บททดสอบ
ศักยภาพของมนุษย์ สะท้อนให้เห็น

ค่าแห่งคำอธิษฐาน

การตั้งความปรารถนาอย่างแน่วแน่
ที่จะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้บรรลุเป้าหมาย
เป็นเรื่องของใจที่มุ่งมั่นจะทำเรื่องที่กำหนดไว้ให้สำเร็จ
จะสำเร็จได้หรือไม่นั้น อยู่ที่การลงมือทำด้วยตนเอง.

ค่าแห่งคำอธิษฐาน

๓.คำอธิษฐานครั้งสำคัญ

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ความเดิมตอนที่แล้ว…หลังจากที่สุเมธดาบส ตั้งจิตอธิษฐานอย่างแรงกล้าที่จะเป็นดั่งพระทีปังกรพุทธเจ้า จึงน้อมตนเองเป็นทางเท้าถวายพระทีปังกรพุทธเจ้า และพระสาวกให้เดินผ่านไปโดยไม่ต้องเปื้อนบ่อโคลนที่สกปรก ผ่านไปอีกประมาณ ๔ อสงไขยกับอีกแสนกัป ท่านจึงได้เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะตามคำพยากรณ์ของพระทีปักรพุทธเจ้าเมื่อครั้งกระโน้น เหตุใด การอธิษฐานจึงทรงพลัง หากทว่าต้องใช้เวลานาน ก็เพราะกิเลส และวิบากกรรม ยังมีอยู่ จึงต้องเพียรใช้วิบากและสร้างบารมีสามสิบทัศอย่างต่อเนื่องไม่ลดละจนกระทั่งบรรลุผล…

๓. คำอธิษฐานครั้งสำคัญ

              หลังจากผ่านการบำเพ็ญบารมีมายาวนาน กระทั่งเมื่อสองพันหกร้อยกว่าปีก่อนเจ้าชายสิทธัตถะทรงประสูติตามคำพยากรณ์ของพระทีปังกรพุทธเจ้า  เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นสุเมธดาบส ก่อนที่จะตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในชาติสุดท้าย  พระองค์ได้กระทำการอธิษฐาน ๓ ครั้งใหญ่ๆ  ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เห็นความสำคัญของการอธิษฐานและลงมือทำด้วยหัวใจของพระองค์อย่างมั่นคง  ไม่คลอนแคลน  จนกว่าจะประสบความสำเร็จด้วยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
              ในช่วงที่เจ้าชายสิทธัตถะก่อนออกมหาภิเนษกรมณ์ หรือ การเสด็จออกบวชครั้งสุดท้าย พระองค์ได้ทรงครุ่นคิดอย่างหนักถึงการหาวิธีการที่จะพ้นทุกข์อย่างแท้จริง  หลังจากพระนางยโสธราประสูติพระราหุล  พระราชโอรสองค์แรกของพระองค์ในคืนนั้น  พระองค์ตระหนักว่า บ่วงแห่งชีวิตได้เกิดขึ้นแล้ว  พระองค์จะต้องอาศัยเวลานี้แหละออกแสวงหาหนทางที่จะออกจากบ่วงแห่งทุกข์อันยิ่งใหญ่คือการเกิดและความเจ็บปวดจากการเกิดนี้ 

การหนีออกจากวังของเจ้าชายสิทธัตถะเป็นเรื่องใหญ่  เพราะพระองค์คือรัชทายาทที่จะสืบราชสันตติวงศ์   และยิ่งเป็นการตัดสินใจ “หนี” เพื่อ “ออกบวช” ย่อมไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยของเสด็จพ่อเป็นแน่  หากทว่า ความเด็ดเดี่ยวของพระองค์มิได้เกิดขึ้นแต่เพียงในชาตินี้  เมื่อมองย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นสุเมธชาดก ก็ทรงตั้งจิตอธิษฐานที่จะเป็นอย่างพระทีปังกรพุทธเจ้า  มาจนถึงในสิบพระชาติสุดท้ายของพระองค์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ดังที่ปรากฏอยู่ใน “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ อันเป็นสิ่งยืนยันการอธิษฐานจิตของพระองค์ชาติแล้วชาติเล่าเพื่อบรรลุโพธิญาณเพียงประการเดียว


              และแล้วในที่สุดพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีจนเต็มเปี่ยมในสิบพระชาติสุดท้าย จนกระทั่งบรรลุธรรมในชาติที่ ๑๑ นี้เอง  แต่ในพระชาติสุดท้ายก็ยังมีเศษกรรมตามมารังควาน ดังเช่นพระเทวทัตที่ตามมาประทุษร้ายพระองค์  จากการที่พระองค์ทรงเคยทำร้ายพระเทวทัตมาก่อนในอดีตชาตินานมา  แต่หลังจากที่พระองค์ตรัสรู้ความจริงงอันประเสริฐ  พระองค์ทรงให้อภัยทุกคน  ไม่ว่าใครจะทำร้ายพระองค์อย่างไรก็ตาม  ซึ่งปรากฏอยู่ในบทพระปริตร บทชัยมงคลคาถา พาหุงมหากา ที่ว่าด้วยชัยชนะของพระพุทธเจ้าด้วยพระเมตตาและพระกรุณาอันไม่มีประมาณ

จึงไม่น่าแปลกใจว่า  หลังจากพระราหุลประสูติกาลในคืนนั้น  พระองค์ทรงเสด็จออกจากวังทันที…

ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา

ปาฏิหาริย์แห่งการอธิษฐานครั้งแรก

 ที่ลุ่มแม่น้ำอโนมาในรุ่งเช้า  หลังจากที่พระองค์ทรงถอดเครื่องประดับทั้งหลายพร้อมกับบอกให้นายฉันนะ นำกลับไปยังเมืองกบิลพัสดุ์มอบให้กับพระราชบิดา   แล้วทูลพระราชาว่า พระองค์ตัดสินใจออกบวชแล้ว  จากนั้นจึงได้ทำการตั้งจิตอธิษฐานเป็นครั้งแรกว่า  “การที่พระองค์เองได้ตัดใจบวชเพื่อมุ่งสู่ความเป็นบรรพชิตแสวงหาทางพ้นทุกข์นับแต่บัดนี้นั้น  ถ้าหากพระองค์จักได้ทำการตรัสรู้ก็ขอให้พระเกศาของพระองค์จงลอยอยู่บนอากาศอย่าได้ตกลงมาสู่ผืนดินและผืนน้ำ”
              ปาฏิหาริย์ครั้งแรกแห่งการอธิษฐานก็เกิดขึ้น   เพราะหลังจากที่พระองค์ตัดพระเกศาออก  ท้าวสักกเทวราช  หรือพระอินทร์ ที่ล่วงรู้เหตุการณ์ทั้งหมด ก็รีบเหาะนำพานมารองรับพระเกศาเอาไว้  แล้วนำพระเกศาของพระองค์ไปบรรจุไว้ในเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ต่อไป

จุดเริ่มต้นแห่งการอธิษฐานจิตของเจ้าชายสิทธัตถะ  จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อเกิดพระพุทธศาสนาในภายหลัง  ณ ที่แห่งนี้  ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา  หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะทรงผนวชได้ ๗ วัน
              ผ่านไปหกปี  เจ้าชายสิทธัตถะทดลองการบำเพ็ญเพียรทั้งหมด  ไม่ว่าการบำเพ็ญแบบฤาษีต่างๆ ที่เป็นแนวปฏิบัติของนักบวชของอินเดียในสมัยโบราณ  ที่ต้องทรมานร่างกายจนแทบจะสิ้นลมหลายต่อหลายครั้ง  ในที่สุดทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาจนพระวรกายซูบผอมดำคล้ำเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก  โดยการบำเพ็ญขั้นสุดท้าย คือ การบริโภคอาหารน้อยลงจนถึงหยุดฉันอาหาร  เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่ตามมารับใช้ต่างก็ช่วยกันดูแลพระโพธิสัตว์อยู่ตลอดจนกระทั่งพระองค์ได้ทำการทรมานตนเองจนเกือบจะสิ้นพระชนม์
              แต่สำหรับท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์  ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพระองค์ และยังเกรงว่าความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวนี้จะเกิดความสูญเปล่า  ดังนั้นในคืนที่ ๔๙ แห่งการบำเพ็ญเพียรก่อนที่ร่างของพระองค์กำลังจะดับสูญไปเพราะความทุกข์ ทรมานจากการอดอาหาร  พระองค์ทรงได้ยินเสียงพิณจากนักดนตรีที่แล่นเรือผ่านมาตามแม่น้ำ  ซึ่งก็คือพระอินทร์แปลงกายมา  โดยที่นักดนตรีปลอมนั้นแกล้งตั้งสายพิณให้หย่อนบ้าง และตึงบ้างสลับกันไป จนกระทั่งพระอินทร์ตั้งเสียงพิณจนสุดจนสายขาดผึงไป
              เพราะเสียงพิณที่แตกต่างกัน  ทำให้พระองค์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของจิตกับกาย หรือนามกับรูปเป็นครั้งแรกว่า  ในขณะนี้พระองค์ได้ทรมานร่างกายมากเกินควร  เพราะธรรมชาติของร่างกายสามารถทนได้เพียงเท่านี้  หากดื้อดึงจะใช้จิตเคี่ยวเข็ญร่างกายจนเกินกำลังก็คงไม่อาจบรรลุธรรมได้แน่
              ในขณะนั้นเองพระองค์นึกถึงตอนที่ยังทรงพระเยาว์อยู่  ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุประมาณ ๗ พรรษา  พระองค์ทรงปลีกวิเวกไปนั่งอยู่ใต้ต้นหว้า หรือต้นชมพูพฤกษ์ ที่ร่มเย็นและเริ่มต้นอยู่กับลมหายใจเข้า-ออก  กระทั่งจิตใจเป็นสมาธิ  กระทั่งบรรลุฌานเบื้องต้น  แต่พระองค์ก็ไม่ทราบว่าต่อจากนั้นจะเป็นอย่างไร  หากทว่าความสงบจากสมาธินี้เป็นสิ่งที่พระองค์คุ้นเคย เพราะได้บำเพ็ญมาในอดีตชาติ  และในขณะนั้น ทรงถูกตามกลับพระราชวัง หลังพระเจ้าสุทโธทนะเสร็จพระราชพิธีแล้ว
              การพบประสบการณ์ทางจิตครั้งสำคัญเมื่อครั้งทรงพระเยาว์  หวนกลับมาอีกครั้ง  ในขณะที่พระองค์ได้ยินเสียงพิณที่ได้ขึ้นสายใหม่  ปรากฏเสียงมีความพอดีบรรเลงได้ไพเราะจึงได้เลิกทรมานกาย  เพราะทรงตระหนักในขณะนั้นว่า

“การเดินทางสายกลาง
 ที่ไม่ตึงเกินไปไม่หย่อนจนเกินไปนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด”

 การปฏิบัติที่ตึงเกินไปทำให้ร่างกายที่เต็มไปด้วยความหิวก่อให้เกิดทุกข์หนักขึ้น   ความคิด และกิเลสยังอยู่ไม่ได้หายไปไหน   จึงหันมาบริโภคน้ำและอาหารเพื่อร่างกายที่แข็งแรงอีกครั้ง  และคิดว่าพระองค์จะทำสมาธิเช่นเดียวกับที่พระองค์เคยสัมผัสความสงบสุขจากกิเลสและความคิดเมื่อทรงพระเยาว์ในกาลก่อน 
              เหล่าพราหมณ์ทั้ง ๕  เมื่อได้ทราบว่าพระโพธิสัตว์กลับมาบริโภคอาหารอีกครั้ง  ด้วยความที่ไม่ทราบถึงหลักความจริงในเรื่องการเดินสายกลาง  จึงเกิดความเสื่อมศรัทธาในตัวพระองค์ ต่างพากันหลีกหนีไปไม่อยู่รับใช้อีก
              แต่เจ้าชายสิทธัตถะทรงตั้งมั่นพระทัยในทางที่จะดำเนินจิตบนสายกลางที่ได้ค้นพบต่อไป  เพราะรู้แล้วว่า หากร่างกายดี  จิตก็จะมีกำลัง สมาธิก็มีความตั้งมั่น จึงเป็นทางที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้  และในช่วงนั้นเอง นางสุชาดา  ธิดาเศรษฐีเสนานีกุฎุมพีแห่งตำบลอุรุเวลาเสนานิคม   ซึ่งเคยเกี่ยวข้องกับพระองค์  อันเนื่องมาจากการอธิษฐานในอดีตชาติ  และในชาตินี้ที่ได้พบกับพระพุทธเจ้า นางก็เข้ามามีส่วนช่วยให้พระองค์ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในเวลาต่อมา 

“ข้าวมธุปายาสและถาดทอง”

ปาฏิหาริย์แห่งการอธิษฐานครั้งที่สอง

ด้วยก่อนหน้านี้ นางสุชาดาได้ตั้งจิตอธิษฐานต่อเทวดาที่ต้นไทรว่า  หากนางมีครอบครัวและได้บุตรชาย  นางจะนำข้าวมธุปายาสมาถวายกับเทวดา (ข้าวมธุปายาสนั้นเป็นข้าวที่หุงด้วยน้ำนมและน้ำผึ้ง)
              ในขณะนั้นเจ้าชายสิทธัตถะได้กลับมาบริโภคอาหารจนร่างกายแข็งแรงแล้ว  ทำให้ผิวพรรณและร่างกายกลับมามีความสดใสเปล่งปลั่งสมกับลักษณะของมหาบุรุษอีกครั้ง  นางสุชาดาได้เห็นก็เชื่อว่าต้องเป็นเทวดาอย่างแน่นอน  นางจึงนำข้าวมธุปายาสพร้อมถาดทองคำเข้าไปถวาย  พร้อมทั้งอธิษฐานอีกครั้งว่า ข้าพเจ้าได้บรรลุความปรารถนาแล้วขอให้ท่านได้บรรลุความปรารถนาเช่นเดียวกัน
             
การอธิษฐานครั้งที่สองของเจ้าชายสิทธัตถะพระโพธิสัตว์จึงบังเกิดขึ้นหลังจากได้รับการถวายข้าวมธุปายาสนี้ เมื่อพระองค์เสวยข้าวมธุปายาสจนหมดแล้ว  ทรงเดินนำถาดทองไปที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา  เพื่อตั้งจิตอธิษฐานบารมีอีกครั้งว่า  ถ้าเราจะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ขอให้ถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำไป
              ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นกับพระองค์  เมื่อถาดถูกปล่อยจากพระกร  ถาดทองคำที่หนักอึ้งนั้น ก็หมุนลอยทวนกระแสน้ำไปเรื่อย ๆ ด้วยแรงอธิษฐานและจมสู่นาคพิภพไปรวมกับถาดอีก ๓ ใบของพระพุทธเจ้าในภัทรกัปป์ปัจจุบัน
              ภัทรกัปป์ คือการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าในยุคปัจจุบันมีอยู่ ๕ พระองค์คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมณ์ พระกัสสปะ พระโคดม(พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน)และ พระศรีอริยเมตไตรย ที่จะมาตรัสรู้เป็นองค์ต่อไป
              หลังจากถาดทองคำลอยทวนน้ำไปแล้ว  พระองค์ทรงเกิดความแน่วแน่และมั่นพระหฤทัยมากยิ่งขึ้นว่าจะตรัสรู้อย่างแน่นอน จึงเสด็จไปยังโคนต้นโพธิ์ทางทิศตะวันออก ขณะที่กำลังจะประทับนั่นนั้นเอง ก็มีคนหาบหญ้าที่ชื่อว่า โสตถิยะ ผ่านมาได้เห็นลักษณะที่น่าเลื่อมใสงามสง่าของพระโพธิสัตว์  จึงได้ทำการถวายหญ้าคา ๘ กำปูลาดเป็นอาสนะให้ประทับนั่ง  พระองค์ทรงรับเอาไว้และนำไปประทับนั่งใต้ต้นโพธิ์  นั่งขัดสมาธิแล้วหันหน้าไปทางทิศตะวันออก

“ด้วยบารมีที่เต็มเปี่ยม”

ปาฏิหาริย์แห่งการอธิษฐานครั้งที่สาม

              ก่อนที่พระองค์จะบำเพ็ญเพียรภาวนาเพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงก็ทรงตั้งจิตอธิษฐานเป็นครั้งที่สาม กำหนดใจให้สงบตั้งมั่นว่า
              แม้เลือดในร่างกายจะแห้งเหลือแต่หนัง เอ็นหุ้มกระดูกก็ตาม  หากยังไม่ได้บรรลุสัจธรรมอันประเสริฐสูงสุดที่สามารถตัดภพชาติให้ขาดดสะบั้น  กระทั่งเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง เราจะไม่ลุกขึ้นจากบัลลังก์แห่งนี้
               เทวดาทั้งหลายทั่วทั้งชั้นฟ้า  ต่างได้รับรู้ถึงการอธิษฐานจิตของพระองค์ในครั้งนี้ จึงพากันลงมาสดุดีบูชามหาบุรุษด้วยดอกไม้  ของหอมต่าง ๆ แล้วโมทนาบุญที่บังเกิดขึ้นในครั้งนั้น  แต่ยังมีเทพองค์หนึ่งที่ต้องการขัดขวางการบรรลุธรรมของพระองค์คือ พญาวสวัตดีมาร ซึ่งเป็นถึงผู้ปกครองชั้นสูงสุดของสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น (สวรรค์กามาวจร)
              พญามารนั้นเกรงว่าผู้ใดบรรลุธรรมแล้วจะมีอำนาจพ้นจากกามสุข ซึ่งเป็นอำนาจที่เหนือเทพเทวดาทั้งปวง  และกามสุขนี้เอง เป็นอำนาจของตนเองที่ใช้ปกครองเทวดาทั้งหลายอยู่  หากพระองค์บรรลุธรรมสูงสุด  พญามารจะหมดความหมายที่จะเป็นใหญ่ในการปกครองเทพเทวดา   จึงได้ยกกองทัพมารจำนวนมหาศาลมาประชิดพระองค์  โดยที่พญาวสวัตตีมารได้ขี่ช้างที่ชื่อ คีรีเมขล์ ที่มีความสูงถึง ๑๕๐ โยชน์มาด้วย  ทำให้เหล่าเทวดาพากันถอยหนีไปหมด
              ในขณะนั้นเอง  พระโพธิสัตว์ทรงตั้งพระทัยมุ่งจิตที่บริสุทธิ์ของพระองค์ให้อยู่เหนือธรรมชาติฝ่ายต่ำ และยกจิตของพระองค์เองให้สูงขึ้นไปอีกเหนือสิ่งที่เป็นความสุขชั่วคราวทั้งหลายที่เคยได้ประสบมาแล้วตั้งแต่ครั้งยังเป็นเจ้าชายอยู่ให้พ้นไป
              พญามารได้ออกปากขับไล่ให้พระโพธิสัตว์ให้ลุกออกจากโพธิบัลลังก์โดยอ้างว่า บัลลังก์ที่พระองค์ประทับนั่งอยู่นั้นเป็นของพญามารเอง  เพราะหน้าที่บงการชีวิตของเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ประสบทุกข์หรือสุขนั้น เป็นหน้าที่ของพญามารแต่เพียงผู้เดียว
              แต่เจ้าชายสิทธัตถะก็ไม่ได้ลุกขึ้นตามความประสงค์ของพญามาร  พระองค์ตรัสกับพญามารว่า  บุญบารมีทั้งหมดที่ได้สั่งสมมาตั้งแต่ครั้งอดีตชาติจะเป็นสื่อกลางอันมั่นคง และพระแม่ธรณีที่ประทับนั่งอยู่จะเป็นพยาน  หลังจากนั้นก็ใช้ปลายนิ้วชี้ของพระหัตถ์ด้านขวาชี้ลงไปที่พระแม่ธรณี
              ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อทั่วทั้งปฐพี  เกิดการสั่นไหว  แม้แต่ท้องฟ้าก็ร้องคำราม พระแม่ธรณีได้ผุดขึ้นมาจากธรณีเป็นพยาน  และได้นำหลักฐานที่พระโพธิสัตว์กล่าวอ้าง มาแสดงให้ปรากฏแก่สายตาของพญามาร  พระแม่ธรณีบีบมวยผมที่ชุ่มไปด้วยบุญบารมีของพระโพธิสัตว์ที่ได้บำเพ็ญมาแล้วตั้งแต่อดีตชาติซึ่งมีปริมาณมากไม่อาจประมาณได้  น้ำปริมาณมหาศาลได้พัดท่วมเหล่ามารนั้นจนหายไปหมดสิ้นซัดไปไกลลอยไปจนถึงเขตมหาสมุทร
              ฝ่ายพญามารก็ยังไม่ยอมแพ้ หมายมั่นจะนำกำลังที่เหลือกลับไป แต่เมื่อกลับไปแล้วก็ถูกฟ้าผ่าลงมาอีก  จึงยอมแพ้ต่อพระโพธิสัตว์  พญามารเกรงในพระราชอาญาและบารมีจึงออกปากสรรเสริญต่อพุทธเดชานุภาพของพระองค์ว่า ไม่มีบุคคลใดที่มีความเสมอเหมือนพระโพธิสัตว์  ไม่ว่าในเทวโลกหรือในมนุษย์โลกก็ตาม และพระองค์จะช่วยให้เหล่ามนุษย์ได้พ้นจากสังสารวัฏได้อย่างแน่นอน
              พระโพธิสัตว์ได้ชัยชนะเหนือความชั่วร้ายได้ตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ทันได้ลับขอบฟ้า  พญามารผู้หยั่งรู้ฟ้าดินได้สยบยอมความบริสุทธิ์แห่งจิตของพระองค์ จากนั้นพระองค์ก็ได้กำหนดจิตให้เข้าสู่สมาธิ  ทรงเห็นความทุกข์แห่งการเวียนว่าย ตาย เกิดที่วนเวียนเกี่ยวเนื่องกันไปไม่ยอมสิ้นสุดจนจิตเป็นสมาธิในเวลาเย็นก็เกิดปัญญาหยั่งรู้ถึงชาติก่อนๆ ที่พระองค์เคยเกิดมาแล้วมากมายมหาศาล
              พระองค์ทรงเห็นสายปฏิจจสมุปบาทของชีวิตที่ไหลเป็นวนอยู่ในจิต  ตั้งแต่อวิชชา ตัวก่อภพชาติ ไปจนถึงพบวิชชาที่ดับกิเลสตัณหาทั้งปวง  ด้วยลมหายใจที่มีสติตั้งมั่น จนก่อเกิดเป็นสมาธิ และมีปัญญา  จนเห็นอนิจจัง ทุกขังและอนัตตาอย่างแจ่มแจ้ง
              กระทั่งเวลาได้ล่วงเลยไปถึงค่อนคืนแล้ว  พระองค์ทรงเกิดปัญญาญาณ หยั่งรู้การเกิดและการตายของเหล่าสัตว์ทั้งหลาย  พอถึงเวลาใกล้รุ่งเช้าก็เกิดปัญญาอันคมกริบ  ตัดภพชาติจนขาดสะบั้นไปเป็นครั้งสุดท้าย  แม้แต่จิตที่ถูกห่อหุ้มด้วยกิเลสก็ถูกทำลายจนสิ้นซาก  สงครามการต่อสู้กับกิเลสมารภายในใจได้จบลงแล้ว  ธรรมที่มีความดับแล้วซึ่งกิเลสปรากฏขึ้นในจิตที่เป็นเพียงสิ่งที่มาอาศัยกาย  พระองค์เห็นชีวิตมากมายในชีวิต  อาศัยอยู่ในกาย  และเห็นจิตมากมายที่อาศัยอยู่ในชีวิตเล็กเหล่านั้นที่มาอาศัยอยู่ในกายของพระองค์  
              พระองค์พบว่า ชีวิตคือร่างกายและจิตใจนี้เป็นเพียงที่อยู่อาศัยของดินน้ำลมไฟ และจิตวิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย  เช่นเดียวกับสิ่งภายนอกกาย ในอากาศมีชีวิต ในชีวิตก็มีดินน้ำลมไฟ  ในไฟก็มีชีวิต   และในน้ำก็มีชีวิต   ทั้งหมดอิงอาศัยกันและกันเรียกว่า อิทัปปัจจยตา  ทั้งโลกและจักรวาลต่างอิงอาศัยกันและกัน  จะตัดขาดจากกันไม่ได้  วัฏฏะจึงหมุนวนอยู่เช่นนี้ กายกับใจเราเป็นอย่างไร  โลกและจักรวาลก็เป็นอย่างนั้น  การเกิดปัญญาในสมาธิทำให้เห็นกระแสการหมุนวนของคลื่นต่างๆ ที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตไหลเข้าไหลออก
              การจะตัดขาดกระแสได้ คือ การเห็น เห็น และไม่เข้าไปสังฆกรรมกับเสียงเรียกร้องต่างๆ ภายในใจอีกต่อไป นั่นคือ ไม่ตามใจตัณหาอีกต่อไป 
              ในที่สุดพระองค์เห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต ปลดปล่อยความทุกข์ที่ขังอยู่ในจิตที่คิดว่าเป็นของตัวออกไป  เห็นความเป็นอนัตตาของจิตและทุกสรรพสิ่ง พระองค์ไม่ใช่พระองค์  คือพ้นแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวง บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณโดยสมบูรณ์
              ในขนะนั้น เจ้าชายสิทธัตถะหายไป คงเหลือเพียงดินน้ำลมไฟประชุมกันอยู่ในกายที่ยังมีจิตอันบริสุทธิ์ดำเนินธาตุขันธ์อยู่  พระองค์ไร้ซึ่งตัวตน  คือ “ตถาคต” เป็นเพียงสภาวธรรมการเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง  เหล่าเทวดาพากันลงมาโมทนาบุญกุศลให้มากมายในเวลาต่อมา ภายหลังการบรรลุ ธรรมอันสูงสุดของพระพุทธองค์  พื้นปฐพีก็กึกก้องดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่วอีกครั้ง
              จากการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์เห็นได้ชัดถึง “พลังแห่งการอธิษฐาน” นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งและต้องมีปัจจัยที่ตั้งมั่น และความเพียรอันไม่ลดละเป็นองค์ประกอบที่ดีงามเกื้อกูลกัน จึงจะบรรลุถึงความสำเร็จได้ในที่สุด

ค่าแห่งคำอธิษฐาน ๓.คำอธิษฐานครั้งสำคัญ เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here