“ จิรํ ติฏฺฐตุ พุทฺธสาสนํ ฯ”

 ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาล

 “หนังสือเกี่ยวกับการบวชเล่มนี้ รวบรวมหลักการบวชไว้อย่างกว้างขวาง ทุกแง่ทุกมุม  มีเกร็ดประวัติความเป็นมาของแต่ละเรื่องเพื่อให้หนังสือมีความน่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ นอกจากนั้น ยังมีคำศัพท์อธิบายไว้ท้ายเล่ม สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับคำทางศาสนา จึงทำให้หนังสือเล่มนี้ มีเนื้อหาค่อนข้างมาก (๕๓๔) หน้า

“ ผู้เขียนต้องการแนะนำวิธีการบวช ที่ตรงตามหลักพระพุทธศาสนา ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ละเลยสาระของการบวชเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีที่ชาวพุทธควรจะรู้…ผู้เขียนได้พยายามประสานแก่นแท้ของการบวช ตามหลักพระพุทธศาสนา ให้สอดคล้องกับการบวชตามแบบวัฒนธรรมประเพณีไทย และให้ชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า “ลูกผู้ชายต้องบวช” เพื่อยืนยันเจตนารมณ์บูรพชนไทย ที่ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติชาติไทย และต่างยืนยันอุดมคติของบรรพชนไทยว่า “เกิดเป็นลูกผู้ชาย นับถือพระพุทธศาสนาชาติหนึ่ง ต้องบวช”  จิรํ ติฏฺฐตุ พุทฺธสาสนํ ฯ ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาล  

ญาณวชิระ  นามปากกาของ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ภาพวาดลายเส้นเกรยองสีถ่าน โดย หมอนไม้
พระอาจารย์ ญาณวชิระ
ภาพวาดลายเส้นเกรยองสีถ่าน โดย หมอนไม้

จากส่วนหนึ่งของคำนำผู้เขียนหนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย “ญาณวชิระ” พิมพ์เป็นครั้งที่สองเพื่อเป็นธรรมทาน ท่านผู้สนใจสามารถขอรับหนังสือได้ที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร. ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร เขียนไว้ใน “อนุโมทนากถา” สำหรับหนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” เรียบเรียงโดย “ญาณวชิระ” ตอนหนึ่งว่า เพราะการเกิดเป็นมนุษย์เป็นของยาก การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าก็ยาก

           “การเกิดทางร่างกายในภพชาตินี้คือตอนคลอดจากแม่ จะเป็นชายหรือหญิงก็เป็นไปตามนั้น จะสมบูรณ์หรือพิการก็เลือกไม่ได้ แต่ในทางจิตหรือวิญญาณ เราเลือกเกิดเป็นอะไรก็ได้ จะเป็นเทวดาก็ให้มีหิริ คือ ความละอายแก่ใจ โอตตัปปะ คือการเกรงกลัวบาป หรือจะเป็นมนุษย์ก็มีศีล เป็นต้น เราจึงสามารถเกิดใหม่ได้ตลอดเวลา ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้ เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้” และการบวชคือการเกิดใหม่ทางจิตวิญญาณ  

“การบวช ในสมัยพุทธกาล คือ การเปลี่ยนจิตใจ ดังที่ปัญจวัคคีย์ผู้กำลังแสวงหาการดับทุกข์ หรือ ยสะกุลบุตรผู้กำลังตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ เมื่อพบกับพระพุทธองค์ จึงค้นพบการเกิดใหม่ทางจิตใจ ออกบวชด้วยการหยั่งเห็นในธรรมอย่างลึกซึ้งทางใจ จึงไม่แปลกที่ใครจะมองการบวชว่า เป็นการช่วยเยียวยาจิตใจให้กับผู้มีทุกข์ได้ปลดปลงชีวิตเก่าและเปลี่ยนเป็นคนใหม่ ไม่ใช่ภายนอก แต่เป็นภายใน

           “หนังสือเรื่อง ลูกผู้ชายต้องบวช เล่มนี้กำลังบอกเล่าการเปลี่ยนแปลงจากจิตใจภายใน ผ่านความวิริยะอุตสาหะของท่านอาจารย์ “ญาณวชิระ” ซึ่งสั่งสมประสบการณ์ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ และการเป็นพระพี่เลี้ยงดูแลพระภิกษุนวกะ ผสมผสานกับการศึกษาจากพระไตรปิฎก อรรถกถา และหนังสือทางพระพุทธศาสนาแล้วจึงเรียบเรียงเนื้อหาผ่านภาษาอย่างประณีต เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้สอดคล้องกับยุคสมัยและวิถีชีวิตของผู้คน เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่จะบวชได้เตรียมตัว และผู้ที่บวชแล้ว รู้วิธีการปฏิบัติ หรือแม้แต่พระภิกษุจะได้ทบทวนเป้าหมายของการบวชให้ชัดเจนยิ่งขึ้น”

           เมื่อการเกิดใหม่จากการบวช คือ การเกิดทางจิตวิญญาณ “ลูกผู้ชายต้องบวช”จึงไม่เพียงเป็นหนังสือสำหรับลูกผู้ชายเท่านั้นแต่น่าจะเป็นหนังสือที่ลูกผู้หญิงควรอ่านอย่างยิ่งเช่นกัน เพราะการฝึกหัดขัดเกลาตนตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้ตามลำดับแห่งศีลนั้นมีขั้นมีตอนและสามารถปฏิบัติได้แม้ยังไม่ได้บวชเรียนตั้งแต่ศีล ๕ และศีล ๘ ตามลำดับซึ่งเป็นการคุ้มครองอินทรีให้เข้มแข็งประดุจการบวชใจให้กล้าแกร่งต่อกิเลสอย่างหยาบไปก่อนที่จะลงสนามรบกับกิเลสอย่างชนิดไม่ถอยกลับคือการบวช

สำหรับคุณแม่ หากได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็จะยิ่งซาบซึ้งใจเมื่อลูกชายขอบวชทดแทนพระคุณ หรือ แม้ว่า ลูกชายไม่อยากบวช แต่คุณแม่หยิบยื่นหนังสือเล่มนี้อ่านให้ลูกฟัง หรือ แนะนำให้ลูกชายอ่าน แม้ตอนแรกเขาอาจไม่สนใจ แต่วันใดที่เขาทุกข์ เขาอาจจะหันมามองหาหนังสือเล่มนี้ที่จะทำให้เขาค่อยๆ เห็นทางออกจากทุกข์อย่างเป็นรูปธรรม

ดังที่พระอาจารย์ญาณวชิระ ซึ่งเป็นนามปากกาของ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น เขียนไว้ในบรรพ์ที่ ๒ “ความเข้าใจในการบวช” ตอนหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ฆราวาสเป็นที่คับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี ส่วนการบรรพชา เป็นโอกาสว่าง ผู้อยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ด้วยดี เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้วไม่ได้ ถ้าไฉน เราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือนบวช เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือน”

         “เพราะชีวิตการครองเรือนเป็นชีวิตที่มากไปด้วยความครุ่นคิดปรารถนา  เต็มไปด้วยความเร่าร้อน ดิ้นรนแสวงหา มากไปด้วยความทะเยอทะยาน ระคนไปด้วยพวกพ้อง  ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ผู้อยู่ครองเรือนก็ต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เป็นค่านิยมของสังคม  ชีวิตจึงหมุนอยู่ตลอดเวลา แต่บรรพชิตเป็นชีวิตที่ตรงกันข้าม เป็นชีวิตที่เรียบง่ายสงบเสงี่ยม  เต็มไปด้วยความสำรวมระวังอยู่ตลอดเวลา ตัดสายใยแห่งอดีต ไม่หมกมุ่นครุ่นคิดถึงอนาคต ระงับความเร่าร้อน สยบการดิ้นรนแสวงหา ปลีกตัวอยู่ท่ามกลางความสงบสงัดเงียบ ไม่ระคนด้วยหมู่คณะ ทรมานตนด้วยศีล ฝึกหัดขัดเกลาจิตใจด้วยสมาธิและปัญญา …

           “การบวชจึงเป็นการดำเนินชีวิต ตามเบื้องรอยบาทพระบรมศาสดา เพื่อแสวงหาอิสรภาพทางจิตวิญญาณ  ปลดปล่อยจิตใจให้อยู่เหนือการบีบคั้นตามแรงเหวี่ยงของกระแสสังคม และการจะปลดปล่อยจิตใจให้เป็นอิสรภาพได้ต้องเริ่มด้วยการฝึกหัดควบคุมจิตใจตามกระบวนการของศีล สมาธิ และปัญญา…”

การบวชจึงเป็นการฝึกตนไปจนกว่าจะพบธรรมเห็นธรรมสิ้นกิเลสที่ประจักษ์แจ้งแก่ใจตนในที่สุด

ล้อมกรอบ

เรียนรู้ชีวิตลูกผู้ชาย ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ เพื่อเรียนรู้ชีวิตพระภิกษุที่สมบูรณ์         

หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย “ญาณวชิระ” พิมพ์แจกฟรีเป็นธรรมทาน จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ และ บริษัทโตโตต้า บัสส์ จำกัด เป็นผู้อุปถัมภ์จัดพิมพ์  สนใจขอรับหนังสืออันทรงคุณค่าแห่งชีวิตได้ที่ “ศาลาหลวงพ่อดวงดี” วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ทุกวัน

ชวนอ่าน “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย “ญาณวชิระ” เรียนรู้การดำเนินชีวิต ตามเบื้องรอยบาทพระบรมศาสดา เพื่อแสวงหาอิสรภาพทางจิตวิญญาณ 

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

จากคอลัมน์ หมายเหตุพระไตรสรณคมน์ (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here