“ทรงพระเจริญ”
๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ วันคล้ายวันประสูติ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
น้อมเศียรเกล้า ตั้งจิต อธิษฐาน
ขอพระรัตนตรัยอภิบาลพระองค์ท่าน
เจริญพระชัยมงคลทูลกระหม่อมภาฯ ทุกคืนวัน
ขอพระองค์ทรงหายพลันจากประชวร
น้อมถวายพระพุทธมนต์โพชฌงค์กลั่นในจิต
จากพสกนิกรทุกทิศหล้า
จากชาวไทยทั่วแผ่นดินผืนพสุธา
ต่างภาวนาขอพระองค์ทรงพระเจริญ
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า ผู้ดูแลเว็บไซต์ manasikul.com
เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีแล้ว ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงพระประชวร ตั้งแต่วันที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
แถลงการณ์ฉบับที่ ๑ จากสำนักพระราชวังที่เผยแพร่ผ่านสื่อสารมวลชนทุกสำนัก วันที่ ๑๕ ธันวาคม พุทธศักราช มีใจความว่า “เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๘.๒๐ น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงทำการฝึกสุนัขทรงเลี้ยงที่จะเข้าแข่งขันสุนัขใช้งานตามมาตรฐานสากลในรายการ Thailand Working Dog Championship by Royal Thai Army 2022 ระหว่างวันที่ ๑๐ – ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๕ ณ สนามฝึก กองพันสุนัขทหาร อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
“ในระหว่างที่ทรงทำการฝึก ทรงมีพระอาการประชวรหมดพระสติ ด้วยพระอาการทางพระหทัย คณะแพทย์ประจำพระองค์จึงได้เชิญเสด็จพระราชดำเนินไปปฐมพยาบาล ณ โรงพยาบาลปากช่องนานา พระอาการประชวรคงที่ในระดับหนึ่ง จากนั้น ได้เชิญเสด็จประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเข้ารับการรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยเพื่อถวายการตรวจพระวรกายอย่างละเอียด และประทับรักษาพระองค์ต่อไป…”
จากนั้นก็มีแถลงการณ์ฉบับที่ ๒ และ ๓ จากสำนักพระราชวังตามมา ตลอดเวลาเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา พสกนิกรชาวไทยทั้งแผ่นดินต่างช่วยกันสวดมนต์ เจริญจิตภาวนา ทำบุญกุศลทุกด้าน อธิษฐานขอพรจากพระรัตนตรรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ขอให้พระองค์ทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ว
จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ฯ
จึงขอน้อมจิตเหนือเศียรเกล้า เจริญพระพุทธมนต์ “โพชฌังคปริตร” จากธรรมนิพนธ์เรื่อง “พุทธานุภาพ” อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียบเรียงโดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร : อดีตพระราชกิจจาภรณ์ ) ด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเจริญจิตตภาวนา เพื่อส่งพลังอันบริสุทธิ์เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
ขอพลังพุทธานุภาพ ถวายพระพร “พระองค์ภาฯ” มิ่งขวัญปวงประชาทั้งแผ่นดิน ทรงหายจากพระประชวรโดยพลัน
จาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวรรค
ตำนานและอานุภาพการป้องกัน
โพชฌงคปริตร
เป็นปริตรที่โบราณจารย์ นำเอาโพชฌงคสูตรทั้ง ๓ สูตร คือ มหากัสสปโพชฌงคสูตร มหาโมคคัลลานโพชฌงคสูตร และ มหาจุนทโพชฌงคสูตร มาประพันธ์เป็นคาถาเรียกว่า โพชฌงคปริตร โดยน้อมเป็นสัจกิริยาเพื่อให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เกิดเป็นความสุขสวัสดี
เนื้อความในโพชฌงคสูตรทั้ง ๓ สูตรนั้น กล่าวถึงองค์คุณแห่งการตรัสรู้ ๗ ประการ คือ
๑. สติ ความระลึกได้
๒. ธัมมวิจยะ การเลือกเฟ้นพิจารณาธรรม
๓. วิริยะ ความเพียร
๔. ปีติ ความอิ่มใจ
๕. ปัสสัทธิ ความสงบ
๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น
๗. อุเบกขา ความวางเฉย
ความเป็นมาของพระสูตรทั้ง ๓ ปรากฏใน พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวรรค
อานุภาพกาารป้องกัน
โพชฌงคสูตรทั้ง ๓ นี้ โบราณาจารย์ได้นำมาประพันธ์เป็นคาถาสำหรับเจริญภาวนา โดยน้อมเป็นสัจกิริยา เพื่อให้พระปริตรเป็นธรรมโอสถ บังเกิดพุทธานุภาพขจัดโรคภัยไข้เจ็บให้อันตรธานไป เกิดเป็นความสุขสวัสดี ภายหลังได้เกิดความนิยมว่า เมื่อเจ็บป่วยไม่สบายก็จะสวดโพชฌงคปริตร ซึ่งเป็นทั้งโอสถ เป็นทั้งพุทธมนต์
นอกจากนี้ เมื่อมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเจ็บป่วยเป็นไข้หนักก็จะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดโพชฌงคปริตรให้ฟัง หรือไม่ลูกหลานจะสวดให้ฟังก็ได้ แม้ในงานทำบุญอายุ พระสงฆ์ก็จะสวดพระปริตรบทนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บและให้มีอายุยืน ผู้ไม่ต้องการเจ็บป่วย และปรารถนาความเป็นผู้มีอายุ โดยปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ จึงควรเจริญโพชฌงคปริตรตามแบบอย่างพุทธสาวก
โพชฌงคปริตรนี้ ชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์สวดให้ฟังหรือจะให้ลูกหลานสวดให้ฟังก็ได้
ในบทขัดตำนานท่านได้ประพันธ์เป็น คาถาแสดงอานุภาพโพชฌงคปริตรไว้ดังนี้
สังสาเร สังสะรันตานัง สัพพะทุกขะวินาสะเน
สัตตะ ธัมเม จะ โพชฌังเค มาระเสนัปปะมัททิโน
พุชฌิตวา เยปิเม สัตตา ติภะวามุตตะกุตตะมา
อะชาติง อะชะราพยาธิง อะมะตัง นิพภะยัง คะตา
เอวะมาทิคุณเปตัง อะเนกะคุณะสังคะหัง
โอสะถัญจะ อิมัง มันตัง โพชฌังคันตัมภะณามะ เห ฯ
คำแปล
“สัตว์ทั้งหลายตรัสรู้ โพชฌงค์ คือ ธรรม ๗ ประการนี้ใด อันเป็นเครื่องบำบัดทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย ผู้ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ เป็นธรรมที่กำจัดมารและเสนามาร จึงเป็นผู้พ้นแล้วอย่างยอดเยี่ยมจากภพทั้ง ๓ ถึงพระนิพพาน อันไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่มีภัย เราทั้งหลายจงสวดโพชฌงค์นั้น อันประกอบด้วยคุณตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งเป็นทั้งโอสถและเป็นทั้งมนต์ เป็นที่รวมแห่งสรรพคุณเป็นเอนก เทอญฯ”
โพชฌงคปริตร
โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
วิริยัมปีติปัสสัทธิ โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร
สะมาธุเปกขะโพชฌังคา สัตเตเต สัพพะทัสสินา
มุนินา สัมมะทักขาตา ภาวิตา พะหุลีกะตา
สังวัตตันติ อะภิญญายะ นิพพานายะ จะ โพธิยา
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
เอกัสมิง สะมะเย นาโถ โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง
คิลาเน ทุกขิเต ทิสวา โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ
เต จะ ตัง อะภินันทิตวา โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
เอกะทา ธัมมะราชาปิ เคลัญเญนาภิปีฬิโต
จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ ภะณาเปตวานะ สาทะรัง
สัมโมทิตวา จะ อาพาธา ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
ปะหี(ออกเสียง ฮี) นา เต จะ อาพาธา ติณณันนัมปิ มะเหสินัง
มัคคาหะตะกิเลสา วะ ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ
คำแปล
โพชฌงค์ ๗ ประการ คือ ๑. สติ ความระลึกได้ ๒. ธัมมวิจยะ การเลือกเฟ้นพิจารณาธรรม ๓. วิริยะ ความเพียร ๔. ปีติ ความอิ่มใจ ๕. ปัสสัทธิ ความสงบ ๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น ๗.อุเบกขา ความวางเฉย เหล่านี้เป็นธรรมที่พระมุนีเจ้า ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงตรัสไว้ชอบแล้ว บุคคล อบรมฝึกฝนให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อพระนิพพาน ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อฯ
สมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้า ทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลานะ และพระกัสสปะเป็นไข้ ได้ความลำบาก จึงทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ ประการ ให้ท่านทั้งสองฟัง ท่านทั้งสองต่างชื่นชมยินดีพระธรรมเทศนานั้น แล้วกลับหายจากโรคทันที ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อฯ
ครั้งหนึ่ง องค์พระธรรมราชาเองทรงประชวรไข้ รับสั่งให้พระจุนทะเถระกล่าวโพชฌงค์ ๗ ประการนั้นถวายโดยเคารพ ทรงบันเทิงพระหฤทัย หายจากประชวรนั้นแท้จริง ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ ฯ
แท้จริงแล้ว อาพาธเหล่านั้นของท่านผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง ๓ อันตรธานไปไม่กลับเป็นอีก เหมือนอริยมรรคกำจัดกิเลสลงราบแล้ว ไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อฯ