วันนี้วันพระ วันอาทิตย์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓

ศึกษาที่มาและความหมายของการตั้งจิตอธิษฐานเพื่อบรรลุโพธิญาณของสุเมธดาบสถึงพระพุทธเจ้า

เรียนรู้…

บททดสอบ
ศักยภาพของมนุษย์ สะท้อนให้เห็น

ค่าแห่งคำอธิษฐาน

การตั้งความปรารถนาอย่างแน่วแน่
ที่จะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้บรรลุเป้าหมาย
เป็นเรื่องของใจที่มุ่งมั่นจะทำเรื่องที่กำหนดไว้ให้สำเร็จ
จะสำเร็จได้หรือไม่นั้น อยู่ที่การลงมือทำด้วยตนเอง.

ค่าแห่งคำอธิษฐาน

๔. พรหมวิหาร สมเด็จพระสังฆราช(อยู่ ญาโณทยมหาเถร)

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ในหนังสือ “ญาโณทยปกรณ์ (คัมภีร์ญาโณทัย) งานสมโภชพระสุพรรณบัฏ พระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ วันที่ ๒๒-๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๖ ได้บันทึก พระพรของสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ ไว้ว่า
              พระพุทธโฆสมหาเถระ ชาวพุทธคยา ได้อาศัยพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวดังต่อไปนี้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นมารดา พระธรรมเป็นบิดา พระสงฆ์เป็นพี่
              ด้วยอำนาจที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นมารดา เพราะทรงคลอดพรหมจรรย์ ด้วยอำนาจที่พระธรรมเป็นบิดา เพราะความเป็นพรหมในทางศาสนา ด้วยอำนาจที่พระสงฆ์เป็นพี่ เพราะร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ขอหญิงและชายที่มาในที่นี้ และมิได้มาในที่นี้ จงมั่งคั่งและไม่มีโรค ปราศจากทุกข์ และไม่มีอุปัทวันตราย ขอภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย จงได้รับอานิสงส์แห่งการปฏิบัติชอบ อันมีสุขเป็นกำไร
              ด้วยอานุภาพและด้วยเดชแห่งพระรัตนตรัย ด้วยอำนาจแห่งบุญที่ได้ทำแล้วแต่ก่อนก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ทุกเมื่อจงเป็นเหตุให้ชาติไทยรุ่งเรือง พระศาสนาปราศมลทิน
              ขอพระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระชนมายุยืนยาว พร้อมทั้งพระบรมราชินีนาถ พระโอรสพระธิดา พระประยูรญาติและข้าราชบริพาร พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนี พระบรมวงศานุวงศ์ อย่าได้มีความคับแค้นพระทัย ภัยในลัทธิไหนๆ ก็ไม่มี ขอคณะรัฐบาล พร้อมทั้งอำมาตย์และข้าราชการ จงมีความสุข ขอการกินดีอยู่ดีจงมีอย่างสมบูรณ์แก่ประชาชนทั้งหลาย ขอความยินดีปรีดาปราโมทย์ ซึ่งประกอบด้วยประโยชน์และชอบธรรม จงมีทั่วกันเทอญ.      


              จากพระพรของสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ซึ่งมาจากพระธรรมในภาคปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ตลอดชีวิตของพระองค์สู่ปฏิเวธ  ทำให้พระพรของพระองค์ทรงมีพลานุภาพ
              ด้วยเหตุนี้ จากการปฏิบัติจริงของพระสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลกที่มีมาก่อนเกิดแผ่นดินไทย  ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์  นับตั้งแต่ทรงสร้างราชธานีสุโขทัยเป็นต้นมา จึงทรงมีศรัทธาปสาทะและทรงตั้งพระหฤทัยเป็นพุทธมามกะ  ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชขึ้นมาเป็นประธานของคณะสงฆ์  ให้ทรงดูแลและปกครองคณะสงฆ์ให้เกิดความร่มเย็นเป็นที่พึ่งของพุทธบริษัทและชาวไทยทุกคน  ดังมีหลักฐานจากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้จารึกคำว่า “สังฆราช” ไว้ด้วย 
              การที่ประเทศไทยเรามีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ  ดังพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  รัชกาลที่ ๙   ในวันพระราชพิธีทรงพระผนวช  ในเดือนตุลาคม และทรงออกผนวชเป็นเวลา ๑๕ วัน ระหว่างวันที่ ๒๒ ตุลาคม – ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๙  ตอนหนึ่งว่า

“พุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติของเรา

มีคำสั่งสอนให้คนประพฤติตนเป็นคนดี

และเพียบพร้อมด้วยบรรดาสัจธรรม

อันชอบด้วยเหตุผลอันน่าเลื่อมใสยิ่งนัก”

 การที่พระเจ้าแผ่นดินสถาปนาพระพุทธศาสนาเป็นหนึ่งหลักสำคัญของแผ่นดิน ทำให้เราเห็นว่า ชาติ พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์ นั้นเป็นสถาบันสำคัญที่รวมใจคนไทยให้เป็นหนึ่ง  ประดุจพระรัตนตรัยที่ประกอบด้วย พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นฐานอันมั่นคงที่จะทำให้พุทธบริษัทขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน จากพุทธศักราชที่ ๑ มาจนถึงปัจจุบันสองพันหกร้อยกว่าปี
              ดังพระพรของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย)  ได้บ่งบอกถึงการตั้งพระหฤทัยในการอธิษฐานเพื่อให้เกิดความร่มเย็นป็นสุขอย่างถ้วนหน้า โดยอาศัยพลังบารมีที่พระองค์ทรงกระทำมาตลอดชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์เป็นหลักในการอำนวยพร

พรหมวิหารธรรม ทำความสงบให้บังเกิด

              แม้ช่วงระยะเวลาเพียงสองปี  ที่สมเด็จพระสังฆราช(อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช  ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจทุกอย่าง เพื่อความสงบสุขของสังฆมณฑล โดยมิทรงคำนึงถึงความชราภาพ  แม้จะทรงได้รับโปรดเกล้าสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชท่ามกลางความไม่เข้าใจกันของคณะสงฆ์  พระองค์ก็ทรงเป็นที่พึ่งของคณะสงฆ์ทุกฝ่าย 
              เมื่อมีผู้กราบทูลพระองค์เสด็จมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  แม้จะมีทูลผู้ทัดทาน เพราะเกรงจะเป็นที่ครหา อันเนื่องมาจาก ในขณะนั้น มีพระผู้ใหญ่ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถูกกล่าวหาว่า ต้องอาบัติปาราชิก และถูกจับกุมไปคุมขังไว้  ในข้อหามีการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ  แต่ก็ทรงวางพระองค์ในพรหมวิหารธรรม  ทรงมุ่งความสงบสุขแห่งสังฆมณฑล  ได้เสด็จไปบำเพ็ญพระกรณียกิจที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ตามที่มีผู้กราบทูล  โดยมิได้คำนึงสักว่าจะเป็นข้อครหาตามที่มีผู้มาทัดทาน 
              ทรงรับสั่งกับผู้ทัดทานว่า  “สังฆราช” ไม่ใช่ “สังฆราชี” (ความแตกแยกแห่งสงฆ์)
              เหตุการณ์สำคัญที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเสด็จมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในขณะที่กำลังเผชิญกับมรสุมแห่งคลื่นลมแรง ได้นำความชุ่มเย็นมาสู่มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้  และสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากไปได้  เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เล่าไว้อย่างละเอียดแล้ว ในหนังสือ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งลื่นลม” ซึ่งเป็นหนังสือจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานออกเมรุเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
              ซึ่งการเสด็จไปมหาจุฬาฯ ครั้งนั้นของพระองค์ท่านได้ให้โอวาทแก่พระนิสิต ซึ่งถือเป็นลูกหลานพระพุทธเจ้าด้วยกัน ด้วยวิหารธรรม “พรหมวิหาร ๔”  อันประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ว่า พระบรมศาสดาทรงแสดงว่า เป็นคุณธรรมสำหรับเป็นที่อยู่ของจิตใจแห่งพรหม คือผู้ใหญ่หรือผู้ประเสริฐ ทรงเรียกคุณธรรมนี้ว่าพรหมวิหาร เป็นธรรมเป็นที่อยู่ซึ่งมีทั้งความดีและความสุข


              เมตตา คือ ภาวะของจิตที่มีเยื่อใยไมตรีจิตมิตรใจ คิดเกื้อกูลด้วยสุขประโยชน์ ปราศจากอาฆาตพยาบาทขึ้งเคียดโกรธแค้น แสดงออกทางสีหน้า และสายตาที่สงบ แช่มชื่น มองดูด้วยสายตาอันแสดงถึงใจที่เอิบอาบด้วยความปรารถนาดีให้มีความสุข  ปราศจากความมุ่งร้ายที่เป็นภัยเวรทั้งปวง เมตตานี้เป็นพรหมวิหารธรรมข้อหนึ่ง ที่พึงอบรมให้มีขึ้นในจิต
              วิธีอบรม คือ ระวังใจมิให้โกรธแค้นขัดเคืองอาฆาตพยาบาท
              แต่เมื่อภาวะของจิตเช่นนั้นเกิดขึ้น ก็พยายามสงบระงับเสีย หัดคิดว่าตนเองรักสุข  ต้องการความสุขฉันใด คนอื่นสัตว์อื่นทั้งปวงก็ฉันนั้น และตนเองปรารถนาสุขแก่คนซึ่งเป็นที่รักที่พอใจฉันใด ก็ควรปรารถนาสุขแก่คนอื่นสัตว์อื่นฉันนั้น  เมื่อทำความสงบอาฆาตพยาบาท และทำไมตรีจิตมิตรใจให้เกิดขึ้นได้แล้ว ก็หัดแผ่จิตเช่นนี้ออกไปแก่คนอื่นสัตว์อื่นโดยเจาะจงหรือโดยไม่เจาะจงทั่วไป ด้วยใจที่คิดปรารถนาสุขประโยชน์ ดังเช่นคิดว่า
              “จงอย่ามีเวร อย่ามีเบียดเบียน อย่ามีทุกข์ มีสุข รักษาตนให้สวัสดีเถิด”
              ต่อมา พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนธรรม ก็คือทรงสั่งสอนให้ปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เป็นสามัญธรรมดานี้แหละให้เป็นธรรม คือเป็นคุณเกื้อกูลขึ้นมา คือให้ปรับปรุงความรักใคร่ปรารถนาสุขดังกล่าว ให้เป็นคุณอันบริสุทธิ์ที่เกื้อกูลกว้างขวางออกไป  มิให้มีคับแคบเฉพาะตนและคนซึ่งเป็นที่รักในวงแคบของตนหรือจำเพาะพวกของตน แต่ให้แผ่กว้างออกไปตลอดจนถึงไม่มีจำกัดไม่มีประมาณ และให้ปราศจากอาฆาตพยาบาท ทั้งให้บริสุทธิ์จากราคะสิเนหาด้วย
              เพราะว่าอาฆาตพยาบาทเป็นศัตรูที่ห่างของเมตตา  ราคะสิเนหาเป็นศัตรูที่ใกล้ของเมตตา ความรักใคร่ที่เป็นส่วนที่สามัญธรรมดาของโลกย่อมเจือด้วยสิ่งทั้งสองนี้  เป็นเมตตาอันบริสุทธิ์ย่อมปราศจากสิ่งทั้งสองนั้น
              ทางปฏิบัติอบรมก็ต้องอบรมสิ่งที่มีอยู่เป็นธรรมดาโลกนี้แหละให้เป็นธรรมขึ้นมา และก็ย่อมเป็นเครื่องคุ้มครองโลก ดังภาษิตที่ว่า

                            “โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา

เมตตาเป็นธรรมเครื่องคุ้มครองโลก”


              ฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสสอนไว้ ให้ยกตนเป็นพยานหรือเป็นอุปมาแปลความว่า  “ตนเองคิดค้นหาด้วยใจไปทั่วทุกทิศ ก็ไม่พบว่าใครจะเป็นที่รักไปกว่าตนในที่ไหน ๆ ตนของคนอื่นทั้งหลายก็เป็นที่รักมากของเขาเหมือนอย่างนั้น เพราะเหตุนั้นผู้ที่รักตน  จึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น”
              และให้ยกคนที่เป็นที่รักเป็นอุปมาว่า “พึงแผ่จิตถึงสัตว์ทั้งปวงด้วยเมตตา เหมือนอย่างเห็นคนผู้เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจแล้วเกิดไมตรีจิตมิตรใจรักใคร่ ฉะนั้น”
              ดังนั้นพระพุทธเจ้าทรง ให้หัดแผ่เมตตาเข้ามาในตนเองก่อน แล้วจึงแผ่ไปในคนอื่น ตั้งต้นแต่คนที่เป็นที่รัก เพราะจะแผ่ไปง่าย แล้วจึงแผ่ไปในคนที่เป็นกลาง แล้วจึงแผ่ไปในคนที่เป็นศัตรูไม่ชอบใจกัน  และให้เว้นคนที่จะก่อให้เกิดราคะสิเนหากับคนที่ตายไปแล้ว
              การแผ่เมตตาเข้ามาในตนเอง พระองค์ท่านอธิบายว่า เพราะจะต้องมีตนเป็นพยานอ้างอิงดังกล่าวข้างต้น พิจารณาดูก็จะเห็นได้ว่า ตนเองจะต้องมีสุขเพราะมีจิตใจสงบจากอาฆาตพยาบาทเสียก่อน อาฆาตพยาบาทนั้นเหมือนอย่างไฟที่เผาใจตนเองให้ร้อน และแผ่ความร้อนออกไปถึงคนอื่นด้วย
              ฉะนั้น ตนเองจึงเป็นบุคคลที่ควรเมตตาและแผ่เมตตาเข้ามาดับไฟที่เผาใจนี้ลงเสียก่อน ประพรมลงไปด้วยน้ำ คือเมตตา ซึ่งจะเปลี่ยนจิตใจจากภาวะที่ร้อนมาสู่ภาวะที่เย็นสนิทด้วยมิตรภาพไมตรี เมตตาจึงเป็นธรรมเครื่องทำใจตนเองให้อยู่เย็นเป็นสุข และแผ่ความเย็นความสุขออกไปถึงผู้อื่นอีกด้วย 
              เมตตาไม่พึงมีขอบเขต ไม่พึงมีระยะกาล ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะเช่นไร ณ ที่แห่งใด ในกาลเวลาไหน เมตตาพึงมีได้อย่างเต็มเปี่ยมโดยปราศจากอุปสรรค เพราะเมตตาไม่จำต้องอาศัยทรัพย์สิ่งของ เมตตาเป็นเรื่องของจิตใจโดยบริสุทธิ์แท้ เมื่อมีจิตใจที่มีเมตตาได้ด้วยกันทุกคน และก็พึงมีเมตตาอย่างยิ่งด้วยกันทุกคน เพราะไม่เป็นการต้องลงทุนลงแรงอย่างใดเลย เพียงแต่น้อมใจลงให้อ่อนละมุน  ไม่ใจแข็งใจดำ แม้เมื่อรู้เห็นอยู่ว่าเขาเป็นทุกข์ เพียงแต่น้อมใจลงปรารถนาให้เขาเป็นสุขโดยทั่วกันเท่านั้นเองก็เป็นการแสดงเมตตาแล้ว 
              กรุณา คือ ภาวะของจิตที่หวั่นไหวไปเพราะความทุกข์ของผู้อื่น เหมือนอย่างถ้าซื้อได้ก็จะซื้อความทุกข์ของเขา  คือจะช่วยทำความทุกข์ของเขาให้หมดสิ้นไปจึงมีอาการที่ทนเฉยอยู่ไม่ได้ ต้องขวนขวายช่วยเหลือเพื่อบำบัดทุกข์ ปราศจากความคิดเบียดเบียนซ้ำเติม เห็นใครตกอยู่ในความทุกข์ไม่มีที่พึ่ง ก็อดอยู่ไม่ได้ ต้องคิดช่วย กรุณานี้เป็นพรหมวิหารธรรมอีกข้อหนึ่งที่พึงอบรมให้มีในจิต
              วิธีอบรม คือ ระวังใจให้คิดเบียดเบียนใคร และหัดใจให้คิดว่าเมื่อตนเองมีทุกข์ก็ต้องการความช่วยเหลือฉันใด ผู้อื่นสัตว์อื่นก็ฉันนั้น
              ดังนี้แล้วก็หัดใจให้ไม่นิ่งดูดาย ให้ขวนขวายช่วยเปลื้องทุกข์ของผู้อื่นตามความสามารถหรือตามที่ควรจะทำได้ หัดแผ่จิตใจที่กรุณาออกไปแก่คนและสัตว์ทั้งหลาย โดยเจาะจง หรือโดยไม่เจาะจงทั่วไปด้วยความคิดว่า “จงพ้นจากความทุกข์เดือดร้อน”
              อันที่จริง ภาวะของจิตใจที่ต้องการความช่วยเหลือ ในเมื่อมีทุกข์ ย่อมมีอยู่เป็นสามัญธรรมดา แต่ยังเจือด้วย วิหิงสา คือความคิดเบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่นเพื่อให้ตนพ้นทุกข์ และยังมีความโศกโทมนัสในเมื่อได้เห็นทุกข์ของคนผู้เป็นที่รัก เพราะเป็นภาวะของจิตที่คับแคบ ต้องการให้ตนเองและคนผู้เป็นที่รักของตนพ้นทุกข์เท่านั้น
              พระบรมครูทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติอบรมปรับปรุงภาวะที่มีอยู่แล้วนี้แหละให้เป็นธรรมขึ้น  คือให้เป็นคุณอันบริสุทธิ์ที่เกื้อกูลกว้างขวางออกไป มิให้มีคับแคบเฉพาะตนและผู้ที่ตนรักหรือจำเพาะพวกของตน แต่ให้แผ่กว้างออกไปตลอดจนถึงไม่มีจำกัดไม่มีประมาณ และให้ปราศจากวิหิงสาความคิดเบียดเบียนและให้สงบความโศกโทมนัสในเพราะความทุกข์ของคน เป็นที่รักด้วย 
              เพราะว่าวิหิงสาเป็นศัตรูที่ห่างของกรุณา ส่วนความโศกโทมนัสเป็นศัตรูที่ใกล้ของกรุณา จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสสอนไว้ให้ยกตนเป็นพยาน หรือเป็นอุปมาเช่นเดียวกับในข้อเมตตาและให้ยกคนตกยากเป็นอุปมาว่า “พึงแผ่จิตถึงสัตว์ทั้งปวงด้วยกรุณา

เหมือนอย่างเห็นคนตกยากมีความลำบาก ก็เกิดกรุณาขึ้น ฉะนั้น”

ได้มีพระมหาสมณสุภาษิต แสดงไว้ว่า

                      “มหาปุริสภาวสฺส ลกฺขณํ กรุณาสโห

อัธยาศัยที่ทนอยู่ไม่ได้เพราะกรุณา เป็นลักษณะของมหาบุรุษ”


              ข้อนี้พึงเห็นดังเช่นพระกรุณาที่แสดงเป็นพระคุณลักษณะของพระพุทธเจ้าและพระมหากษัตริย์เจ้า                  
              มุทิตา คือ ภาวะของจิตที่บันเทิงยินดีในเมื่อผู้อื่นได้รับความสุขความเจริญด้วยสมบัติต่าง ปราศจากความริษยา เห็นใครพรั่งพร้อมด้วยสมบัติก็พลอยมีมุทิตา ตัดความยินร้ายไม่ยินดีด้วยเหตุที่ริษยาเสียได้ มุทิตานี้เป็นพรหมวิหารธรรมอีกข้อหนึ่งที่พึงอบรมให้มีขึ้นในจิต
              วิธีอบรม คือ ระวังใจมิให้ริษยาในเมื่อได้เห็นได้ทราบสมบัติ คือความพรั่งพร้อมต่าง ๆ ของผู้อื่น เมื่อความริษยาเกิดขึ้น ก็พยายามระวังเสีย หัดคิดว่า ตนเองมีความยินดีเมื่อตนได้สมบัติที่ชอบใจอย่างใดอย่างหนึ่ง
              ไฉนเมื่อคนอื่นเขาได้จึงจะไปริษยาเขา ควรจะพลอยยินดีกับเขา พิจารณาให้เห็นโทษของความริษยา เช่นว่า

“อรติ โลกนาฬิกา ความริษยาเป็นเหตุทำลายโลก”

เมื่อทำมุทิตาจิตให้เกิดขึ้นได้ ก็หัดแผ่จิตเช่นนี้ออกไปแก่คนอื่นสัตว์อื่นโดยเจาะจงหรือโดยไม่เจาะจงทั่วไปด้วยความคิดว่า “จงอย่าวิบัติ จากสิ่งที่ได้แล้ว”

อันที่จริง ภาวะของจิตที่ยินดีในเวลาได้สมบัติต่างๆ ย่อมมีอยู่ ในเมื่อตนหรือคนเป็นที่รักได้สมบัติเป็นสามัญธรรมดา แต่ยังเจือด้วยริษยาในเมื่อเห็นคนอื่นได้สมบัติ และแม้ในสมบัติที่ตนได้ก็ยังมีโสมนัสเจือตัณหา พระบรมครูทรงสั่งสอนให้ปรับปรุงภาวะที่มีอยู่แล้วนี้แหละให้เป็นธรรมขึ้น คือให้เป็นคุณอันบริสุทธิ์ที่เกื้อกูลกว้างขวางออกไป มิให้มีคับแคบเฉพาะตนและผู้ที่ตนรักเท่านั้น แต่ให้กว้างออกไปตลอดถึงไม่มีจำกัดไม่มีประมาณ โดยให้ปราศจากริษยา ทั้งปราศจากโสมนัสที่เลือกิเลสตัณหาด้วย
              เพราะว่าริษยาเป็นศัตรูที่ห่างของมุทิตา ส่วนความโสมนัสเป็นศัตรูที่ใกล้ของมุทิตา ฉะนั้น ก็พึงยกตนขึ้นเป็นพยาน หรือเป็นอุปมาเช่นเดียวกับในสองข้อข้างต้น และให้ยกบุคคลผู้เป็นที่รักขึ้นเป็นพยานหรือเป็นอุปมา
              ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนไว้ว่า

“พึงแผ่จิตถึงสัตว์ทั้งปวงด้วยมุทิตา

เหมือนอย่างเห็นบุคคลผู้เป็นที่รัก

เป็นที่พอใจ ก็บันเทิงยินดี ฉะนั้น”

อุเบกขา คือ ภาวะของจิตที่มีอาการเป็นกลาง เห็นเสมอกันในสัตว์บุคคลทั้งหลายในคราวทั้งสอง คือในคราวจะมีสุข ประสบสมบัติ และในคราวประสบวิบัติ ไม่ยินดียินร้าย มองเห็นว่าทุก ๆ คนมีกรรมที่ทำไว้เป็นของของตนจะพ้นจากทุกข์ จะไม่เสื่อมจากสมบัติที่ได้ ก็เพราะกรรม จึงวางเฉยได้ คือวาง ได้แก่ไม่ยึดถือไว้ วางลงได้ เฉย คือ ไม่จัดแจงวุ่นวาย ปล่อยให้เป็นไปตามกรรมหรือตามกำหนดของกรรม
              อุเบกขานี้เป็นพรหมวิหารธรรมอีกข้อหนึ่ง เป็นข้อสุดท้าย ที่พึ่งอบรมให้มีขึ้นในจิต วิธีอบรมคือระมัดระวังใจมิให้ขึ้นลงด้วยความยินดียินร้าย ทั้งในคราวประสบสมบัติทั้งในคราวประสบวิบัติ เมื่อภาวะของจิตเช่นนั้นเกิดขึ้นก็พยายามระงับใจ หัดคิดถึงกรรมและผลของกรรม หัดคิดวางลงไปให้แก่กรรม เหมือนอย่างให้กรรมรับผิดชอบเอาไปเสีย เมื่อทำจิตให้อุเบกขาได้ ก็หัดแผ่จิตเช่นนี้ออกไปแก่คนอื่นสัตว์อื่นโดยเจาะจงหรือโดยไม่เจาะจงทั่วไป  ด้วยความคิดว่า
              “ทุกสัตว์บุคคล มีกรรมเป็นของของตนเป็นทายาทรับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย ทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่วก็ต้องรับผลของกรรมนั้น”
              อันที่จริง ภาวะของจิตเป็นอุเบกขานี้ ย่อมมีอยู่เป็นสามัญธรรมดาในเวลาปรกติยังไม่มีอะไรมาทำให้เกิดความยินดียินร้าย แต่ยังเจือด้วยความไม่รู้ (อัญญาณ) และจะเปลี่ยนไปเป็นความยินดียินร้ายขึ้นได้โดยง่าย พระบรมครูทรงสั่งสอนให้ปรับปรุงภาวะที่มีอยู่แล้วนี้แหละให้เป็นธรรมขึ้น คือ ให้เป็นคุณอันบริสุทธิ์ที่เกื้อกูลกว้างขวางออกไปมิใช่ในเวลาที่ไม่มีเรื่องอะไรมากระทบจิตเท่านั้น แม้มีเรื่องมากระทบจิตให้ยินดียินร้ายก็ระงับได้ ทำใจให้สงบเป็นอุเบกขาได้ด้วยความรู้ (ญาณ)
              พราะว่าความยินดี(ราคะ) และความยินร้าย (ปฏิฆะ) เป็นศัตรูที่ห่างของอุเบกขา ส่วนอุเบกขาด้วยความไม่รู้ (อัญญานุเบกขา)เป็นศัตรูที่อยู่ใกล้ของอุเบกขา ฉะนั้นก็พึงยกตนขึ้นเป็นพยานหรือเป็นอุปมา
              ดังเช่นว่า  ตนไม่ชอบให้ใครอื่นเพ่งเล็งชอบใจอยากได้อะไรของตน และไม่ชอบให้ใครอื่นมาหมายมั่นปองร้ายฉันใด ตนก็ไม่ควรจะไปคิดยินดียินร้าย
              ดังนั้น  แก่คนอื่น ควรจะมีใจมัธยัสถ์คือเป็นกลางฉันนั้น และให้ยกบุคคลที่เป็นกลาง ๆ ขึ้นเป็นอุปมา ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนไว้ว่า

“พึงแผ่จิตถึงสัตว์ทั้งปวงด้วยอุเบกขา
เหมือนอย่างเห็นบุคคลผู้มิใช่เป็นที่ชอบใจ
มิใช่เป็นที่ไม่ชอบใจ ก็มีอุเบกขา ฉะนั้น”

              พรหมวิหารธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้ ท่านสอนให้ผู้ปฏิบัติใช้ดังนี้ ทีแรกให้ปฏิบัติด้วยจิตคิดเกื้อกูลแผ่ออกไปในสัตว์บุคคลทั้งหลาย นี้คือเมตตาซึ่งมีอาการเป็นความคิดเกื้อกูล ต่อจากนั้นเมื่อได้เห็นหรือได้ยินหรือได้คิดว่าเขามีทุกข์เดือดร้อน ก็ปฏิบัติช่วยบำบัดทุกข์ให้ นี้คือกรุณาซึ่งมีอาการช่วยบำบัดทุกข์ จากนั้น ครั้นได้เห็นเขามีสุขไม่มีทุกข์ ก็พลอยยินดีบันเทิงใจ นี้คือมุทิตาซึ่งมีอาการพลอยยินดี และเพราะไม่มีกิจที่ควรจะทำต่อไป  จากนั้น ก็อุเบกขาคือดูอยู่เฉย ๆ นี้คืออุเบกขาซึ่งมีอาการมัธยัสถ์เป็นกลาง  มีอุปมาเหมือนอย่างมารดามีบุตร ๔ คน คนหนึ่งที่ยังเป็นเด็กเล็ก มารดาก็มุ่งความเจริญคือให้เติบโตยิ่งขึ้น เทียบกับเมตตา คนหนึ่งเป็นไข้ มารดาก็พยาบาลให้หายไข้ เทียบกับกรุณา คนหนึ่งกำลังเจริญวัย มารดาก็ชื่นชมยินดีเทียบกับมุทิตา อีกคนหนึ่งทำงานตั้งตนได้แล้ว มารดาก็ไม่ต้องขวนขวายช่วยอะไรอีก เทียบกับอุเบกขา แม้ในเรื่องที่ช่วยไม่ได้แล้วก็พึงใช้อุเบกขาเช่นเดียวกัน แต่เมื่อยังช่วยได้ก็ต้องใช้กรุณา
              ฉะนั้นธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้ เมื่อใช้ให้ถูกต้องด้วยกาล และกิจย่อมอำนวยประโยชน์โดยส่วนเดียว ส่วนความหัดคิดแผ่ใจไปทั้ง ๔ ข้อนี้ จึงทำได้เสมอ เป็นวิธีอบรมจิตให้มีพรหมวิหารธรรม ซึ่งจะให้เกิดอานิสงส์ผล  ดังที่ตรัสไว้ในเมตตานสังสสูตรว่า

              “หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันเห็นสุบินที่ไม่ดี เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย เทพดารักษา ไฟ ยาพิษ ศาสตรา ไม่กล้ำกราย จิตเป็นสมาธิเร็ว ผิวหน้าผ่องใส ไม่หลงทํากาลกิริยา เมื่อยังไม่บรรลุธรรมที่ยิ่งขึ้น ก็จะเข้าถึงพรหมโลก”  เพราะฉะนั้นจึงตรัสสอนไว้ในกรณียเมตตสูตรว่า

เมตตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ      มานสมฺภาวเย อปริมาณํ
อุทธํ อโธ จ ติริยญฺจ          อสมฺพาธํ อเวรํ อสปตฺตํ

พึงอบรมใจมีเมตตาไม่มีประมาณไปในโลกทั้งสิ้น ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง และท่ามกลาง รอบข้าง ไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู

ติฏฐญฺจรํ นิสินฺโน วา       สยาโน วา ยาวตสฺส วิคตมิทฺโธ
เอตํ สตึ อธิฏฺเฐยฺย             พฺรหฺมเมตํ วิหารํ อิธ มาหุ              

ยืน เดิน นั่ง นอน อย่างใดก็ตาม จึงทำภาวนาให้ปราศจากความโงกง่วง จึงตั้งสติประกอบด้วยเมตตานี้ให้มั่นคง บัณฑิตทั้งหลายเรียกวิหารธรรมนี้ว่า “พรหมวิหาร” ในธรรมวินัยของพระอริยเจ้านี้



              สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  สถิต ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร  เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงทรงดำรงตำแหน่งอยู่ ๒ ปี และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม  พุทธศักราช ๒๕๐๘ สิริพระชันษา ๙๐ ปี ๑๖๖ วัน

ค่าแห่งคำอธิษฐาน ๔. พรหมวิหาร สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

อ้างอิง

– “ญาโณทยปกรณ์” (คัมภีร์ญาโณทัย ) งานสมโภชพระสุพรรณบัฏ สมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ วันที่ ๒๒-๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๖
– Sirivajj (ออนไลน์) “พรหมวิหาร ๔” คัดจาก หนังสือรวมธรรมะ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดพิมพ์เป็นมุทิตาสักการะ เนื่องในศุภวาระฉลองพระชนมายุ ๘๔ พรรษา ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร วันที่ ๓ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๕๔๐ พิมพ์ที่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) สืบค้นข้อมูลจาก bloggang.com

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here