วันนี้วันพระ
วันจันทร์ที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑
ตามรอยธรรม “พระธรรมทูตอาสาใน ๕ จังหวัดชายแดนใต้”
ขออุทิศแด่… พระธรรมทูตอาสาที่ล่วงลับ ด้วยความเสียสละ
: (๗) พระพุทธเจ้าทรงประกาศพรหมจรรย์ และหลักประโยชน์ ๓ ประการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
เรียบเรียงจาก ดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง “ประสิทธิผลการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตอาสา ใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้”
จากงานวิจัยของ พระมหาปรีชา สาเส็ง
และขอขอบคุณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เจ้าของลิขสิทธิ์ไว้ ณ โอกาสนี้
หลักการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
การเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นการดำเนินงานเพื่อให้หลักธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาแพร่หลายออกไปในทุกสารทิศ มีผู้ศรัทธาเลื่อมใส เคารพ ยำเกรงในพระรัตนตรัย น้อมนำเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาประพฤติปฏิบัติ (ราชบัญฑิตยสถาน, ๒๕๔๖ หน้า ๔๘๗)
สำหรับความหมายที่กว้างไปกว่านี้ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ และพุทธบริษัทผู้มั่นคงในพระรัตนตรัย ก็คือ เพื่อช่วยให้ผู้คนเห็นทุกข์ และมีหนทางในการออกจากทุกข์ในสังสารวัฏ ตามรอยธรรมที่พระพุทธเจ้าค้นพบอย่างยากยิ่งในคืนวันตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยธรรมะที่พระพุทธเจ้าค้นพบนั้นลึกซึ้งยิ่งนัก นับเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ไขความลับของชีวิตและหนทางออกจากการเกิด แก่ เจ็บ ตายได้อย่างสิ้นเชิง ผ่านไปสองพันกว่าปีแล้ว พระพุทธศาสนายังคงเดินทางช่วยเหลือผู้คนบนโลกให้เห็นทุกข์และการออกจากกองทุกข์มาจนถึงทุกวันนี้
การเผยแผ่พุทธธรรม หมายถึง การทำให้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาขยายกว้างขวางออกไป มีผู้เคารพ เลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัย น้อมนำเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติตามสมควรแห่งการปฏิบัตินั้น เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มุ่งเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก (พระมหาศรัญญู ปญฺญาธโร (นุชมิตร))
มองสถานการณ์ของพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน
ในปาฐกถาพิเศษเรื่อง “วิกฤติการณ์ในพระพุทธศาสนา” มีเนื้อหาครอบคลุมหลายประเด็น ส่วนเฉพาะที่เกี่ยวกับบทบาทด้านการเผยแผ่ธรรมะของพระในปัจจุบันนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เห็น ว่า กลุ่มผู้เรียนรู้ธรรมะมีสองกลุ่ม ได้แก่ คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าต้องการรูปแบบการเผยแผ่แบบเก่า ได้แก่ การเทศน์ ด้วยถือว่าอาการที่นั่งฟังพระเทศน์นั้นได้บุญแล้ว ส่วนคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะศึกษาในลักษณะวิชาการ ต้องการเหตุผล ต้องการอธิบายรายละเอียดให้แจ่มแจ้ง และมีการซักถามได้ เช่น รูปแบบของการปาฐกถา การอภิปราย เป็นต้น
หลักประโยชน์ ๓
การประกาศพระพุทธศาสนา โดยยึดหลักประโยชน์และความสุขของมหาชนเป็นที่ตั้ง ถือเป็นวัตถุประสงค์หลักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ดังที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทให้แก่เหล่าพระสาวกชุดแรกที่ทรงส่งไปให้ไปประกาศพรหมจรรย์ ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ อย่าได้ไปทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน สัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีในตาน้อยมีอยู่ ย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม จักมีผู้รู้ทั่วถึงธรรม”
พระพุทธพจน์นี้ เครื่องชี้ชัดถึงบทบาทสำคัญของการสื่อหลักธรรมในพระพุทธศาสนา โดยเป็นหลักการและนโยบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของเหล่าพุทธสาวก จนตราบเท่าปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สุขแก่มนุษย์ โดยหลักการก็คือ ให้เกิดประโยชน์สุขตามพุทธประสงค์ ๓ ประการคือ
๑. ทิฏฐิธัมมิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ในชาตินี้
๒. สัมปรายิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ในชาติหน้า
๓. ปรมัตถประโยชน์ ประโยชน์อย่างยิ่ง
ประโยชน์ คือ ผลตอบสนอง ได้รับสืบมาจากพฤติกรรมที่ประกอบไปด้วยกุศลกรรมที่พระพุทธศาสนาถือเป็นหลักสำคัญ เพราะก่อให้เกิดผลเป็นความสุข ความมั่งคั่งบริบูรณ์ ความไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ และจุดหมายปลายทางของชีวิตที่ถือเป็นสุขที่สงบเย็น เป็นชีวิตที่อยู่จบพรหมจรรย์ สิ้นทุกข์ทั้งปวง
หลักในการเผยแผ่ธรรม ท่านทั้งหลายในขณะนี้ มีหน้าที่เป็นพระธรรมทูตก็คือเป็นผู้แทนของพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นผู้แทนของพระพุทธเจ้า ในฐานะพระธรรมทูต มีหน้าที่ในการเผยแผ่ธรรม พระธรรมทูตมีหน้าที่เดียว หน้าที่หลักก็คือการเผยแผ่ธรรม
การเผยแพร่ธรรมทานอย่างไร มีหลายวิธี
วิธีแรกที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติก็คือ การเทศน์ และถือว่าเป็นวิธีหลักที่พระพุทธเจ้าทรงถือปฏิบัติด้วยพระองค์เองมาตลอดโดยตลอด ๔๕ พรรษา พระพุทธเจ้าเทศไม่หยุดเลย ส่วนวิธีอื่น เช่น พูดคุย ปาฐกถาบรรยาย มีผู้รวบรวมเอาไว้ว่า วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะส่งพระไปประกาศพระสัจธรรม พระพุทธองค์ต้องให้นโยบายในการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธศาสนาไว้ก่อน ซึ่งประกอบด้วย
๑. เป้าหมายในการเผยแผ่ศาสนาพุทธ
๒.หลักการในการเผยแผ่
๓. วิธีการในการเผยแผ่