หลายสัปดาห์ก่อนได้เล่าถึงศาสนสงเคราะห์ ศาสนกิจของพระสงฆ์ไทยในเกาหลีใต้ และงานศาสนสงเคราะห์ของวัดในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยหรือ คนที่มาทำงานในเกาหลีใต้ ในการให้ที่พักอาศัย ตลอดถึงการทำหน้าที่ของพระสงฆ์ในการให้การช่วยเหลือประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลศพ พิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ ตลอดถึงการให้หลักธรรมะเป็นหลักในการใช้ชีวิต วันนี้ขอกล่าวถึงการเดินทางมาทำงานของคนไทยที่มาทำงานในเกาหลีใต้

“ชุมชนสงฆ์” สังคมแห่งการเกื้อกูลในเกาหลีใต้

โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

วัดพุทธารามเกาหลี  เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้

ผู้เขียนได้พูดคุยกับชาวไทยที่มาพักอาศัยที่วัด ตลอดถึงแรงงานไทยที่เคยมาพักอาศัยที่วัด ถึงการเดินทางมาทำงานในเกาหลี แรงงานไทยคนหนึ่งหรือ คนที่มาทำงานในเกาหลีคนหนึ่งเล่าให้ฟังถึงขั้นตอนของการเดินทางมาทำงานในเกาหลีว่า

“ชุมชนสงฆ์” สังคมแห่งการเกื้อกูลในเกาหลีใต้ โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

“เริ่มจากที่ทุกคนไปเรียนภาษาเกาหลีเพื่อจะใช้ในการสื่อสารและทำข้อสอบ หลังจากนั้นก็ไปสมัครสอบกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานของไทย เลือกประเภทของงานที่ต้องการจะมาทำ คือ ประเภทงานอุตสาหกรรม งานก่อสร้าง และงานเกษตร เมื่อสอบผ่านแล้ว รอนายจ้างจากประเทศเกาหลีเซ็นต์สัญญา ถือว่าได้วีซ่าอนุญาตให้เข้ามาทำงานในประเทศเกาหลี เมื่อได้สัญญาจ้างแล้ว ก็อบรมกับกรมการจัดหางาน บางคนก็เรียกว่าเรียนเตรียมบิน เพื่อทำความเข้าใจในระบบของงาน สิทธิ์ประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับ และหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือต่างๆ”

การเดินทางมาทำงานในประเทศเกาหลีเป็นเหมือนการวัดดวง

ทุกคนไม่รู้ว่าหน้างานตัวเองจะได้ทำงานเกี่ยวกับอะไร รู้แต่ว่าประเภทของงาน ตัวอย่างเช่นประเภทงานอุตสาหกรรม บางคนมาเจองานเชื่อมเหล็ก บางคนมาเจองานเคลือบสารเคมี พอทำงานแล้วร่างกายทนไม่ไหว ถ้าเจอนายจ้างดีเซ็นต์ย้ายงานให้ก็โชคดีไป บางคนมาเจอโรงงานฆ่าสัตว์ ได้อยู่แผนกฆ่าอะไรอย่างนี้ มันเลือกไม่ได้ ก็ต้องทนอยู่ให้ครบหนึ่งปี เพื่อที่จะได้ขอย้ายงาน เพราะการเซ็นต์สัญญาจ้าง บริษัทแรกที่ออกวีซ่าให้เข้ามาทำงาน ลูกจ้างต้องทำงานให้ครบ ๑ ปี ถึงจะขอย้ายงานได้ ถ้าออกก่อน ๑ ปี นายจ้างก็มีสิทธิ์ไม่ยอมเซ็นต์ย้ายงานให้ เมื่อไม่เซ็นต์ย้ายงานให้ก็ต้องกลับไทย

ในกรณีที่ขอย้ายงานได้ที่ทำงานไม่ครบ ๑ ปีมีหลายกรณี กรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินเดือนสองเดือนขึ้นไป กรณีนายจ้างทำร้ายร่างกาย ก็ไปร้องเรียนกับศูนย์ช่วยเหลือ เพื่อที่จะเปลี่ยนงาน หรือฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ก็มีหลายเหตุการณ์ บางครั้งบริษัทปิดตัวลง หรือบางครั้งก็งานหนักเกินไป เมื่อครบกำหนดย้ายงานได้ก็ขอย้ายงาน เปลี่ยนงาน มีเวลาในการหางาน ๓ เดือน

วิธีการคือไปลงทะเบียน ของานที่ศูนย์ช่วยเหลือในแต่ละเขตพื้นที่ ถ้าไม่ได้งานภายใน ๓ เดือนก็ต้องกลับไทย ในการมาทำงานเกาหลีแต่ละครั้งจะเรียกว่าแท็ก แท็กหนึ่งอยู่ได้ ๓ ปี สามารถเปลี่ยนงานได้ ๓ ครั้ง และนายจ้างสามารถเซ็นต์สัญญาให้อยู่ต่อได้อีก ๑ ปี ๑๐ เดือน รวมเป็น ๔ ปี ๑๐ เดือน

 ในช่วงที่แรงงานไทยตกงาน พักงาน เปลี่ยนงาน ถ้ามีเพื่อนก็ไปพักกับเพื่อน หรือบางคนไม่รู้จะไปที่ไหนก็ไปขอพักที่ศูนย์ช่วยเหลือ ศูนย์ช่วยเหลือก็แนะนำไปที่โบสถ์คริสต์บ้าง แนะนำมาที่วัดบ้าง แต่การพักอาศัยที่โบสถ์คริสต์อยู่ร่วมกันหลายชาติ เป็นนานาชาติ คนไทยบางคนก็ไม่รู้ว่ามีวัด ก็ทนอยู่ ทุกคนแหละไม่ว่าจะชาติไหน ก็อยากอยู่ในสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ประเพณีที่เป็นของชาติตนเอง ไม่ว่าจะเป็นไทย ลาว กัมพูชา ถ้ารู้ว่ามีวัดอยู่ ก็เลือกที่จะมาพักวัด

หลายคนที่มาพักวัดและคนมาพักที่วัดเล่าให้ฟังว่า

“ในช่วงที่ออกจากงาน แล้วรองานใหม่ ถ้าไม่ได้วัดให้ที่พักพิงอาศัยคงลำบากมาก เพราะถ้าจะไปเช่าห้องพักอยู่หรือจะไปพักอาศัยกับเพื่อน คงมีเงินไม่พอใช้จ่าย ไหนจะค่าเช่า ค่ามัดจำห้องพักล่วงหน้า ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าเดินทางไปของานในแต่ละครั้ง ก็ได้วัดให้พักอาศัยในวันที่ยากลำบาก

“การมาพักอาศัยที่วัดก็ตอบแทนวัดด้วยการช่วยเหลืองานต่างๆ สิ่งที่เราได้จากวัดไม่ใช่แค่ที่พักอาศัย อาหารการกิน แต่ทุกคนที่มาวัดได้ฝึกตนเอง สร้างระเบียบวินัยให้กับตนเองได้นำไปฝึกฝนประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ อาทิ

“การทำวัตรสวดมนต์นั่งสมาธิทุกวัน วันละ ๒ เวลาเช้าเย็น ได้ขวนขวายในกิจที่ชอบทำความสะอาดปัดกวาด เช็ดถู ทำอาหารถวายพระ ล้างห้องน้ำ แยกขยะ การแยกขยะทุกคนได้มาทำจริงจังก็ที่วัดนี้แหละ แยกขยะเศษอาหาร ขวดน้ำ ขยะทั่วไป พอเราทำเรื่องเหล่านี้ กลับทำให้เราได้ย้อนมาคิดถึงตัวเราเอง แต่ก่อนทำแต่งานๆ ไม่ค่อยได้นึกถึงเรื่องการดูแลตัวเอง การดูแลใจของตัวเอง

“การมาอยู่วัดต่างจากที่ทำงาน ที่วัดพระอาจารย์ท่านจะไม่แบ่งหน้าที่ให้ว่า ใครจะทำอาหาร ใครจะล้างจาน ใครจะล้างห้องน้ำ ปัดกวาดเช็ดถู ท่านบอกแต่ว่า ให้ช่วยกัน ใครทำมากได้บุญมาก แรกๆ คนที่มาอยู่ก็มีความรู้สึกนะ หงุดหงิด ไม่ชอบการอยู่ด้วยกันแล้วมีคนเอาเปรียบกัน ยังจัดการความรู้สึกตัวเองไม่ได้ คนนี้ทำบ้าง ไม่ทำบ้าง ทำมากทำน้อย เกิดการเอาเปรียบกัน คนไม่ทำงานเลยก็มี รอทานข้าวอย่างเดียว พระอาจารย์ท่านเคยเล่าให้ฟังถึงการแบ่งหน้าที่ให้แต่ละคนทำ “

ท่านบอกว่า เคยใช้วิธีอย่างนั้นแล้ว จากงานที่เคยเสร็จ ไม่เสร็จ จากที่ไม่เคยมีปัญหา ก็มีปัญหา บางวันไม่มีคนทำอาหาร ไม่มีคนจัดโต๊ะอาหาร เพราะคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบไม่อยู่ ออกไปหางานแต่เช้า แล้วไม่ได้บอกเพื่อนทำหน้าที่แทน คนที่เหลือก็ไม่ทำ เพราะคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง ก็เลยปล่อยเป็นไปตามธรรมชาติ ให้ระบบบริหารจัดการเอง ทุกวันก็ไม่มีปัญหา เพราะระบบถูกวางไว้ว่า เวลานี้อาหารเช้าเพลต้องพร้อม เวลานี้ต้องปูอาสนะเตรียมหนังสือสวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็น เวลามีคนมาถวายสังฆทานต้องคอยพูดคุยสอบถาม  เตรียมน้ำมาต้อนรับ ระบบจะฝึกคนไปในตัว ขัดเกลาให้มีความรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่    

บางวันหลังจากทำวัตรสวดมนต์เย็นเสร็จ พระอาจารย์ท่านก็ให้โอวาท ให้ธรรมะ ให้แนวคิดในการดำเนินชีวิต หลายเรื่องที่ท่านเล่าให้ฟังก็ทำให้เข้าใจ มีวันหนึ่งพระอาจารย์ท่านให้ทุกคนได้ถามใจตัวเอง ตอบใจตัวเอง ทบทวนตนเอง โดยท่านให้ทุกคนหลับตาลงแล้วถามว่า ถ้าสมมุติว่าเราเป็นเจ้าอาวาส แล้วมีลูกศิษย์หน้าตาเหมือนกับเรา นิสัยใจคอเหมือนกันเรา การตั้งใจทำงาน ช่วยเหลืองานวัด ก็เหมือนกับเราทุกอย่าง ใครที่ภูมิใจกับลูกศิษย์คนนี้มากที่สุด ให้ยกมือขึ้น ใครที่ภูมิใจครึ่งหนึ่ง ให้ยกมือขึ้น ใครที่ตั้งใจว่า จะปรับปรุงตัวเอง จะทำหน้าที่ให้ดีกว่านี้ ให้ยกมือขึ้น   คนที่มาอยู่วัดก็บอกว่า “ผมชอบวิธีการนี้มากเลยทำให้เราได้กลับมาทบทวนการทำหน้าที่ของตัวเอง จากที่ตัวเองเคยหงุดหงิดเพื่อนก็ทำให้เข้าใจ”

การทำหน้าที่ของวัด และพระสงฆ์มีความเสียสละเป็นอย่างมาก แบกภาระอะไรหลายๆอย่างไว้ แต่ท่านก็ไม่เคยบ่น ไม่เคยว่า ท่านทำหน้าที่ช่วยเหลือรุ่นแล้วรุ่นเล่า แบกรับภาระค่าใช้จ่ายของวัด คนเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นตาม ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารทุกอย่างเพิ่มขึ้นตาม ท่านคิดแต่จะทำเพื่อคนอื่น ท่านมาทำหน้าที่ด้วยความเสียสละ รับสังฆทานก็เป็นค่าเช่าวัด ค่าน้ำ ค่าไฟค่าใช้จ่ายหลายอย่าง ท่านคิดที่จะสร้างวัดไทยในเกาหลีเพื่อคนไทย

ส่วนแรงงานไทยทุกคนที่มาทำงาน ก็หวังเพื่อตนเองทั้งนั้น ทำงานเก็บเงินหวังอยากมีบ้าน มีรถเป็นของตัวเอง มีใครคิดที่จะสร้างวัดเหมือนพระสงฆ์ท่านไหม

   พระอาจารย์จิระศักดิ์ เกตุเมโธ ประธานสงฆ์วัดพุทธารามเกาหลี ท่านเล่าให้ฟังว่า

คนที่มาพักอาศัยที่วัด บางช่วงมีคนมาพักมากถึง ๑๘-๒๐ คน นอนเรียงกันเต็มห้องสวดมนต์ บางทีก็เกินกำลังของวัดที่จะให้ที่พักอาศัย เราก็ปฏิเสธไม่ได้ ใครมาก็อนุเคราะห์กันไป บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่า คนที่มาอาจจะเคยมาทำบุญกับเรา ถ้าเราไม่ให้เขาพักบอกให้ไปพักโบสถ์คริสต์ ใจเขาใจเรา ถ้าเป็นเราจะรู้สึกอย่างไร เขาอาจจะเสียศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาไปเลยก็ได้

การช่วยเหลือให้การสงเคราะห์คนไทย ไม่จำเพาะที่มาพักอาศัยที่วัด ใครที่ลำบากก็เป็นที่รับรู้กันมาขอรับข้าวสาร อาหารแห้ง ของเครื่องใช้ต่างๆ ที่วัดเป็นประจำ เราก็ช่วยเหลือแบ่งปัน ไม่ใช่เพียงแค่คนไทย วัดพุทธารามเกาลียังบริจาคสิ่งของให้บ้านพักคนชราในเมืองอันซัน เกาหลี เป็นประจำทุกเดือน ก็เป็นความภูมิใจของคนไทยที่มาทำงานในแผ่นดินเกาหลี และได้อนุโมทนาบุญร่วมกัน  

ประการที่หนึ่ง ทรัพย์สินเงินทอง ข้าวปลาอาหาร ที่เกิดจากการได้พึ่งพาอาศัยทำมาหากินในแผ่นดินนี้ ได้สร้างกุศลทานตอบแทนผ่านผู้สูงอายุ

ประการที่สอง สิ่งของที่นำมาเกิดขึ้นในประเทศนี้ แลกมาด้วยเงินจากการทำงานของคนไทย เป็นเครื่องแสดงความกตัญญู เป็นเครื่องแสดงน้ำใจไมตรีจิตซึ่งกันและกัน อันจะนำมาซึ่งความชื่นชมยินดีในน้ำใจของคนไทย

สิ่งของเล็กน้อยที่เหลือใช้จากการทำสังฆทานของพี่น้องไทย วัดเป็นตัวแทนคนไทย ได้นำมาบริจาคแก่ผู้สูงอายุ เพื่อให้ทุกท่านได้เจริญก้าวหน้าในงาน ในการทำมาค้าขาย อยู่เย็นเป็นสุขในแผ่นดินเกาหลี และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่คนไทยยิ่งๆ ขึ้นไป

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท พระธรรมทูต วัดพุทธารามเกาหลี เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้ ผู้เขียน

“ชุมชนสงฆ์” สังคมแห่งการเกื้อกูลในเกาหลีใต้

โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท  พระธรรมทูต วัดพุทธารามเกาหลี  เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้ ผู้เขียน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here