เดินทางจาริกธรรมในอเมริกามาจำพรรษาที่วัดพุทธเมตตามหาบารมีได้หลายเดือนแล้ว ฉบับนี้ขอเล่าเรื่องการสร้างวัด ทำบุญของชาวพุทธ หรือแม้แต่เจ้าอาวาสผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลปกป้องดูแลลูกวัด ด้วยพลังของแรงศรัทธาอย่างหาญกล้าที่สร้างวัดวาอารามให้งดงามเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจให้แก่ศาสนิกชนของชาวพุทธได้เรียนรู้ธรรมะ ทำบุญกุศลสั่งสมบารมีของตน และการเจริญจิตภาวนาชำระจิตใจให้บริสุทธิ์
ด้วยแรงศรัทธา “วัดพุทธเมตตามหาบารมี”
จาริกธรรมในอเมริกา ตอนที่ ๖
โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย
การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ เป็นการทำเพื่อให้เกิดสติ ปัญญา ไปในทางโลกกุตระ คือ เพื่อความพ้นทุกข์ทางใจเป็นหลัก
แม้มีงบสนับสนุนน้อย หรือไม่มีเลย ก็ต้องอาศัยแรงศรัทธาของพุทธบริษัททั้ง ๔ มีอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ และภิกษุณี (ปัจจุบัน มีแม่ชีมาแทนที่) ถวายแรงกายแรงใจและแรงทรัพย์มาช่วยทะนุบำรุงบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดขาดหายเสียไปแล้วสร้างขึ้นมาทดแทนใหม่
ผู้เขียนมีประสบการณ์น้อยในการสร้างวัดวาอาราม แต่ที่สังเกตเห็นพ่อแม่ครูอาจารย์ที่สร้างวัดของตนเองตั้งแต่ต้นเริ่มจากศูนย์ ท่านต้องอาศัยแรงศรัทธาจากภายในจิตใจที่แน่วแน่ทั้งแรงกายและใจ ท้อแท้และเหนื่อยบ้างก็ต้องอดทนสู้ให้ถึงเป้าหมายจนกว่าจะสำเร็จ
อบรมสั่งสอนเทศน์ บอกบุญญาติโยม ญาติโยมมาทำบุญบ้าง บ้างเก็บเล็กประสมน้อยนำพลังแรงศรัทธาที่ญาติโยมมาถวายสร้างวัดพัฒนาพระทำให้คนเจริญไปพร้อมกัน
จะใช้เวลาสักกี่วันกี่ปี… ท่านไม่เคยบ่น มีแต่สร้างตามกำลังของตนและญาติธรรมมาช่วยสนับสนุนส่งเสริมกัน ชาวพุทธเป็นคนที่มีน้ำใจชอบช่วยเหลือ เวลาทำบุญให้ทานจะมารวมตัวกัน ญาติพี่น้องเพื่อนบ้านใกล้เคียงมาร่วมด้วยช่วยกันออกแรงช่วยทางกายบ้าง แรงทรัพย์บ้าง เป็นต้น
นี่คือพลังของสามัคคีกันโดยแท้จริง ถามสารทุกข์สุขดิบกันพูดคุยปราศรัยกัน ฉันพี่น้องได้เพื่อนใหม่เดียวกันก็ได้งานด้วย ใจอิ่มเอิบบุญ และใจที่สดชื่นเต็มเปรี่ยมด้วยความสุข
ซึ่งตรงกับคำว่า “สุโข ปุญญัสสะ อุจจะโย : การสั่งสมบุญนำสุขมาให้” และ “วิสาสา ปรมาญาติ : ความคุ้นเคยเป็นกันอย่างยิ่ง”
ทั้งหมดนี้คือบรรยากาศการบอกบุญสร้างกุศลในเมืองไทย ถ้าเราไม่ช่วยกันแล้วใครจะยื่นมือมาช่วยเราล่ะ พ่อแม่ญาติพี่น้องของเราเกิดความเดือดร้อนขึ้นมาใครจะมาช่วยเรา นอกจากญาติพี่น้องของตนเอง คนอื่นก็ช่วยได้เหมือนกัน แต่ก็ไม่เหมือนญาติพี่น้องที่ช่วยเหลือกันเอง
ผู้เขียนได้มาเห็นบรรยากาศการสร้างวัดแห่งใหม่ในต่างประเทศ คำว่า “ต่างประเทศ” มีไม่น้อยคนที่วาดฝันในมโนว่าสักครั้งหนึ่งในชีวิตฉันจะไปต่างประเทศให้ได้ หนึ่งในนั่นมีผู้เขียนด้วย
ในครั้งนี้ฝันได้เป็นจริงแล้ว และมาไกลที่สุดของชีวิต นั่งเครื่องบินนานที่สุด ทั้งวันทั้งคืนจากเมืองไทยมาสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา
มีประสบการณ์หลากหลายที่ไม่เคยทำก็ต้องทำเช่นทำป้าย โต๊ะเอนกประสงค์ เรียนรู้เรื่องใหม่ของชีวิตต่างแดน เป็นต้น
ทำคนละอย่างแต่เป็นสิ่งเดียวกัน หมายถึงที่เมืองไทยจะสร้างวัดก็ต้องบอกบุญญาติโยมตามกำลังศรัทธา หรือมีเจ้าภาพแจ้งความประสงค์สร้างเอง รายได้ส่วนมากได้จากนอกวัด
แต่ที่เมืองนอกนี้ญาติโยมมาช่วยกันออกแรงกายแรงใจ ช่วยหาปัจจัยสมทบทุนในการสร้างวัด ด้วยวิธีการคือ วันอาทิตย์ที่ญาติโยมมารวมจับกลุ่มกันมาทำอาหารไทยขายให้ฝรั่งในวัด และส่วนหนึ่งจากนอกวัด เพื่อนำปัจจัยเหล่านั้นมาจับจ่ายใช้สอยสร้างวัด นี้คือรายได้อีกส่วนหนึ่งในชื้อที่ดินสร้างวัด
การจะทำเช่นนี้ได้ ไม่ใช่ง่าย ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ จะทำจะสร้างอะไร ถ้าเขาอนุญาตสร้างได้ ถ้าไม่ก็คือหยุด ไม่มีข้อต่อรองอะไรเลย เพราะเราอยู่ต่างถิ่นต่างแดนต้องทำตามระเบียบบ้านเมืองเขาจึงจะอยู่ได้ไม่เดือดร้อนกายใจ
ที่บ้านเราสามารถบิณฑบาตฉันได้ เพราะบ้านเราเป็นเมืองพุทธ แต่ที่เมืองนอกไม่ได้บิณฑบาต เพราะไม่ใช่เมืองพุทธ ต้องปรับตัววิธีการดำรงชีวิตให้เข้ากับสังคมให้ได้ พระรอดมีชีวิตรอด ธรรมของพระพุทธเจ้าก็ดำรงสืบทอด มีโอกาสขยายเผยแพร่กระจายสู่จิตใจของคนที่มีจิตใจที่อ่อนน้อมถ่อมตน ลดทิฏฐิมานะได้ พระธรรมของพระพุทธองค์ก็เข้าไปอยู่ในจิตใจเขาได้
ดังแสงเทียนหนึ่งจากพระพุทธองค์สู่สาวกหนึ่ง ไปสู่สาวกหนึ่ง แล้วส่งไปยังอนุชนรุ่นหลังต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ตราบใดยังมีคนเปิดใจยอมรับความจริงคือธรรมะ ธรรมชาติที่แท้จริงที่มีอยู่ในตัวปลุกให้ตื่นรู้ ด้วยสติรู้สึกตัว ธรรมะของพระพุทธองค์ไม่แบ่งแยกชนชั้นวรรณะ เชื้อชาติศาสนา เพียงแค่เขาปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าก็จะได้รู้ตามพระพุทธเจ้าเช่นกัน
ฉะนั้น การอยู่ในที่ต่างแดนต่างประเทศ พระธรรมทูตต้องอาศัยกฎหมายบ้านเมืองเขา กฎระเบียนวินัยของพระก็ต้องยึดไว้ประพฤติปฏิบัติ และบางอย่างก็ต้องอนุโลม เพื่อให้เข้ากับบ้านเมืองเขา เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตามเขา แต่ต้องไม่ขัดกับพระธรรมวินัย
ทำคนละอย่างแต่เป็นเรื่องเดียวกัน วิธีการที่แตกต่างประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อนับถือ เพียงแค่เราคบกันครึ่งทางเดินไปด้วยกันก็สงบสุขได้ แต่ข้างใดข้างหนึ่งสุดโต่งไม่ยอมลดทิฏฐิมานะถือตัวลงก็มีแต่ความขัดแย้งกัน
ควรเดินทางสายกลางไม่อ่อนหย่อนเกินไปเดียวเขาจะว่าอ่อนแอ ไม่ควรแข็งจนเกินเหตุเดียวเขาจะว่าแข็งกระด้าง
ด้วยแรงศรัทธา “วัดพุทธเมตตามหาบารมี”
จาริกธรรมในอเมริกา ตอนที่ ๖
โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย
คอลัมน์ ธรรมลิขิต หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก
วันอังคารที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒
“ควรเดินทางสายกลางไม่อ่อนหย่อนเกินไปเดียวเขาจะว่าอ่อนแอ ไม่ควรแข็งจนเกินเหตุเดียวเขาจะว่าแข็งกระด้าง ”
พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย พระธรรมทูต ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เขียน