จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๔ (ตอนที่ ๕) “มฆมาณพ และวัตรบท ๗ ประการ” จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

คำนำผู้เขียน

ความตั้งใจเดิมมาจากการที่ผู้เขียนเห็นว่า ปู่กับย่า มีอายุมากแล้ว ผู้มีอายุย่าง ๘๐ ปี ไม่ต่างอะไรจากไม้ใกล้ฝั่ง จึงคิดจะให้ปู่กับย่ามีธรรมะได้อ่านได้ฟัง จะได้เป็นที่พึ่งทางใจยามวัยชรา

โดยมีความมุ่งหวังว่า แม้โยมปู่กับโยมย่าจะไปทำบุญที่วัดไม่ได้ เหมือนเมื่อครั้งร่างกายยังแข็งแรง แต่ก็สามารถทำบุญอยู่กับบ้านได้ตลอดทั้งวัน

การเข้าวัดฟังธรรมดูเป็นการยากสำหรับวิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบัน ด้วยภาระหน้าที่ทางสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น

หนังสือเล่มนี้ได้ทำหน้าที่บอกเล่า เรื่องการทำบุญและการปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ ที่บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจวบจนหัวถึงหมอน ผ่านจดหมายธรรมะที่เขียนถึงปู่กับย่า ในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ – ๒๕๔๖

เหมาะสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน อยู่ที่บ้าน หรือที่ทำงานก็สามารถทำบุญได้ครบ ทั้งทาน ศีล ภาวนา

พระมหาเทอด ญาณวชิโร

มกราคม วันเริ่มต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๗

“ตาวติงสภูมิ” โลกของเทวดาชั้นที่ ๒

“มฆมาณพ และวัตรบท ๗ ประการ”

ตาวติงสภูมิ  หรือที่เราทราบกันโดยทั่วไปว่า “สวรรค์ชั้นดาวดึงส์” เทวโลกชั้นนี้เป็นที่อยู่ของพระอินทร์  มีชื่อเรียกหลายชื่อ “ท้าวสักกะ” ก็เรียก “ท้าวมฆวะ” ก็เรียก “ท้าววชิรหัตถ์” ก็เรียก “ท้าวสหัสสนัยน์” ก็เรียก “ท้าวสหัสสเนตร” ก็เรียก “ท้าววาสวะ” ก็เรียก  แต่เราทราบกันโดยทั่วไปว่า “พระอินทร์”

นอกจากนั้น เรายังรู้จักพระอินทร์  ในฐานะเทวดาผู้เปี่ยมด้วยเมตตา  คอยช่วยเหลือคนดีที่ตกทุกข์ได้ยาก  พระอินทร์ในอดีตชาติมีชื่อว่า “มฆมาณพ” มีบริวารที่เคยทำบุญร่วมกันมา ๓๒ คน รวมเป็น ๓๓ คน  กับพระอินทร์เอง  หลังจากตายจึงไปเกิดในสวรรค์ชั้นเดียวกันทั้ง ๓๓ คน  สวรรค์ชั้นนี้จึงได้ชื่อว่า “ตาวตึงสะ หรือดาวดึงส์  แปลว่า สวรรค์เป็นที่อยู่ของเทวดา ๓๓ องค์” เทวโลกชั้นนี้มีเทวบุตรอยู่ องค์หนึ่งชื่อ “เอราวัณ” ที่เราเคยเห็นรูปปั้นช้าง ๓ เศียร  นั่นแหละช้างเอราวัณพาหนะของพระอินทร์ และ เทวดา ๓๒ องค์บนเทวโลกชั้นนี้

ความจริง  ช้างเอราวัณเป็นเทพบุตรเหมือนกัน  แต่เนื่องจากบนสวรรค์ไม่มีสัตว์ เดรัจฉาน  ดังนั้น  เมื่อเทพบุตร ๓๓ องค์นั้นจะเดินทางไปไหนมาไหน  เทพเอราวัณก็จะอธิษฐานตนเป็นช้างใหญ่ ๓ เศียร  เพื่อเป็นพาหนะ  ว่ากันว่า  เมื่อครั้งพระอินทร์  ทำบุญอยู่ในเมืองมนุษย์  ท้าวเธอก็เคยใช้ช้างตัวนี้เป็นพาหนะ  ในการเดินทางไปทำบุญ  ด้วยอานิสงส์นั้น  ช้างเลยได้ไปเกิดเป็นเทพมีชื่อว่า “เอราวัณ”  มีพละกำลังมหาศาล  จะเป็นรองก็แต่พญาช้างครีเมขล์  พาหนะของพญาวสวัตตีมาราธิวาช  ที่ขี่มาผจญพระพุทธเจ้าวันตรัสรู้เท่านั้น

วัตรบท ๗ ข้อปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอินทร์

เมื่อพระอินทร์เป็นมนุษย์  ได้ตั้งใจสมาทานข้อวัตรปฏิบัติ ๗ ข้ออย่างเคร่งครัด  เรียกว่า “วัตรบท ๗ ประการ” คือ

(๑) มาตาเปติภาโร  จะเลี้ยงมารดาบิดาตลอดชีวิต

(๒) กุละเชฏฐาปะจายิโน  จะให้ความเคารพผู้มีอายุในวงศ์ตระกูลตลอดชีวิต

(๓) สัณหะวาโจ จะพูดคำสุภาพอ่อนหวานตลอดชีวิต

(๔) อะปิสุณะวาโจ หรือ เปสุเณยยัปปะหายี  จะไม่พูดส่อเสียด  จะพูดแต่ คำให้เกิดความรักความสามัคคี ตลอดชีวิต

(๕) ทานะสังวิภาคะระโต  หรือ  มัจเฉระวินะโย  จะยินดีที่ได้ให้ทานแบ่งปันผู้อื่น  หรือจะเป็นคนปราศจากความตระหนี่ตลอดชีวิต

(๖) สัจจะวาโจ  จะเป็นคนมีสัจจะพูดแต่ความจริงตลอดชีวิต

(๗) อะโกธะโน หรือ โกธาภิกู จะเป็นคนไม่มีนิสัยมักโกรธ  หรือหากความโกรธเกิดขึ้น  จะระงับความโกรธลงให้ได้ทันทีตลอดชีวิต

ข้อวัตรปฏิบัติทั้ง ๗ ข้อนี้เอง  เมื่อครั้งพระอินทร์เกิดเป็นมนุษย์  ได้ตั้งใจสมาทานปฏิบัติตลอดชีวิต  ทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ไม่ขาดสาย  ผลทำให้ไปเกิดเป็นพระอินทร์  เราอาจลองตั้งใจอย่างพระอินทร์ดูบ้างก็ได้  เอาเฉพาะอย่างการหักห้ามความ โกรธ  ความฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด  หุนหันพลันแล่น  แม้จะทำได้ยากเต็มทน  แต่ถ้าทำได้ (เป็นบางครั้ง) เราจะรู้สึกมีความสุขใจอย่างประหลาด ที่สามารถเอาชนะความโกรธได้ ซึ่งก็เท่ากับว่า เป็นการชนะตนเอง

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๔ (ตอนที่ ๕) “มฆมาณพ และวัตรบท ๗ ประการ” จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร) พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here