วันนี้วันพระ วันพุธที่ ๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๕ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓

“การทำบุญนั้น ไม่จำเป็นต้องไปขวนขวายแแสวงบุญจากที่ไหน เพราะบุญอยู่ในตัวเรา จึงควรขวนขวายแแสวงบุญในตัวเรานี้แหละ เราสามารถทำบุญได้ตลอดทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจวบจนเมื่อหัวถึงหมอน กายเป็นที่ตั้งแห่งบุญ วาจาเป็นที่ตั้งแห่งบุญ ใจเป็นที่ตั้งแห่งบุญ แสวงบุญจากกาย วาจา ใจ ด้วยการทำดี พูดดี คิดดี ตลอดวัน เราก็สามารถทำบุญได้ตลอดวัน”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๔ (ตอนที่ ๑๑)

“พรหม : ชีวิตที่อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่เรารับรู้ได้ ”

: จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ต่อไปนี้ จะพูดถึงพรหมโลกชั้นต่างๆ ให้โยมฟัง  ส่วนรายละเอียดประวัติความเป็นมา  จะขอกล่าวเฉพาะชั้นที่สำคัญและเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าของเราพอเป็นอุทาหรณ์เท่านั้น

พรหม ๒๐ ชั้นมีดังนี้

๑.พรหมปาริสัชชา      พรหมโลกชั้นที่ ๑

๒.พรหมปุโรหิตาภูมิ    พรหมโลกขั้นที่ ๒

๓.มหาพรหมภูมิ          พรหมโลกชั้นที่ ๓

 ที่ได้ชื่ออย่างนี้  เพราะเป็นที่อยู่ของพรหมผู้ใหญ่ทั้งหลาย  เมื่อว่าโดยอายุก็มีอายุยืนยาวมาก  จนทำให้พรหมมากที่เกิดในชั้นนี้  เข้าใจไขว้เขวไปต่างๆ ก็มีคือ  เข้าใจไปว่าตนเองไม่แก่และไม่ตาย  ตัวอย่างที่พอจะเล่าให้ฟังก็คือ พกาพรหม  ตามที่ปรากฏในบทถวายพรพระ ที่พระสงฆ์ท่านใช้ในสวดเวลาที่เราทำบุญในโอกาสต่างๆ ข้อความในบทถวายพรพระมีดังนี้

ทุคคาหะหิฏฐิภุชะเคนะ  สุทัฏฐะหัตถัง

พรัหมัง  วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง

ญาณาคะเทนะ  วิธินา  ชิตะวา  มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ได้ทรงชนะพรหมชื่อพกะ  ผู้สำคัญตนว่ามีความบริสุทธิ์  มีรัศมี  เรืองอำนาจ และมีฤทธิ์  ไม่มีใครยิ่งกว่า  จึงเกิดความเห็นผิดไปว่า  ชีวิตของพรหมเป็นชีวิตที่เป็นอมตะ  จึงโต้แย้งคำสอนของพระพุทธองค์  เปรียบเหมือนคนถูกงูกัดที่มือ  พระจอมมุนี  ทรงใช้วิธีแสดงพระญาณครอบญาณให้กว้างกว่า  ทำให้พรหมหมดความเห็นผิดจึงได้รับชัยชนะ  ด้วยเดชานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ผู้เป็นจอมมุนี  ที่ได้ทรงชนะพรหมชื่อพกะนั้น  ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน

พกามหาพรหม  บังเกิดในพรหมโลกชั้นมหาพรม  มีอายุยืนนานจนเกิดความคิดว่า  ตนไม่แก่และไม่ตาย  ยินดีกับคำยกยอที่มนุษย์สรรเสริญมหาพรหมว่าเป็นผู้ประเสริฐยิ่งนัก  เป็นผู้มีศักดานุภาพยิ่งใหญ่นัก  เป็นผู้สร้างโลก  สร้างสัตว์น้อยใหญ่  และสรรพสิ่งให้เกิดขึ้นในโลก  เป็นผู้มีตบะยิ่งนัก  มีอำนาจเหนือสิ่งทั้งปวง  พกาพรหมเกิดทิฐิวิบัติไปว่า  นิพพานที่พระพุทธเจ้าพูดถึงกันนั้น  เป็นสิ่งไร้สาระ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทรงทราบวาระจิตของพกามหาพรหม  จึงได้เสด็จไปยังพรหมโลก  ท้าวพกาพรหมเห็นเข้า  จึงเกิดความยินดีที่จะได้ หักล้างคำสอนของพระพุทธเจ้า  ท้าวพกาพรหมกล่าวว่า  สิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นของเที่ยง  ตั้งมั่นยั่งยืน  ไม่เปลี่ยนแปลง  คงทนถาวรไม่มีที่สิ้นสุด  ไม่ รู้จักแก่  ไม่รู้จักตาย  ไม่มีความทุกข์เกิดแก่ผู้ใด  มีแต่ความสุขเบิกบาน  ทุกข์  เพราะการเกิด  ทุกข์เพราะความเจ็บ  ทุกข์เพราะความแก่  และทุกข์เพราะความตายไม่มี

พระพุทธองค์ตรัสเตือนว่า  แม้ท่านจะมีเดชานุภาพมาก  มีรัศมีส่องสว่างไปเป็นหมื่นโลก  แต่หากไฟกิเลสยังเผาผลาญจิตใจอยู่เช่นนี้  จะชื่อว่าอยู่สุขสำราญได้อย่างไร  แม้ท่านจะชื่อว่า เป็นผู้มีศักดานุภาพมาก  แต่ก็ไม่อาจล่วงรู้ไปถึงที่อยู่ของพรหมชั้นสูงขึ้นไป  ทั้งวิธีการที่จะไปเกิดในพรหมชั้นสูงๆ นั้นก็ไม่รู้

ท้าวพกาพรหมกล่าวตอบพระพุทธเจ้าว่า  พระพุทธองค์กล่าวเช่นนี้  เหมือนโอ้อวดว่ามีศักดานุภาพมากสามารถล่วงรู้พรหมโลกเบื้องสูงแต่ผู้เดียว  แม้ ตัวเองมีศักดานุภาพยิ่งหาใครเสมอมิได้  ก็ยังไม่โอ้อวดไปว่ารู้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า  พกาพรหมกล่าวเหมือนตนเองมีฤทธิ์มาก  ถ้าเช่นนั้น  ท่านจงแสดงฤทธิ์หายตัวไป  อย่าให้เราเห็นได้เดี๋ยวนี้  ท้าวพกาพรหมคิดว่าตนเองมีศักดานุภาพหาใครเสมอมิได้  จึงรับคำท้า  แล้วหายตัวไป  แต่จะหายตัวไปซ่อนเร้นที่ไหน  พระพุทธเจ้าก็แสดงฤทธิ์  สามารถมองเห็นได้จนท้าวมหาพรหมจนปัญญา  เจ่าจุกอยู่ ณ วิมานของตน  และ พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงฤทธิ์ด้วยการหายตัวไป  ยังปรากฏอยู่ก็แต่เสียงเทศนาของพระพุทธเจ้าที่ดังก้องไปทั่วพรหมโลก  ส่วนตัวนั้น  หาปรากฏไม่

เมื่อครั้งมีชาติเป็นมนุษย์  พกาพรหมนั้นมาพิจารณา  เห็นว่า การครองเรือนมีแต่ความทุกข์  จึงสละทรัพย์สมบัติออกบวชเป็นฤๅษี  บำเพ็ญพรตจนได้ฌานขั้นที่๔ (จตุตถฌาน) ตายไปเกิดในพรหมโลกชั้นเวหัปผลา  เสื่อมจากฌานขั้นที่ ๔ ตายไปแล้วลดลงมาเกิดในพรหมโลก  ชั้นสุภกิณหา  เมื่อฌานขั้นที่ ๓ เสื่อม  ตายไปแล้วลดลงมาเกิดในพรหมโลกชั้น  อาภัสสรพรหม  ครั้นฌานขั้นที่ ๒ เสื่อมจึงลดชั้นลงมา  เกิดในพรหมโลกชั้น มหาพรหม

พรหมโลกแต่ละชั้นก็มีอายุยืนนานมาก  เพราะความที่พกาพรหมเกิดวนเวียนอยู่แต่ในพรหมโลก  พกาพรหม จึงเข้าใจไปว่า  ตนและสรรพสิ่งเที่ยงแท้ไม่ แปรเปลี่ยน  ไม่แก่และไม่ตาย

๔.ปริตตาภาภูมิ  พรหมโลกชั้นที่ ๔

๕.อัปปมาณาภาภูมิ  พรหมโลกชั้นที่ ๕

 ๖.อาภัสสราภูมิ  พรหมโลกชั้นที่ ๖

๗.ปริตตสุภาภูมิ  พรหมโลกชั้นที่ิ ๗

๘.อัปปมาณาสุภาภูมิ  พรหมโลกชั้นที่ ๘

๙.สุภกิณหาภูมิ  พรหมโลกชั้นที่ ๙

๑๐.เวหัปผลาภูมิ  พรหมโลกชั้นที่ิ ๑๐

๑๑.อสัญญสัตตาภูมิ  พรหมโลกชั้นที่ ๑๑

๑๒.อวิหาภูมิ  พรหมโลกชั้นที่ ๑๒

๑๓.อตัปปาภูมิ  พรหมโลกชั้นที่ ๑๓

 ๑๔.สุทัสสาภูมิ พรหมโลกชั้นที่ ๑๔

 ๑๕.สุทัสสีภูมิ  พรหมโลกชั้นที่ ๑๕

๑๖.อกนิฏฐภูมิ  พรหมโลกชั้นที่ ๑๖

 พรหมโลกชั้นอกนิฏฐภูมินี้  เป็นที่อยู่ของพรหมผู้มีศีล  สมาธิ และปัญญา  อันยิ่งกว่าล้ำเลิศสูงกว่าพรหมทุกชั้นข้างต้น  และเป็นพรหมชั้นสุดท้าย  ที่มีรูปร่างละเอียดประณีตยิ่ง  สูงขึ้นไปจากอกณิฐพรหมนี้  เป็นพรหมที่ไม่มีรูปร่างแต่ อยู่ด้วยจิตและเจตสิกและเจตสิกนี้  หมายถึง ภาวะที่จิตรับรู้ได้

พรหมโลกชั้นอกณิฏฐะนี้  ปรากฏว่า  เจดีย์ที่สำคัญองค์หนึ่งชื่อ  “ทุสเจดีย์”  เมื่อครั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราจะออกบวชนั้น  พรหมทั้งหลายที่อยู่ในชั้นอกนิฏฐะนี้  ได้พากันถือเอาบริขารและผ้าไตรจีวร  เครื่องใช้สำหรับผู้บวชมาจากพรหมโลก  เพื่อให้พระโพธิสัตว์ ผู้จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว  เมื่อพระโพธิสัตว์รับเอาผ้าไตรมาครองแล้ว  ได้ยื่นผ้าขาวที่พระองค์ทรงก่อนบวชให้แก่พรหม  ท้าวมหาพรหมรับผ้าขาวนั้นมาแล้ว  นำไปยังอกนิฏฐพรหมโลก  เนรมิตเจดีย์แก้วชื่อว่า “ทุสเจดีย” บรรจุผ้าขาวนั้นไว้สักการบูชา

ว่ากันว่า  แม้ในปัจจุบันยังปรากฏมีพรหมเป็นจำนวนมาก  พากันมาสักการะทุสเจดีย์  ที่บรรจุผ้าขาววันออกบวชของพระพุทธเจ้ามิได้ขาด

อรูป​พรหม ๔​ ชั้น​ มี​ดังนี้

๑๗.​อา​กาสา​ณัญจาย​ตน​ภูมิ ​พรหม​โลก​ชั้น​ที่ ​๑๗

๑๘.​วิญญาณัญจาย​ตน​ภูมิ  พรหม​โลก​ชั้น​ที่ ​๑๘

๑๙.​อา​กิญจัญญาย​ตน​ภูมิ    พรหม​โลก​ชั้น​ที่ ๑๙​

๒๐.​เนว​สัญญา​นา​สัญญาย​ตน​ภูมิ  พรหม​โลก​ชั้น​ที่ ​๒๐

ความ​ละเอียด​ประณีต​และ​อายุ​ของ​เทวดา​ใน​แต่ละ​ชั้น  ​ดู​จะ​เป็น​เรื่อง​ที่​เข้า​ใจ​ได้​ยากเพราะ​อยู่​นอกเหนือ​จาก​สิ่ง​ที่​เรา​สามารถ​รับรู้ได้  เกินกำลัง​สติปัญญา​ของ​มนุษย์​จะ​ทำความ​เข้า​ใจ​ได้

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๔ (ตอนที่ ๑๑) “พรหม : ชีวิตที่อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่เรารับรู้ได้ ” : จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here