“สืบเนื่องจากความตั้งใจในปีที่แล้วได้ช่วยรวบรวมปัจจัยเพื่อสร้างศาลาการเรียนรู้ของอาศรมพระธรรมจาริกบ้านดอกแดง หมู่ ๑๐ ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ในเดือนพฤษภาคม ถึงสิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๑ เลยไม่ได้จองทอดกฐินไว้ เพราะคิดว่าคงมีคงจอง ต่อมาได้ฟังรายการวิทยุยานเกราะ พล. ม.๒ คลื่น ๙๖๓ MHZ. เวลา ๒๐.๒๐-๒๑.๐๐ น. ในรายการ “ปรมัตถธรรมนำชีวิต” ซึ่ง พระมหา ดร.ฐานันดร เขมปญฺโญ ผู้ก่อตั้งอาศรมพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขาบ้านดอกแดง ท่านเล่าว่าปีนี้ยังไม่มีใครจองทอดกฐิน ท่านจึงไปชวนชาวบ้านไปช่วยวัดและอาศรมต่างๆ บนดอย จึงเป็นเหตุให้เกิดแรงบันดาลใจในการที่จะทอดกฐินครั้งนี้
“เพราะท่านกล่าวไว้รายการวิทยุว่า งานกฐินนี้เป็นงานบุญ ที่ทำให้ชาวบ้านมีกิจกรรม ได้ขึ้นมาวัด ที่จริงไม่ได้มุ่งหวังเม็ดเงินที่มากมาย แต่อยากให้เกิดกิจกรรมในหมู่บ้าน ซึ่งมีแค่ครั้งเดียวในหนึ่งปี”
“ถ้าไม่มีศรัทธาคงไม่เกิดอะไรที่ดีมากมาย”
บุญกฐินปีนี้ที่อาศรมบ้านดอกแดง
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
“การให้ธรรมะชนะการให้ทั้งปวง “
พุทธพจน์
นั่นคือสาเหตุที่ทำให้คุณวรรณา บุญประสงค์กิจ และครอบครัวจองกฐินในครั้งนี้ เพื่อทอดกฐินสามัคคีบูรณะเสนาสนะกุฏิ อาศรมพระธรรมจาริกบ้านดอกแดง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒ จากนั้นก็มีเพื่อนของเธอมาขอร่วมบุญด้วยเพื่อรวบรวมปัจจัยในการบูรณะเสนาสนะ และกุฏิหลังนี้ เพราะต้องเดินบันไดไม้ลงมา เวลาหน้าฝนต้องตากฝนลงมาเข้าห้องน้ำ ซึ่งอยู่ด้านล่างข้างหลัง เธอจึงคิดว่า อยากจะต่อเติม สร้างห้องพักไว้ข้างล่างกุฏิ
พระจะได้ไม่ต้องตากฝนเวลากลางคืนที่มืดมากเพื่อลงมาเข้าห้องน้ำ
แล้วเธอบอกกับผู้เขียนว่า “ถ้าไม่มีศรัทธา คงไม่เกิดอะไรดีๆมากมายในวันนี้ ”
“อาศรมพระธรรมจาริกบ้านดอกแดง” เกิดขึ้นจากปณิธานธรรม “ทำด้วยใจ ใช้ปัญญา” ของพระมหา ดร.ฐานันดร เขมปญฺโญ ซึ่ง พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท เขียนเล่าไว้ในคอลัมน์ “จาริกบ้านจาริกธรรม” หน้าพระไตรสรณคมน์ แห่งนี้มาช่วงหนึ่ง จนก่อเกิดเป็นหนังสือรวมเล่มเล็กๆ ชื่อว่า “อาศรมบ้านดอกแดง แสงสว่างแรกแห่งชุมชนบนดอยสูง” จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ในตอนหนึ่ง พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท เขียนเล่าว่า ระหว่างที่ พระมหา ดร.ฐานันดร เขมปญฺโญ ศึกษาอยู่ที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หลายๆ คนกล่าวว่า พระภิกษุสามเณรที่เรียนจบแล้ว ก็ไม่สามารถจะนำความรู้ไปประยุกต์ให้เป็นรูปธรรมได้ ก็ทำให้คำพูดนี้ติดอยู่ในใจท่าน
ท่านเล่าว่า ในระหว่างที่ศึกษาปริญญาโท กลุ่มเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกัน ก็ได้รวมตัวกันทำงาน ตั้งชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มพัฒนาจิตเพื่อชีวิตดีงาม” ภายหลังได้เปลี่ยนเป็น “กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม” โดยมีปรัชญาว่า พัฒนาตนด้วยการช่วยคนพัฒนา ก็ออกไปทำงานในหลายๆ โรงเรียน ทำให้ได้รับแนวคิดกระบวนการทำงานต่างๆ มากมาย
“ในช่วงแรกด้วยความที่ตัวเองเป็นชาวปกาเกอะญอ การที่ได้ไปพูดหน้าเวทีจึงเป็นการยาก เพราะด้วยความที่พูดไม่ชัด สำเนียงก็แปลกๆ แต่ด้วยการที่กระบวนการกลุ่มได้แบ่งหน้าที่ให้ทุกรูปได้แสดงออกในสิ่งที่ตัวเองถนัดทำอย่างอื่น เช่น ช่วยจัดสถานที่ ช่วยเตรียมอุปกรณ์อย่างอื่นทำแทน และอาศัยทางกลุ่มได้ฝึกการพูด จากกลุ่มเล็กๆ ๑๐ คน ๑๕ คน ทำให้การทำงานด้วยกันเป็นการเติมเต็มให้แก่กันและกัน
การทำงานแย่งกันดี เราจะไม่ได้ดีสักคน แต่ถ้าแบ่งกันดี เราจะได้ดีทุกคน”
จากการทำงานตรงนั้น พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท เขียนเล่าต่อมาว่า ทำให้ท่านได้ประสบการณ์ในการทำงาน จนเมื่อได้กลับมาอยู่บ้านเกิดของตัวเองจึงได้นำสิ่งที่ครูบาอาจารย์สอน นำกลับไปลงมือทำ ฟังดูแล้วเหมือนเป็นการพิสูจน์สิ่งที่พูด โดยได้นำหลักนั้นมาเป็นปณิธานธรรมในการทำงาน การดำเนินชีวิต กำหนดเป็นหัวข้อใหญ่ๆ คือ ลงมือทำด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่นในการทำดี อยู่อย่างมีสติ และมีความกตัญญู
และด้วยความที่ชีวิตท่านมิได้โรยด้วยดอกกุหลาบ กว่าจะเรียนจบถึงปริญญาเอกไม่ใช่เรื่องง่าย ท่านเล่าให้พระมหาอภิชาติฟังว่า ดังนั้น เมื่อเกิดมีปัญหาอะไรขึ้นมา เราต้องอยู่อย่างมีสติ เวลามีปัญหาในชีวิต ไม่ว่าเรื่องอะไร ท่านก็จะนึกถึงนิทานเรื่องนี้ ทำให้มีกำลังใจ
นิทานเรื่องนั้นเล่าว่า…
มีแม่แพะกับลูกแพะจำนวน ๓ ตัว อาศัยหากินอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง หลังจากอิ่มกันแล้วก็นอนอยู่กับลูกๆ ในโพรงไม้ต้นใหญ่ ขณะนั้นก็มีเสือโคร่งตัวหนึ่งซึ่งกำลังหิวเดินผ่านมาพอดี ได้ยินเสียงลูกแพะร้อง จึงเข้าไปใกล้ต้นไม้หวังจะจับกินเป็นอาหาร แม่แพะได้กลิ่นเสือก็ตกใจ คิดในใจว่า เราตายแน่ แต่ก็รวบรวมสติขึ้นมาได้ ก็เลยพูดกับลูกออกไปว่า
“ลูกยักษ์ลูกมาร เมื่อเช้ากินช้างไป ๓ ตัว ยังไม่อิ่มอีกหรือ ”
พอเสือได้ยินก็ตกใจวิ่งหนีสุดชีวิต คิดในใจ เกือบไปแล้วกู ตัวอะไรกินช้างเข้าไปสามตัวยังไม่อิ่ม แล้วก็ไปนั่งพักใต้ต้นไม้ใหญ่ มองขึ้นไปเจอลิงตัวหนึ่งกำลังนั่งหัวเราะก็ไปถามว่า เจ้าหัวเราะอะไรหนักหนา ก็หัวเราะพี่เสือนั่นแหละ พี่เสือวิ่งหนีอะไรมา เสือตอบด้วยความเจ็บใจว่า ไม่รู้ตัวอะไรมากินช้าง ๓ ตัวยังไม่อิ่มเลย โชคดีที่ข้าหนีมาได้ เจ้าลิงหัวเราะชอบใจพลางพูดว่า พี่เสือโดนหลอกแล้ว ในละแวกนี้มีแต่ครอบครัวแพะครอบครัวหนึ่ง เสือก็ไม่มั่นใจ จึงพูดว่า ข้าไม่เชื่อหรอก จึงให้ลิงพาไปดู แต่เสือก็ไม่เชื่อใจจึงพูดว่า พาไปดูก็ไม่ปลอดภัย เพราะว่าเมื่อเกิดอะไรขึ้น เจ้าสามารถที่จะขึ้นต้นไม้ได้ แต่ข้าขึ้นไม่ได้ เจ้าลิงจึงเสนอให้เอาหางผูกติดกันเพื่อจะได้เบาใจแล้วไปด้วยกัน
ฝ่ายเจ้าแพะทีแรกเห็นเสือวิ่งไม่คิดชีวิตก็เบาใจคิดว่า ตัวเองปลอดภัยแล้ว หันไปอีกทีเห็นเสือมาพร้อมกับลิง จึงได้รวบรวมสติแล้วพูดออกไปว่า เจ้าลิงหน้าโง่ ข้าสั่งให้เจ้าหลอกเสือมาสองตัว หลอกมาแค่ตัวเดียวหรือ เจ้าเสือพอได้ยินดังนั้นก็เข้าใจว่า ลิงเป็นพวกเดียวกัน ก็วิ่งไม่คิดชีวิต ทำให้ลิงถูกลากไปจนขาดใจ ในที่สุดครอบครัวแพะก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
ท่านสะท้อนให้พระมหาอภิชาติฟังว่า ชีวิตเราบางครั้งก็ไม่ต่างจากแม่แพะ ถ้าเราไม่มีสติ ไม่รู้จักควบคุมตัวเอง วันหนึ่งก็หลงไปอยู่ในอำนาจของสิ่งที่มายั่วยวน ยั่วยุ ทำให้เราติดไปในกระแสโลก กระแสสังคมที่อุดมไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าเผลอสติก็จะตายเป็นอาหารเสือ
ดังนั้น สติจึงเป็นสิ่งสำคัญในทุกสถานการณ์ การทอดกฐินก็ต้องใช้สติและปัญญาในการพิจารณา และอาศัยความกตัญญูต่อพระพุทธศาสนาและแผ่นดินไทยเป็นที่ตั้ง ดังที่ท่านได้เล่าให้พระมหาอภิชาติเขียนไว้ในหนังสือ อาศรมดอกแดง แสงสว่างแรกแห่งชุมชนบนดอยสูง ในเรื่องกตัญญูตอนหนึ่งว่า
“ร้อยความดี ความกตัญญูมาเป็นที่หนึ่ง คนที่มีความกตัญญูตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ การที่เราไม่ลืมถิ่น ไม่ลืมวัฒนธรรม สิ่งที่เป็นตัวตน สิ่งที่เป็นรากเหง้าของเรา ทำให้เราอยู่ที่ไหน ก็มีแต่คนรักใคร่ จะทำอะไรก็มีแต่คนช่วยเหลือ อาตมาไปที่ไหนก็ไม่เคยอายที่จะบอกว่า ตัวเองเป็นชาวปกาเกอะญอ”
ขอเชิญสาธุชน ร่วมบุญทอดกฐินสามัคคีบูรณะเสนาสนะกุฏิ อาศรมพระธรรมจาริกบ้านดอกแดง หมู่ ๑๐ ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒ ติดต่อได้ที่ คุณวรรณา บุญประสงค์กิจ โทร. ๐๘๙-๑๑๑-๘๔๔๙