จาริกธรรมสกอตแลนด์ตอนนี้เป็นตอนแรกที่อาตมาจะเริ่มพูดถึงสกอตแลนด์ว่ามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่ง ๑๒ ตอนที่ผ่านมา อาตมาได้กล่าวถึงเฉพาะต้นเหตุแห่งการมาจาริกธรรมในสกอตแลนด์ ตลอดถึงสิ่งที่พบเจอสองข้างทางระหว่างเดินทาง และมาถึงสกอตแลนด์ พร้อมทั้งการปฏิบัติศาสนกิจของอาตมาบางส่วนเมื่อมาถึงที่นี่

จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๑๓

“เทวทูต ณ ดินแดนสกอตแลนด์”

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

เมืองเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ ถ่ายจากมุมสูง โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

           สกอตแลนด์หรือแต่เดิมทีเรียกว่า “ราชอาณาจักรสกอตแลนด์” ซึ่งเป็นดินแดนอิสระมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี แต่เมื่อปี ค.ศ. ๑๖๐๓ (พ.ศ.๒๑๔๕)  พระเจ้าเจมส์ที่ ๖ แห่งราชอาณาจักรสกอตแลนด์ได้ขึ้นครองบัลลังก์อังกฤษ ทรงใช้พระนามว่าพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ แห่งอังกฤษ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงส่งผลให้ทั้งสองประเทศคืออังกฤษ และสกอตแลนด์ทรงมีพระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศพระองค์เดียวกัน หรือเรียกว่า การรวมราชบัลลังก์ (Union of the Crowns) แต่การบริหารประเทศคือ รัฐบาลของทั้งสองประเทศก็แยกกัน เมื่อปี ค.ศ. ๑๗๐๗ (พ.ศ.๒๒๕๐) ในสมัยของสมเด็จพระราชินีแอนน์ ประเทศอังกฤษและประเทศสกอตแลนด์จึงได้รวมตัวกันด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง ตามพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. ๑๗๐๗  (Acts of Union)

           สำหรับสกอตแลนด์มีสถานะความเป็นประเทศไหม ถ้ามองตามบริบทของคำศัพท์ที่หมายถึงประเทศคือ Country  และ Sense สกอตแลนด์ก็ยังมีสถานะเป็นประเทศ แต่ในทางวิชาการนั้นสกอตแลนด์ไม่ใช่รัฐ (State) เพราะตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๗๐๗ (พ.ศ.๒๒๕๐) มีพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. ๑๗๐๗ สกอตแลนด์ไม่มีอำนาจอธิปไตย

 เพราะได้มอบอำนาจอธิปไตยให้แก่รัฐบาลกลางของสหราชอาณาจักร ซึ่งรัฐบาลกลางของสหราชอาณาจักรมีอำนาจตัดสินใจประเด็นต่างๆ แทนชาวสกอตแลนด์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคลัง การต่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจ และรัฐธรรมนูญฯ เป็นต้น (สถานะความเป็นประเทศ สถานะความเป็นรัฐ หรือแม้กระทั่งมีความเป็นชาติหรือไม่ ในโอกาสตอนต่อไปอาตมาจะได้พยายามวิเคราะห์และขยายความตามทฤษฏีกฎหมายมหาชนให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น)

           แม้ว่าสกอตแลนด์จะไม่สามารถตัดสินใจได้เองในการบริหารประเทศนับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๐๗ เป็นต้นมา แต่เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๙ (พ.ศ.๒๕๔๒) ได้มีการกระจายอำนาจโดยจัดตั้งรัฐสภาของสกอตแลนด์ขึ้นเพื่อให้อำนาจสกอตแลนด์สามารถจัดการตนเองได้ในบางเรื่อง โดยมีอำนาจในการตรากฎหมายเพื่อสามารถวางแนวทางด้านการศึกษา สาธารณสุข กระบวนการยุติธรรม ตลอดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและชนบท และการขนส่ง ในพื้นที่ของสกอตแลนด์ได้เอง

           อนึ่ง สมาชิกของรัฐสภาสกอตแลนด์มาจากการเลือกตั้ง มีวาระ ๔ ปี หัวหน้าคณะรัฐบาลของสกอตแลนด์ ตามศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกว่า First Minister of Scotland ความหมายในทางวิชาการบ้านเรามีความเห็นเป็นสองกลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกเรียกว่า “นายกรัฐมนตรีแห่งสกอตแลนด์” อีกกลุ่มเรียกว่า “มุขมนตรี” โดยคณะรัฐมนตรี ประกอบไปด้วย รองนายกรัฐมนตรีหรือรองมุขมนตรีแล้วแต่จะเรียก และมีรัฐมนตรีอีก ๘ ตำแหน่ง พร้อมรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอีก ๑๓ กระทรวง แต่ห้ามแต่งตั้งเกิน ๒๑ ตำแหน่ง

เมืองเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ ถ่ายจากมุมสูง โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

           ปัจจุบันเมืองหลวงของสกอตแลนด์ คือ Edinburgh ซึ่งเป็นเมืองที่อาตมาจำพรรษาอยู่ และถือว่าเป็นเมืองหลวงที่มีมนต์ขลัง มนต์เสน่ห์เป็นที่ปรารถนาของคนทั่วโลกต้องการจะมาสัมผัสดินแดน จะเห็นได้จากมีนักท่องเที่ยวมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากกรุงลอนดอน ในสหราชอาณาจักร มีสถานที่สำคัญ ๆ เช่น ปราสาทเอดินบะระ (Edinburgh Castle), Scott Monument เป็นอนุสาวรีย์สีสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้กับนักเขียนชื่อดังชาวสก็อต Sir Walter Scott, บริเวณรอยัลไมล์ หมายถึง ถนนเชื่อมโยงปราสาท Edinburgh Castle และ Palace of Holyroodhouse ถนนที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของทาวน์เฮาส์ โบสถ์ และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์บนเส้นทางสัญจรที่สวยงาม

ปราสาทเอดินบะระ (Edinburgh Castle)

โดยเฉพาะ โบสถ์ Greyfriars และ Greyfriars Bobby, Calton Hill และอนุสาวรีย์แห่งชาติสกอตแลนด์, วิหาร St. Giles, หอศิลป์แห่งชาติของสกอตแลนด์ และที่สำคัญในเมืองเอดินบะระยังเป็นเมืองที่มีแหล่งสำรองน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป

           อาตมาสนใจที่สุดคือ ด้านการศึกษา เพราะในเมือง Edinburgh มีมหาวิทยาลัยอยู่ ๓ แห่งด้วยกันคือ มหาวิทยาลัยเอดินบะระ มหาวิทยาลัยแฮเรียต-วัตต์ และมหาวิทยาลัยเนเปียร์ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอดินบะระ เป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง

ศิษย์เก่าจากที่นี่ที่คนทั่วโลกรู้จัก เช่น  ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยา ผู้เสนอทฤษฎีวิวัฒนาการ, เซอร์อาร์เทอร์ โคนัน ดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle) นักประพันธ์, เดวิด ฮูม (David Hume) นักคิด นักปรัชญา และนักเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของยุโรป คือ อเล็กซานเดอร์ แกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) ผู้คิดค้นและนักประดิษฐ์โทรศัพท์เครื่องแรกของโลก, เจมส์ เคลิร์ก แมกซ์เวลล์ (James Clerk Maxwell) นักฟิสิกส์ บิดาแห่งทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า

           และบุคคลที่อาตมาสนใจเป็นพิเศษเพราะเคยได้อ่านแนวคิดเข้ามาบ้างคือ อดัม สมิธ (Adam Smith) ถือว่าเป็นนักปรัชญาด้านเศรษฐศาสตร์ที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกรู้จัก ซึ่ง อดัม สมิท ได้มาทำงานในเมืองนี้และใช้ชีวิตจนถึงวาระสุดท้ายของเขา

           นอกจากเมืองหลวงแล้ว ยังมีอีกหลายเมืองที่สำคัญ เช่น เมืองกลาสโกว์เป็นศูนย์กลางทางการเงินและการท่องเที่ยว และเมืองอเบอร์ดีนที่เป็นศูนย์กลางการค้าน้ำมันของยุโรปอีกด้วย และได้แบ่งเขตการปกครองอีกหลายเมือง คือ อินเวอร์ไคลด์, เรนฟรูว์เชอร์, เวสต์ดันบาร์ตันเชอร์, อีสต์ดันบาร์ตันเชอร์, นครกลาสโกว์, อีสต์เรนฟรูว์เชอร์, นอร์ทแลนาร์กเชอร์, ฟอลเคิร์ก, เวสต์โลเทียน, มิดโลเทียน, อีสต์โลเทียน, แคล็กแมนนันเชอร์, ไฟฟ์, นครดันดี, แองกัส, แอเบอร์ดีนเชอร์, นครแอเบอร์ดีน, มะรีย์, ไฮแลนด์, เอาเตอร์เฮบริดีส (นาเฮลานันเชียร์), อาร์ไกล์และบิวต์, เพิร์ทและคินรอสส์, สเตอร์ลิง, นอร์ทแอร์เชอร์, อีสต์แอร์เชอร์, เซาท์แอร์เชอร์, ดัมฟรีสและแกลโลเวย์, เซาท์แลนาร์กเชอร์, สกอตติช, บอร์เดอส์, ออร์กนีย์, เชตแลนด์

           ปัจจุบันจำนวนประชากรของสกอตแลนด์ในปัจจุบันนั้นประมาณ ๕,๔๒๔,๘๐๐ คน สกุลเงินที่ใช้คือเงินปอนด์สเตอร์ลิง ภาษาที่ใช้เป็นทางการ คือ ภาษาอังกฤษ (English) ภาษาแกลิก Gaelic และภาษาสก็อต (Scots) ดอกไม้ประจำชาติ คือดอกธิสเซิล (Thistle) ส่วนธงประจำชาติของสกอตแลนด์มีพื้นหลังสีฟ้า และมีกากบาทสีขาวทับอยู่ ธงนี้เรียกว่า The Saltire ส่วนของกากบาทสีขาวเป็นสัญลักษณ์แทนไม้กางเขนของเซนต์แอนดรูว์ด้วย ซึ่งเซนต์แอนดรูว์ คือ ๑ ใน ๑๒ อัครสาวกของพระเยซู และจะมีอีกธงหนึ่งที่มักเห็นอยู่คู่กับธงชาติตลอดเรียกว่าธง The Lion Rampant ซึ่งมีลักษณะพื้นเป็นสีทองมีสิงโตยืนด้วยขาหลัง เดิมทีธงนี้จะใช้เฉพาะกับราชวงศ์เท่านั้น เหตุที่มีภาพของสิงโต นั้นหมายถึง เป็นสัตว์ที่มีพละกำลังและความแข็งแกร่ง ดูมีบารมี ยิ่งใหญ่ จึงเหมาะแก่การเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์

           ดังนั้น จากที่อาตมาได้กล่าวมาทั้งหมด ไม่ได้พูดลงลึกเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่อาตมาพยายามพูดให้เห็นความเป็นมาของสกอตแลนด์ ภาพรวมทั้งหมดของสกอตแลนด์ เพื่อให้เห็นว่าเป็นรูปร่างหน้าตาอย่างไร ซึ่งในตอนต่อไปก็จะได้พูดเจาะทีละประเด็นพร้อมสะท้อนมุมมองต่าง ๆ ให้เห็นภาพชัดมากยิ่งขึ้น

           อย่างไรก็ตามมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้อาตมาฉุกคิดอยู่ตลอดคือ “ความทุกข์ของคน” กล่าวคือ ก่อนที่อาตมาจะมาปฏิบัติศาสนกิจเป็นพระธรรมทูตที่สกอตแลนด์ อาตมาได้มีโอกาสไปเป็นพระธรรมทูตที่ประเทศมาเลเซีย ๓ เดือน และที่ประเทศญี่ปุ่นอีก ๓ เดือน แม้ว่าด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จะมีความแตกกันกันไป แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เห็นเหมือนกันคือความทุกข์ของคน

บางวันเห็นหญิงสาววัยรุ่นยืนโทรศัพท์อยู่ข้างป้ายรถเมล์พร้อมยืนร้องให้ฟูมฟาย ไปร่วมงานศพเห็นคนในงานศพเสียใจร้องให้ บางวันเห็นคู่รักต้องพูดคุยทะเลาะกันด้วยอารมณ์โทสะ โมโห เมื่อไปเข้าโรงพยาบาลเห็นคนป่วย

           เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วไม่ว่าจะเพศไหน ศาสนาอะไร เชื้อชาติใด และความเจริญของสังคมแตกต่างกันเพียงใด แต่สุดท้ายสิ่งที่คนในสังคมโลกมีเหมือนกันคือ “ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ” และจะต้องเดินไปหาควมตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ดังในเทวทูตสูตรตอนหนึ่งที่พระพุทธองค์ตรัสถึง คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ และคนตาย ว่า

“มาณพเหล่าใดอันเทวทูตตักเตือนแล้วยังประมาทอยู่ มาณพเหล่านั้นเข้าถึงหมู่อันเลว ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน ส่วนสัตบุรุษเหล่าใดเป็นผู้สงบในโลกนี้ อันเทวทูตตักเตือนแล้ว ไม่ประมาทในอริยธรรมในกาลไหนๆ เห็นภัยในความยึดมั่นถือมั่น ที่เป็นบ่อเกิดแห่งความเกิดและความตาย เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นจึงหลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งความเกิดและความตาย สัตบุรุษเหล่านั้นจึงถึงซึ่งความเกษม มีสุข ดับสนิทในปัจจุบัน”

เขียนธรรมสื่อถึงโลก

จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๑๓ “เทวทูต ณ ดินแดนสกอตแลนด์”

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

นสพ. คมชัดลึกหน้าธรรมวิจัย วันอังคารที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒

พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๑๓

“มนเสน่ห์ การศึกษา และ เทวทูต ณ ดินแดนสกอตแลนด์”

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม พระธรรมทูต ประเทศสกอตแลนด์ ผู้เขียน


.

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here