภาวะของตนอยู่ได้ ต่างสงสารพระนางร้องระงมเป็นเสียงเดียวกัน ปานประหนึ่งเสียงคลื่นในท้องมหาสมุทรซัดฝั่งอยู่ไม่ขาดสาย เหล่าภรรยาพระโพธิสัตว์ ต่างล้มตัวลงนอนระเกะระกะอย่างหมดอาลัยทั่วทั้งพระราชนิเวศน์ ยิ่งดูวังเวง

         ขณะนั้น อริฎฐะ และสุโภคะ สองพี่น้อง ก็ตามมาถึง ต่างช่วยกันปลอบมารดาให้เบาใจว่า เป็นธรรมดาสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมา ย่อมมีความพลัดพรากอย่างนี้ พระนางสมุททชาตรัสว่า “ลูกรัก ถึงแม้แม่จะรู้ว่า สัตว์ทั้งหลายก็เป็นอย่างนี้ เป็นธรรมดา แต่แม่ก็ทำใจไม่ได้ เมื่อแม่ไม่เห็นภูริทัต ในคืนวันนี้ เห็นทีแม่จะต้องตายแน่”

         พระโอรสทั้งสาม กล่าวว่า “แม่อย่าเศร้าโศกไปเลย ลูกทั้ง ๓ คน จะออกตามหาภูริทัตไปทุกหนทุกแห่ง แม่จะได้เห็นภูริทัตภายใน ๗ วัน”

สุทัศนะคิดว่า ถ้าไปทางเดียวกันทั้ง ๓ คน จะทำให้ชักช้าไม่ทันการณ์ ควรแยกกันไปคนละทาง คนหนึ่งไปเทวโลก คนหนึ่งไปป่าหิมวันต์ ส่วนอีกคนหนึ่งไปโลกมนุษย์ ถ้าให้อริฎฐะไปโลกมนุษย์ หากพบภูริทัตเข้าในบ้านหรือนิคมใด เขาก็จะเผาบ้านและนิคมนั้นให้มอดไหม้เสียหมด เพราะอริฏฐะ มีนิสัยมุทะลุ ดุร้าย ไม่กลัวใคร จึงไม่ควรให้ไปโลกมนุษย์

เมื่อคิดเช่นนั้น สุทัศนะนาคราช จึงให้อริฎฐะไปเทวโลก กำชับว่า ถ้าเทวดา ต้องการฟังธรรม ได้นำภูริทัตไปเทวโลก ก็ขอให้พากลับมาก่อน สุโภคะ ให้ไปป่าหิมวันต์ ส่วนสุทัศนะเองจะไปโลกมนุษย์

ธิดานาคราช

         สุทัศนะคิดว่า ถ้าเราแปลงกายเป็นชายหนุ่มไป พวกมนุษย์จะไม่เคารพ ควรจะแปลงเป็นฤๅษีไป เพราะบรรพชิต เป็นที่เคารพรักของเหล่ามนุษย์ จึงแปลงกายเป็นฤๅษี กราบลามารดาแล้วจากไป

         พระภูริทัตโพธิสัตว์นั้น มีนางนาคน้องสาวต่างมารดาอยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า “อัจจิมุขี” เธอมีรูปร่าง หน้าตาน่ารัก ภูริทัตเอ็นดูน้องสาวคนนี้มาก เธอจึงเคารพรักพระโพธิสัตว์เหลือเกิน นางเห็นสุทัศนะจะไปโลกมนุษย์ จึงร้องขอติดตามไปด้วย สุทัศนะห้ามน้องสาวว่า “น้องไปกับพี่ไม่ได้ เพราะพี่ไม่ได้ไปอย่างธรรมดา พี่จะแปลงเป็นบรรพชิตไป

 แม้อัจจิมุขีรู้ว่า พี่ชายลำบากใจ ที่จะให้เธอติดตามไปด้วย แต่เธอก็ไม่ลดละความพยายาม  อ้อนวอนขอร่วมเดินทางไปด้วยว่า “ถ้าเช่นนั้น น้องจะแปลงกายเป็นลูกเขียดน้อย นอนไปในชฎา ของพี่” แม้สุทัศนะจะห้ามปรามอย่างไร เธอก็อ้อนวอนแล้วอ้อนวอนเล่า จนสุทัศนะใจอ่อน  ยอมอนุญาตให้ติดตามไปด้วย

        สุทัศนะนาคราชและนางนาคสาวอัจจิมุขี คิดกันว่า ควรจะต้องเริ่มต้นตรงที่ภูริทัตไปรักษาอุโบสถก่อน จึงสอบถามสถานที่นั้น ๆ จากภรรยาภูริทัต แล้วแปลงเป็นลูกเขียดน้อยนอนในชฎาของพี่ชายไป จนถึงบริเวณจอมปลวกใกล้ต้นไทรใหญ่ ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา เห็นเลือด และร่องรอยเถาวัลย์ที่ถูกตัดมาถักเป็นกระโปรง ตรงที่อาลัมพายน์จับพระโพธิสัตว์

         นางอัจจิมุขี รู้ชัดว่า พี่ชายที่เธอรัก ถูกหมองูจับไป ก็ใจหายเกิดความเศร้าโศกขึ้นมาทันที  เธอร้องไห้น้ำตานองหน้า นางคิดว่า ก็แล้วหมองูคนใด จึงมีอำนาจเหนือภูริทัตพี่ชายของเธอ  จนสามารถจับพี่ชายของเธอไปได้

         นาคทั้งสอง จึงตามรอยอาลัมพายน์ไปจนถึงหมู่บ้านที่อาลัมพายน์ให้พระโพธิสัตว์แสดงครั้งแรก  ถามชาวบ้านว่า มีหมองูนำนาคราชรูปร่างหน้าตาเช่นนี้ มาเล่นในหมู่บ้านนี้บ้างหรือไม่

         ทั้งสองจึงทราบจากชาวบ้านว่า มีหมองูนำนาคมาแสดงที่นี่ จากวันนั้นจนถึงวันนี้  ได้ประมาณหนึ่งเดือนเเล้ว พญานาคสุทัศนะในคราบฤๅษีถามชาวบ้านว่า “หมองูได้อะไรจากการแสดงไปบ้าง” ชาวบ้านตอบว่า “ได้เงินประมาณ ๑,๐๐๐ กหาปนะ” ฤๅษีถามต่อไปว่า “หมองูออกจากหมู่บ้านนี้แล้ว ไปแสดงที่ไหนต่อ” ชาวบ้านบอกหมู่บ้านที่อาลัมพายน์มุ่งหน้าไป  ฤๅษีจึงออกเดินทางถามตั้งแต่หมู่บ้านนั้น เรื่อยไปจนถึงประตูพระนคร

ขณะนั้น ผู้คนกำลังหลั่งไหลเข้าสู่พระนคร ต่างส่งเสียงเชิญชวนกันไปดูการแสดงตามท้องถนน นาคสองพี่น้อง จึงปะปนเข้าพระนครไปกับฝูงชน

เช้าวันนั้น พราหมณ์อาลัมพายน์ คิดว่า วันนี้ จะแสดงต่อเบื้องพระพักตร์ของพระราชาต้องแสดงให้ดี อาบน้ำแต่งตัวเสร็จแล้ว จึงให้คนยกกระโปรงแก้วขังพระโพธิสัตว์ ไปยังประตูพระราชฐาน ประชาชนมาชุมนุมดูการแสดงแน่นขนัด

         ขณะนั้น พระเจ้ากรุงพาราณสี ยังประทับอยู่ในพระราชนิเวศน์ ทรงส่งสาส์นไปแจ้งว่า พระองค์จะเสด็จไปทอดพระเนตรการแสดงของพญานาค เจ้าหน้าที่พระราชวัง จึงทอดพระราชอาสน์ไว้บริเวณที่จะจัดการแสดง

         พราหมณ์อาลัมพายน์ วางกระโปรงแก้วใส่พระโพธิสัตว์ ลงบนพรมอันวิจิตร เปิดฝาออก แล้ว ส่งสัญญาณให้พญานาคออกมา

พระโพธิสัตว์ โผล่ศีรษะออกจากกระโปรงแก้ว มองดูไปรอบ ๆ ตามสัญชาตญาณของนาค ทั้งหลาย เพื่อจะดูว่า มีอันตรายจากครุฑหรือไม่ และดูว่า มีญาติของตนอยู่หรือไม่ เป็นธรรมดาว่าเมื่อพวกนาคเห็นครุฑก็กลัว จึงไม่กล้าแผ่พังพานฟ้อนรำ และเมื่อเห็นพวกญาติ ก็ละอาย ไม่แผ่พังพานฟ้อนรำเช่นกัน

ขณะนั้น ฤๅษีสุทัศนะ ยืนแทรกอยู่ท้ายสุดของฝูงชน พระโพธิสัตว์ มองเห็นพี่ชายท่ามกลางฝูงชน ก็เลื้อยออกจากกระโปรง พุ่งตรงรี่เข้าไปหาพี่ชาย ทั้ง ๆ ที่ น้ำตายังนองหน้า

        ผู้คนเห็นพญานาคภูริทัตพุ่งออกจากกระโปรงแก้ว เลื้อยตรงรี่เข้าใส่ฝูงชน ก็พากันตกใจกลัว แตกตื่นแหวกเป็นทางออกไป ยังยืนอยู่แต่สุทัศนะคนเดียว

        พญานาคภูริทัตซบศีรษะร้องไห้อยู่ที่หลังเท้าพี่ชาย สุทัศนะเห็นสภาพน้องชายก็รู้สึกรันทดใจ ไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้ จึงยืนร้องไห้เช่นกัน

          แม้นางนาคสาวอัจจิมุขีที่อยู่ในชฎา เห็นสภาพพี่ชายที่ตนเคารพรักยิ่ง พลันความสงสารก็พรั่งพรูเข้าสู่จิตใจ กลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่ได้ เธอสะเทือนใจกับภาพที่เห็น ร้องไห้ด้วยความสงสารพระโพธิสัตว์ ซบศีรษะร้องไห้อยู่ที่หลังเท้าพี่ชาย เมื่อข่มความโศกเศร้าได้แล้ว จึงค่อย ๆ เลื้อยกระปลกกระเปลี้ยกลับเข้าไปในกระโปรงเช่นเดิม

         พราหมณ์อาลัมพายน์มองเห็นเหตุการณ์นั้นเข้าใจว่า ฤๅษีหนุ่มถูกนาคกัด คิดจะปลอบโยน  จึงเข้าไปหา แล้วกล่าวว่า “นาคหลุดออกไปฟุบที่เท้าพระคุณเจ้า อย่างกะทันหัน พระคุณเจ้า ถูกกัดหรือไม่ แต่พระคุณเจ้า อย่ากลัวเลย ข้าพเจ้ามียาวิเศษรักษา”  

         สุทัศนะ กล่าวว่า “นาคตัวนี้ ทำอะไรเราไม่ได้หรอก หมองูเท่าที่มีอยู่ก็ไม่เห็นจะมีคนไหนดีไปกว่าเรา”

อาลัมพายน์ ได้ยินเช่นนั้น ไม่รู้ว่า เป็นใคร ก็โกรธ ตวาดว่า “ฤๅษีเซ่อ เงอะงะ แต่งตัววางท่าทาง เป็นฤๅษี มาท้าเรากลางประชาชน”

         สุทัศนะ กล่าวกับหมองูนั้นว่า “หากท่านเก่ง ก็เอาพญานาคของท่าน มาสู้กับลูกเขียดน้อย  ของเรา พนันกันด้วยเงิน ๕,๐๐๐ กหาปณะ”

พราหมณ์อาลัมพายน์ กล่าวว่า “ฤๅษีน้อย เรามีเงินมากมาย แต่ท่านจะหาเงินจากที่ไหนมาเดิมพัน แล้วใครจะค้ำประกันเดิมพันของท่าน”

           สุทัศนะนาคราช ในคราบฤๅษีหนุ่ม ชะงักอยู่ครู่หนึ่ง จำนนต่ออาลัมพายน์ ไม่กล้ายืนยัน เพราะตนไม่มีเงิน หากจะนำมาด้วยฤทธิ์ ก็เกรงอาลัมพายน์จะรู้ว่า ตนเป็นนาค จึงตัดสินใจขึ้นสู่พระราชนิเวศน์ ด้วยท่าทางองอาจ เข้าไปเฝ้าพระเจ้ากรุงพาราณสี กราบทูลว่า “ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ขอพระองค์จงมีพระชนม์ยิ่งยืนนาน  ขอพระองค์ทรงเป็นหลักประกันเงินเดิมพัน ๕,๐๐๐ กหาปณะ ของอาตมภาพด้วยเถิด”

        พระราชา ทรงสงสัยว่า ทำไมฤๅษีหนุ่มนี้ ขอทรัพย์มากเหลือเกิน จึงตรัสว่า “ท่านฤๅษี  ท่านจะเอาเงินไปใช้หนี้ของบิดา หรือว่า เป็นหนี้ที่ท่านก่อขึ้นเอง เหตุไร จึงขอเงินมากมายจากโยม เช่นนี้”

พญานาคในร่างฤๅษี ถวายพระพรว่า “พราหมณ์อาลัมพายน์ ต้องการจะเอาพญานาค สู้กับอาตมา อาตมาจะให้ลูกเขียดน้อย กัดพราหมณ์อาลัมพายน์ ในวันนี้ ขอเชิญพระองค์ พร้อมทั้งเหล่าทหาร เสด็จทอดพระเนตรลูกเขียดน้อยของข้าพระองค์ ต่อสู้กับพญานาค”

๓ พระเจ้ากรุงพาราณสี พระนามว่า “สาครพรหมทัต” มีศักดิ์เป็นลุงของสุทัศนะ เพราะเป็นพี่ชายของพระนางสมุททชา  ผู้เป็นมารดาของสุทัศนะ และพระโพธิสัตว์

พระราชา ตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น เราจะไป” จึงเสด็จออกไปพร้อมกับสุทัศนะฤๅษี

พราหมณ์อาลัมพายน์ เห็นพระราชา เสด็จมากับฤๅษี ตกใจ คิดว่า ฤๅษีนี้ เห็นจะเป็นบรรพชิต ในพระราชสำนัก จึงไปเชิญพระราชาเสด็จออกมา เมื่อจะโอนอ่อนผ่อนตาม จึงกล่าวว่า “ท่านฤๅษี  เราไม่ได้ดูหมิ่นท่านด้วยวิทยาคมเลย แต่ท่านหลงวิทยาคมของท่านมากเกินไป โดยไม่ยำเกรงพญานาค”

สุทัศนะ กล่าวว่า “พราหมณ์ แม้อาตมา ก็ไม่ได้ดูหมิ่นท่านในด้านวิทยาคม แต่ท่านเอาพญานาคที่ไม่มีพิษ มาหลอกลวงประชาชน หากิน ถ้าชาวบ้าน รู้ว่า พญานาคของท่าน ไม่มีพิษ เหมือนที่อาตมารู้ อย่าว่า แต่ทรัพย์เลย แม้กระทั่งแกลบกำมือหนึ่ง ท่านก็จะไม่ได้”

อาลัมพายน์ โกรธจนตัวสั่น กล่าวว่า “ฤๅษีสกปรก ท่านเป็นนักบวชนุ่งหนังเสือ เกล้าชฎา  รุ่มร่าม ดูท่าทางก็เซ่อซ่า เข้ามาท้าทายเรากลางประชาชน ดูหมิ่นพญานาคว่า ไม่มีพิษ หากท่านมีวิทยาคมจริง ก็เข้ามาเลย เดี๋ยวก็รู้ว่า พญานาคมีเดชานุภาพจริงหรือไม่ ท่านจะแหลกเป็นผุยผงไปในพริบตา”

สุทัศนะ เย้ยหยันพราหมณ์อาลัมพายน์ว่า “งูเรือน งูปลา งูเขียว ก็ยังพอมีพิษอยู่บ้าง แต่นาค หัวแดงตัวนี้ ไม่มีพิษแน่” แม้อาลัมพายน์ ก็เย้ยหยันสุทัศนะตอบ เช่นกันว่า“เราได้ยินพระอรหันต์ สอนไว้ว่า คนให้ทานในโลกนี้ จะได้ไปเกิดในสวรรค์ ขณะนี้ ท่านยังมีชีวิตอยู่ มีโอกาสก็จงรีบให้ทาน เสียเถิด ไม่เคยมีใครรอดชีวิตจากฤทธิ์พญานาคของเราได้”

         สุทัศนะในคราบฤๅษีหนุ่ม ก็ตอบโต้อย่างไม่ลดละเช่นกันว่า “สหายเอ๋ย แม้เรา ก็เคยได้ยินพระอรหันต์ สอนไว้เช่นกันว่า คนให้ทานในโลกนี้แล้ว จะได้ไปเกิดในสวรรค์ ตัวท่านนั่นแหละ ยังมีลมหายใจอยู่ จงรีบให้ทานเสีย ถ้ามีสิ่งของที่ควรให้ ก็จงรีบให้ ลูกเขียดน้อย ชื่อว่า อัจจิมุขี นี้มีพิษร้ายแรงยิ่ง จะกัดท่านให้เป็นขี้เถ้า”

ครั้นสุทัศนะ กล่าวอย่างนี้แล้ว จึงเหยียดมือออก เรียกน้องสาวออกมาจากชฎา ประกาศให้ประชาชนได้ยินไปทั่วว่า “อัจจิมุขี น้องจงออกจากชฎามายืนบนฝ่ามือพี่”

          นางอัจจิมุขี ได้ยินพี่ชายเรียก จึงออกจากชฎา มาจับอยู่ที่จะงอยบ่า แล้วกระโดดมายืนอยู่บนฝ่ามือพี่ชาย คลายพิษ ๓ หยด ไว้ในฝ่ามือพี่ชาย แล้วกลับเข้าไปในชฎาตามเดิม สุทัศนะ ยืนถือพิษอยู่ แล้วประกาศก้อง ๓ ครั้ง ว่า “บัดนี้ ชนบทจะต้องพินาศ ๆ”

         เสียงของสุทัศนะ ดังกึกก้องไปทั่วนครพาราณสี สะท้อนออกไปไกลถึง ๑๒ โยชน์ ประชาชนไม่เคยได้ยินเสียงเช่นนี้มาก่อน ต่างตกตะลึง เกิดความหวาดกลัวไปทั่วพระนคร

         พระเจ้ากรุงพาราณสี ตรัสถามว่า “เพราะเหตุไร ชนบทจึงจะพินาศ” สุทัศนะ ถวายพระพรว่า  “มหาบพิตร ชนบทจะพินาศ เพราะหยดพิษของลูกเขียดน้อยตัวนี้” พระราชาขอให้ฤๅษีนำหยดพิษไปทิ้งเสีย  สุทัศนะ ตอบว่า ไม่รู้จะนำไปทิ้งที่ไหนได้ พระเจ้ากรุงพาราณสี บอกให้นำไปทิ้งตรงบริเวณแผ่นดินที่ว่างเปล่ากว้างใหญ่

        สุทัศนะ กล่าวว่า “ถ้าหยดพิษ ตกลงบนแผ่นดิน ต้นหญ้า เถาวัลย์ และต้นไม้ ที่เป็นยาจะเหี่ยวแห้งตายไปหมด”

พระราชา ให้ขว้างขึ้นไปในอากาศ สุทัศนะ กล่าวว่า “ถ้าขว้างพิษขึ้นไปในอากาศ ทั้งฝน  ทั้งหิมะ จะไม่ตกตลอด ๗ ปี”

พระราชา ตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น จงหยดพิษลงในน้ำ” สุทัศนะ กล่าวว่า“ถ้าหยดพิษลงในน้ำ  สัตว์น้ำ ทั้งปลา และเต่า จะตายกันหมด”

พระราชา ตรัสว่า “ข้าพเจ้า ไม่รู้ว่า จะทำอย่างไรแล้ว ท่านจงช่วยหาวิธี ที่จะไม่ให้แคว้นของเรา พินาศด้วยเถิด” ฤๅษีสุทัศนะ ถวายพระพรว่า ขอจงทรงรับสั่งให้คนขุดบ่อ ๓ บ่อ ติดต่อกันไป ในที่แห่งหนึ่ง  พระราชารับสั่งให้ทำตามนั้น สุทัศนะจึงเอายาต่าง ๆ ใส่บ่อแรก ให้เต็ม บ่อที่ ๒ ให้ใส่โคมัย ส่วนบ่อที่ ๓  ให้ใส่โอสถทิพย์ จากนั้น จึงเอาหยดพิษใส่ลงในบ่อที่ ๑

         ทันใดนั้นนั่นเอง ได้เกิดกลุ่มไฟพวยพุ่งลุกขึ้นราวดอกเห็ด เปลวไฟเลยลามไปติดบ่อโคมัย แล้ว ลุกลามต่อไปถึงบ่อโอสถทิพย์ แล้วไหม้โอสถทิพย์จนหมด จึงดับ

        พราหมณ์อาลัมพายน์ ยืนดูอยู่ใกล้บ่อนั้น ไอควันพิษ ฉาบผิวกายพองขึ้น กลายเป็นขี้เรื้อนด่าง  อาลัมพายน์ ตกใจ กลัวตาย จึงร้องเสียงหลงว่า “ยอมปล่อยนาคราชแล้ว ๆ

          พระโพธิสัตว์ ได้ยินดังนั้น จึงเลื้อยออกจากกระโปรงแก้ว เนรมิตกาย ประดับด้วยเครื่องอลังการต่าง ๆ ยืนอยู่ด้วยท่าทางเหมือนท้าวสักกเทวราช ทั้งสุทัศนะนาคมาณพ และอัจจิมุขีนาคกัญญา ต่างก็ดีใจ จนน้ำตาคลอ ปรากฏตน มายืนอยู่เคียงข้างพระโพธิสัตว์

         สุทัศนะนาคมาณพ ทูลถามพระเจ้ากรุงพาราณสีว่า “ข้าแต่มหาราช พระองค์รู้ไหมว่า  ข้าพระองค์ทั้ง ๓ นี้ เป็นลูกใคร” พระราชา ตรัสว่า “เราไม่รู้” สุทัศนะนาคมาณพ กราบทูลว่า พระองค์ ไม่รู้จักข้าพระองค์ ก็ไม่เป็นไร แต่พระองค์ ทรงจำเรื่องที่พระเจ้ากาสี พระราชทานเจ้าหญิงสมุททชา พระธิดา ให้ท้าวธตรฐ ได้หรือไม่

พระราชา ตรัสว่า “เรารู้ เพราะสมุททชา เป็นน้องสาวเรา” สุทัศนนาคมาณพ กราบทูลว่า“ข้าพระองค์ทั้ง ๓ นี้ เป็นลูกของพระมารดาสมุททชา พระองค์จึงเป็นลุงของข้าพระองค์”

พระราชา ทราบเช่นนั้น ก็ทรงยินดี สวมกอดจุมพิตหลานที่ศีรษะ พลางทรงกรรแสง สะเทือนพระทัย แล้วนำขึ้นปราสาท ทรงทำการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ แล้วถามว่า “ภูริทัต หลานมีฤทธิ์เดชสูงถึงเพียงนี้ ทำไม อาลัมพายน์ ยังจับหลานมาทรมานได้”

พระภูริทัต จึงกราบทูลเรื่องราวให้ฟัง แล้วแสดงราชธรรม แก่พระเจ้าลุง ให้ปกครองอาณาประชาราษฎร์ ด้วยทศพิธราชธรรม

         สุทัศนะ กราบทูลพระราชาว่า “พระมารดาของข้าพระองค์ ไม่ได้เห็นหน้าภูริทัต ก็ยังกลัดกลุ้มอยู่ ข้าพระองค์ ไม่อาจอยู่ช้านานได้” พระราชา รับสั่งให้เดินทางกลับกันได้ แต่ว่า พระองค์อยากพบน้องสาวของพระองค์บ้าง ทำอย่างไร จึงจะได้พบกัน

 สุทัศนะ กราบทูลว่า “ขณะนี้ พระอัยกาของหลาน อยู่ที่ไหน ?” พระราชาตรัสบอกให้ทราบว่า“พระเจ้ากาสิกราช ผู้เป็นพระอัยกานั้น นับตั้งแต่น้องสาวของลุงจากไป ทรงอยู่ไม่ได้โดยไม่มีน้องสาวของลุง จึงทรงสละราชสมบัติ ออกผนวชเป็นฤๅษีอยู่กลางป่าใหญ่”

 สุทัศนะนาคมาณพ กราบทูลว่า “มารดาของข้าพระองค์ ประสงค์จะพบพระเจ้าลุง และพระอัยกาด้วย ถึงวันโน้น พระองค์ จงเสด็จไปพบพระอัยกา ข้าพระองค์ จะพาพระมารดาไปอาศรมพระอัยกา พระเจ้าลุง จะได้พบพระมารดาของข้าพระองค์ในสถานที่นั้น” จึงกำหนดวันนัดหมายกับพระเจ้าลุง ครั้นแล้ว นาคสามพี่น้อง ก็แทรกแผ่นดินกลับไปนาคพิภพ

เมื่อพระโพธิสัตว์ กลับถึงนาคพิภพแล้ว เสียงร่ำไห้พิราบรำพันของเหล่านาคทั้งหลายก็เกิดขึ้นพร้อมกัน พระโพธิสัตว์ เหน็ดเหนื่อยเพราะถูกขังอยู่ในกระโปรงนานนับเดือน จึงนอนเป็นไข้ มีพวกนาคมาเยี่ยมนับไม่ถ้วน ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการทักทายปราศรัย คอยตอบคำถามของพวกนาคเหล่านั้น

         อริฏฐะ ซึ่งไปเทวโลก ครั้นไม่พบพระโพธิสัตว์ จึงกลับมาก่อน พวกญาติมิตร จึงให้อริฏฐะเป็นผู้เฝ้าประตูห้องบรรทมของพระโพธิสัตว์ เพราะเห็นว่า จะห้ามพวกนาคบริษัทได้ เนื่องจากเป็นผู้ดุร้ายหยาบคาย

กรรมตามสนอง

ทางด้านสุโภคะ เที่ยวตามหาพระโพธิสัตว์ ไปทั่วป่าหิมวันต์ จึงเที่ยวไปตามฝั่งมหาสมุทร และแม่น้ำต่าง ๆ จนมาถึงแม่น้ำยมุนา

          ส่วนพราหมณ์เนสาทะ ได้เห็นพราหมณ์อาลัมพายน์ เป็นโรคเรื้อน เกิดจากพิษนาค  จึงคิดว่า เจ้านี่ทรมานพระภูริทัตนาคราช เพราะกรรมนั้น จึงเป็นโรคเรื้อน ส่วนเรา เป็นผู้บอกให้อาลัมพายน์ รู้ที่อยู่ของพระภูริทัต ซึ่งมีบุญคุณแก่เรา เพราะอยากได้แก้วมณี กรรมคงตามสนองเรา ในไม่ช้า แต่ตอนนี้ กรรมยังไม่สนอง เราจะไปประกอบพิธีลอยบาปที่ท่าน้ำปยาคะ แม่น้ำยมุนา

        พราหมณ์เนสาทะ จึงไปที่ท่าน้ำปยาคะ เพื่อประกอบพิธีลอยบาป แล้วกล่าวว่า “เราได้ทำกรรม ด้วยการประทุษร้ายพระภูริทัต ผู้เป็นมิตร เราจึงลอยบาปนั้น ในแม่น้ำนี้ ขอให้บาปกรรมของเรา จงหมดสิ้นไปด้วยเถิด”

         ขณะที่พราหมณ์นั้น กำลังลอยบาป สุโภคะ ตามหาพี่ชาย ไปจนถึงท่าน้ำปยาคะ แม่น้ำยมุนา ได้ยินเสียงพราหมณ์เข้าพอดี จึงคิดว่า “เจ้าคนนี้ เป็นคนบาปหนา พี่ชายเราให้ยศศักดิ์ มากมาย กลับเนรคุณไปนำหมองูอาลัมพายน์มาจับไป เราฆ่ามันเสียเถิด” จึงเอาหางตวัดรวบเท้าทั้งสองข้าง ของพราหมณ์ ลากให้จมลงในน้ำ พอจวนจะขาดใจ ก็ปล่อยให้โผล่หัวขึ้นมาหายใจครู่หนึ่ง แล้วลากให้จมลงไปอีก ทรมานให้ลำบากอย่างนี้อยู่หลายครั้ง

         พราหมณ์เนสาทะ โผล่หัวขึ้นได้ จึงกล่าวว่า “น้ำที่ท่าปยาคะ คนทั้งหลาย เชื่อว่า สามารถลอยบาปได้ เราได้ลอยบาปแล้ว ก็แล้วผีห่าอะไร ฉุดเราลงแม่น้ำยมุนา”

สุโภคะ กล่าวกับพราหมณ์นั้นว่า “ไม่มีผีห่าที่ไหนหรอกตาพราหมณ์ เราเป็นลูกพญานาคราช  พวกนาคเรียกเราว่า “สุโภคะ”  

พราหมณ์เนสาทะ คิดว่า นาคนี้ เป็นพี่น้องของภูริทัต จะไม่ไว้ชีวิตเราแน่ แต่ช่างเถอะ  เราจะยกยอเกียรติคุณของนาคนี้ รวมทั้งมารดาและบิดาของเขาด้วย ทำให้ใจอ่อน แล้วขอชีวิต  จึงกล่าวว่า “ถ้าท่านเป็นโอรสของพญานาคราชผู้ประเสริฐ พระชนกของท่าน เป็นผู้ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่ง  แม้พระชนนีของท่าน ก็ไม่มีใครเทียบเท่าในหมู่มนุษย์ ผู้มีอานุภาพมากเช่นท่าน อย่าว่าแต่จะฉุดคร่าพราหมณ์เลย แม้แต่เพียงแค่ทาสของพราหมณ์ ก็ไม่ควรที่ผู้ประเสริฐอย่างท่าน จะฉุดคร่าให้จมน้ำ”

         สุโภคะ กล่าวว่า “พราหมณ์ชั่ว แกคิดจะหลอกข้าให้ปล่อยแกหรือ ข้าไม่ไว้ชีวิตแกแน่ แกแอบต้นไม้ยิงสัตว์ซึ่งมากินน้ำ เห็นพี่ชายข้ารุ่งเรืองด้วยฤทธิ์และยศ พี่ข้าพาแกไปเลี้ยงดู ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง  แต่แกกลับเนรคุณพี่ข้า วันนี้กรรมสนองแกแล้ว ยื่นคอแกออกมา ข้าจะตัดเสียให้ขาด”

         พราหมณ์เนสาทะ คิดว่า นาคนี้คงจะไม่ไว้ชีวิตเราแน่ จึงทำใจดีสู้เสือ กล่าวว่า “ใคร ๆ ไม่ควรฆ่าพราหมณ์ผู้ทรงเวท ผู้สวดอ้อนวอน ผู้ประกอบพิธีบูชายัญ เพราะผู้ที่ฆ่าพราหมณ์ ย่อมไปเกิดในนรก”

      สุโภคะ ได้ยินเช่นนั้น ก็เกิดความลังเลใจ คิดว่า ต้องนำพราหมณ์นี้ ไปยังนาคพิภพ สอบถาม พี่น้องของเรา ก็รู้เอง จึงกล่าวข่มขู่ว่า “ถ้าเช่นนั้น พี่น้องของเรา ล้วนเป็นคนฉลาด รอบรู้ มีชื่อลือชา อยู่ในนาคพิภพ เราจะให้พี่น้องเราตัดสิน” ครั้นสุโภคะ กล่าวดังนี้แล้ว ได้จับคอพราหมณ์เนสาทะ เสือกไสไปด่าไปพลาง จนถึงนาคพิภพ

พระพรหมสร้างโลก

         ขณะนั้น อริฏฐะ นั่งเฝ้าประตูปราสาท เห็นสุโภคะ จับพราหมณ์ บังคับ ขู่เข็ญ ทรมานมาก็ตกใจ จึงเดินสวนออกไป ห้ามสุโภคะ ไม่ให้เบียดเบียนพราหมณ์ เพราะพวกพราหมณ์ เป็นบุตรท้าวมหาพรหม ถ้าท้าวมหาพรหมรู้เข้า ก็จะโกรธว่า พวกนาคเบียดเบียนบุตรท่าน จะทำให้นาคพิภพเดือดร้อน

ในอดีตชาติ ก่อนมาเกิดเป็นพญานาค อริฏฐะ เคยเกิดเป็นพราหมณ์บูชายัญ จึงพูดตามสัญญาเดิมที่ตนทรงจำมาในอดีตชาติ อริฏฐะ เรียกสุโภคะและนาคบริษัทมา ได้พูดสรรเสริญพราหมณ์ผู้บูชายัญเป็นอันมากว่า “พี่สุโภคะ ยัญและพระเวทที่พวกพราหมณ์บูชา ไม่ใช่ของล้อเล่น  ผู้ติเตียนพราหมณ์ ก็เท่ากับทิ้งทรัพย์ที่น่าปลื้มใจ และทิ้งธรรมของสัตบุรุษ พวกท่านอย่าได้พูดเป็นอันขาดว่า พราหมณ์ทำกรรมด้วยการเนรคุณภูริทัต”

         อริฏฐะ ถามสุโภคะว่า “พี่รู้หรือไม่ว่า โลกนี้ ใครสร้าง” สุโภคะ ตอบว่า “พี่ไม่รู้”

         อริฏฐะ จึงกล่าวว่า พวกพราหมณ์เรียนไตรเพท พวกกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน พวกแพศย์ประกอบอาชีพค้าขาย และพวกศูทรเป็นผู้รับใช้ วรรณะทั้ง ๔ นี้ ท้าวมหาพรหมเป็นผู้สร้างท้าวมหาพรหม มีอานุภาพมากอย่างนี้ ผู้ที่เลื่อมใส ให้ทานแก่พราหมณ์ ผู้เป็นบุตรท้าวมหาพรหม ไม่ไปเกิดที่อื่นแน่ นอกจากสวรรค์

         แม้เทพเหล่านี้ คือ ท้าวธาดา ท้าววิธาดา ท้าววิรุณ ท้าวกุเวร ท้าวโสมะ พญายม พระจันทร์ พระวายุ และพระอาทิตย์ เป็นต้น แม้เทพเหล่านี้ ต่างก็บูชายัญ และทำบุญกับพราหมณ์ผู้ทรงเวทมาก่อนทั้งนั้น     

ท้าวอรชุน และท้าวภีมเสน ผู้มีกองทัพน่ากลัว ก็บูชาไฟมาก่อน ผู้ที่เลี้ยงพราหมณ์มาตลอด  ตามกำลังศรัทธา ด้วยจิตเลื่อมใส จะได้ไปเกิดเป็นเทพองค์หนึ่ง อย่างแน่นอน

ท้าวมุจลินท์ บูชาไฟให้อิ่มหนำด้วยเนยใส ก็ได้ไปเกิดในทิพยคติ

ท้าวทุทีปะ ทรงมีอานุภาพมาก สละราชสมบัติออกบวช ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์

ส่วนพระเจ้าสาครราช ทรงปราบปรามแผ่นดินไปจนจรดทะเล รับสั่งให้ตั้งเสาสีทองงดงาม สำหรับใช้ผูกสัตว์บูชายัญ ได้ไปเกิดเป็นเทพองค์หนึ่ง

 “พี่สุโภคะ พี่ไม่รู้อะไร รู้แต่จะโบยตีพราหมณ์เท่านั้น พี่รู้หรือไม่ว่า แม่น้ำคงคา และมหาสมุทร  เป็นที่สั่งสมนมส้ม เพราะเกิดจากอานุภาพของพระเจ้าอังคโลมบาท ทรงบูชาไฟ แล้วได้ไปเกิดในนครของท้าวสหัสสนัยน์”      

ในอดีตกาล พระเจ้ากรุงพาราณสี พระนามว่า “อังคโลมบาท” ตรัสถามทางสวรรค์กับพวกพราหมณ์ พวกพราหมณ์ แนะนำให้เข้าไปป่าหิมวันต์ ทำการสักการะพราหมณ์  แล้วบูชาไฟ พระองค์จึงพาแม่โคนมและพระมเหสีไปทำตามที่พราหมณ์แนะนำ ส่วนนมสด และนมส้มที่ยังเหลือจากพวกพราหมณ์บริโภคอีกจำนวนมาก ให้นำไปทิ้งในที่ต่าง ๆ สถานที่ทิ้งนมสดและนมส้ม ได้กลายเป็นแม่น้ำคงคา แม่น้ำน้อยใหญ่ และมหาสมุทรไป           

แม้ท้าวมหาพรหมผู้ประเสริฐ มีฤทธิ์ เรืองยศ ก็เคยเกิดเป็นมาณพ ทำการบูชาไฟมาก่อน จึงได้เกิดมาเป็นท้าวมหาพรหมผู้สร้างโลกนี้และโลกหน้า แม่น้ำภาคีรถี ภูเขาหิมวันต์ และ ภูเขาวิชฌะ

ภูเขาเหล่านี้ คือ ภูเขามาลาคีรี ภูเขาหิมวันต์ ภูเขาคิชฌกูฏ ภูเขาสุทัศน์ ภูเขานิสภะ ภูเขากากเวรุ และภูเขาใหญ่อื่น ๆ กล่าวกันว่า พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญ ได้ก่อสร้างไว้

         ในอดีตกาล พระเจ้ากรุงพาราณสี พระองค์หนึ่ง ตรัสถามทางไปสวรรค์กับพวกพราหมณ์  เมื่อได้รับคำแนะนำให้พระองค์ทำบุญกับพวกพราหมณ์ พระองค์ก็ได้ถวายทานอย่างมากมาย แล้วตรัสถามว่า ทานของพระองค์ มีผลหรือไม่ เมื่อพวกพราหมณ์ทูลว่า มีผลแล้ว แต่อาสนะสำหรับพราหมณ์นั่ง ไม่เพียงพอ พระองค์จึงรับสั่งให้ปั้นอิฐ สร้างอาสนะ ที่นอน และตั่ง ถวายพวกพราหมณ์  ต่อมาอาสนะ ที่นอน และตั่งเหล่านั้น ได้กลายเป็นภูเขามาลาคีรี เป็นต้น จึงกล่าวได้ว่า ภูเขาทั้งหมด พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญ สร้างเอาไว้

อริฏฐะ ถามสุโภคะอีกว่า “พี่สุโภคะ พี่รู้หรือไม่ว่า เหตุไร มหาสมุทร จึงเค็ม จนดื่มไม่ได้” สุโภคะ ตอบว่า“พี่ไม่รู้”

         อริฏฐะผู้ตาบอด จึงรุกรานพี่ชายผู้ไม่รู้ ต่อไปว่า “พี่ไม่รู้อะไร เอาแต่จะโบยตีพราหมณ์เท่านั้น  ผู้คนเรียกพราหมณ์ผู้ทรงเวท ผู้เข้าถึงพลานุภาพแห่งมนตรา มีตบะแก่กล้าว่า ผู้สวดอ้อนวอนคลื่นมหาสมุทร ซัดท่วมพราหมณ์ผู้กำลังตักน้ำเตรียมประกอบพิธีอยู่ที่ฝั่งมหาสมุทร เพราะเหตุนั้น  น้ำในมหาสมุทร จึงถูกมหาพรหมสาปให้เค็ม จนดื่มไม่ได้”

อริฏฐะ เล่าว่า วันหนึ่ง พราหมณ์นั้น กำลังประกอบพิธีลอยบาป ยืนอยู่ที่ริมฝั่ง ตักน้ำจากมหาสมุทร กระทำการดำเกล้าสระหัวของตน ขณะนั้น สาครปั่นป่วนบ้าคลั่ง เกิดคลื่นใหญ่ซัดกลืนเอาพราหมณ์นั้น ลงสู่มหาสมุทร ท้าวมหาพรหม โกรธว่า สาครนี้ ฆ่าบุตรพระองค์ จึงสาปให้มหาสมุทรเค็ม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มหาสมุทร จึงกลายเป็นน้ำเค็ม ดื่มไม่ได้

พระโพธิสัตว์แสดงธรรม

         พวกนาคเป็นอันมาก ที่มาเยี่ยมพระโพธิสัตว์ ฟังแล้ว ก็คล้อยตามพลอยหลงเชื่อผิด ๆ ไปว่า  ที่อริฏฐะพูดนั้น เป็นเรื่องจริง

         พระโพธิสัตว์ นอนป่วยอยู่ คิดว่า อริฏฐะ ทำให้ประชาชนเกิดความหลงผิดไปแล้ว คิดจะทำให้นาคบริษัทเกิดสัมมาทิฏฐิ จึงลุกขึ้นอาบน้ำแต่งตัว นั่งบนธรรมาสน์ สั่งให้นาคบริษัททั้งหมดประชุมกัน ให้เรียกอริฏฐะมาด้วย แล้วกล่าวว่า เจ้ากล่าวสรรเสริญสิ่งที่ไม่จริง การบูชายัญด้วยวิธีของพวกพราหมณ์ ไม่ใช่สิ่งประเสริฐ และไม่ใช่ทางแห่งสวรรค์

          แท้จริงแล้ว การเรียนเวท เป็นโทษของเหล่านักปราชญ์ เป็นสิ่งที่คนโง่เขลาทำกัน ไม่มีคุณด้านใดเลย ไม่ต่างจากพยับแดด ที่สัตว์หิว มองเห็นว่า เป็นน้ำ มีคุณทางหลอกลวงคนโง่ แต่หลอกคนมีปัญญา ไม่ได้ พระเวทป้องกันการเนรคุณมิตรไม่ได้ ไฟที่คนบูชาแล้ว ก็ไม่สามารถป้องกันคนโทสจริต ไม่ให้ทำความชั่วได้เช่นกัน แม้จะเอาไม้ที่มีอยู่ทั้งโลก และทรัพย์สมบัติทั้งหมด ไปเผาบูชาไฟ ไฟก็เผาผลาญไม้และทรัพย์สมบัติจนหมด ไม่มีเหลือ เพราะไฟไม่รู้จักอิ่มเชื้อเพลิง แล้วใครจะทำให้ไฟอิ่มได้

         ถ้าคนทำบุญ ด้วยการเอาไม้และหญ้าเผาไฟ เพื่อบูชาแล้วจะได้บุญ คนเผาถ่าน คนต้มเกลือพ่อครัว และสัปเหร่อ ก็เป็นคนที่ทำบุญมากที่สุด

         คนบางพวก นับถือไฟ เป็นเทวดา คนบางพวก นับถือน้ำ เป็นเทวดา คนเหล่านี้ทั้งหมดกล่าวเท็จ โง่เขลาเบาปัญญา ไร้เหตุผล เข้าใจกันไปผิด ๆ ไฟไม่มีร่างกายและจิตใจ ที่จะรู้สึกได้ จึงไม่ใช่เทพเจ้าที่ต้องบูชา แต่ไฟเป็นเพียงสิ่งให้แสงสว่างแก่ประชาชนได้ทำการงานเท่านั้น เมื่อคนบูชาไฟ แต่ยังทำความชั่วอยู่ แล้วจะไปสวรรค์ได้อย่างไร

        พวกพราหมณ์ ต้องการเลี้ยงชีวิตต่างหาก ที่กล่าวว่า พระพรหมสร้างสรรพสิ่ง แล้วครอบงำโลก เอาไว้ และพระพรหมบูชาไฟ เมื่อพระพรหมสร้างไฟ แล้วทำไมพระพรหมจึงกลับไปไหว้ไฟที่ตนสร้างขึ้นมา ฟังดูคำของพวกพราหมณ์ ก็น่าหัวเราะ ไม่เป็นความจริง ไม่ควรสวด ที่พวกพราหมณ์ในอดีต หลอกเอาไว้หากิน เมื่อยังไม่มีลาภสักการะ จึงร้อยกรอง พิธีการฆ่าสัตว์บูชายัญเอาไว้ว่า“พวกพราหมณ์ สาธยายมนต์ พวกกษัตริย์ ปกครองแผ่นดิน พวกแพศย์ ประกอบอาชีพค้าขาย  ส่วนพวกศูทร เป็นทาสรับใช้” แล้วก็หลอกคน ให้เชื่อตามนั้นว่า มหาพรหมผู้มีอำนาจเป็นผู้สร้างไว้

          ก็ถ้าคำนี้ เป็นจริง ตามที่พวกพราหมณ์กล่าว คนที่ไม่ได้เกิดมาเป็นกษัตริย์ ก็เป็นกษัตริย์ไม่ได้  คนที่ไม่ได้เกิดมาเป็นพราหมณ์ ก็เรียนมนตราไม่ได้ คนที่ไม่ได้เกิดมาเป็นแพศย์ ก็ประกอบอาชีพค้าขาย ทำนา ทำไร่ ไม่ได้ และพวกศูทร ก็เป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากทาสรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ ก็แล้วทำไม คนที่มีความสามารถ จะเปลี่ยนแปลงชะตาชีวิตของตนไม่ได้ แต่ทั้งที่เป็นเรื่องไม่จริง เป็นเรื่องโกหก  เขาก็ยังกล่าวเท็จ เพราะเห็นแก่ปากท้อง

ถ้าผู้ปกครอง ยังขูดรีดภาษีจากพ่อค้า นักบวช ยังถือศาสตราเที่ยวฆ่าสัตว์ พระพรหม ก็ไม่ใช่ผู้สร้างโลก ที่แท้จริง ถ้าพระพรหมสร้างโลก แล้วทำไม จึงสร้างโลก ให้มีแต่ความระทมทุกข์ ทำไมจึงไม่สร้างโลก ให้มีแต่ความสุข ถ้าพระพรหมเป็นผู้เจริญ เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ ก็แล้ว เหตุไร โลกจึงโน้มเอียงไปทางไม่เที่ยงธรรม ผู้คนมีเล่ห์เหลี่ยม หลอกลวง และมัวเมาในการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม

         ถ้าพระพรหม ประเสริฐ เป็นผู้เจริญ เป็นเจ้าชีวิตของหมู่สัตว์ในโลก จริง พระพรหมก็ต้องเป็นเจ้าแห่งความยุติธรรมด้วย เมื่อความยุติธรรมมีอยู่ แต่ไม่ตั้งอยู่ในความยุติธรรม กลับตั้งอยู่ในความอยุติธรรมเสียเอง

        เมื่อฆ่าตั๊กแตน ผีเสื้อ งู แมลงภู่ หนอน และแมลงวันแล้ว ลอยบาป ก็บริสุทธิ์ได้ นี่คือ ความยุติธรรมของพรหมผู้ประเสริฐหรือ ?

         ถ้าคน ฆ่าผู้อื่นแล้วบริสุทธิ์ได้ และผู้ถูกฆ่า ย่อมเข้าถึงแดนสวรรค์ ทำไม พวกพราหมณ์จึงไม่ฆ่าพราหมณ์ด้วยกันเอง หรือทำไม จึงไม่ฆ่าพวกคนที่เชื่อคำของตน พวกเนื้อ สัตว์เลี้ยง และโคตัวไหน ๆ ล้วนแต่ดิ้นรนกระเสือกกระสน ต้องการมีชีวิตอยู่ทั้งนั้น แต่พวกพราหมณ์ ก็นำสัตว์พวกนั้นไปผูกที่เสาฆ่าบูชายัญ แล้วพวกคนพาล ก็ยื่นหน้าเข้าไปที่เสาบูชายัญ สวดสรรเสริญว่า “เสายัญนี้ จะทำให้มีชีวิตที่ยั่งยืน ในสัมปรายภพ จงเอาไฟไปบูชา จงให้ทรัพย์แก่เรา แล้วพวกท่านจะได้สิ่งที่ปรารถนาในโลกทิพย์”

         ถ้าบุคคล จะได้ทรัพย์สมบัติ แก้วแหวน เงิน ทอง และจะได้ไปเกิดในสวรรค์ เพราะการบูชายัญ  พวกพราหมณ์เท่านั้น จะบูชายัญเพียงคนเดียว เขาจะไม่ยอมให้คนอื่น ที่ไม่ใช่พราหมณ์ บูชายัญแน่

         ส่วนพราหมณ์บางคน นำพระราชา หรือมหาอำมาตย์ เข้าไปโรงบูชาไฟ แนะนำให้โกนผม  โกนหนวด และตัดเล็บ สวดพรรณนาอานิสงส์แห่งการบูชาไฟ แล้วรับทรัพย์ไป พอหลอกลวง ได้ทรัพย์มาแล้ว ก็มาฉลองกันอย่างสนุกสนาน เหมือนฝูงการุมจิกนกเค้า พวกเขาหลอกลวง ด้วยสิ่งที่ตามองไม่เห็น ปล้นเอาทรัพย์ที่มองเห็นไป

         พวกพราหมณ์บอกว่า ตนเป็นผู้เอาอิฐมาสร้างภูเขามาลาคีรี ภูเขาหิมวันต์ ภูเขาวิชฌะ  ภูเขาสุทัศน์ ภูเขานิสภะ ภูเขากากเวรุ และภูเขาน้อยใหญ่อื่น ๆ ภูเขาไม่ใช่อิฐ เห็นได้ชัดว่า ภูเขาเหล่านั้น เป็นหินตามธรรมชาติมาแต่เดิม     

พวกพราหมณ์ บอกว่า มหาสมุทรซัดท่วมพราหมณ์ผู้กำลังเตรียมน้ำประกอบพิธีบวงสรวงอยู่ที่ฝั่งมหาสมุทร พรหมจึงสาปให้น้ำในมหาสมุทรกลายเป็นน้ำเค็ม

         ก็แม่น้ำได้พัดพาเอาพราหมณ์ผู้เรียนเวท ทรงมนตรา ไปตั้งมากมาย แต่น้ำในแม่น้ำ ก็ไม่ได้เค็ม เหตุไร มีเพียงน้ำในมหาสมุทรเท่านั้นที่เค็ม ดื่มไม่ได้ ถึงบ่อน้ำที่เขาขุดไว้ใช้ กลายเป็นน้ำเค็ม ดื่มไม่ได้  ก็มีมาก

          ไม่มีใครดีหรือเลว เพราะชาติกำเนิด ลูกคนจัณฑาล ถ้าเขาเป็นคนฉลาด มีความคิด ก็เรียนเวท สาธยายมนตราได้ หัวไม่แตก ๗ เสี่ยง อย่างที่พวกพราหมณ์โกหกเอาไว้ พวกพราหมณ์สร้างมนตราขึ้นมา เหมือนกับการฆ่าตัวเอง เพราะฆ่าคุณธรรมในตน สาธยายเพียงปาก แต่ยึดถือไว้ด้วยความโลภ เปลี่ยนแปลงความคิดได้ยาก

พระโพธิสัตว์แสดงธรรมโดยประการต่าง ๆ อีกเป็นอันมาก เพื่อทำลายความเห็นผิดที่อริฏฐะกล่าวไว้ นาคบริษัท ได้ฟังธรรมกถาของพระโพธิสัตว์แล้ว ต่างเกิดความเข้าใจแจ่มชัด พระโพธิสัตว์ สั่งให้นาคบริษัทนำพราหมณ์เนสาทะ ออกไปจากนาคพิภพ ไม่ได้ตำหนิพราหมณ์นั้นเลยแม้แต่น้อย

ด้านพระเจ้าสาครพรหมทัต ไม่ลืมวัน ตามที่นัดไว้กับหลาน ได้เสด็จไปยังอาศรมพระบิดา ซึ่งบวชเป็นฤๅษี พร้อมด้วยจตุรงคเสนาหมู่ใหญ่

          ส่วนพระโพธิสัตว์ พร้อมทั้งพระชนก พระชนนี และพี่น้อง ก็ได้ไปเฝ้าพระเจ้าลุง และ พระอัยกา ตามที่นัดไว้เช่นกัน

ในขณะนั้น พระเจ้าสาครพรหมทัต ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์กำลังมาพร้อมกับนาคบริษัทเป็นอันมาก ทรงจำไม่ได้ จึงทูลถามพระราชบิดาว่า “ฝูงชนที่กำลังมา ดูงดงามตระการตานั้น เป็นใคร”

พระราชบิดา เป็นฤๅษี ผู้มีฤทธิ์ ได้อภิญญา บอกว่า “ผู้ที่มาเหล่านั้น คือ นาค ลูกท้าวธตรฐนาคราช หลานของเจ้า เกิดแต่นางสมุททชา” แล้วพระฤๅษี ได้แนะนำให้พระเจ้าสาครพรหมทัตได้รู้จักว่า นาคตนไหนเป็นใคร ด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ของตน

ในขณะพระฤๅษี และพระเจ้าสาครพรหมทัต กำลังสนทนากันอยู่อย่างนี้ นาคบริษัททั้งหลายก็มาถึง ได้พากันถวายบังคมบาทพระฤๅษี        

ฝ่ายนางสมุททชา ถวายบังคมพระราชบิดา และพระราชภาดา ก็ปริเทวนากรรแสงไห้  ครั้นได้เวลาพอสมควรแล้ว ก็พานาคบริษัทกลับไปยังนาคพิภพ ส่วนพระเจ้าสาครพรหมทัต ประทับอยู่สองสามวัน จึงถวายบังคมลาพระบิดา กลับกรุงพาราณสี

         นับจากวันนั้น พระนางสมุททชา ก็ไม่ได้กลับโลกมนุษย์อีกเลย ตลอดพระชนม์ชีพ  ทรงสิ้นชีพในนาคพิภพ ฝ่ายพระโพธิสัตว์ รักษาศีลอยู่ตลอดชีวิต ครั้นสิ้นชีพแล้ว ได้ไปเกิดในสวรรค์ พร้อมทั้งนาคบริษัท

กลับชาติมาเกิดสมัยพุทธกาล

         ครั้นพระบรมศาสดา ตรัสเล่าเรื่องราวในอดีตชาติของพระองค์แล้ว ได้ตรัสว่า “เมื่อพระพุทธเจ้า ยังไม่เสด็จอุบัติขึ้นในโลกมนุษย์ โบราณบัณฑิต ก็ยังสละนาคสมบัติมากมายขนาดนี้ รักษาอุโบสถกรรม  บิดา มารดาของภูริทัต ในอดีตชาติ ได้มาเกิดเป็นศากยราชสกุล พราหมณ์เนสาทะ มาเกิดเป็นพระเทวทัต โสมทัต มาเกิดเป็นพระอานนท์ นางอัจจิมุขี มาเกิดเป็นนางอุบลวรรณาเถรี สุทัศนะ มาเกิดเป็นพระสารีบุตร สุโภคะ มาเกิดเป็นพระโมคคัลลานะ อริฏฐะ มาเกิด  เป็นสุนักขัตตลิจฉวี  ภูริทัต เป็นเราผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า”

ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ : ชาติที่ ๖ พระภูริทัต ศีล คือ อาภรณ์ประดับกาย

ขอเชิญรับฟัง หนังสือเสียงทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ ชาติที่ ๖ พระภูริทัต โดย Amarinbooks Podcast

https://podcasts.apple.com/dk/podcast/%E0%B8%AB%E0%B8%99-%E0%B8%87%E0%B8%AA-%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AA-%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95-%E0%B8%9B%E0%B8%93-%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%9A-%E0%B8%A3-%E0%B8%A9%E0%B9%84%E0%B8%A1-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5-%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%87-%E0%B8%89%E0%B8%9A-%E0%B8%9A-%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%A7%E0%B8%8A-%E0%B8%A3%E0%B8%B0-%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97-6/id1480673036?i=1000581756684

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here